ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนอันเป็นความร่วมมือในด้านสังคมและวัฒนธรรม หรืออาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “ความร่วมมือเฉพาะด้าน” กล่าวคือ เป็นความร่วมมือในด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาคมนี้จะให้ความสำคัญกับประชาชนหรืออีกนัยหนึ่งคือสร้างความเป็นพลเมืองอาเซียน อาทิ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอาเซียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความรู้สึกร่วมกันของประชาชนในการเป็นพลเมืองอาเซียนให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆในแต่ละประเทศอาเซียน รวมถึงส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน (ASEAN Identity) เองด้วย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ประวัติความเป็นมา

นับแต่การลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือของอาเซียนฉบับที่ 2 (Bali Concord II) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน จนมาถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 หรือปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 ส่งผลให้ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมในยุคทศวรรษที่ 1980 กิจกรรมของอาเซียนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางการเมือง ต่อมาเมื่อเกิดความมั่นคงทางการเมืองในระดับหนึ่งแล้วอาเซียนก็ริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ต่อมาผู้นำประเทศสมาชิกตระหนักได้ว่าอาเซียนควรริเริ่มความร่วมมือทางด้านสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการรวมกลุ่มประเทศทั้งจากด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาเซียนได้มีการรับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2009 โดยแผนงานนี้จะมุ่งเน้นถึงประเด็นการขจัดปัญหาความยากจนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่สืบเนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น การตกงาน ความอดอยาก โรคระบาด การเจ็บป่วย เป็นต้น

เป้าหมายของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม อาเซียน ได้มีเป้าหมายในการดำเนินการ 5 ประการ ได้แก่

1) ทำให้ประชาคมอาเซียน นั้นมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นสังคมที่มีความรับผิดชอบ มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะนำมาสู่ ความเป็นหนึ่งเดียวกันในภูมิภาค

2) ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนั้นดีขึ้น เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งต่อตัวประชาชนเองและสิ่งแวดล้อม

3) เน้นการส่งเสริมและคุ้มครองในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม การเคารพในสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน ความเท่าเทียมกันทางเพศ อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์และสังคม

4) เน้นความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา ของประชาชนชาติต่างๆในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยได้เน้นถึงการให้คุณค่าร่วมกัน รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน

5) เน้นการลดช่องว่างทางสังคมของประชาชนในอาเซียนโดยให้มีการพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน

โครงสร้างของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Blue print) กำหนดคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ด้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : ให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้าถึงในเรื่องการศึกษาได้อย่างเสมอภาค รวมถึงสร้างทักษะในการประกอบอาชีพให้กับบุคคลทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาชาอาชีพ ทั้งเอกชนและราชการและส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้วย

2.การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม : เน้นที่การทำให้ประชากรอาเซียนนั้นมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการกำจัดปัญหาด้านความยากจน ปลอดภัยจากยาเสพติด เป็นสังคมที่มีความปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันจากภัยต่างๆ รวมทั้งยังส่งเสริมในด้านสุขภาพ และการป้องกันเรื่องภัยพิบัติด้วย

3.สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม : เป็นการให้พลเมืองอาเซียนมีสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคุ้มครองในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิของผู้ด้อยโอกาส สิทธิของแรงงาน อีกทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น

4.ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม : เน้นการสร้างและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงการช่วยกันป้องกันและขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางทะเล เป็นต้น

5.การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน : ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนในภูมิภาค โดยเน้นความรู้สึกร่วมทางด้าน วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ในรูปแบบการส่งเสริมและอนุรักษ์

6.การลดช่องว่างการพัฒนา : ประเทศในอาเซียนนั้นเน้นรูปแบบของ ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งด้านเกษตร ประมง อุตสาหกรรม และการพัฒนา ทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาค

ความท้าทาย

หากเทียบกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอาจจะยังไม่ได้รับความสนใจนักจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่อย่างไรก็ดี ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนี้จะมีความสำคัญมาก เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า หากมนุษย์ยอมรับและเข้าใจถึงความต่างกันของผู้อื่นในภูมิภาค ก็จะทำให้เกิดความสุขในภูมิภาค ในทางกลับกัน หากมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจไปเพียงอย่างเดียวจนละเลยด้านสังคมและวัฒนธรรม แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ช่องว่างระหว่างชนชั้นที่มากขึ้น หรือคนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนมีมากขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนั้น ก็จะเติบโตอย่างไม่ยั่งยืน ซึ่งเศรษฐกิจก็จะล้มลงในที่สุด นอกจากนั้นหากมุ่งเน้นพัฒนาการด้านเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียวโดยไม่สนใจพัฒนาการด้านสังคมหรือทรัพยากรมนุษย์ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางตลอดไป (Middle Income Trap) การสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความยังยืนนั้นพลเมืองอาเซียนจะต้องรู้สึกมีส่วนร่วมกับความเป็นไปในภูมิภาค จะต้องรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิทธิและหน้าที่ของตนในฐานะพลเมือง การพัฒนาอาเซียนให้เป็นประชาคมซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น จึงต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกของประชาชนภูมิภาคว่ามีอัตลักษณ์และเข้าใจความเป็นอาเซียน ประชาชนควรได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ หรือการกำหนดนโยบายโดยไม่ปล่อยให้กิจการอาเซียนอยู่ในหมู่ผู้นำประเทศเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2556. “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน.” http://www.mfa.go.th/asean/th/customize/30643 -ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน.html (accessed May 24 ,2014).

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. เราคืออาเซียน สู่ประชาคมอาเซียน 2558 . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.,2556.

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.

ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล ., 2556.

ไพศาล หรูพานิชกิจ. เอเชียตะวันออก บนเส้นทางสู่การเป็นประชาคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2553.

สุรินทร์ พิศสุวรรณ. อาเซียน รู้ไว้ ได้เปรียบแน่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง., 2555.

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย. ประชาคมอาเซียนในมุมมองของศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เดือนตุลา., 2555.

The ASEAN Secretariat. 2014. ASEAN Socio – Cultural. The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/communities/asean-socio-cultural-community (accessed May 23 ,2014).

The ASEAN Secretariat. 2014. The ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Plan of Action.

The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/asean/about-asean/overview (accessed May 22 ,2014).