ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ในปี ค.ศ. 1976 ผู้นำอาเซียน (ซึ่งในขณะนั้นมีห้าประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย) ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 (Declaration of ASEAN Concord I: Bali Concord I) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนิเซีย โดยมีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาเมื่ออาเซียนสามารถสร้างความมั่นคงทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งแล้วอาเซียนก็ได้ตกลงกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ผู้นำอาเซียนในขณะนั้นเห็นว่าอาเซียนพร้อมแล้วทั้งด้านการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาเซียนควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพของภูมิภาค อาเซียนจึงได้นำวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 มาขยายผลเป็นแผนแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Plan of Action: HPA) ขึ้นในปี ค.ศ. 1998 เพื่อที่จะเป็นแผนการพัฒนาอาเซียนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 จากนั้นก็ได้มีประกาศความคิดริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) และแผนงานการรวมกลุ่มของอาเซียน (Roadmap for Integration of ASEAN: RIA) เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวรับสมาชิกใหม่ (CLMV) และกำหนดทิศทางในการร่วมมือพัฒนาภูมิภาค
ต่อมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่เก้าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II: Bali Concord II) ตกลงกันที่จะขยายความร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้นโดยการวางเป้าหมายที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563)
จุดประสงค์หลักของการผนึกกำลังของประเทศสมาชิกอาเซียนสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นคือการทำให้สมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดและเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ความท้าทายรูปแบบใหม่ที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) สงครามการก่อการร้าย และการรวมกลุ่มประเทศของสหภาพยุโรปเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อาเซียนต้องปรับตัวปรับเป้าหมายให้สามารถรับมือกับปัญหาที่มีลักษณะข้ามชาติเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะก่อให้เกิดความแข็งแกร่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม และสามารถรับมือกับภัยคุกคามในด้านต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าที่แต่ละประเทศต่างจัดการกันเอง การร่วมตัวเป็นประชาคมยังเป็นการสร้างเสริมโอกาสให้กับภูมิภาคและประเทศสมาชิกในภูมิภาคในการเจรจาต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆได้มากขึ้น และเมื่อใดที่ประชาชนในภูมิภาคมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันปัญหาทะเลาะเบาะแว้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านก็จะลดลง
ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สองยังได้ระบุว่า การที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้นั้น อาเซียนจะต้องมีบรรยากาศทางการเมืองที่อยู่บนรากฐานของผลประโยชน์ร่วมกันอันเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง (a strong foundation of mutual interests generated by economic cooperation and political solidarity) ยิ่งไปกว่านั้นหลักการ ‘prosper-thy-neighbour’ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้นำเสนอขณะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1997 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ก็ได้รับการบรรจุในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง นี้ด้วย ดร.มหาเธร์ ได้อธิบายว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาข้ามชาติมากระทบต่อประเทศตนเองได้ในอนาคต ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน หลักการนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งกับนโยบายการต่างประเทศของมาเลเซียและการกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ในกาลต่อมา
ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง เป็นเอกสารที่ประเทศสมาชิกอาเซียนประกาศแนวทางในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ปฏิญญานี้ระบุให้ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยสามประชาคมย่อย ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ( ASEAN Security Community :ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community :ASCC) ดังมีรายละเอียด ดังนี้
1.ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community): เป็นการรวมตัวกันของประเทศอาเซียนในเรื่องที่เน้นถึงความมั่นคง และสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นภายในภูมิภาค เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อันจะก่อให้เกิดเสถียรภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประชาคมนี้จะเน้นเรื่องการรักษาความมั่นคงร่วมกัน (comprehensive security) ผ่านความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามเป้าหมายวิสัยทัศน์อาเซียน โดยแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจะสามารถมีนโยบายการต่างประเทศของตนได้ ดังนั้นการสร้างประชาคมความมั่นคงในความหมายนี้จึงไม่ใช่การสร้างแนวร่วมทางทหาร พันธมิตรหรือการมีนโยบายการต่างประเทศร่วมกัน (a join foreign policy)
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC-ASEAN Economic Community) : เป็นการรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจเพื่อจะทำให้เกิดเสถียรภาพ ความมั่งคั่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจโลกได้อย่างเป็นพลวัตร
3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC- ASEAN Socio-Cultural Community) : ประชาคมนี้มุ่งเน้นที่จะสร้างประชาคมที่เป็นหุ้นส่วนและเอื้ออาทรต่อกัน (a community of caring societies) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนอาเซียนโดยประชาคมนี้จะส่งเสริมให้เกิดสำนึกอาเซียน ( the Mutual ASEAN Spirit)นอกจากนั้นประชาคมนี้มุ่งที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนจากการร่วมตัวทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่นปัญหาจากการประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและมลพิษข้ามชาติ การป้องกันสาธารณภัย การสร้างความร่วมมือทางสาธารณสุข และการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้กับผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้พิการ เด็กและสตรี ผู้ที่อยู่ในชนบท เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
กรมอาเซียนกระทรวงต่างประเทศ. “ประชาคมอาเซียน.” วารสารดำรงราชานุภาพ.ปีที่12,ฉบับที่ 45(ตุลาคม-ธันวาคม 2552): 2.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. เราคืออาเซียน สู่ประชาคมอาเซียน 2558 . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.,2556.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.ASEAN Mini book .กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 58 คำตอบ สู่ประชาคมอาเซียน 2558 .กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ., 2556.
อุกฤษ ปัทมานันท์. รายงานวิจัย เรื่อง “ไทยในระบบอาเซียนใหม่ ปี ค.ศ.2020 : ศึกษาการรวมกลุ่มอาเซียน 10 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมือง”.2545.
Tham Siew Yean and Kwek Kian Teng. (2007). ‘Prosper-thy-Neighbour Policies: Malaysia’s Contributions after the Asian Financial Crisis’. ASEAN Economic Bulletin. (24)1, 72-97.
People’s Daily Online. ‘Bali Concord II, Historic Step toward Regional Integration’. 8 October 2003. http://english.peopledaily.com.cn/200310/08/eng20031008_125565.shtml. accessed on 27 July 28, 2014.