พระราชธรรมนิเทศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
(เปลี่ยนทางจาก เพียร ราชธรรมนิเทศ)

ผู้เรียบเรียง สุเทพ เอี่ยมคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


บุคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทยแต่ละยุคสมัยนอกเหนือจากการมีประสบการณ์ทางการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว แต่ละคนอาจจะมีพื้นฐานความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้สร้างสีสันเกิดขึ้นจนเป็นเสน่ห์ของการใช้อำนาจในตำแหน่งของบุคคลที่น่าสนใจยิ่ง และหากจะพิจารณาว่าในบรรดาผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยแล้วมีจำนวนไม่มากนัก และ“นายเพียร ราชธรรมนิเทศ” หรือ “พระราชธรรมนิเทศ” คือหนึ่งในจำนวนนั้น และถือว่าเป็นปราชญ์ภาษาไทยแห่งยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างแท้จริง

ปฐมวัย

ในวัยเด็ก เพียร ราชธรรมนิเทศ เข้ารับการศึกษาที่วัดทรงธรรม พระอารามหลวงแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดที่ให้การเรียนการสอนแก่ภิกษุ สามเณรเป็นหลักจึงสอนด้วยภาษาบาลี แต่หากจะทำการสอนแก่บุตรหลานในชุมชนจะใช้บริเวณใต้ถุนกุฏิพระครูเจ้าอาวาสเป็นห้องเรียน นักเรียนแห่งสำนักวัดทรงธรรมเมื่อจบการศึกษาออกไปจึงซึมซับภาษาบาลีออกไปด้วย และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เองก็ได้รับเอาวิชานี้ติดตัว พร้อมทั้งพัฒนาเป็นฐานความรู้จนกลายเป็นผู้ที่มีความแตกฉานทางภาษาคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งทางวัฒนธรรมและทางการเมืองในกาลต่อมา

ปราชญ์คู่บารมีท่านจอมพล

เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคแห่งอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศครั้งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในแผ่นดินจีนยุคต้น ของเติ้ง เสี่ยว ผิง เรืองอำนาจ รัฐนิยมฉบับแล้วฉบับเล่าที่ประกาศใช้ล้วนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ “วัธนธัมไทย” ทางภาษา ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในปัจจุบัน ที่มาของเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2485 ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 26 คน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีชื่อเสียง มีบทบาทหน้าที่สำคัญในทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น โดยตนเองเป็นประธานกรรมการ และในจำนวนนี้นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการด้วย คณะกรรมการนี้มีหน้าที่ปรับปรุงภาษาไทยและชำระปทานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถานด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับปรุงตัวอักษรไทย ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 ให้มีพยัญชนะไทย 31 ตัว ประกอบด้วย “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ “ ตลอดจนตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก ในการปรับปรุงภาษาไทยครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะบางคำ หรือบางประโยคในหลักภาษาไทย เมื่อเปลี่ยนตัวสะกดย่อมทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่หากพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลและบริบทรอบด้านแห่งยุคสมัยแล้ว ควรให้ความเป็นธรรมแก่คณะกรรมการชุดนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งวัฒนธรรมทางภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ของชนชาวสยามที่มีมาอย่างยาวนานเป็นแน่ หากไม่ได้รับแรงกดดัน และที่สำคัญใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เพื่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สาเหตุที่ต้องเร่งรีบและปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน เพราะเหตุว่าญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อทำสงครามปลดปล่อยชนผิวเหลืองในสงคราม มหาเอเชียบูรพา และแจ้งแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่าภาษาไทยเรียนยากเพราะมีพยัญชนะและสระมากมายเหลือเกิน จึงเห็นสมควรให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าจึงยากที่จะปฏิเสธได้ จอมพล ป. จึงหาทางออกว่าประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการอาจจะเรียนยากสักหน่อย ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน ซึ่งชุดนี้ตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา และจอมพล ป. เป็นประธานกรรมการเอง โดยมีพระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและต้องแข่ง กับเวลาโดยมีความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ และวัฒนธรรมไทยเป็นเดิมพัน คณะกรรมการได้ประชุมเพียง สองครั้งในวันที่ 23 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2485 และประกาศใช้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2485

หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมรับความพ่ายแพ้และหมดอิทธิพลในภูมิภาคอุษาคเนย์ คณะรัฐมนตรีหลังสงครามโลกได้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ การใช้ภาษาไทยแบบเดิมได้รับการนำกลับมาใช้ใหม่

นี่คือหนึ่งในกุศโลบายนำชาติพ้นภัยของ “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาของชื่อเรียกนี้ มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ และตัวท่านเอง ก็มี “ปราชญ์” ถึงสี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ “ยง เถียร เพียร นวล” หมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง) หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร) พระราชธรรมนิเทศ (เพียร) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล)

ต้องคดีประวัติศาสตร์ “อาชญากรสงคราม”

การได้ร่วมงานกับผู้มีอำนาจนั้นเปรียบได้กับดาบสองคมที่มีอันตรายรอบด้าน เมื่อยามที่อำนาจนั้นสูญสิ้นดาบนั้นอาจทำร้ายตนเองไห้ได้รับอันตรายได้ นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำเปรียบเปรยนี้ เพราะเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องยอมรับผลจากการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมทั้งยังประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เมื่อสงครามยุติลงประเทศไทยตกอยู่ในสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามจึงบีบบังคับให้หาตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาลงโทษในฐานะอาชญากรสงคราม ด้วยเหตุนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระราชธรรมนิเทศ และนายสังข์ พัฒโนทัย จึงถูกตั้งข้อหาตามพระราชบัญญัติอาญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 อันเป็นที่มาของคดีประวัติศาสตร์ทางตุลาการของไทย โดยคดีนี้คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2486 ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ประการสำคัญมีบทบัญญัติคุ้มครองว่าการกระทำอันบัญญัติเป็นอาชญากรสงครามนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงครามและจะต้องได้รับโทษดังที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น

ศาลฎีกาโดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งประธานศาลฏีกาและเป็นเจ้าของสำนวน ร่วมวินิจฉัยกับองค์คณะประกอบด้วยพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร และพระชัยประชา ได้ชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังว่าการกระทำก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือวันที่ 11 ตุลาคม 2488 เป็นความผิดด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 และเป็นโมฆะ อันจะทำให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้ จึงต้องปล่อยจำเลยให้พ้นข้อหาไป นายเพียร ราชธรรมนิเทศ จึงพ้นบ่วงกรรมที่ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรหยิบยื่นให้

และผลจากการวินิจฉัยของศาลฎีกาครั้งนี้ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้เป็นแนวคิดให้ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรดังเช่นพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488

บทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ

ความใกล้ชิดสนิทสนมกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีอำนาจในขณะนั้น ทำให้นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมทุกด้าน หนึ่งในผลงานที่สานต่ออำนาจให้แก่ท่านผู้นำนั้นก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2492) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2475 เพื่อจัดวางอำนาจใหม่ให้แก่จอมพล ป พิบูลสงคราม ในปี 2495

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 “คณะผู้บริหารประเทศชั่วคราว” ซึ่งมีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำกระทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกับพรรคสหชีพ ของกลุ่มหลวงประดิษฐมนูธรรม การยึดอำนาจครั้งนี้นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน และเป็นยุคเริ่มต้นของการใช้อำนาจนิยมทุกรูปแบบเพื่อปูทางไปสู่อำนาจของคณะปฏิวัติในต้นปีกึ่งพุทธกาล โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง กล่าวคือ ให้รัฐสภาเป็นแบบสภาคู่ ประกอบด้วยสภาผู้แทน และพฤฒสภา สมาชิกของทั้งสองสภาให้มาจากการเลือกตั้งของราษฎร หมายความว่า เสนาอำมาตย์ทั้งหลายที่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยได้อีกต่อไป เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จึงได้จัดวางโครงสร้างของรัฐสภาเสียใหม่ แม้ว่าจะยังคงเป็นแบบสภาคู่ แต่ให้สภาผู้แทน มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของราษฎร และวุฒิสภา มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญนี้มีสถานะบังคับใช้ “ชั่วคราว” เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ใช้บังคับเป็นการถาวรต่อไป และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญตรงนี้นี่เอง

