ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย
ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 และปฏิญญาว่าด้วยการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมอาเซียน 2015 อันประกอบด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยทั้ง 3 ประชาคมนี้ถือเป็นฐานที่สำคัญที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นประชาคมที่สมบูรณ์และมั่นคง ในปัจจุบันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับว่าเป็นประชาคมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากพิจารณาโดยความหมายกว้างจะพบว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การร่วมตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เศรษฐกิจของภูมิภาคแข็งแกร่งมากขึ้น การรวมตัวนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การค้า การลงทุน และตลาดในภูมิภาคนั้นขยายตัวขึ้น อีกทั้งจะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอำนาจในการต่อรองและแข่งขันทางเศรษฐกิจในทางระหว่างประเทศมากขึ้น เกิดการลดการพึ่งพาตลาดในประเทศอื่นๆ นอกกลุ่ม เมื่อมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นประเทศสมาชิกก็จะมีรายได้มากขึ้นอันจะส่งผลให้พลเมืองอาเซียนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคแต่อาเซียนไม่ได้มีเป้าหมายที่จะค้าขายกันในภูมิภาคแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามเป้าหมายที่จะรวมตัวของอาเซียนจะเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกด้วย
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
นับแต่ปี ค.ศ. 1975 การขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในคาบสมุทรอินโดจีนส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเริ่มวิตกกังวลว่าประเทศของตนจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ประเทศสมาชิกจึงต้องร่วมมือกันต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าวร่วมกัน ในปี 1976 สมาชิกอาเซียนจึงได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีการออกปฏิญญาสมานฉันท์แห่งอาเซียน เพื่อยืนยันความร่วมมือในด้านความมั่นคงของอาเซียน รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนด้วย ซึ่งจากปฏิญญาดังกล่าวนั้นได้ส่งผลให้เกิดความพยายามให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น อย่างไรก็ดีแรงผลักดันที่เป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงในความร่วมมือทางเศรษฐกิจนั้น คือ การริเริ่มจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี ค.ศ. 1992 ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นว่า ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจนั้นเป็นตัวบ่งชี้เสถียรภาพและความมั่นคงในทางระหว่างประเทศ จากนั้นก็มีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ กรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) กรอบความตกลงทางด้านการค้าบริการของอาเซียน (AFAS) จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 2002 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ นายโก๊ะจ้กตง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เสนอแนวคิดให้จัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเหมือนกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เหล่าผู้นำอาเซียนก็ได้มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะรวมตัวทางเศรษฐกิจและก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นก็ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์จากปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 และปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมอาเซียน 2015 นั้นเอง
เป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เป้าหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น โดยหลักแล้วมีขึ้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน ซึ่งจากแนวความคิดของอาเซียนที่ได้สร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น ก็เพื่อให้เป็นภูมิภาคที่มีการเคลื่อนที่อย่างอิสระทั้งสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานที่มีฝีมือ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นภูมิภาคที่เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน การพัฒนาไปในแนวทางนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในทางการค้าระหว่างประเทศและเป็นการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้สามารถได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปพร้อมๆ กัน การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจในอาเซียนดีขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นภายในภูมิภาค อันทำให้โอกาสและทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นมีมากขึ้น และขนาดของตลาดอาเซียนนั้นจะเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่ออาเซียนพัฒนาเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันก็จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ต่างชาติมาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น อันก่อให้เกิดผลดีกับพลเมืองอาเซียนโดยตรง เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นพลเมืองอาเซียนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเมื่อรวมกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในประชาคมการเมืองและความมั่นคงและประชาคมสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนก็จะเป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อันเป็นความมุ่งประสงค์ตามกฎบัตรอาเซียน
โครงสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
จากแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้กำหนดครอบคลุมถึงคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ด้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน : เป็นการทำให้อาเซียนนั้นมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ซึ่งนำไปสู่การใช้กฎระเบียบทางการค้าอย่างเดียวกันทั้งหมด ในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ในด้านมาตรฐาน คุณภาพ อัตราภาษี การจัดมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ เป็นต้น
2. การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง : เป็นการเพิ่มขีดจำกัดทางการค้าในเวทีการค้าโลกของอาเซียน ซึ่งอาเซียนนั้นก็ได้มีนโยบายต่างๆออกมาเพื่อตอบสนองแผนงานในข้อนี้ เช่น เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (โทรคมนาคม) การจัดระบบการค้าให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เป็นต้น
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน : เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและช่องว่างทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการขยายตัวของธุรกิจ SMEs โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (IAI) อันเป็นการให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก
4. การเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์ : เป็นการเน้นและประสานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค โดยการทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เช่น อาเซียนกับจีน อาเซียนกับเกาหลี อาเซียนกันออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น เพื่อให้เครือข่ายการผลิตและตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆของโลก
แต่อย่างไรก็ดีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปัจจุบันนั้นก็ยังมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย ทั้งปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ เช่น เกิดจากเรื่องความล่าช้าในการให้สัตยาบันของประเทศสมาชิกในเรื่องต่างๆ ความล่าช้าในการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อรับรองข้อกำหนดต่างๆของอาเซียน อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงที่มีสภาพบังคับไม่ชัดเจน กระบวนการยุติข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่ขาดความน่าเชื่อถือและขาดผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นหากพิจารณาจากภาคเอกชนจะพบว่าประชาชนยังขาดการมีความรู้สึกร่วมกันในการเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งอาจเกิดจากการที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือให้ข้อเสนอแนะอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาดำเนินกิจกรรมของอาเซียนนั้นจะส่วนใหญ่จะเป็นระดับผู้นำประเทศหรือข้าราชการระดับสูง โดยปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เราสามารถจัดการแก้ไขได้ หากว่า ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันโดยคิดถึงเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นหลัก อันจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นเติบโต และเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ . 2556.” ความคืบหน้าการดำเนินงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” :สื่อประชาสัมพันธ์. http://www.mfa.go.th/asean/th/asean-media-center/2395 (accessed May 23 ,2014)
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2555. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121204-123208-703246.pdf (accessed May 24 ,2014).
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2556. “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” http://www.mfa.go.th/asean/th/customize/30641-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.html (accessed May 24 ,2014).
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ . 2556. “อุปสรรคและปัญหาของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนเข้าสู่ ปี ๒๐๑๕ เพื่อเป็นหนึ่งเดียวในเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน.” : บทความที่น่าสนใจ. http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20130219-115109-322611.pdf (accessed May 23 ,2014).
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. เราคืออาเซียน สู่ประชาคมอาเซียน 2558 . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.,2556.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 58 คำตอบ สู่ประชาคมอาเซียน 2558 . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ., 2556.
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2556.”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) : โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย บทวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย จากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).” :ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. http://www.med.cmu.ac.th/library/asean-web/asean-pillars/Thai_Industry_and_AEC.pdf (accessed May 25 ,2014)
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล ., 2556.
ไพศาล หรูพานิชกิจ. เอเชียตะวันออก บนเส้นทางสู่การเป็นประชาคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2553.
ภิญญดา ไรนิเกอร์. “การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทในอาเซียน : บทเรียนจากระบบระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอื่นๆ.” วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.
สุรินทร์ พิศสุวรรณ. อาเซียน รู้ไว้ ได้เปรียบแน่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง., 2555.
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย. ประชาคมอาเซียนในมุมมองของศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เดือนตุลา., 2555.
สุริยา จินดาวงษ์.2557. “5 คำถามยอดนิยมเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน.”:เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาเซียน. http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20121204-123716-650789.pdf (accessed May 23 ,2014). The ASEAN Secretariat. 2014. ASEAN Economic Community. The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/communities/asean-economic-community (accessed May 25 ,2014). Hew Denis. 2008. “Towards an ASEAN Economic Community by 2015.” ASEAN Studies Centre report series. no.1