ดุสิตธานี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย  ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล



บทนำ

         ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลอง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 บริเวณวังพญาไท ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็ก ๆ มีเนื้อที่ 3 ไร่ แรกเริ่มตั้งอยู่บริเวณรอบพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเมืองขนาดเล็ก มีขนาดพื้นที่ 1 ใน 20 เท่าของเมืองจริง ประกอบด้วย พระราชวัง ศาลารัฐบาล วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดร้านค้าธนาคาร โรงละคร ประมาณเกือบสองร้อยหลัง โปรดเกล้าฯให้ดุสิตธานีมีธรรมนูญการปกครองลักษณะนคราภิบาล เป็นแนวทางในการปกครอง  สถานะทางความรู้เกี่ยวกับดุสิตธานี มี 2 ประการ คือ ประการแรก ดุสิตธานี คือ เมืองทดลองประชาธิปไตยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในขณะที่สยามยังคงปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประการที่สอง ดุสิตธานี  คือ การทดลองการปกครองท้องถิ่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  

 

สถานะทางความรู้ของดุสิตธานี

         ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงสร้างขึ้นนั้นมีสถานะทางความรู้ที่เกี่ยวกับเมืองดังกล่าวถูกตีความหมายออกเป็น 2 แนวทางดังนี้

         แนวทางแรก ดุสิตธานี คือ เมืองทดลองประชาธิปไตยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ในขณะที่สยามยังคงปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ งานเขียนชิ้นสำคัญที่ถือเป็นหลักของการตีความแนวนี้ คือ งานของจมื่นอมรดรุณารักษ์  (แจ่ม สุนทรเวช ) มหาดเล็กผู้ใกล้ชิด เรื่อง ดุสิตธานี:เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์เมื่อ 2513 ตีความว่า การจัดตั้งดุสิตธานีเป็นพระราชประสงค์ที่พระองค์ทรงฝึกอบรม เสนาอำมาตย์ ราชบริพาร นับแต่เสนาบดีลงมาให้ซาบซึ้งใน พระบรมราโชบาย และวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย [1] นอกจากนี้ ในงานเขียนของหลุย คีรีวัต นักหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ ผู้มีความใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ตีความถึงพระราชดำริของพระองค์ว่า

พระมหากษัตริย์ทำอะไร คนภายนอกก็รู้เท่าไม่ถึงการพากันเห็นไปว่าพระองค์ทรงทำเล่นๆ….ดุจเดียวกับที่พระองค์ทรงเล่นดุสิตธานีนั้น...เพราะมีจุดประสงค์จะสอนประชาธิปไตยให้ข้าราชบริพาร” [2]

         สำหรับแนวทางที่สอง เป็นการตีความใหม่ของ นรนิติ เศรษฐบุตร ในหนังสือเรื่อง ดุสิตธานี: การทดลองจัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ.2461 (2550) ตีความว่า ดุสิตธานี คือ การทดลองการปกครองท้องถิ่น  ซึ่งได้พิจารณาจาก “ธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช 2461” [3] แล้ว มีความเห็นว่า ข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่ปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าวอันประกาศใช้ในดุสิตธานีนี้ คือ พระราชประสงค์ในการทดลองการจัดองค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาลในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

กำเนิดดุสิตธานี

         จุดเริ่มต้นของการการมีพระราชดำริให้มีดุสิตธานี เกิดภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงเลี้ยงส่งทหารอาสาไปพระราชสงครามทวีปยุโรปเมื่อ 26 เมษายน 2461 แล้ว วันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบ้านปืน ที่จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาพระองค์ได้ทรงเสด็จสรงน้ำทะเลที่หาดเจ้าสำราญ และทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กเล่นทรายกันที่ชายหาด พระองค์จึงทรงพระราชทานคำแนะนำให้มหาดเล็กสร้างเมืองทราย ขึ้น และที่เมืองทราย พระองค์ทรงสอนให้มหาดเล็กรู้จักทำน้ำตก การลำเลียงน้ำผ่านคลอง การสูบน้ำดับเพลิง ฯลฯ[4]

