การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๓๔

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : พรสรรค์ วัฒนางกูร [1]

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

 


***การนับปีในบทความวิจัยนี้จะใช้คริสต์ศักราช (ค.ศ. ) แทน พุทธศักราช (พ.ศ.) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลจากยุโรป อนึ่ง การนับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปนั้น ถ้านับเวลาอย่างสากล จะเป็นค.ศ. ๑๙๓๔ เพราะทรงเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนครตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ถ้านับตามปฏิทินจันทรคติของสยาม จะเป็นการเสด็จฯ ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๔ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗

ความนำ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๓ – ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑) เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลกยุโรปในยุคต้นสมัยใหม่ [2] ทั้งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ “ช่วงเวลาแห่งหายนะ” (fin de Siècle) และผลจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔ – ๑๙๑๘) ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองเก่า คือ การปกครองโดยกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราช เช่น ในประเทศรัสเซีย อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ประเทศโปรตุเกส และในประเทศเยอรมนีที่ปกครองโดยกษัตริย์กึ่งระบบรัฐสภา สงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่เพียงเป็นมหาสงครามที่ร้ายกาจในมิติใหม่ของยุทธวิธีสู้รบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจหลายประเทศเท่านั้น แต่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่ประกอบด้วยชุดสัญญากับประเทศที่แพ้สงคราม ได้ทำให้ยุโรปเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหม่ เช่น ประเทศฮังการี ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (ดินแดนของชนเผ่าเบอเมิน Böhmen หรือโบฮีเมีย) ประเทศยูโกสลาเวีย เป็นต้น ประเทศใหม่ในยุโรปตะวันออกถึงสองประเทศได้มีบทบาทใหม่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศสยามระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปขององค์พระมหากษัตริย์แห่งสยามและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี อีกทั้งยังนำไปสู่บทบาทใหม่ของ ๓ ประเทศสำคัญของยุโรปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์การเมือง การปฏิวัติบอลเชวิคในประเทศรัสเซีย (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) ทำให้ก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ นำประเทศสู่ระบอบการปกครองใหม่โดยอุดมการณ์ทางการเมืองลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญหล่อหลอมกลุ่มผู้นำฟาสซิสม์ในอิตาลีและเยอรมนีให้ต่อต้านสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างหนักโดยท่าน “ดูเช” (Ill Duce) มุสโซลินีแห่งประเทศอิตาลี ผู้นำต้นแบบของลัทธิฟาสซิสม์ “นาซี” ในเยอรมนีของท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ที่เรียกตนเองว่า “เฟือเรือ” (Der Führer)

ในส่วนของประเทศสยามนั้น การต่อต้านคอมมูนิสม์นับเป็นเสี้ยวหนึ่งของความขัดแย้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ในประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เสนอ ท่ามกลางความขัดแย้งอื่นๆ อีกหลายประการ อันนำไปสู่การสละราชสมบัติขององค์พระประมุขในวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ระหว่างที่พระองค์ยังประทับอยู่ในยุโรป ณ กรุงลอนดอนในที่สุด

ในการเสนอเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๔ นั้น เป็นเรื่องยากมากที่เราจะแบ่งแยกเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปออกจากบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของสยาม รวมทั้งจากสถานการณ์ในยุโรปและโลกในช่วงนั้นออกจากกันได้เด็ดขาด แม้แต่สาเหตุของการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งนี้ก็ยังเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องพระพลานามัยขององค์พระมหากษัตริย์ เรื่องการเมืองภายในประเทศและการพัฒนาประเทศสยาม นอกจากนั้น ประเด็นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้การศึกษาเรื่องนี้มีสีสันในหลายแง่มุมและน่าสนใจอย่างยิ่ง

เอกสารชิ้นหลักในหัวข้อนี้จากฝ่ายไทยที่พบในประเทศไทย คือ “จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” [3] ซึ่งบันทึกการเดินทางโดยราชเลขานุการในพระองค์ในกระบวนเสด็จฯ คือ พลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม แตกต่างจากกรณีการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. ๑๘๙๗ (ร.ศ. ๑๑๖ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๐) ซึ่งในครั้งนั้น พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์โดยตรงพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทำให้ผู้อ่านได้ทราบว่า ทรงคิดอย่างไร ต่อผู้ใด เรื่องอะไร

ขณะนี้ ผู้วิจัยกำลังสืบค้นข้อมูลจากยุโรป ได้มาแล้วเพียงบางส่วน จึงหวังว่า จะได้รับข้อมูลใหม่เพิ่มเติมในรายละเอียด รวมทั้งรูปภาพและภาพยนตร์ขนาดสั้นที่น่าสนใจให้แง่มุมใหม่ๆ เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๓๔ จากที่มีอยู่เดิม

 

สาเหตุของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ และการเตรียมการเดินทาง

จากเอกสารที่พบขณะนี้ เราทราบว่าสาเหตุหลักของการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ค.ศ. ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๗) คือ เรื่องพระสุขภาพในประเด็นที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องเสด็จฯ ไปทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรที่สหรัฐอเมริกา (ครั้งที่สอง) หลังจากที่ได้ทรงได้รับมาแล้วครั้งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเมื่อค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ. ๒๔๗๔)

เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ เพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ. ๒๔๗๔) นั้น ปรากฏในเอกสารฝ่ายเยอรมันตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๓๐ ลักษณะเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่กรุงเทพฯ แจ้งว่า

“คิงประชาธิปกแห่งสยามได้ทรงเสียการเห็นของพระเนตรข้างซ้ายเนื่องจากต้อกระจก ...และจะเสด็จฯ ไปผ่าตัดพระเนตรที่สหรัฐอเมริกาในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า (ค.ศ. ๑๙๓๑) ... โดยจะเสด็จฯ ทางประเทศญี่ปุ่น ผ่านแวนคูเวอร์เพื่อไปยังเมืองไอร์แลนด์ (วิลลา) ที่คลีนิคของ Dr. N. Morrison ที่นิวยอร์ค ... และจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ด้วย... หลังจากทรงพักผ่อนหลังการผ่าตัดราว ๑ เดือน จะทรงเดินทางในสหรัฐฯ อีกหลายเดือน...” [4]

การผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายครั้งที่ ๑ ซึ่งความจริงเป็นโดยนายแพทย์วีเลอร์ ชาวอเมริกันได้ทำการผ่าตัดถวายไว้ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ที่สหรัฐอเมริกานั้น ประสบผลสำเร็จดี แต่ในสมัยนั้น จำต้องทำการผ่าตัดขั้นที่สองซึ่งยังไม่ได้ทำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เพื่อจะได้ทรงรับการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายครั้งที่ ๒

การประทับในยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๓๔ จึงเป็นเรื่องการรักษาพระสุขภาพเช่นกัน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับให้นายแพทย์ฝรั่งเศสที่ริเวียราและนีศทำพระทนต์หลายครั้ง และต่อมาผ่าตัดพระเนตรซ้ายอีกครั้งที่ลอนดอนคลินิกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แผนการเสด็จประพาสต่างประเทศในเบื้องแรกจากเอกสารเยอรมันลงวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ คือ การผ่าตัดพระเนตรที่สหรัฐฯ หลังจากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินเยือน ๓ ประเทศในยุโรป คือ ประเทศอังกฤษฝรั่งเศส และเบลเยียม[5] ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางทั้งในยุโรปและอเมริกาเป็นการเสด็จประพาสยุโรป เริ่มจากประเทศฝรั่งเศส เบลเยียมและอังกฤษ แล้วจึงเสด็จฯ ไปยังสหรัฐอเมริกา จากนั้น เสด็จฯ กลับมายัง เดนมาร์ก เยอรมนี เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี ออสเตรียและอิตาลี[6] หากแต่ว่า ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรีย สำหรับประเทศหลังเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของออสเตรียถูกฆาตกรรมขณะประทับอยู่ที่ประเทศฮังการี

