นคราภิบาล
เรียบเรียงโดย : นายปิยวัฒน์ สีแตงสุก
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความหมายของนคราภิบาล
ในธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461 ในหมวดที่ 2 บทวิเคราะห์ศัพท์ มาตรา 6 ระบุว่า “คำว่านคราภิบาลนั้น ท่านให้เข้าใจว่าผู้ที่ซึ่งราษฎรในจังหวัดดุสิตธานี ผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้จะได้เลือกพร้อมใจกันเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ปกครองชั่วปีหนึ่งๆ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติ”[1] โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ตีความหมายของมาตรา 6 ไว้ว่า “ผู้ที่ราษฎรในจังหวัดดุสิตธานีที่มีสิทธิตามธรรมนูญนี้พร้อมใจกันเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ปกครองภายใน 1 ปี”[2] ส่วนความหมายของนคราภิบาลในอีกนัยยะหนึ่งจะตรงกับภาษาอังกฤษคือคำว่า “Municipality”[3] ซึ่งแปลว่า การปกครองแบบเทศบาล และจะอธิบายรายละเอียดว่าแท้จริงแล้ว “นคราภิบาล” มีลักษณะการปกครองเป็นอย่างไร
นคราภิบาลสมัยรัชกาลที่_5
คำว่า “นคราภิบาล” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน “ร่างพระราชบัญญัติจัดการนคราภิบาล”[4] ใน พ.ศ. 2438 โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีรากฐานมาจากแนวความคิดการปกครองแบบ “เทศบาล”[5] (Municipality) กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกลุ่มชนชั้นนำในสมัยนั้นได้นำแนวคิดสากลนิยมแบบตะวันตกเข้ามา โดย Municipality เป็นการปกครองที่ให้คนในเขตท้องที่ที่กำหนด ได้ร่วมกันจัดการดูแลท้องที่นั้นๆ ให้เรียบร้อยงดงามและสร้างสาธารณประโยชน์ให้เกิดมีขึ้นในท้องที่[6]
ใน พ.ศ. 2436 เจ้าพระยาอภัยราชา ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเสียงตำหนิของชาวต่างประเทศว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สกปรก ไม่มีถนนหนทางสำหรับประชาชนใช้สัญจรไปมา สมควรจะจัด Municipality สำหรับกรุงเทพฯ ขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำในประเทศยุโรป[7]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมเสนาบดีเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้และได้ข้อสรุปว่า ข้อเสนอของเจ้าพระยาอภัยราชายังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับชาวสยามจึงไม่ควรนำมาใช้ในขณะนั้น
แต่ใน พ.ศ. 2438 รัฐมนตรีสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วม “ร่างพระราชบัญญัติจัดการนคราภิบาล” สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ การตั้งกระทรวงนคราภิบาลและตั้งกรมขึ้นมา 4 กรม ได้แก่ กรมกองตระเวน กรมรักษาความสะอาด กรมพระสุรัศวดี และกรมรักษานักโทษ[8] และมีร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งคือ “ร่างพระราชบัญญัติลักษณนครบาลสำหรับบังคับแลรักษามณฑลแลในจังหวัดกรุงเทพฯ” จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความพยายามจะวางระบบในการจัดการปัญหาความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยอาศัยกลไกราชการที่มีอยู่ในการดำเนินการ แต่ผ่านไปหนึ่งปีร่างพระราชบัญญัติจัดการนคราภิบาลดังกล่าวก็ไม่คืบหน้าเท่าใดนัก ท้ายที่สุดก็ไม่ปรากฏว่า “ร่างพระราชบัญญัติจัดการนคราภิบาล” และ “ร่างพระราชบัญญัติลักษณนครบาลสำหรับบังคับแลรักษามณฑลแลในจังหวัดกรุงเทพฯ” มีการประกาศใช้แต่อย่างใด[9] ดังนั้น การปรากฏของคำว่า “นคราภิบาล” ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
นคราภิบาลสมัยรัชกาลที่_6
คำว่า “นคราภิบาล” ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล_(ดุสิตธานี)_พุทธศักราช_2461” ก่อนที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาธรรมนูญฉบับนี้ ต้องทราบที่มาที่ไปของธรรมนูญฉบับนี้ก่อน โดยพระยาสุนทรพิพิธ (เชย_มัฆวิบูลย์) ได้เล่าเรื่องราวของเมืองดุสิตธานีในสมัยก่อนเสวยราชสมบัติไว้ดังต่อไปนี้[10]
เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ_เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ยังทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร เมื่อสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้ว ก็ได้เสด็จนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร และในเบื้องต้นได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักสวนอัมพวา ขณะประทับ ณ ที่นี่ ประมาณกลาง พ.ศ. 2446 ก็ทรงให้ทดลองสร้าง “เมืองมัง”[11] ขึ้น ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เมืองตุ๊กตา” ซึ่งเป็นเมืองที่มีแบบแผนในการทำและมีระเบียบในการจัดเมือง ครั้นถึง พ.ศ. 2447 พระองค์ก็เสด็จทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมืองมังจึงได้ยุติลงในปีนี้
ใน พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นในปีนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงไม่มีพระราชวโรกาสออกนอกพระนครได้ ซึ่งต่างจากในปีก่อนๆ ที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ มาโดยตลอด การทดลองวิธีการปกครองบ้านเมืองจึงได้เริ่มขึ้นอีก โดยสร้างเป็นเรือนแถวขึ้นตลอดแนวกำแพงที่กั้นระหว่างพระตำหนักจิตรลดากับวังปารุสกวันเก่า[12] โดยในลักษณะการปกครองมีตำแหน่งนคราภิบาลและเชษฐบุรุษซึ่งมาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น
เริ่มดำเนินการโปรดเกล้าฯ ให้พวกมหาดเล็กเด็กๆ ที่สมมติว่าเป็นราษฎร และพวกมหาดเล็กผู้ใหญ่ซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์ ได้ประชุมพร้อมกัน และทรงอธิบายให้ทราบวิธีการและวัตถุประสงค์โดยสังเขป จากนั้นก็มีการโหวตเลือกนคราภิบาล เชษฐบุรุษ และการเลือกสรรแต่งตั้งเลขาธิการ นายแพทย์สุขาภิบาล (แพทย์ประจำพระองค์)[13] ซึ่งถือว่าการทดลองการปกครองครั้งนี้ได้เป็นรากฐานนำไปสู่ การสร้างเมืองจำลองที่เรียกว่า “ดุสิตธานี”
ใน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะทดลองการปกครองแบบ Municipality โดยทรงตั้ง “เมืองดุสิตธานี” ซึ่งเป็นเมืองจำลองตั้งอยู่ในบริเวณวังพญาไท โดยองค์ประกอบของเมืองมีบ้านเรือนราษฎร โรงพยาบาล โรงเรียน วัด สวนสาธารณะ ธนาคาร และสถานที่ราชการ จัดแบ่งการปกครองเป็นอำเภอและตำบล[14]
'ว่าด้วยธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช '2461
วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461 เพื่อเป็นแนวทางในการทดลองจัดการ Municipality ทั้งนี้ ตัวบทของธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) นั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี) แปลจากธรรมนูญการปกครอง Municipality ของอังกฤษ โดยสาระสำคัญของธรรมนูญมีดังนี้
- ทวยนาคร ประชาชนในจังหวัดดุสิต
- นคราภิบาล มาจากการเลือกตั้งของบรรดาทวยนาคร ทำหน้าที่บริหาราชการทั่วไปในเขตพื้นที่
- เชษฐบุรุษ มาจากการเลือกตั้ง โดยเป็นผู้แทนของทวยนาครในเขตอำเภอ เข้าไปนั่งในสภากรรมการนคราภิบาล หน้าที่ของเชษฐบุรุษเป็นกรรมการที่ปรึกษาในสภานคราภิบาลและนคราภิบาล และเป็นหัวหน้าทวยนาครในเขตอำเภอ[15]
ธรรมนูญนี้จะมีทั้งหมด 10 หมวด 51 มาตรา ในหมวดแรกจะกล่าวถึงเรื่องว่าด้วยนามและการใช้รัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 2 กล่าวถึงบทวิเคราะห์ศัพท์ความหมายของคำว่าบ้าน เจ้าบ้าน นคราภิบาล เป็นต้น แต่เนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับที่มาและบทบาทหน้าที่ต่างๆ ของคณะนคราภิบาลจะอยู่ในหมวดที่ 3-10 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หมวดที่ 3 ว่าด้วยกำหนดและการเลือกตั้งนคราภิบาล (มาตรา 8-20) ระบุไว้ว่า โดยผู้ที่เป็นนคราภิบาลกำหนดให้เป็นได้ 1 ปี เมื่อถึงกำหนดจะสิ้นปี ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทุกปี ผู้ที่เป็นนคราภิบาลมา 1 ปี แล้ว จะรับเลือกให้เป็นนคราภิบาลอีก 1 ปีติด ๆ กันไม่ได้ และต้องอยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งนคราภิบาลคนใหม่เสร็จสิ้นโดยเรียบร้อย โดยในการเลือกตั้งนั้นเริ่มจาก ให้ราษฎรทั้งชายหญิงซึ่งตั้งบ้านเรือนหรือจอดเรือแพประจำอยู่ในดุสิตธานีประชุมเลือกเจ้าบ้านผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่นับถือขึ้นเป็นนคราภิบาล