ต่อมา พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริในการให้ความรู้ด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงทรงคิดถึงเมืองทรายที่พระองค์ทรงเคยสอนมหาดเล็กที่หาดเจ้าสำราญ [5] จากนั้น พระองค์ทรงสร้างดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ดังจมื่นอมรดรุณารักษ์(แจ่ม สุทรเวช)ได้บันทึกว่า  

 

         ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็กๆ สร้างขึ้นแห่งแรกในพระราชวัง ดุสิต (ภายหลังย้ายไปอยู่ที่พระราชวังพญาไท) มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เนื้อที่มีลักษณะเกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทางด้านใต้ของ ดุสิตธานีชิดพระที่นั่งอุดร ทางด้านเหนือชิดอ่างหยก บ้าน ทั้งหมดมีจำนวนประมาณร้อยกว่าหลัง การประชุมโหวดครั้งที่ 1 มีทวยนาครโหวต 199 เสียง บ้านแต่ละหลังมีขนาดโตกว่าศาล พระภูมิ สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีต ฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร ทาสีสวยงาม ทุกๆ บ้านมีไฟฟ้าติดสว่างอยู่กลางบ้าน ถนน หนทางในเมืองดุสิตธานีส่วนมากเป็นถนนสายเล็กๆ มีบางสายที่ ใหญ่โต พอที่จะเดินได้ ถนนทุกสายสะอาดสะอ้าน สวยงาม ปลูก ต้นไม้เล็กๆไว้ร่มรื่นสองข้างทางถนนที่เป็นสายสำคัญ” [6]

 

         สำหรับระบอบการปกครองของดุสิตธานี เป็นเช่นไรนั้น พบว่า แบบเรียนของจังหวัดดุสิตธานี ซึ่งเขียนโดย พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุทร์ (พงษ์สวัสดิ-ชูโต)ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปกครองดุสิตธานีว่า 

 

จังหวัดดุสิตธานีนี้มีพระมหากษัตริย์เปนผู้ปกครองเปนประธาน แล้วและทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจบางอย่างให้แก่ทวยนาครปกครองกันเอง ทวยนาครสมมตตั้งหัวน่าขึ้นคนหนึ่ง คือ นคราภิบาล ซึ่งเปนผู้รับอำนาจนั้นมาปฏิบัติให้เปนไป ส่วนอำนาจใดที่มิได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานก็ยังมีอยู่ในพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีสมุหเทศภิบาลสำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นอำนาจใดที่ได้พระราชทานแล้วนั้น หากมีเหตุผลซึ่งไม่เหมาะแก่ความเจริญ จะทรงเลิกถอนเสียก็ได้ ”[7]

 

         ต่อมา ดุสิตธานีได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่มีพื้นที่จะสร้างบ้านเรือนได้เพียงพอ ประจวบกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงมีพระราชดำริสร้างพระราชฐานใหม่ที่วังพญาไท จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองทั้งเมืองไปตั้งที่บริเวณวังพญาไท เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2462 ในบริเวณของดุสิตธานีมีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาณาบริเวณของดุสิตธานี มีบ้านเรือนเล็ก ๆ จำนวนมาก

         ทั้งนี้ ราษฎรที่อาศัยอยู่ในเมืองดุสิตธานีนั้น เรียกว่า ทวยนาครของดุสิตธานี อันประกอบด้วย ผู้เป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด ซึ่งมีทั้งเชื้อพระวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า สมมติชื่อตนเองเพื่อเป็นเจ้าของบ้านและแสดงอาชีพ  ราษฎรผู้เป็นเจ้าของบ้านทุกคน มีหน้าที่ต้องคอยดูแลบ้านของตนให้สะอาดเรียบร้อย ซึ่งมีการบริการด้านสาธารณูปโภค และมีพนักงานชาวที่คอยดูแลตรวจตราความสะอาด เจ้าของบ้านในดุสิตานีต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ เงินที่เก็บได้จะนำมาใช้ในการบำรุงเมืองดุสิตธานี สำหรับ พระราชสถานะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯนั้น พระองค์ทรงใช้สามัญชื่อว่า “ท่านราม ณ กรุงเทพ” ทรงเป็นราษฎรคนหนึ่งของดุสิตธานีผู้หนึ่ง ทรงมีอาชีพเป็นทนายและทรงเป็นมรรคนายกวัดพระบรมธาตุ เป็นพระราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย และทรงแสดงพระธรรมเทศนาจริง ๆ ด้วย นอกจากนี้ทรงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องที่ดินอาชีพ