ส่วนรายละเอียดจากเอกสารปฐมภูมิภาษาไทยเรื่องการเตรียมการเสด็จต่างประเทศของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ปรากฏชัดเท่ากรณีการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ข้อมูลเท่าที่พบและได้ศึกษาในขณะนี้ เป็นเฉพาะจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางโดยราชเลขานุการประจำพระองค์แหล่งเดียว ไม่มีพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แน่นอนก็คือ การเสด็จเยือนประเทศในยุโรปของพระองค์ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เป็นการเสด็จฯ อย่างเป็นทางการเฉพาะบางส่วน ซึ่งน้อยมาก คือส่วนที่ทรงเยี่ยมประมุขของประเทศต่างๆ ในยุโรป ทรงเป็นอาคันตุกะของประมุขประเทศนั้นๆ ตามคำเชิญของรัฐบาล และส่วนใหญ่ของการเสด็จเยือนประเทศในยุโรปพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีและคณะจำนวนไม่มาก มีลักษณะไม่เป็นทางการ (unofficial / incognito) โดยทรงเลือกที่จะทรงใช้พระนาม “Prince Sukhodaya” ในยุโรป ดังปรากฏชัดเจนในเอกสารของฝ่ายเยอรมัน [7] ส่วนเหตุผลนั้น น่าสนใจมาก ดังนี้ เอกสารรายงานจากทูตเยอรมันที่กรุงเทพฯ เล่าถึงการสนทนาส่วนตัวระหว่างทูตเยอรมันและทูตอิตาลีว่า ภายหลังได้รู้ข่าวลับสุดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระประสงค์ที่จะเสด็จประพาสยุโรป ๓ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเบลเยียม สำหรับการผ่าตัดพระเนตรนั้น ก็น่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา ทูตอิตาลียังเล่าว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ (คือ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยาม) ตอบคำถามเลี่ยงๆไม่บอกว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศ อิตาลีหรือไม่ จากนั้น ทูตอิตาลีเล่าถึงเรื่องลับมากที่ได้ยินจากแหล่งข่าวที่เชื่อถืออีกแหล่งหนึ่งว่า รัฐบาลอังกฤษได้แจ้งมายังรัฐบาลสยามว่า พระมหากษัตริย์อังกฤษ (คือ พระเจ้าจอร์ชที่ ๕) ไม่เต็มพระทัยที่จะต้อนรับพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ซึ่งทูตอิตาลีเองก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่คาดเดาว่าคงจะเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในตะวันออกไกลขณะนั้นที่ไม่ดีนัก ทำให้อังกฤษมีท่าทีตีตัวออกห่างสยามในลักษณะนี้ [8] เหตุผลนี้น่าจะเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการเดินทางซึ่งมีผลต่อลักษณะการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ค.ศ. ๑๙๓๔

อนึ่ง ในขณะนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองในสยามนับว่ากำลัง “วิกฤติ” อย่างมาก ทั้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่นอกจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงเห็นด้วยแล้ว ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในคณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร จนมีการประกาศปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ (พ.ศ. ๒๔๗๖) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิด “กบฏบวรเดช” (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๓/พ.ศ. ๒๔๗๖)

ในประเด็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีลักษณะเป็นทางการเป็นบางส่วนและส่วนใหญ่ไม่เป็นทางการนั้น จากการที่ผู้วิจัยได้ศึกษาจดหมายโต้ตอบไปมาหลายฉบับระหว่างทูตสยามกับกระทรวงการต่างประเทศของหลายประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี เชคโกสโลวาเกีย และฮังการี อ้างถึงหนังสือระหว่างทูตสยามที่กรุงลอนดอนกับรัฐบาลที่กรุงปราก แบร์ลีน บูดาเปสต์และเวียนนา ทำให้สรุปได้ว่า การเสด็จประพาสยุโรปอย่างเป็นทางการบางส่วนสืบเนื่องมาจากรัฐบาลประเทศยุโรปแต่ละประเทศยืนยันที่จะกราบถวายบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์แห่งสยามให้เป็นอาคันตุกะของรัฐบาล สำหรับในประเทศเชคโกสโลวาเกีย พบว่า รัฐบาลเชคได้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในระหว่างที่ทรงพำนักในประเทศทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งที่ทรงแจ้งกับรัฐบาลชัดเจนก่อนหน้าแล้วว่า ฝ่ายสยามประสงค์ที่จะออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาลเชคยังได้ทูลเกล้าถวายเครื่องแก้วที่สมเด็จพระราชินีรำไพพรรณีฯ ทรงสั่งซื้อเป็นการส่วนพระองค์เป็นของขวัญด้วย[9]

ในท้ายที่สุด พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆในยุโรปดังปรากฏใน จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ จดหมายเหตุเหล่านี้ ฉบับสุดท้ายมีทั้งหมด ๑๖ ตอน[10] เมื่อบันทึกแต่ละตอนแล้วได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรโดยละเอียด และเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตให้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว ราชเลขานุการในพระองค์ในกระบวนเสด็จฯ ได้ทยอยส่งเข้ามาถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภาที่กรุงเทพฯ ครั้งทรงดำรงตำแหน่งปฏิบัติราชการแทนราชเลขานุการในพระองค์ มีดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ถึงเมือง เมดันผ่านโคลัมเบียถึงคลองสุเอซถึงมาร์เซลย์ ประเทศฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศส ประทับที่มาร์เซลย์ โบลิเออ คานส์ ๔ ก.พ. – ๗ มี.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศอิตาลี ประทับ ณ กรุงโรม ๘ มี.ค. – ๔ เม.ย. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศอังกฤษ ประทับ ณ กรุงลอนดอน ๒๖ เม.ย. – ๒๓ มิ.ย. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศเดนมาร์ก ประทับ ณ กรุงโคเปนฮาเกน ๒๓ มิ.ย. – ๒ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศเยอรมนี ๒ ก.ค. – ๒๕ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศเบลเยียม กรุงบรัสเซล ๒๖ ก.ค. – ๒๘ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศเชคโกสโลวาเกีย ๒๙ ก.ค. – ๗ ส.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ประเทศฮังการี กรุงบูดาเปสต์ ๘ ส.ค. – ๑๖ ส.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินจากสนามบินกรุงปรากไปยังเมืองซือริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ๑๘ ส.ค. – ๒๖ ส.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔

 

นัยสำคัญของการเสด็จประพาสยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งนี้ เป็นในภาวะที่โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในทวีปยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ หรือในประเทศสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. ๑๙๓๒ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ที่ปัญหาและแรงกดดันจากภายในประเทศมีมากมายทั้งจากคณะรัฐบาลและบุคคลภายนอกคณะรัฐบาลทั้ง ก่อน และหลัง “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ (เริ่ม ๑๑ ต.ค. และดำเนินอยู่กว่า ๑ สัปดาห์)[11] ไม่นับแรงกดดันจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่ยังส่งผลสืบเนื่อง

ในความเห็นของผู้วิจัย การเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ มีนัยหลายประการเพื่อประโยชน์ของชาวสยามในหลายด้าน แม้จะมีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงสละราชสมบัติก็ตาม[12] นอกจากนี้ การเสด็จประพาสยุโรปยังเป็นการสืบสานสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศและกับผู้นำของบรรดาประเทศยุโรปและพลเมืองยุโรปที่มีอยู่เดิมแล้ว และสำหรับบางประเทศ เป็นการเริ่มสัมพันธไมตรีและปูทางสู่ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เช่นกับประเทศเชคโกสโลวาเกีย และประเทศฮังการี เป็นต้น แม้ว่า ในสายตาของคนยุโรปด้วยกัน การเสด็จประพาสบางประเทศ เช่นฮังการีจะไม่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจเลยก็ตาม [13] ในประเด็นนี้ ทางฝ่ายฮังการีโดยทูตฮังการีที่กรุงปราก ได้รายงานไปยังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงบูดาเปสต์เรื่องพระมหากษัตริย์แห่งสยามเสด็จประพาสกรุงปราก ทูตฮังการีที่ปรากตั้งข้อสังเกตว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศฮังการีของพระมหากษัตริย์แห่งสยามครั้งนี้ไม่มีนัยทางการเมือง (“…has no political relevance…) อีกทั้งในงานเลี้ยงในสวน (Garden Party) ที่รัฐบาลประเทศเชคโกสโลวาเกียจัดขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระราชอาคันตุกะจากแดนไกลในค่ำวันที่เสด็จฯ มาถึงกรุงปรากเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งผู้แทนทางการทูตของประเทศต่างๆ ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่มีเนื้อความเกี่ยวกับการเมืองเลย ทั้งผู้ตามเสด็จฯ ในขบวนก็ไม่มีผู้ใดเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองหรือเศรษฐกิจ และดูเหมือนว่า การเสด็จประพาสประเทศฮังการีครั้งนี้ (ในความเห็นของทูตฮังการีประจำกรุงปราก) น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ตามประเพณี คล้ายกับที่สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์ คือ “คิงจุฬาลงกรณ์” ได้เคยเสด็จประพาสยุโรปเมื่อก่อนหน้านี้ (ค.ศ. ๑๘๙๗/พ.ศ.๒๔๔๐) และได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนฮังการีด้วย[14]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนหลายสถานที่ในยุโรป ซึ่งอาจมีนัยสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อจากที่ได้ทรงกระทำมาตลอดหลังจากทรงขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเกษตร วิทยาศาสตร์ การทหาร รวมทั้งยังสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องการเมืองการปกครองระบอบใหม่ เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนกิจการของรัฐบาลฟาสซิสต์ทั้งในประเทศอิตาลีและกิจการของพรรคนาซีในประเทศเยอรมนีด้วยความสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง[15] อาจเป็นไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ที่จะศึกษาและค้นหาระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศสยามมากที่สุด นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทอดพระเนตรกิจการที่อาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนเพื่อหาหนทางนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศสยามเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาทรงกระทำมาแล้ว

ในความเห็นของผู้วิจัย นัยสำคัญของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ อาจสรุปโดยย่อดังนี้

๑. การรักษาพระสุขภาพที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ

๒. ผลพลอยได้ทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ

๓. กิจการต่างประเทศ การเริ่มและสานต่อสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในยุโรป

 