ก่อนถึงกำหนดวันเลือกนคราภิบาลใหม่ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาล ป่าวร้องให้ทวยนาคร ทราบถึงวันประชุมเลือกตั้งนคราภิบาลว่าเป็นที่ใด วันใด แล้วให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งเขียนชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอให้เป็นนคราภิบาล โฆษณาไว้ ณ ที่ทำการเพื่อให้ประชาชนทราบ ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียวก็ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับการเลือกเป็นนคราภิบาล แต่ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ก็ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจไต่ถามความเห็นของทวยนาครว่าจะเลือกผู้ใด โดยอาจเลือกโดยเปิดเผยหรือลับก็ได้ ถ้าเลือกโดยเปิดเผย ก็ให้ผู้อำนวยการถามราษฎรว่าจะเลือกผู้ใด เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็ให้ผู้เห็นชอบด้วยยกมือขึ้นนับคะแนนเรียงตัวไป ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นชอบก็ให้นั่งลง แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้ง โดยคะแนนลับ ให้ผู้อำนวยการเรียกมาถามทีละคน โดยเงียบ ๆ ว่าจะเลือกใคร แล้วจดชื่อผู้ที่ราษฎรเลือกนั้นไว้ หรือจะให้ราษฎรเขียนชื่อผู้ที่จะเลือกนั้นมาส่งคนละฉบับก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดให้ถือว่าผู้นั้นได้รับการเลือกเป็นนคราภิบาล ในกรณีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลแล้ว จะไม่รับตำแหน่งก็ได้แต่ต้องถูกปรับเป็นเงิน 50 บาท
หมวดที่ 4 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของนคราภิบาล (มาตรา 21-31) ระบุไว้ว่า เมื่อผู้ใดได้เป็นนคราภิบาลแล้ว ผู้นั้นมีอำนาจตามพระธรรมนูญนี้ทันทีในการที่จะเลือกตั้งคณะนคราภิบาล ได้แก่ เจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น เจ้าพนักงานการคลัง เจ้าพนักงานโยธา นายแพทย์สุขาภิบาล ผู้รักษาความสะดวกของมหาชนและกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล ได้แก่ การดูแลรักษาความผาสุกของราษฎรทั่วไป และป้องกันภัยของประชาชนในเขตตน การดูแลการคมนาคม การดับเพลิง และการรักษาสวนสำหรับนครให้เป็นที่หย่อนกายสบายใจ การจัดการเรื่องโรงพยาบาล สุสาน และโรงฆ่าสัตว์ การดูแลระเบียบการโรงเรียนราษฎร์ เป็นต้น
นคราภิบาลมีอำนาจกำหนดพิกัดภาษีอากร โดยจะต้องเรียกประชุมราษฎรเพื่อทำการตกลงในเรื่องนี้ และเมื่อมีการเปลี่ยนพิกัดภาษีใหม่ก็ต้องเรียกประชุมทุกครั้ง และประกาศให้ทราบทั่วกัน นคราภิบาลมีอำนาจออกใบอนุญาต และเก็บเงินค่าใบอนุญาตสำหรับยานพาหนะ ร้านจำหน่ายสุรา โรงละคร โรงหนัง สถานเริงรมย์ เก็บเงินจากประชาชนคนดูทั้งหมด และหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลมีหน้าที่จะทำบัญชีสำมะโนครัวราษฎรในปกครองของตนและคอยแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ ฯลฯ
หมวดที่ 5 ว่าด้วยการบำรุงรักษาความสะอาดและป้องกันโรคภัย (มาตรา 32'–34)' มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดบ้านเรือน และการดูแลบ้านไม่ให้ชำรุดรุงรัง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดอัคคีภัยหรือโรคร้ายจนเป็นอันตรายแก่เพื่อนบ้าน
หมวดที่ 6 ว่าด้วยการสับเปลี่ยนและตั้งนคราภิบาล (มาตรา 35-37) เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนตัวนคราภิบาลใหม่ประจำปี นคราภิบาลคนเก่าต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายยื่นต่อที่ประชุมราษฎร และส่งเสียการงาน ยอดบัญชีสำมะโนครัวแก่คณะนคราภิบาลใหม่จนหมดสิ้น
หมวดที่ 7 ว่าด้วยหน้าที่สภาเลขาธิการ (มาตรา 38) เมื่อคณะนคราภิบาลได้เลือกตั้งสภาเลขาธิการแล้ว ให้สภาเลขาธิการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ บังคับบัญชาการแผนกหนังสือ และรายงานกิจการทั้งปวงของคณะนคราภิบาล เป็นที่ปรึกษาคณะนคราภิบาลในทางระเบียบกฎหมาย เป็นทนายแถลงคดีแทนคณะนคราภิบาลต่อศาล มีสิทธิจะนั่งในที่ประชุมคณะนคราภิบาลและในที่ประชุมใหญ่ได้ทุกเมื่อ และถ้าสภาเลขาธิการเป็นคหบดีเจ้าบ้านอยู่แล้ว เมื่ออยู่ในที่ประชุมใหญ่ก็มีสิทธิลงคะแนนความเห็นได้