ในปี พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 40 คน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดโครงสร้างการทำงานออกเป็นคณะ กรรมาธิการ 5 คณะ หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการ 9 คน มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน มีนายหยุด แสงอุทัย เป็นเลขานุการ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการนี้ด้วย คณะกรรมาธิการนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองการปกครองของประเทศ เพราะเมื่อยกร่างอย่างไรเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (แต่ทำหน้าที่คล้ายกับกรรมาธิการ) ก็ยากยิ่งที่จะมีผู้ใดคัดค้าน เพราะบุคคลที่จัดวางไว้สำหรับชี้แจงนอกจาก 3 คนดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วย (1) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (2) พระยาศรีวิสารวาจา (3) พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (4) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (5) หลวงประกอบนิติสาร และ (6) นายสุวิชช์ พันธุ์เศรษฐ บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายของประเทศทั้งสิ้น เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

อีกครั้งหนึ่งที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เข้าไปมีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญ คือ เมื่อจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กระทำการยึดอำนาจ (อีกครั้ง) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 เพื่อจัดระบบการเมืองเสียใหม่ตามที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำตัวจริงต้องการ คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 โดยการนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ใหม่ แต่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับภาวการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ด้วย โดยปรับโครงสร้างของรัฐสภาเป็นแบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดี่ยว แต่มีสมาชิกสองประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ทั้งสองประเภทให้ทำหน้าที่ร่วมกัน และประชุมร่วมกัน

สู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 6 วันที่ 29 มกราคม 2491 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี แต่ครั้งกระนั้นยังมิได้สนใจที่จะเสนอตัวเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะถูกวางตัวไว้สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 แล้ว มีผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2492 เพราะการกำหนดสัดส่วนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนลดลงจากสองแสนคนเป็นหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ในคราวประชุมสภาผู้แทน (ไม่มีคำว่า “ราษฎร” ต่อท้าย) ครั้งที่ 1/2492 สมัยสามัญ วันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2492 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ซึ่งมีอายุสูงสุดเป็นประธานการประชุมชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทน ในการเสนอชื่อผู้เป็นประธานและรองประธานนั้นจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 4 คน โดยนายใหญ่ ศวิตชาติ เสนอชื่อพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ และนายกว้าง ทองกวี เสนอชื่อนายเพียรราชธรรมนิเทศ ให้เป็นประธานสภาผู้แทน นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และนายเกษม บุญศรี แต่บุคคลทั้งสองขอถอนตัว จึงเหลือเพียงสองรายให้สมาชิกเลือก ในการเลือกประธานและรองประธานให้กระทำเป็นการลับโดยให้สมาชิกเขียนชื่อผู้ที่ต้องการเลือกลงในบัตรที่เจ้าหน้าที่จัดให้ และนำไปหย่อนลงหีบบัตรเรียงตามลำดับอักษร โดยมีกรรมการนับคะแนน 6 คน เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้วปรากฏว่านายเพียร ราชธรรมนิเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี ได้รับการเลือกเป็นประธานสภาผู้แทน และที่ประชุมได้เลือกนายยกเสียง เหมะภูติ ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทน

เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ในคราวประชุมสภาผู้แทนครั้งที่ 2/2492 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน 2492 นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ทำหน้าที่แทนเลขาธิการรัฐสภาเชิญพระราชธรรมนิเทศ นายยกเสียง เหมะภูติ ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประธานและรองประธาน และพระราชธรรมนิเทศได้กล่าวต่อที่ประชุมอันเหมือนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของการทำหน้าที่ว่า “...ข้าพเจ้าทั้งสองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาที่ท่านทั้งหลายได้เลือกข้าพเจ้าทั้งสองขึ้นมา ข้าพเจ้าทั้งสองสำนึกตัวอยู่เสมอว่า ที่ได้มามีที่นั่งในสภาผู้แทนนี้ ก็โดยที่ว่าราษฎรชุบข้าพเจ้าขึ้นมา และที่ได้มานั่งในบัลลังก์นี้ เพราะท่านทั้งหลายกรุณาชุบข้าพเจ้าทั้งสองขึ้นมา ข้าพเจ้าทั้งสองขอให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่เป็นกลางแต่ปากแต่เป็นกลางอย่างเที่ยงธรรมคือทางจิตใจด้วย...ข้าพเจ้าจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุก ๆ คน โดยไม่เอนเอียงแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้าพเจ้าจะต้องรักษาเสรีภาพในการพูด เอกสิทธิของสมาชิกตามระบอบรัฐธรรมนูญ...” และให้คำยืนยันอีกว่า “...หากว่าเมื่อใดข้าพเจ้าได้รับฟังว่าข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่เป็นที่พอใจแก่ท่าน ในฐานะที่ท่านไม่เห็นด้วยโดยบริสุทธิ์ใจแล้ว ข้าพเจ้าพร้อมจะขอสละตำแหน่งโดยทันที...”