         ทั้งนี้ ตาม “ธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช 2461”  [8]กำหนดให้ นคราภิบาล เป็นหน่วยการปกครองของดุสิตธานี   มีคณะนคราภิบาลทำหน้าที่ในการบริหารและว่าราชการทั่วไป รวมทั้ง การจัดเก็บภาษีอากรทุกเดือน  ในดุสิตธานีกำหนดให้นับเวลา 1 เดือนเท่ากับ 1 ปีของเวลาปกติ มีการจัดการทำนุบำรุงด้านสุขาภิบาลและการป้องกันโรคภัย จัดการเก็บภาษีที่ดิน และมีสภานคราภิบาล ในดุสิตธานี มีพรรคการเมืองสองพรรค คือ พรรคแพรแถบสีน้ำเงินและพรรคแพรแถบสีแดง เป็นต้น[9] อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปในเมืองจำลองขนาดเล็กที่ชื่อว่าดุสิตธานี อันมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ขุนนาง พระบรมวงศานุวงศ์และมหาดเล็ก แสดงบทบาทสมมุติในดุสิตธานีแห่งนี้

         นอกจากนี้ ในดุสิตธานี มีหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับคือ ดุสิตสมัย เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ดุสิตสักขี เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน  และดุสิตสมิต โดย ท่านราม ณ กรุงเทพฯ หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดทำเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกทุกวันเสาร์ 

         สุดท้ายนี้  การเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ถึงแนวพระราชดำริในการจัดสร้างเมืองขนาดเล็กอันมีนามว่า ดุสิตธานีเพื่อสิ่งใดนั้น อาจเข้าในใจได้จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า

         วิธีการดำเนินการในธานีเล็ก ๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้ประเทศสยามได้เป็นเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ข้าราชการทั้งหลาย ตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าเจริญไปได้เพียงใด ”[10]

         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ร่องรอยของดุสิตธานี  คงเหลือแต่เพียงอาคารจำลองจำนวนหนึ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้ ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯและการตีความสถานะทางความรู้ของดุสิตธานี ขณะนี้มีสองแนวทาง คือ ดุสิตธานี คือ เมืองทดลองประชาธิปไตย และ ดุสิตธานี  คือ การทดลองการปกครองท้องถิ่น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  

 

บรรณานุกรม

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เรียบเรียง. ดุสิต ธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, 2513.

นรนิติ เศรษฐบุตร. ดุสิตธานี': การทดลองจัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ. ศ. 2461'. นนทบุรี :สถาบันพระปกเกล้าฯ, 2550.

วรชาติ มีชูบท. เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554.

 

อ้างอิง

[1] จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เรียบเรียง, ดุสิต ธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ:  หอสมุดแห่งชาติ, 2513), หน้า 322-323.

[2] หลุย คีรีวัต, ประชาธิปไตย 17 ปี , (พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2493) ,หน้า 84.

[3] นรนิติ เศรษฐบุตร, ดุสิตธานี: การทดลองจัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ.2461,( นนทบุรี :สถาบันพระปกเกล้าฯ, 2550).

[4] วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ , 2554), หน้า  283-284.

[5] วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ , 2554), หน้า  285.

[6] จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เรียบเรียง, ดุสิต ธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ:  หอสมุดแห่งชาติ, 2513), หน้า 8.

[7] วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ , 2554), หน้า 291.

[8] โปรดดูเพิ่มใน นรนิติ เศรษฐบุตร, ดุสิตธานี: การทดลองจัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ.2461,( นนทบุรี :สถาบันพระปกเกล้าฯ, 2550), หน้า 27-49.

[9] โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เรียบเรียง, ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ:  หอสมุดแห่งชาติ, 2513).

[10] วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ , 2554), หน้า  299.