หมวดที่ 8 ว่าด้วยทุนและการเงินทองของคณะนคราภิบาล (มาตรา 39-42) การให้คณะนคราภิบาลมีอำนาจออกใบกู้เงินเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการปกครองตามพระธรรมนูญนี้ แต่ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องเป็นคราวๆ ไป
หมวดที่ 9 ว่าด้วยกำหนดโทษผู้กระทำผิด (มาตรา 43–46) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการลงโทษผู้ที่ไม่กระทำตามคำสั่งของนคราภิบาลอันชอบด้วยกฎหมายและธรรมนูญ ก็จะถูกปรับเงินไม่เกินครั้งละ 10 บาท อันเป็นโทษอย่างเดียวกับที่ใช้ลงโทษราษฎรที่ไม่ไปประชุมเจ้าบ้านเพื่อกำหนดภาษีอากร โดยไม่ตั้งตัวแทนไปทำหน้าที่ประชุมแทนเช่นกัน ถ้าเป็นกรณีขัดขืนคำสั่งของนคราภิบาลทางด้านระเบียบสุขาภิบาล ก็จะถูกลงโทษปรับเงินครั้งละไม่เกิน 5 บาท เป็นต้น
หมวดที่ 10 ว่าด้วยการรักษาธรรมนูญ (มาตรา 47-51) เมื่อราษฎรไม่พอใจคำสั่งในกฎข้อบังคับใดๆ ของคณะนคราภิบาล ก็ให้ราษฎรมีอำนาจร้องเรียนต่อรัฐบาลกลางได้ และถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใดในคณะนคราภิบาลทำการเกินอำนาจที่มีอยู่ในธรรมนูญหรือผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ก็มีสิทธิฟ้องร้องไปยังศาลหลวงได้[16]
ครั้นถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 หลังจากพระราชทานธรรมนูญปกครองฯ แล้วเพียง 40 วัน ก็มีประกาศให้ทวยนาครดุสิตธานีมาร่วมประชุมเพื่อทำการเลือกตั้ง โดยนคราภิบาลคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งคือ พระยาอนิรุทธเทวา และในวันเดียวกันนี้ ก็ได้ออกพระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ฉบับแรกมีข้อบกพร่อง จึงต้องมีการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์และแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาลดุสิตธานี” มีทั้งหมด 4 หมวด 22 มาตรา ซึ่งมีเนื้อหาเพิ่มเติมในเรื่องของตำแหน่งเชษฐบุรุษ ซึ่งบทบาทหน้าที่ก็ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น และในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ก็ได้แก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองอีกครั้งฯ เนื่องจากการตั้งเชษฐบุรุษประจำอำเภอละคนนั้นยังไม่เหมาะสม โดยใช้ชื่อว่า “พระราชกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาล_พระพุทธศักราช_2462”[17]
สรุปนคราภิบาล
ในการทดลองแบบการใช้รัฐธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาล (ดุสิตธานี) เป็นการจำลอง Municipality ที่ใช้กันในประเทศยุโรป ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของนคราภิบาลไม่แตกต่างจากที่มีอยู่ในสุขาภิบาล กรุงเทพฯ มากนัก แต่บทบาทของธรรมนูญที่สำคัญดังกล่าวคือ บทบาทในส่วนที่เป็นการเมืองคือ การให้มีการเลือกตั้งตรวจสอบ[18] ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนในสมัยนั้น
ความตั้งใจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการจัดการทดลองดุสิตธานีนี้ เริ่มจากทดลองในเมืองเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายออกไปใช้ในระดับประเทศ แต่ท้ายที่สุด ดุสิตธานีก็ถูกลดความสำคัญลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก ผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้าราชบริพารที่องค์ธีรราชเจ้าทรงไว้วางพระราชหฤทัย ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการจัดการปกครองในสภาพที่เป็นจริง ซึ่งในสังคมการเมืองย่อมประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย หรือกล่าวโดยรวมว่า โครงการ “ดุสิตธานี” ยังขาดแบบแผนและความชัดเจนเพียงพอแก่การนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง[19] และแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสนับสนุนให้จัดการตั้งMunicipality กรุงเทพฯขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการจัดการอย่างใดจวบจนสิ้นรัชกาล[20] ดังนั้น คำว่า “นคราภิบาล” ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงอีกเช่นกัน
บรรณานุกรม