๑. การรักษาพระสุขภาพที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ

ดังได้กล่าวแล้วว่า เหตุผลเบื้องแรกที่สำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ ก็คือ การรักษาพระสุขภาพเรื่องพระเนตรอันเนื่องมาจากต้อกระจกที่พระเนตรข้างซ้ายซึ่งมีอาการแย่ลงเรื่อยๆ มา ๒ ปีแล้ว และต้องทำการผ่าตัดโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการรักษาพระทนต์ที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย

ตามหมายกำหนดการเดิม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งที่สองใน ค.ศ. ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๗) เพื่อเข้าทรงรับการผ่าตัดพระเนตรซ้ายขั้นที่ ๒ และจะประทับอยู่ในสหรัฐฯ ราวหนึ่งเดือน หลังจากนั้น จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปอีกราว ๗ เดือน

แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในเอกสารจากฝ่ายเยอรมัน ทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้ข่าวเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย [16]

อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเดินทางไปสหรัฐอเมริกาหลังจากทรงเคยได้รับการผ่าตัดที่นั่นแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ๓ ปีก่อนหน้า แต่ประทับอยู่ที่ยุโรปตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ และมิได้เสด็จฯ กลับประเทศสยามอีกเลย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายที่กรุงลอนดอน ณ ลอนดอนคลีนิคในวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ โดยเซอร์ สจ๊วต ดุกเอลเดอร์ (Sir Stewart Duke-Elder) นายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ (King George V) ที่นายแพทย์ วีเลอร์ ชาวอเมริกันได้เคยทำการผ่าตัดถวายไว้แล้วครั้งที่ ๑ ที่สหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดขั้นที่ ๒ ซึ่งมักทำภายหลัง

ส่วนการรักษาพระทนต์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองนีศยังสำนักทันตแพทย์ของ ดร. ดอร์สัน บัคเลย์ที่เมืองนีศ ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อเสด็จฯ โดยทางเรือไปถึงมาเซลส์แล้ว ประทับให้นายแพทย์ตรวจพระทนต์ถึง ๓ ครั้ง โดยก่อนหน้าทรงได้รับการฉายเอ็กซเรย์พระทนต์ที่สำนักงานหมอปัสเจตตา (Dr. Paschetta) เมืองนีศ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระบรมราชินีเสด็จฯ ไปมาระหว่างโบลิเออ นีศ และเมืองคานส์ [17]

ก่อนการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ลอนดอนคลีนิค โรงพยาบาล ณ กรุงลอนดอน พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้ทรงให้คณะแพทย์ชาวอังกฤษ รวมทั้ง ดร. ดอร์สัน บัคเลย์ ทันตแพทย์ที่มาจากเมืองนีศเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ร่วมกันรักษาพระทนต์ครั้งใหญ่ (ถอนพระกรามเบื้องล่างทั้งสองซี่ขวาซ้ายออก) ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ รวมเวลาผ่าตัด ๒ ชั่วโมง ๔๐ นาที การผ่าตัดเป็นผลดีมาก ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ ๑๐-๑๗ พฤษภาคม หลังจากนั้นในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ชายทะเลตามคำแนะนำของแพทย์เป็นเวลา ๔ ราตรี ณ Grand Hotel เมือง Folkstone

ที่สำคัญก็คือ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีประทับในยุโรปตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๓๔ ถึงเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน นอกจากการรักษาพระเนตรและ พระทนต์แล้ว การประทับที่ยุโรปยังเป็นโอกาสให้ทั้งสองพระองค์ได้ทรงพักผ่อนพระวรกายและให้ทรงพระเกษมสำราญผ่อนคลายจากพระราชภาระอันหนักหน่วงและความไม่สบายพระทัยจากเรื่องต่างๆ ที่ประเทศสยามได้บ้าง กิจกรรมเหล่านี้ มีทั้งการประทับรถยนต์ทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงามข้างทาง ทรงพระดำเนินเล่นในสวนทั้งสวนสาธารณะและสวนไม้ดอกไม้ประดับของปราสาทในหลายประเทศ เช่นที่ประเทศฝรั่งเศสที่สวนปราสาทพระราชวังแวร์ซายน์ ที่โมนาโค เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ โดยในหลายประเทศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นผู้ขับรถนำเสด็จทอดพระเนตรชมทิวทัศน์ ทั้งสองพระองค์ทรงกีฬาเทนนิสที่ทรงได้ชำนาญบ่อยที่สุดกว่ากีฬาประเภทอื่น ในประเทศเชคโกสโลวาเกีย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ยังสปาที่ State Spa Administration Štrbské Pleso ในสโลวาเกีย มีบ่อน้ำร้อนและน้ำแร่รักษาโรคและรักษาเรื่องระบบการหายใจเป็นพิเศษ[18] ประทับที่โรงแรม Hviezdoslav และหลังจากทรงเสด็จเยือนประเทศฮังการี ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาเชคโกสโลวาเกียอีกอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ ๑๗-๑๘ สิงหาคม ตามพระราชประสงค์ โดยเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมือง Lány ที่ “ลานี ชาร์โต” (Lány Chateau) นอกกรุงปราก พร้อมบุตรสาวและบุตรชายของประธานาธิบดีมาซาริก บริเวณปราสาทมีสวน ทะเลสาปและภูมิประเทศงดงามมาก เป็นที่พำนักและรับแขกเมืองของประธานาธิบดี ได้ทรงประทับพักผ่อนที่ทะเลสาบของปราสาท ในวันที่ ๑๘ ได้ทรงเยี่ยมชมกิจการเครื่องเย็บปักถักร้อยของโรงงานวัลเดส (Waldes Factory) ที่เมือง Vršovice ที่มีกิจการค้ากับประเทศสยามด้วยก่อนที่จะเสด็จฯ โดยสายการบินลุฟธันซาไปยังลูเซิร์น [19]

ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองลูเซิน (Lucern) และซือริช (Zürich) ทั้งสองพระองค์นอกจากจะประทับรถยนต์ท่องเที่ยวแล้วยังได้ทรงเยือนร้านค้าหลายแห่ง ทั้งทอดพระเนตรภูมิประเทศและสวน พิพิธภัณฑ์ที่เมืองบวร์เกินชตอค (Glacier Gardens and Museum, Burgenstock) ทรงกีฬาเทนนิสและพักผ่อนพระราชอิริยาบถ

นับว่า เมื่อพระมหากษัตริย์แห่งสยามและสมเด็จพระบรมราชินีพอจะทรงว่างจากการเสด็จเยือนประมุขของประเทศ มีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการฝ่ายสยามและฝ่ายประเทศเจ้าภาพ ทั้งกับนักเรียนไทยในหลายประเทศ ก็จะทรงพยายามพักผ่อนพระวรกายเท่าที่เวลาจะอำนวย

 

๒. การพัฒนาและปฏิรูปประเทศสยาม “ใหม่”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมพรรษา ๓๒ พรรษา หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช มีพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๘) ข่าวหนังสือพิมพ์จากเยอรมนีกล่าวถึงประเทศ “สยามสมัยใหม่” ในรัชสมัยของพระองค์ในแทบทุกด้าน ความสำคัญว่า นอกจากปราสาทราชวังและภูมิประเทศที่งดงามอุดมสมบูรณ์อย่างมากดังเช่นประเทศในเขตร้อนศูนย์สูตรแล้ว ประเทศสยามในปัจจุบัน (คือใน ค.ศ. ๑๙๒๗) ยังมีท่าเรือ กิจกรรมอุตสาหกรรม สนามบิน สนามกีฬาที่สร้างขึ้นใหม่เป็นอันมาก ทั้งในประวัติศาสตร์ ประเทศสยามยังสามารถรักษาเอกราชของประเทศให้รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่แล้วด้วย วันนี้ (๘ พ.ย. ๑๙๒๗) เป็นวันที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงฉลองคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ทรงดำเนินนโยบายการคลังและการเงินของประเทศอย่างระมัดระวัง และทรงดำเนินรอยตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระราชบิดาจุฬาลงกรณ์และพระเชษฐาเพื่อพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองสืบไป[20]

ความเห็นของชาวต่างชาติมิใช่สิ่งเดียวที่ยืนยันพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี พระจริยวัตรของพระองค์ท่านปรากฏเด่นชัดทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง ก่อน และ ระหว่าง เสด็จประพาสยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ หรือแม้แต่ก่อนหน้าเมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์ ชวา บาหลีใน ค.ศ.๑๙๒๙ (พ.ศ. ๒๔๗๒) อินโดจีนใน ค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ. ๒๔๗๔) ด้วย ดังปรากฏในเอกสารต่างประเทศหลายต่อหลายฉบับ

หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนคณะเสนาบดีของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงที่สำคัญหลายตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๘ เช่น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “Prinz Paribatra” (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ย้ายจากเสนาบดีกระทรวงกลาโหมมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแทน “Prinz Yugala” (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “Prinz Bovaradej” (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ต่อมาทรงเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า) เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม[21] สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ คือ “Prinz Traitos” (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) แม้ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทางฝ่ายเยอรมันคาดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯ ให้ “Prince วรรณไวทยากร” (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ต่อมาทรงเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า) มาเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแทน “Prince Traitos” [22] ซึ่งท้ายที่สุดไม่ได้เป็นไปตามนั้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสานต่อและแก้ไขงานของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในจุดที่จำเป็น พระองค์สนพระราชหฤทัยสนับสนุนงานเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งเสริมด้านการเกษตรกรรม ทั้งได้ทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาชาวอังกฤษคนใหม่มาให้คำหารือเรื่องการเงินการคลัง ทำให้เศรษฐกิจและการคลังของสยามพลิกฟื้นขึ้นมั่นคงและรุ่งเรืองหลังจากประสบปัญหาในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งได้ทรงตั้งงบประมาณเป็นจำนวนมากสำหรับกิจการทางวัฒนธรรมและโรงเรียน รายได้ของประเทศจากการค้าขายเพิ่มขึ้นจาก ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๖ แต่การกระจายตัวของสินค้ายังไม่ดีนักเนื่องจากสภาพเส้นทางคมนาคมของประเทศยังไม่เจริญมีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนใหม่ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งสร้างทางรถไฟเพิ่มเติม ทั้งการค้าขายกับต่างชาติเจริญขยายตัวเป็นอันมาก[23]

นับว่า ระหว่างค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๒๙ คือ อย่างน้อยระหว่าง ๒ ปีแรกหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ การเงินการคลังของสยามมั่นคง ปัญหาด้านการคลังของประเทศช่วงก่อนการปฏิวัติของคณะราษฎรที่เป็นข้ออ้างหนึ่งของความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจนต้อง “ดุลย์” ข้าราชการบางส่วนเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง สืบเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกใน ค.ศ. ๑๙๒๙-๓๐ และจากการที่รัฐบาลอังกฤษประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำและใช้เงินปอนด์สเตอลิงแทนตั้งแต่ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศประสบปัญหาดุลการชำระเงินขาดดุลจำนวนมาก[24] ประเทศที่เงินทุนสำรองของประเทศผูกติดอยู่กับเงินปอนด์เช่นสยาม เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เงินปอนด์ไม่มั่นคง จึงได้รับผลกระทบโดยตรง

ก่อนการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีข้าราชการระดับสูงของสยามเดินทางไปต่างประเทศรวมทั้งประเทศเยอรมนีหลายครั้ง เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินในเวลานั้น) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมได้เสด็จประเทศเยอรมนีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ และทำให้เริ่มมีการสอนภาษาเยอรมันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกให้กับนิสิตคณะแพทยศาสตร์หลังจากนั้น ทั้งการเสด็จเยอรมนีในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พร้อมพระธิดาสองพระองค์) โดยก่อนหน้าได้เสด็จประเทศเบลเยียมและฮอลแลนด์ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ทางการเยอรมันเตรียมการและรับรองอย่างดีมาก มีกำหนดการเดินทางตั้งแต่ที่ประเทศเบลเยียมและประวัติของอาคันตุกะฝ่ายไทยอย่างละเอียด ในการนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้พบและสนทนากับประธานาธิบดีฮินเดนบวร์ก (Reichpräsident Hindenburg) และนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีขณะนั้น คือ แฮร์มันน์ มืลเลอร์ (Hermann Müller) [25] หลังจากนั้น พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรได้เสด็จเยอรมนีในกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ได้ทรงพบสนทนากับนายกรัฐมนตรีเยอรมันแฮร์มันน์ มืลเลอร์ด้วย[26]

ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ค.ศ. ๑๙๓๔ เห็นได้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินนโยบายและ “ทรงกระทำ” อย่างจริงจังในอันที่จะสานนโยบายพัฒนาประเทศสยามบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่และกิจการของประเทศต่างๆ ทุกประเทศ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรม การทหารและเศรษฐกิจ เช่น ที่ประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกีฬากอล์ฟที่ตำบลซังคลูด์ ทอดพระเนตรโอเปราและละครที่ทรงสนพระทัยหลายครั้ง ได้ทอดพระเนตรกิจการหลังฉากของละครและโอเปรา ทั้งเจ้าหน้าที่แสดงการเปิดเครื่องกลไกต่างๆ การใช้ไฟสีและเปลี่ยนฉาก เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการละครและภาพยนตร์ที่ประเทศสยาม เช่นเดียวกับการเยี่ยมชมโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เมืองพอตสดัม (Potsdam) ใกล้กรุงแบร์ลีน ณ ประเทศเยอรมนี A-B Film Studio ที่ Barrandov กรุงปราก และในประเทศอิตาลีที่ได้ทรงเยี่ยมชมกิจการสหกรณ์ต่างๆ (General Fascist Confederation of Italian Industries) มีสหกรณ์บริษัทและนายจ้าง สหกรณ์คนงาน สหกรณ์หัตถกรรมต่างๆ และสหกรณ์ชาวนา ทอดพระเนตรสมาคมกสิกรรมที่เมืองฟรัสกาตี (Frascati) (International Institute of Agriculture) ซึ่งเป็นสมาคมที่ได้รับมอบหมายจากองค์การสันนิบาตฺชาติ (League of Nations) ได้ทอดพระเนตรโอเปราในหลายเมือง เช่น โรม เนเปิล กับกิจการภาพยนตร์ที่สภาภาพยนตร์เกื้อกูลการศึกษานานาชาติที่ทรงสนพระทัย กับทั้งยังได้เสด็จเข้าเฝ้าองค์พระสันตะปาปา ปิโอที่ ๑๑ (ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๗๖ พรรษา) ณ นครวาติกันเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงเข้าเฝ้าพระสันตปาปา ลีโอที่ ๓ มาแล้วใน ค.ศ. ๑๘๙๗ กับได้ทรงปฏิบัติหน้าที่องค์ศาสนูปถัมภก โดยการเสด็จฯ ทรงร่วมพิธีสถาปนาพระเถระซาเลเซียน (Salasians) ขึ้นเป็น “สัตบุรุษ” และฉลองสัญญาคองคอร์ตปรองดองข้อพิพาทระหว่างสำนักวาติกันกับราชอาณาจักรอิตาลีในวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๗) สำนักซาเลเซียนนี้ มีกิจกรรมในประเทศไทย เป็นสำนักที่ก่อตั้งโรงเรียนดอนบอสโก (Don Bosco) (จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: ๑๐๙-๑๑๑) ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนการอนามัยและการใช้ยารักษาโรคประเทศร้อนที่ The London School of Hygiene and Tropical Medicine (๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔) ทอดพระเนตรกิจการของสำนักงานแห่งบริษัทวิทยุกระจายเสียง (๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔) ที่ประเทศอังกฤษ

ที่ประเทศเดนมาร์ก (๒๓ มิ.ย.- ๒ ก.ค. ๑๙๓๔) ทรงทอดพระเนตรกิจการทางด้านเกษตร ฟาร์มโคนม การทำเนยอ่อน โรงผลิตเครื่องลายครามที่มีชื่อเสียงของเดนมาร์ก โรงกลั่นเบียร์คาร์สเบิร์ก (Carlsberg) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก(ได้ทรงสนับสนุนให้ “บุญรอด” ตั้งโรงเบียร์ในสยามก่อนหน้านั้น) ทอดพระเนตรท่าด่านภาษี โรงงานทำไฟฟ้า โรงเก็บน้ำมันเบนซิน โรงเก็บถ่านศิลา โรงพักสินค้า และทรงประทับเรือไปตามอู่และท่าเรือใหญ่น้อยในเดนมาร์ก ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับการสร้างท่าเรือคลองเตยในประเทศสยาม กับได้ทอดพระเนตรกิจการของโรงพิมพ์บลังแตง (Musée Plantin) อันเป็นโรงพิมพ์เก่าแก่ของเดนมาร์กอยู่ในความดูแลรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สถาน โดยเจ้าชายอักเซลและพระชายานำเสด็จฯ

ส่วนที่ประเทศเบลเยียม กรุงบรัสเซลส์ (๒๖ -๒๘ ก.ค.๑๙๓๔) แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่มีการค้าขายลงทุนมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเรือแล่นตามท่าเรือทอดพระเนตรกิจการท่าเรือและเรือสินค้ามากมาย รวมทั้งจะมีการสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำ

ที่ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (๒๙ ก.ค. – ๗ ส.ค. ๑๙๓๔) พระมหากษัตริย์แห่งสยามเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานผลิตแก้วที่มีชื่อเสียงชื่อ Bohemia-Moser ที่ Dvoryโรงบ่อน้ำแร่และน้ำร้อน ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานผลิตรถยนต์โกดา ที่ Plzeň ในวันที่ ๒ สิงหาคม โรงงานแห่งนี้ ผลิตเครื่องเหล็กหลายอย่าง (แบบเดียวกับผลิตภัณฑ์ของโรงงานครุปป์ในเยอรมนี) รวมทั้งผลิตอาวุธและอุปกรณ์รบหลายอย่างด้วย สำหรับการผลิตอาวุธนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระประสงค์ที่จะทอดพระเนตรและฝ่ายสยามได้แจ้งไปยังประเทศเจ้าภาพก่อนหน้าแล้ว แต่พระองค์มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานเครื่องหนังและรองเท้าบาจา (BAŤA) ที่โมราเวีย เมือง Zlíně และ Zbrojovka กับ Arsenal enterprise ที่ Brno ตามหมายกำหนดการเดิมในวันที่ ๓ สิงหาคม เนื่องจากทรงอ่อนกำลังพระวรกายจากที่มีการเปลี่ยนหมายกำหนดการอยู่หลายต่อหลายครั้ง[27] (บาจา ได้เข้ามาค้าขายในสยามตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๐) นอกจากนี้ยังมีกิจการโรงงานน้ำตาล กิจการด้านเกษตรกรรมที่ประเทศเชคโกสโลวาเกีย และที่ประเทศฮังการี (๘ ส.ค.-๑๖ ส.ค. ๑๙๓๔) ทอดพระเนตรงานด้านเกษตรและการผสมสัตว์ โรงมวนบุหรี่ กับกิจการของโรงงานบริษัท สแตนดาร์ด เวอร์กส์ (Standard Works) ทำเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายประเภท

ในด้านการเมืองการปกครอง เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยศึกษาระบอบการปกครองของประเทศยุโรปอย่างมาก ทั้งระบอบการปกครองในระบบรัฐสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรห้องประชุมสภาขุนนาง (House of Lords) และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) (๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔) ที่กรุงลอนดอน แล้วได้เสด็จฯ ขึ้นไปประทับฟังการประชุมที่ปรึกษาข้อราชการที่สภาจนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกาเศษ ส่วนการปกครองระบอบฟาสซิสม์ที่ประเทศอิตาลีและเยอรมนีอันเป็นระบอบการปกครองใหม่ในยุโรปช่วงนั้น ก็สนพระราชหฤทัยอย่างจริงจัง เมื่อเสด็จถึงกรุงโรม (๑๒ มี.ค. -๔ เม.ย. ๑๙๓๔) โดยรถไฟพระที่นั่งในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เวลา ๙ นาฬิกา ได้มีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระบรมโอรสมกุฎราชกุมารซึ่งเสด็จมาแทนพระเจ้าแผ่นดินอิตาลีพร้อมข้าราชการในพระราชสำนักและมุสโซลินี นายกรัฐมนตรี ระหว่างประทับที่กรุงโรม ทรงเยี่ยมทอดพระเนตรโรงเลี้ยงเด็ก ทั้งได้ทรงเยี่ยมกองบัญชาการคณะฟาสซิสม์ ทอดพระเนตรห้องประชุมกรรมการห้องสมุด ห้องเครื่องพิมพ์และการโฆษณา ห้องวิทยาศาสตร์ สถิติ เสด็จประทับในห้องทำการของปลัดบัญชาการ รับสั่งถามข้อความเรื่องวิธีจัดกองฟาสซิสม์เป็นเวลานาน (๑๓ มี.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) ทอดพระเนตรมิลิเซีย ฟาสซิสต์หรือกองอาสาสมัครรักษาดินแดนของคณะฟาสซิสต์ พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติของคณะฟาสซิสต์ (๑๔ มี.ค. ๑๙๓๔) ทั้งในจดหมายเหตุการณ์เสด็จประพาสระหว่างประทับที่กรุงโรม มีข้อความบันทึกกล่าวถึงวิธีทำงานของท่าน “อิล ดุเช” (Il Duce) (แปลว่า “ท่านผู้นำ” เช่นเดียวกับ “Der Führer” ซึ่งเป็นสมญาของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์) ในหนังสือจดหมายเหตุฯ ชมเชยว่าคณะฟาสซิสต์ในอิตาลีว่า มุสโซลินีมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และได้ฟื้นฟูประเทศอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ช่วยประเทศให้รอดพ้นภัยสังคมนิยมโซเชียลลิสต์ รวมทั้งวิธีอบรมพลเมืองให้รู้จักหน้าที่ต่อประเทศชาติให้รักชาติกับแก้ไขปัญหาการว่างงาน สามารถจัดการเรื่องตลาดแรงงาน อาชีพ ให้พลเมืองอิตาลีอยู่ดีกินดีไม่ยากจนมากเท่าแต่ก่อน รวมเวลาประทับอยู่ในประเทศอิตาลีถึงเกือบ ๑ เดือน (๑๒ มี.ค. – ๔ เม.ย. ค.ศ. ๑๙๓๔)

เช่นเดียวกับที่ประเทศอิตาลี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีรำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมันนานถึง ๓ สัปดาห์ (๒ ก.ค. – ๒๕ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) โดยได้ทรงเยี่ยมประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กที่มาเรียนบาด (Marienbad) ซึ่งเป็นเมืองพักฟื้นและพักผ่อน เนื่องจากนายแพทย์ไม่ให้ประธานาธิบดีเดินทางมารับเสด็จฯ ที่กรุงแบร์ลีนเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง ได้มีพระราชปฏิสันถารกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (Reichkanzler) ของเยอรมนี คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ตั้งแต่มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓) หลายต่อหลายครั้งที่กรุงแบร์ลีน พระมหากษัตริย์แห่งสยามเสด็จถึงสถานีรถไฟกรุงแบร์ลีน ประทับ ณ โฮเต็ลอัทลอน (Hotel Adlon) ณใจกลางเมือง ในตอนเย็น บารอน ฟอน นอยราท (Baron von Neurath) กับกราฟ ฟอน บัสเซอวิทซ์ (Graf von Bassewitz) ได้นำอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเฉพาะ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นล่าม จากนั้น นายพล แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)[28] ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกองทัพอากาศ นายกรัฐสภาและสมุหเทศาภิบาล แคว้นปรัสเซียเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรภาพยนตร์เผยแผ่เกียรติคุณของฮิตเลอร์ เช่นเดียวกับภาพยนตร์เผยแผ่เกียรติคุณมุสโซลินีตั้งแต่วันแรกที่เสด็จฯ มาถึงแบร์ลีน ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่ต่างๆ เช่น โรงงานไฟฟ้าของบริษัทซีเมนส์ กิจการไฟฟ้าลักษณะต่างๆ ทอดพระเนตรโรงเรียนอบรมหัวหน้าของเด็กหนุ่มเยอรมัน (Hitearjunge) อายุระหว่าง ๑๘ – ๒๒ ปี อันเป็นโรงฝึกหัดอาชีพฝึกงาน จัดเหมือนโรงทหาร ฮิตเลอร์หวังจะสร้างโรงฝึกหัดแบบนี้ตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตกลงจะลดจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงเพื่อให้มุ่งมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ทั้งยังมีโรงเรียนหรือแคมป์รับเด็กสาวเข้าเรียนวิชาการเรือน เพาะปลูก เลี้ยงปศุสัตว์ ประกอบอาหาร ทำความสะอาดบ้านเรือนกับการอนามัย กำหนดเวลาเรียน ๑ ปี (๖ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) ได้ทอดพระเนตรสนามบินไปรษณีย์ของบริษัทลุฟธันซา (Lufthansa) (๓ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) ที่มีการจัดการคล้ายสถานีรถไฟ มีแผนที่แสดงสนามบินและสายการบินติดต่อทั้งภายในและภายนอกประเทศเยอรมนี มีภัตตาคาร ด่านภาษีตรวจหีบและชั่งน้ำหนักของ นับเป็นสนามบินที่กว้างขวางมาก ทั้งทอดพระเนตรเครื่องบินใหญ่น้อยหลายแบบ ในวันที่ ๗ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔ ได้เสด็จฯ เสวยพระสุธารสที่ป่าใหญ่ ตำบลชอร์ฟไฮเดอ (Schorfheide) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงทดลองวิทยาศาสตร์และโรงงานผสมยา เชียร์ริง-คาร์ลเบาม์ (Schering-Kahlbaum AG) แสดงวิธีทำยาชนิดต่างๆ สำหรับรักษาโรคของมนุษย์และสัตว์ รวมยาบำรุงกำลังด้วย (๙ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) กับเสด็จพระราชดำเนินเยือนหอดาราศาสตร์ที่เมืองเยนา (๑๑ ก.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) ใช้เลนส์ของคาลซ์ไซส (Carl Zciss) อันเลื่องชื่อ กับสถานที่สวยงามทางวัฒนธรรมอีกมาก เช่น พิพิธภัณฑ์ Residenz Museum พิพิธภัณฑ์เยอรมัน (Deutsches Museum) ที่แสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ กิจการเบียร์ ภัตตาคารโฮฟบรอยเฮาส์ (Hofbräuhaus) เมืองมึนเชิน รวมทั้งทอดพระเนตรทะเลสาปและสวนดอกไม้ในเมืองมึนเชิน (มิวนิค)ในรัฐบาเยิน (Bayern/บาวาเรีย)

นับว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอิตาลี โดยเฉพาะเยอรมนี กินเวลานานกว่าประเทศอื่น ทั้งได้ ทอดพระเนตรกิจการของฟาสซิสต์ในทั้งสองประเทศให้เห็นสภาพจริงหลังจากที่ได้ทรงศึกษาจากการอ่านมาก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติของคณะราษฎรเพียงเดือนเดียว เรื่องการปกครองระบอบฟาสซิสม์ในอิตาลีว่า ไม่น่านำมาประยุกต์ใช้ในสยามได้แล้ว จึงควรให้ศึกษาไปในทางที่เอื้อต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ดังปรากฏในเอกสาร Mussolini and Education [29]

