นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร. นิยม รัฐอมฤต
นรนิติ เศรษฐบุตร
ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศาสตราจารย์พิเศษสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการกฤษฎีกา อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ_พ.ศ.2550 และได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน
ประวัติ
ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติเป็นบุตรนายเฉลิมและนางสงบ เศรษฐบุตร เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2484 เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน[1] เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัยแล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพราน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วนและเป็นสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนกการทูต ใน พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนระบบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาเป็นมหาวิทยาลัยปิดโดยมีการสอบเข้า[2]
ในระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์ร่วมกับดุสิต พนาพันธ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทวีสุข ทองถาวร นิภา บางยี่ขัน ดวงใจ รวิปรีชา นอกจากนี้ยังทำหนังสือพิมพ์ข้างฝาที่เขียนด้วยมือ มีเนื้อหาในการล้อคนในคณะในมหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองของประเทศมากขึ้น[3]
ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติไปศึกษาต่อระดับ Diploma ในสาขา Sovietology จาก Fribourg University ประเทศสวิสเซอร์แลนด์โดยสำเร็จการศึกษาในพ.ศ.2509 การเลือกเรียนในสาขานี้ท่านให้เหตุผลว่า“เราอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลขนาดนี้ก็ควรจะเรียนอะไรที่เป็นสาขาที่หาเรียนที่เมืองไทยไม่ได้ หลักสูตรของสาขานี้มีวิชาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) ซึ่งเพียงแค่เห็นก็รู้สึกกระหายใคร่รู้อยากเรียนขึ้นมาทันที”[4] เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ ยังได้ศึกษาหลักสูตรปริญญาโท (M.A.) Diplomacy and World Affairs จาก Occidental College, Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาในพ.ศ.2513 และปริญญาโท (M.A.) Russian Studies จาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในพ.ศ.2518[5]
เหตุการณ์สำคัญ
หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ สมัครเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาโซเวียตศึกษานั้นไม่ค่อยมีใครศึกษาในด้านนี้มาก่อน เป็นวิชาต้องห้ามเพราะเป็นการเรียนในระบบการเมืองของขั้วตรงข้ามกับโลกเสรีคือคอมมิวนิสต์ ท่านยังยอมรับว่าถูกตำรวจสันติบาลติดตามอยู่นานเพราะฝ่ายความมั่นคงหวาดระแวงว่ามีจิตใจฝักใฝ่กับฝ่ายซ้ายแม้แต่ตอนที่อาจารย์ทำการสอนก็ยังถูกตามอยู่[6] ความรู้ในด้านนี้ยังทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปบรรยายที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรขณะที่มีอายุเพียง 30 ปีเศษ เพราะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโกมักไม่ว่างที่จะเดินทางมาบรรยาย เมื่อทราบว่ามีผู้จบมาทางด้านนี้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงเชิญมาบรรยายแทน[7] และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานโครงการโซเวียตและยุโรปตะวันออกศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.2521 ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ ได้รับเลือกตั้งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และในอีกหนึ่งปีถัดมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 6 ปี จนเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดศูนย์รังสิตในพ.ศ.2529 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีศูนย์รังสิตเป็นเวลา 2 ปี
พ.ศ.2534 ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ ได้รับเลือกตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสองสมัยระหว่างพ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541 หลังจากนั้นได้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าระหว่าง 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 และ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่พ.ศ.2553 ถึงปัจจุบัน
ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2554[8]
ในทางการเมืองศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกครั้งแรกในพ.ศ.2535 แต่ได้ลาออกภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และได้รับแต่งตั้งอีกครั้งในพ.ศ.2538 นอกจากนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550และได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[9]
ผลงานอื่น ๆ และเกียรติยศ
ในทางวรรณกรรมศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เป็นประธานกรรมการพิจารณารางวัลวรรรณกรรมการสร้างสรรค์ซีไรท์ (2522 – 2527) นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521-2526
ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์โดยสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพ.ศ.2530
หนังสือแนะนำ
วารุณี โอสถารมย์และคณะ, (2556), ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.' 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน', กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลและคณะทำงาน, (2554), นรนิติ เศรษฐบุตร งานคือชีวิต',' กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรณานุกรม
อาร์วายทีไนน์,ประวัติย่อ นายนรนิติ เศรษฐบุตร,เข้าถึงจาก http://www.ryt9.com/s/refb/221681เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.
อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตรอธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556),
ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง วันที่ 12 ตุลาคม 2554
ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนพิเศษ 147 ง วันที่ 31 กรกฎาคม 2557
[1] อาร์วายทีไนน์,ประวัติย่อ นายนรนิติ เศรษฐบุตร,เข้าถึงจาก http://www.ryt9.com/s/refb/221681เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.
[2] อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556), หน้า 459-460.
[3] อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556), หน้า 462.
[4] อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556), หน้า 463-464.
[5] อาร์วายทีไนน์,ประวัติย่อ นายนรนิติ เศรษฐบุตร,เข้าถึงจาก http://www.ryt9.com/s/refb/221681เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.
[6] อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556), หน้า 464
[7] อังคาร จันทร์เมือง,ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีผู้สร้างเมืองมหาวิทยาลัยที่ศูนย์รังสิต (พ.ศ. 2534 – 2537 และ พ.ศ. 2538 – 2541) ในผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2556), หน้า 465
[8] ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง วันที่ 12 ตุลาคม 2554,หน้า 17
[9] ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนพิเศษ 147 ง วันที่ 31 กรกฎาคม 2557,หน้า 1