จมื่นอมรดรุณารักษ์. (2513). ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช; และ ขัตติยา กรรณสูต. 2518. เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
นรนิติ เศรษฐบุตร. (2550). ดุสิตธานี:การทดลองจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2461. สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2559, จาก wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ดุสิตธานี...เมื่อ_พ.ศ._2461.
เมธีพัชญ์ จงวโรทัย. (2549). สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476. วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ถ่ายเอกสาร.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2554). ดุสิตธานี : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
[1]จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). 2513. ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า 58.
[2]สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2554. ดุสิตธานี : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย. หน้า 32.
[3]จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). 2513. ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า 24.
[4]เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549),หนา 107. อ้างถึงใน “รัฐมนตรีสภาแต่งตั้งกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัตินคราภิบาล,” ราชกิจจานุเบกษา 12 (15 กันยายน ร.ศ. 114): 216. และสจช. ร.5 น.2/14 พระยาศรีสุนทรโวหารกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ วันที่ 7 กันยายน ร.ศ. 114.
[5]เรื่องเดียวกัน. หน้า 102.
[6]เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549),หน้า 103.
[7]เรื่องเดียวกัน. หน้า106. อ้างถึงใน สจช.เอกสารพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาคที่ 1 ตอน 2 การสุขาภิบาล).
[8]เรื่องเดียวกัน. หน้า107. อ้างถึงใน สจช. ร.5 น 5.2/14 เรื่อง พระราชบัญญัตินคราภิบาล ร.ศ. 115.
[9]เมธีพัชญ์ จงวโรทัย. “สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476.” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549),หน้า 107.
[10]จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). 2513. ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า 21.
[11]เรื่องเดียวกัน. หน้า 22-23. ระบุไว้ว่า ที่มาของชื่อ “เมืองมัง” ดูเหมือนว่าไม่มีใครรู้ว่ามาจากอะไร รัชกาลที่ 6 มิได้ทรงพระราชทานพระกระแสให้ทราบ หรือพระราชทานให้เฉพาะผู้ใหญ่ๆ บางคนเท่านั้น มีการคาดหมายจากผู้ที่สนใจไว้ว่า คงจะมาจากนามพระตำหนัก คือ อัมพวา แปลว่า มะม่วง ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า แมงโก หรือ มังโก ดังนั้นจึงเชื่อว่า เมืองมัง ก็คือ เมืองมะม่วง
[12]ชัยอนันต์ สมุทวณิช; และ ขัตติยา กรรณสูต. 2518. เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. หน้า 24.
[13]เรื่องเดียวกัน. หน้า 25.
[14]เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549),หน้า 113.
[15]เรื่องเดียวกัน. หน้า 114.
[16]สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461” ได้ใน จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). 2513. ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า 57-65.
[17]สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ “พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาลดุสิตธานี” และ “พระราชกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาล พระพุทธศักราช 2462” ได้ใน จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). 2513. ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า 65-73.
[18]เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล: การปกครองท้องถิ่นสยาม พ.ศ. 2440-2476,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549),หน้า 114.
[19]เรื่องเดียวกัน. หน้า 116.
[20]เรื่องเดียวกัน. หน้า 122.