จะเห็นได้ว่า กิจการต่างๆ หลายอย่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรในยุโรป ทั้งเรื่องการสหกรณ์ การเกษตร การปศุสัตว์ การท่าเรือ การศึกษาและการค้า เช่นการผลิตเบียร์ กิจการโรงงานน้ำตาลในประเทศเชคโกสโลวาเกียส่งผลต่อประเทศสยามหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งยังอาจมีผลเนื่องเป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาของชาวจันทบุรี โดยการทรงปรับปรุงโรงพยาบาลประจำจังหวัด และทรงตั้งมูลนิธิประชาธิปกเพื่อสนับสนุนกิจการต่างๆ ของโรงพยาบาลนั้น (โรงพยาบาลพระปกเกล้าในปัจจุบัน) หลังจากที่เสด็จกลับจากประเทศอังกฤษมาประทับอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ณ วังสวนบ้านแก้วระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓- ๒๕๑๑ ด้วย

 

๓.การเริ่มและสานต่อสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในยุโรป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงประเทศฝรั่งเศส ประทับที่เมืองโบลิเออ และเมืองคานส์ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ พร้อมกับสมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์และคณะ ได้ทรงเยี่ยมเมืองนีศเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์รักษาพระทนต์และทอดพระเนตรสถานที่ภูมิประเทศอันงดงามเป็นการพักผ่อนพระอิริยาบถจากการเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ.๑๙๓๔ และจากพระราชภาระอันหนักหน่วง ณ ประเทศสยาม เราได้พบว่า พระองค์และสมเด็จฯ ทรงโปรดกีฬาเทนนิสเป็นพิเศษ ทรงเล่นเทนนิสได้ชำนาญทั้งสองพระองค์ และเสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาเทนนิสหลายต่อหลายครั้งทั้งในฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ กับได้มีพระราชปฏิสันถารกับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ที่ได้เดินทางมาจากอังกฤษมาเพื่อรับเสด็จฯ และนำเสด็จฯ ไปทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ส่วนใหญ่โดยทางรถยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ขับผ่านภูมิประเทศป่าเขาอันงดงาม ทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจในการเสด็จไปแทนพระองค์ในงานพระบรมศพของสมเด็จพระราชาแห่งเบลเยียมซึ่งเพิ่งจะสวรรคตด้วยอุบัติเหตุพลาดตกเขา และที่ประเทศฝรั่งเศส ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวของหม่อมสังวาลย์ มหิดลเข้าเฝ้าฯ พร้อมพระโอรสและพระธิดารวมทั้งสิ้นสามพระองค์

นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้มีพระราชปฏิสันถารกับพระมหากษัตริย์ของยุโรปหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าแผ่นดินสวีเดนในงานแข่งเทนนิสที่โฮเต็ลอังกลาแตร์ เมืองนีศ เจ้าหญิงวิโอเลตตา พระชายาเจ้าปีเตอร์แห่งเซอร์เวีย ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้านิโคลาสแห่งเซอร์เวียผู้เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี รวมทั้งพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กในงานรื่นเริงของนักกีฬาเทนนิสนานาชาติ เมืองมอนติคาโล (๑ มี.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) เจ้าชาล์สแห่งสวีเดนที่กรุงปารีส (๑๖ เม.ย. ค.ศ. ๑๙๓๔) เจ้าชายกายาแห่งญี่ปุ่น ซึ่งประจวบมาอยู่ที่โฮเต็ลที่ประทับ ณ กรุงลอนดอนพอดี (๙ พ.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔) ทั้งเจ้าหญิงจูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ (พระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ในเวลาต่อมาและเป็นองค์ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. ๑๘๙๗ ด้วย) เป็นการสานต่อพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นกับราชสำนักยุโรปที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงเริ่มไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ค.ศ. ๑๘๙๗ (พ.ศ. ๒๔๔๐)

ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในยุโรป เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำก่อนเป็นลำดับแรกๆ ในแทบทุกประเทศ คือ การเสด็จวางพวงมาลาที่สุสานฝังศพของทหารหาญนิรนาม (จากสงครามโลกครั้งที่ ๑) และในทุกประเทศในยุโรปที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีและพระราชวงศ์ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการสมพระเกียรติ พระเจ้าแผ่นดินหรือประมุขของทุกประเทศได้มอบหมายให้ผู้แทนพระองค์และบุคคลต่างๆ ในคณะรัฐบาลมาต้อนรับพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ในหลายประเทศมีการตรวจแถวทหารเกียรติยศยิงสลุต และพระเจ้าแผ่นดินทรงจัดเลี้ยงใหญ่เพื่อถวายพระเกียรติ ในอิตาลี เยอรมนี เดนมาร์ก เบลเยียม เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี) ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ นั้น ทั้งพระเจ้าแผ่นดินเช่น พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ของบางประเทศ อาทิ เดนมาร์กที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์จักรีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผลัดกันมาต้อนรับนำเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่ภูมิประเทศงดงาม และทรงจัดพระกระยาหารถวายอย่างสนิทสนม ทั้งยังได้จัดพระราชพาหนะ เช่น รถไฟพระที่นั่งส่งหรือรับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ถวายอารักขารักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี (เช่นประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี) โดยเฉพาะเยอรมนีไม่เพียงถวายตำรวจลับอารักขา แต่กระทรวงต่างประเทศเยอรมนียังมอบเจ้าหน้าที่จัดให้ ดร.กลุคกิสต์ (Dr. Gluckgist) มาประจำพระองค์สำหรับช่วยในกิจการติดต่อทั่วไปตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีด้วย

ส่วนที่ประเทศอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งจากท่าเรือเมืองกาเลส์ ข้ามมาโดเวอร์ที่ฝั่งอังกฤษถึงสถานีรถไฟวิกตอเรีย กรุงลอนดอนโดยรถไฟพระที่นั่งเวลาค่ำแล้ว ๑๙ นาฬิกาเศษ ในวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๔ พระเจ้ากรุงอังกฤษโปรดให้ดยุคและดัชเชสออฟยอร์ก พระราชโอรส (ต่อมาครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์ชที่ ๖ (King George VI ค.ศ. ๑๘๙๕ – ๑๙๕๒ พระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่ ๒ แห่งอังกฤษในปัจจุบัน) เสด็จมารับเสด็จฯ ไม่มีพิธีต้อนรับเอิกเกริก ในวันรุ่งขึ้นคือ ๒๖ เมษายน เวลา ๑๒.๒๐ พระมหากษัตริย์แห่งสยามเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีโดยรถยนต์พระที่นั่งไปพระราชวังวินด์เซอร์เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันกับสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษและสมเด็จพระนางมารีเป็นการภายในระหว่างพระราชวงศ์อย่างเงียบๆ อีกทั้งในการพระราชพิธีฉลองธงชัยเฉลิมพล (Trooping of the Colour) เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ กับในวันแข่งม้าชิงรางวัลถ้วยทองที่สนามแอสคอท (Ascot) ทรงเป็นพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษและสมเด็จพระราชินีเสด็จทอดพระเนตรและเสวยพระกระยาหารกลางวันพร้อมพระประยูรญาติและราชบริพาร

ที่ประเทศอังกฤษ พระเจ้ากรุงอังกฤษได้ทรงโปรดฯ ให้พระราชโอรส ข้าราชบริพาร และข้าราชการหลายกระทรวง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผลัดกันมารับเสด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยามนำเสด็จฯ เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ให้สำราญพระราชพระหฤทัย ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ทรงเทนนิส ทอดพระเนตรละครและโอเปราทั้งในและนอกกรุงลอนดอน กับได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านนักประพันธ์มีชื่อ ที่บ้านอาร์ไกล์ (Argyle House, Chelsea) ที่ตำบลเชลซีย์ เจ้าสำนักมิสเตอร์ เอช. จี. เวลล์ส (Herbert George Wells) นักประพันธ์ในลัทธิโซเชียลลิสม์ กับศาสตราจารย์ฮักส์ลี (Professor Aldous Leonard Huxley ผู้ประพันธ์นวนิยาย Brave New World ค.ศ. ๑๙๓๒) ทั้งสองเป็นนักประพันธ์ที่สนใจเรื่องความเชื่อและศาสนา เขียนนวนิยายเกี่ยวกับสังคม แนวเย้ยหยันประชดประชันเชิงวิทยาศาสตร์ และเสด็จพระราชดำเนินเยือนบ้านนักเขียนซอมเมอเซ็ต มอห์ม (Sommerset Maugham) นักเขียนนวนิยายและบทละครชื่อดังชาวอังกฤษของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ผู้มีผลงานทั้งแนวสัจนิยม เยาะเย้ยประชดประชัน มอห์มใช้ชีวิตในวัยเด็กที่ประเทศฝรั่งเศสและใช้ภาษานี้เป็น ‘ภาษาแม่’ ได้เดินทางมากรุงเทพฯ ครั้งแรกพักที่โรงแรม Oriental ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระสหายสนิทเก่า นายร้อยเอกวิกตอร์ คาซาเลต (Captain Victor Cazalet) นายทหารอังกฤษและผู้แทนราษฎรอังกฤษผู้เคยศึกษาร่วมสถาบันในสมัยเดียวกันกับพระองค์ และเป็นผู้ได้ร่วมขบวนเสด็จไปกับพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีเกือบตลอดเวลาที่ประทับในประเทศอังกฤษ