ช่วงเวลาที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นประธานสภาผู้แทนนั้น มีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ที่เมืองโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อความทราบมายังประเทศไทย นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้มีโทรเลขถวายพระพรในนามสภาผู้แทนราษฎร ว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลี พระบาท สภาผู้แทนได้รับทราบเรื่องพิธีหมั้นของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกับหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ด้วยความชื่นชมยินดีโดยพร้อมเพรียงกัน ในนามของสภาผู้แทน ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อีกทั้งคู่หมั้นของพระองค์จงทรงประสพแต่ความสุขสำราญและเจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนาน เทอญ” และในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งอิฐทิศภายใต้ศตปฏลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) พราหมณ์ทำพิธีถวายน้ำเทพมนต์เวียนครบ 8 ทิศ แล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานวุฒิสภา ถวายพระพรเป็นภาษมคธ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทน ถวายพระพรเป็นภาษาไทย จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนี จึงถวายนพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ อันแสดง ถึงการเข้าสู่พระราชสถานะพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระราชพิธีครั้งนั้น นับว่าเป็นมหามงคลอย่างยิ่งของสามัญชนที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างใกล้ชิด ที่ให้สัญญาไว้กับสมาชิกในคราวเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนักก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ฉบับที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ มีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมา

นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เมื่อพ้นจากหน้าที่ประธานสภาผู้แทนแล้ว ยังคงได้รับความไว้วางใจจาก “ท่านผู้นำ” เสนอชื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกถึงสองสมัยเพื่อใช้ประสบการณ์ช่วยเหลือและสนับสนุนงานพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนต่อมา

บทส่งท้าย : ปราชญ์แห่งภาษา

ด้วยความที่มีพื้นฐานทางภาษาไทยดีเลิศคนหนึ่ง และมีความแตกฉานด้านภาษาอังกฤษ และใช้ชีวิตความเป็นครูมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีบทกวีที่ถ่ายทอดและแปลออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะมากมาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรัก ความผูกพันของ “แม่” เช่น “What is home without a mother” ท่านได้ถ่ายทอดออกมาเป็น “ไม่มีแม่ บ้านนั้นเป็นไฉน” หรือบทกวีที่ชื่อว่า “My Mother” ของ Ann Taylor บทที่ว่า “Who ran to help when I fell, And would some pretty story tell. Or kiss the place to make it well. My Mother.” ท่านได้แปลออกมาไพเราะอย่างจับใจว่า

     เมื่อล้มกลิ้งใครหนอวิ่งเข้าช่วย   และปลอบด้วยนิทานกล่อมขวัญให้ 
 หรือจูบที่เจ็บชะมัดเป่าปัดไป   ผู้นั้นไซร้ที่แท้แม่ฉันเอง 

     Somebody’ Mother

She ‘s somebody’ mother, boy, you know,

For all She ‘s aged and poor and slow.


     เด็กเอ๋ยเด็กรู้ไหมยายคนนั้น   ถึงงงงันงุ่มง่ามตามประสา 
 ถึงยากจนเข็ญใจวัยชรา   แกก็เป็นมารดาของบางคน. 

หนังสือแนะนำอ่านต่อ

  • สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย
  • รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 - 2517)

บรรณานุกรม

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 - 2517)” ช.ชุมนุมช่าง, พระนคร : 2517

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “จดหมายข่าวชมรมผู้สูงอายุ” ปีที่ 14 : ฉบับที่ 9 : กันยายน 2551.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2492 (สมัยสามัญ) วันพุทธ ที่ 15 มิถุนายน 2492

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2492 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน 2492

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20/2492 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดี ที่ 8 กันยายน 2492

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21/2492 (สมัยสามัญ) วันจันทร์ ที่ 12 กันยายน 2492

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. “สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย”. รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1999). กรุงเทพฯ : 2548