แม้ว่า ฝ่ายราชสำนักอังกฤษจะมิได้แสดงความสนิทสนมกับพระมหากษัตริย์แห่งสยามเท่ากับในกรณีที่ประเทศอื่นทำ แต่ในประเทศอื่นๆ ทุกประเทศทั้งระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเหล่านั้นอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการพระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงได้รับการยอมรับและยกย่องอย่างสมพระเกียรติและ “เท่าเทียม”

สำหรับประเทศที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่อันเป็นผลจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เช่น เชคโกสโลวาเกีย และฮังการี ทางฝ่ายต่างประเทศของสยามได้ติดต่อไปก่อนว่าองค์พระมหากษัตริย์แห่งสยามจะเสด็จพระราชดำเนินเยือน กรณีประเทศเชคโกสโลวาเกีย มีหนังสือแจ้งจากอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน (พระยาสุพรรณสมบัติ) ถึงทูตประเทศเชคโกสโลวาเกียที่กรุงลอนดอน คือ ยัน มาซาริก (H.E. Jan Masaryk) บุตรชายของประธานาธิบดี โตมาส มาซาริก (Tomas G. Masaryk)[30] ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ส่วนประเทศฮังการีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการรับเสด็จฯ อย่าง “แกรนด์” มากนั้น ในสายตาของคนยุโรปด้วยกัน การเสด็จประพาสฮังการีไม่มีความสำคัญเลยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ที่ฮังการีและเชคโกสโลวาเกียนี้เอง นับเป็นการเปิดศักราชความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสยาม โดยประเทศเชคโกสโลวาเกียมีการติดต่อค้าขายกับสยามแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๐ คือบริษัท บาจา (BaŤa) ที่ประเทศนี้ พระมหากษัตริย์แห่งสยามสนพระราชหฤทัยในกิจการสปาที่ใช้รักษาโรค ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงน้ำแร่บ่อน้ำร้อนที่เมืองคาร์ลสบาด (Karlsbad) ที่ใช้รักษาโรคต่างๆ หลายโรค เช่น โรคลำไส้ โรคเกี่ยวกับตับ ปอด ม้าม และไต รวมทั้งโรคหวัดไอเรื้อรัง อันเป็นที่ซึ่งนักประพันธ์เอกชาวเยอรมัน โยฮัน วอล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่อ (Johann Wolfgang von Goethe ค.ศ.๑๗๔๙-๑๘๓๒) ได้มารักษาตัวอยู่ถึงสิบสามครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงานริงโฮเฟอร์ (Ringhofer) ที่ผลิตรถยนต์ยี่ห้อตาตรา (Tatra) กับโรงงานรถยนต์สโกดาที่เมืองปิลเซิน (Plzen) ที่ผลิตเครื่องเหล็กในลักษณะคล้ายบริษัทครุปป์ของเยอรมนี มีเครื่องมือสารพัดชนิดตั้งแต่เครื่องมือทำสวน เครื่องซักฟอกไปจนถึงเครื่องกลั่นเบียร์ รวมถึงอาวุธต่างๆ ทั้งยังได้ทอดพระเนตรโรงทำเครื่องแก้วของนายลุดวิก-โมเซอและบุตร (Ludwig-Moser & Sons)

นอกจากพระมหากษัตริย์แห่งสยามจะได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปในกิจการต่างประเทศกับพระบรมวงศานุวงศ์ของราชสำนักยุโรปและประมุขของประเทศแล้ว ยังได้มีพระราชปฏิสันถารกับสหายเก่าที่เคยร่วมศึกษาในสำนักเดียวกันที่โรงเรียนเสนาธิการทหารฝรั่งเศส (Ecole Supérieure de Guerre) และพระสหายจากโรงเรียนอีตันที่ประเทศอังกฤษ เป็นที่ชื่นบานพระราชหฤทัย

ในความเห็นของผู้วิจัย การเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลาถึง ๘ เดือนใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นตัวแทนของประเทศ “สยามใหม่” ในฐานะประมุขของประเทศสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญให้เป็นที่ประจักษ์ ณ “ยุโรปใหม่” อย่างสมพระเกียรติ มีรายละเอียดให้ความรู้มากมายในหลายแง่มุมที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป

อ้างอิง

  1. ศาสตราจารย์ ดร. ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศไทย สำนักศิลปกรรม สาขาวรรณศิลป์ ศาสตราจารย์ (เกษียณ)ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ยุคต้นสมัยใหม่ (Early Modern Age) เป็นชื่อเรียกช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อในยุโรปจากโลกเก่าสู่โลกสมัยใหม่ของวิทยาการใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หมายถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
  3. พลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) ราชเลขานุการในพระองค์ในกระบวนเสด็จฯ ผู้บันทึก. ๒๕๒๖. จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีปชา สิริวรสาร ป.ช. ป.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖
  4. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin, R ๘๖๐๖๖. หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน ข่าวหนังสือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในสยาม ลงวันที่ ๓ กันยายน เดาจากความน่าจะเป็น ค.ศ ๑๙๓๐ ไม่ปรากฏชื่อหนังสือพิมพ์ชัดเจนที่เห็นคือ “…empo-united Press”. ในบทความนี้ ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุของกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีทุกชิ้นที่อ้าง ได้มาจากศูนย์ข้อมูลและจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  5. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin, R ๘๖๐๖๖. หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน. หนังสือจากสถานทูตเยอรมัน กรุงเทพฯ รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓
  6. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin, R๘๖๐๖๖. หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน รายงานลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ จาก Deutsche Gesandtschaft (สถานทูตเยอรมนี) กรุงเทพฯ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี หมายเลขเอกสาร ๕๙๕/๓๓ ไม่เห็นชื่อทูตเยอรมันในเอกสาร มีรายละเอียดหมายกำหนดการการเสด็จประพาสในทุกประเทศพร้อมรายชื่อคณะผู้ติดตามและตำแหน่งหน้าที่ ณ ประเทศสยาม (ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ทูตเยอรมันที่กรุงเทพฯ คือ ดร.นอร์ท (Dr. Nord) ดู: พรสรรค์ วัฒนางกูร พ.ศ. ๒๕๕๕. ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี ๑๕๐ Jahre Thai-Deutsche Diplomatische Beziehungen, โครงการหนังสือที่ระลึกเพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมัน กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๗: ๑๖๙).
  7. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin. R ๘๖๐๖๖. หนังสือรายงานลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ จากสถานทูตเยอรมัน Deutsche Gesandtschaft กรุงเทพฯ ถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ณ กรุงแบร์ลีน, เชิงอรรถที่ ๗. ความดังนี้ “...Der König werde in Begleitung der Königin und eines aus sechs Personen bestehenden Gefolges unter den Namen eines Prinzen Sukhodaya zunächst über Frankreich, Belgien und England nach Amerika reisen, ...”.
  8. “...mein italienische Kollege fügte dieser Erzählung die streng vertrauliche Mitteilung hinzu, ....dass die Englische Regierung der hiesigen Regierung auf ihre Anfrage zu verstehen gegeben habe, der englische König hege nicht den Wunsch, den König von Siam zu empfangen. ...Über die Gründe dieser ablehnenden Haltung Englands hat mein italienischer Kollege Sicheres nicht in Erfahrung bringen können, ...“, ขีดเส้นใต้ตามที่ปรากฏในเอกสาร ใน: Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin. R ๘๖๐๖๖. หนังสือรายงานลงวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ จากสถานทูตเยอรมัน Deutsche Gesandtschaft กรุงเทพฯ ถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ณ กรุงแบร์ลีน.
  9. เอกสารจากหอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงปราก หนังสือเขียนด้วยลายมือของทูต เชคที่ลอนดอนถึงกระทรวงการต่างประเทศเชค อ้างถึงหนังสือลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ แปลโดย ดร. สเดงกา มิชัลโควา (PhDr. Zdena Michálková) ล่ามชาวเชคของสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปราก สาธารณรัฐเชค ณ วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
  10. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภาครั้งทรงดำรงตำแหน่งปฏิบัติราชการแทนราชเลขานุการในพระองค์ให้ทรงนำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ทรงทราบและทรงดำเนิน การตามแต่จะทรงเห็นสมควรต่อไป ใน: จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ ของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. เชิงอรรถที่ ๔: คำนำของสำนักราชเลขาธิการฯ
  11. ธีระ นุชเปี่ยม. ๒๕๕๘. การเมืองสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสายตาตะวันตก. ใน: วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ Journal of the Historical Society, ฉบับ ๓๗: ๙๐-๑๖๒.
  12. ธีระ นุชเปี่ยม .๒๕๕๘., การเมืองสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสายตาตะวันตก, (เชิงอรรถที่ ๑๓). ในที่นี้: ๑๕๗.
  13. ดังปรากฏในรายงานของทูตเยอรมันในเอกสารรายงานลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ จากทูตเยอรมันประจำกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ณ กรุงแบร์ลีนใน: เอกสารจาก Politisches Archiv Auswärtiges Amtes R ๘๖๐๖๖.
  14. เอกสารหมายเลข ๑๔๗/Dol ๑๙๓๔, หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศฮังการี กรุงบูดาเปสต์ หนังสือลงวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๗)
  15. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอ่านงานเขียนของฮิตเลอร์ และงานเขียนเกี่ยวกับฮิตเลอร์หลายเล่มก่อนหน้าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป ใน: Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin. R ๘๖๐๖๖ รายงานของทูตเยอรมันที่ลอนดอน ชื่อ เฮิช (H.E Hoesch) ลงวันที่ ๑๐ พ.ค. ค.ศ. ๑๙๓๔ ที่ได้รับเชิญร่วมโต๊ะเสวยกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ณ สถานทูตสยามที่กรุงลอนดอน
  16. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, Berlin. R ๘๖๐๖๖ รายงานของทูตเยอรมันกรุงเทพฯไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน แบร์ลีน หนังสือลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓. ดู เชิงอรรถที่ ๘ ข้อมูลนี้นับว่าน่าประหลาดใจพอควรเนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสมักอ้างว่าสนิทสนมกับรัชกาลที่ ๗ เนื่องจากเคยทรงเป็น “นักเรียนเก่า” ศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ณ โรงเรียนเสนาธิการทหาร Ecole de Guerre (ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓) ทั้งยังได้ทรงเข้ารับการฝึกอบรมวิชาการทหารในประเทศฝรั่งเศสก่อนที่จะทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๒ ด้วย เรื่องการศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ใน: รายงานวิจัย เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศสกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๕๕๔), ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอต่อ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: ๒๕-๓๙.
  17. จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, เชิงอรรถที่ ๔, ตอนที่ ๔ (การเดินทางจากเมืองสุเอสถึงมาร์เซลย์และโบลิเออ) ตอนที่ ๕ (ระหว่างประทับที่เมืองโบลิเออ) และตอนที่ ๖ (การเดินทางจากเมืองคานส์ถึงกรุงโรม), หน้า ๑๕๗.
  18. ในเอกสารหอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเชค แฟ้ม hlavm Návštěvy, podřade Siam หนังสือจาก สปา ŠTRBSKÉ PLESO เขียนถึงกระทรวงการต่างประเทศเชคโกสโลวาเกีย แสดงความยินดีอย่างมากที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงเลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือนสปาแห่งนั้น (มีสปาแห่งอื่นเสนอตัวมายังรัฐบาลเชคด้วย แต่อันที่จริงทางกระทรวงการต่างประเทศของประเทศเชคโกสโลวาเกียเป็นผู้เลือกสถานที่และเสนอไปยังฝ่ายสยามอีกต่อหนึ่ง) และถามเรื่องการเตรียมการรับเสด็จฯ ในรายละเอียด
  19. Siamese King Prajadhipok: his visit to Lány. The President Office, Lány August ๒๓rd ๑๙๓๔, document no. L ๔๕๑/๓๔ Archiv MZV čR. อ้างใน: Miroslav Nožina, Jiří Sitler et al. King Rama VII of Siam’s Official Visit to Czechoslovakia in ๑๙๓๔. ๒๐๐๔. In cooperation with the Ministry of Foreign Affairs of the Czech Republic and the Institute for International Relations in Prague: ๓๑-๓๒.
  20. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R ๘๖๐๓๑ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน หนังสือพิมพ์วันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๗ ปีที่ ๖๖ Nr. ๕๒๓ บทความเรื่อง “Das moderne Siam” ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ไม่เห็นชื่อหนังสือพิมพ์ ตัวอักษรภาษาเยอรมันเป็นอักษรเยอรมันสมัยเก่า คืออักษร “ซึทเทอลีน” (Sütterlin Schrift)
  21. ในภาษาเยอรมัน คือ Kriegsministerium แปลว่า “กระทรวงสงคราม” ในสมัยนั้น ทุกประเทศในยุโรปเรียกกระทรวงกลาโหมว่า “กระทรวงสงคราม” ทั้งสิ้น
  22. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R ๘๖๐๖๖. ข่าวภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ฉบับวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ กล่าวถึง ”Prince Purachatra, the Siamese Minister of Commerce and Communication” เสด็จฯไปเยี่ยมการทำงานของบริษัทอังกฤษ Metropolitan Commel Carriage Wagon and Finance Company และ: Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R ๘๖๐๓๑. หนังสือหมายเลข J ๖๐๘ ลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๘ จากสถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ Deutsche Gesandtschaft รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน
  23. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R ๘๖๐๓๑ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน หนังสือพิมพ์วันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๗ ปีที่ ๖๖ Nr. ๕๒๓ บทความเรื่อง Das moderne Siam, เชิงอรรถที่ ๑๗.
  24. ดูประกอบ พอพันธ์ อุยยานนท์, ๒๕๕๘. เศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ - รักษาเสถียรภาพ ปูพื้นฐานการพัฒนา, โครงการหนังสือชุด “แลอดีต เล็งอนาคต การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ ๗” ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: ๑๖-๒๓.
  25. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes, R ๘๖๐๖๖ หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน หนังสือรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่แบร์ลีน ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ไม่เห็นเลขหมายหนังสือในเอกสาร
  26. Politisches Archiv des Auswärtigen Amtes. R ๘๖๐๖๖. หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แบร์ลีน โทรเลขรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่แบร์ลีน Fernschreiben Nr. ๑๒๙ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ดู เชิงอรรถที่ ๑๙.
  27. Miroslav Nozina, Jirî Sitler, Jana Fajfrova และคณะ. ๒๐๐๔. King Rama VII of Siam’s Official Visit to Czechoslovakia in ๑๙๓๔. King Prajatipok Institute in cooperation with the Ministry of Foreign Affairs of the Czech Republic and the Institute of International Relations in Prague (โดยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเชคและสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งกรุงปราก), Nonthaburi-Bangkok: ๒๗. และในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เมือง Zlín ฉบับวันที่ ๓๐ ก.ค. ๑๙๓๔ Zlín, Ponělní vydání ๓๐.července ๑๙๓๔ Ročník IV.Číslo ๓๐. ไม่ปรากฏเลขหน้า และในจดหมายข่าวของบริษัทบาจาใน SDĚLENí ZAMĔSTNANCŮ FIRMY BAŤA, Zlín, MĚSTO DOBRŶCH BOT, V PĀTEK ๓. SRPNA ๑๙๓๔ ไม่มีหมายเลขหน้า, เอกสารโดยความอนุเคราะห์จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปราก ได้รับเอกสาร ๗ พ.ค. พ.ศ. ๒๕๕๘.
  28. นายพลเกอริง เป็นนักเรียนทหารรุ่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. ๑๙๓๒ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา
  29. สนธิ เตชานันท์ (ผู้รวบรวมเอกสาร) พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๕. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ‘ประชาธิปไตย’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: ๒๘๑-๒๘๗.
  30. Miroslav Nozina, Jirî Sitler, Jana Fajfrova และคณะ. ๒๐๐๔. King Rama VII of Siam’s Official Visit to Czechoslovakia in ๑๙๓๔. ดู เชิงอรรถที่ ๒๘, (๖๔ หน้า).

บรรณานุกรม

ธีระ นุชเปี่ยม. ๒๕๕๘. การเมืองสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสายตาตะวันตก. ใน: วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ Journal of the Historical Society, ฉบับ ๓๗.

จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, เชิงอรรถที่ ๔, ตอนที่ ๔ (การเดินทางจากเมืองสุเอสถึงมาร์เซลย์และโบลิเออ) ตอนที่ ๕ (ระหว่างประทับที่เมืองโบลิเออ) และตอนที่ ๖ (การเดินทางจากเมืองคานส์ถึงกรุงโรม)

พอพันธ์ อุยยานนท์, ๒๕๕๘. เศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ - รักษาเสถียรภาพ ปูพื้นฐานการพัฒนา, โครงการหนังสือชุด “แลอดีต เล็งอนาคต การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ ๗” ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

สนธิ เตชานันท์ (ผู้รวบรวมเอกสาร) พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๕. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ‘ประชาธิปไตย’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.

เอกสารหมายเลข ๑๔๗/Dol ๑๙๓๔, หอจดหมายเหตุ กระทรวงการต่างประเทศฮังการี กรุงบูดาเปสต์ หนังสือลงวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ (พ.ศ. ๒๔๗๗)

Siamese King Prajadhipok: his visit to Lány. The President Office, Lány August ๒๓rd ๑๙๓๔, document no. L ๔๕๑/๓๔ Archiv MZV čR. อ้างใน: Miroslav Nožina, Jiří Sitler et al. King Rama VII of Siam’s Official Visit to Czechoslovakia in ๑๙๓๔. ๒๐๐๔. In cooperation with the Ministry of Foreign Affairs

of the Czech Republic and the Institute for International Relations in Prague.