การเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ชาติชาย มุกสง


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2500

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดตามวาระ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 โดยรัฐบาลแปลก พิบูลสงคราม|จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้มีเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 โดยเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ในสภาทั้งสิ้น 160 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งถึง 23 พรรค เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนหน้าเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ ถวายเป็น พุทธบูชา เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาลด้วยแต่การณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

สภาพทั่วไปก่อนการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ได้เกิดการตื่นตัวของประชาชนและสื่อสารมวลชนอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบรรยากาศทางการเมืองภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เดินทางไปรอบโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2498 แล้วประทับใจในการปกครองแบบรัฐสภาที่มีความเป็นประชาธิปไตยในโลกเสรี จึงต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแบบโลกเสรี

ในขณะที่นักวิชาการอย่างทักษ์ เฉลิมเตียรณวิเคราะห์ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามจะหาทางรักษาอำนาจของตนเองด้วยการหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน แทนที่การพึ่งอำนาจจากตำรวจและทหาร เพราะขณะนั้นอยู่ภายใต้ระบบการเมืองแบบสามเส้าคือฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองอีกสองกลุ่ม คือกลุ่มของจอมพลผิน ชุณหวัน และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ที่คุมอำนาจตำรวจที่มีกำลังและอาวุธไม่น้อยกว่าทหารจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และกลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังแข่งขันกันสร้างอำนาจทางการเมืองกันอยู่ การพยายามเปิดกว้างทางการเมืองมีทั้งการพบผู้สื่อข่าวของรัฐบาลการเปิดให้มีการ “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยมีเจตนาให้เป็นพื้นที่สำหรับการวิจารณ์คณะรัฐประหาร โดยเฉพาะต้องการลดอิทธิพลของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่มีอำนาจขึ้นอย่างมากจากการสนับสนุนของคณะกรรมการนิติบัญญัติ[1] ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างฐานเสียงสนับสนุนต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามเสียเอง เลยมีนโยบายให้ออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายนพ.ศ. 2498 นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ออกมาให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยตรง เพราะก่อนหน้านั้นเป็นการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 23 พรรค และจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นมาสนับสนุนอำนาจของตนเองและเตรียมลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเดิมพันทางการเมืองที่สูงยิ่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามและกลายเป็นว่าถ้าอยากสืบทอดอำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นและคณะรัฐประหารต่อไปแล้วก็ไม่สามารถแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ฝ่ายรัฐบาลรักษาการจึงได้กระทำทุกวิถีทางที่จะชนะการเลือกตั้งให้ได้

ในขณะเดียวกันประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายต่อรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ครองอำนาจอย่างยาวนานและมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการใช้อำนาจบาตรใหญ่ไม่ฟังเสียงประชาชน จึงมีความหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงรัฐบาลเองก็ได้รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิของตนเองผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางจึงทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคัก

การจัดการเลือกตั้ง

การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งได้พยายามใช้กลไกอำนาจรัฐชักจูงและบังคับให้ข้าราชการประจำช่วยเหลือการเลือกตั้งของตนด้วยวิธีการอันหลากหลาย ทั้งการเรียกประชุมข้าราชการบอกให้เลือกพรรคของรัฐบาลเพื่อจะได้ทำงานตามแผนของรัฐบาลต่อ ดังปรากฏกรณีจังหวัดนครสรรค์ที่มีการฟ้องร้องการกระทำดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริง จากผู้สมัครรับเลือกตั้งคือนายใหญ่ ศวิตชาต พรรคประชาธิปัตย์ที่ฟ้องร้องพระยารามราชภักดีปลัดกระทรวงมหาดไทยว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง จากการหาเสียงให้กับผู้สมัครพรรคเสรีมนังคศิลาในที่ประชุมข้าราชการกำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยกล่าวว่า “บ้านเมืองจะเจริญได้ท่านต้องเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา” โดยมีพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ร่วมหาเสียงด้วย ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจึงต้องรับโทษจำคุกตามกฎหมายและปรับด้วย[2] นอกจากนี้ยังได้การแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นคนของตนเองเพื่อเพิ่มคะแนนให้กับพรรครัฐบาล และการใช้อำนาจข่มขู่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง โดย พล.ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ให้บรรดานักเลง อันธพาล ที่ทางรัฐบาลเรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" ข่มขู่บังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล มีการคุกคามผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการใช้อุจจาระป้ายตามประตูบ้าน รวมทั้งใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน เป็นต้น

ในส่วนของบรรยากาศการหาเสียงนั้นการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีคนไปรับฟังอย่างล้นหลามและมีผู้ให้การสนับสนุนมากกว่าฝ่ายพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าในการปราศรัยของพรรคเสรีมนังคศิลาจะมีการแจกข้าวของ เช่น ไม้ขีดไฟ ผ้าเช็ดหน้า และอื่นๆ ซึ่งปรากฏว่ามีคนมารับของแจกไม่น้อย แต่คะแนนนิยมของพรรคเสรีมนังคศิลากลับลดลง จากการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ในนโยบายของรัฐบาลจากการผูกพันกับสหรัฐอเมริกาจากเงินช่วยเหลือจนขาดอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และปัญหาความเดือดร้อนอื่นขณะนั้น คือเกิดคดีปล้นธนาคารแล้วรัฐบาลจับคนร้ายไม่ได้ และการนัดหยุดงานของกรรมกร รวมทั้งการโจมตีถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง[3]

แนวโน้มของการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน เมื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ต่างลงข่าวถึงการพบบัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมที่จะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีตราประทับของนายอำเภอดุสิต คือนายสะอาด ศิริพัฒน์ไว้อย่างถูกต้อง ดังปรากฏพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ว่า “พบไพ่ไฟเกลื่อนกรุง” [4]

เหตุการณ์ในวันเลือกตั้ง

เมื่อวันเลือกตั้งมาถึงปรากฏว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อยหลายประการที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นเต็มไปหมด โดยฝ่ายรัฐบาลรักษาการขณะนั้นที่ลงสมัครนามพรรคเสรีมนังคศิลาได้ใช้กลวิธีหลายประการเพื่อทุจริตการเลือกตั้งให้ฝ่ายตนได้รับชัยชนะ ตั้งแต่การใช้คนที่เหน็บแถบแพรเครื่องหมายของพรรคเสรีมนังคศิลาหมุนเวียนไปลงคะแนนคนละหลายครั้ง จนเกิดศัพท์ใหม่ทางการเมืองเรียกว่า พลร่ม ส่วนอีกวิธีการหนึ่งคือเมื่อปิดหีบแล้วมีการยัดบัตรลงคะแนนที่กาหมายเลขผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาเข้าไป เรียกว่า ไพ่ไฟ นอกจากนี้ยังมีการขัดขวางและทำร้ายร่างกายประชาชนที่มาลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ต่อหน้าสาธารณชน ตลอดจนแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคน และการพยายามถ่วงการนับคะแนนและมีเหตุต้องสะดุดเมื่อฝ่ายรัฐบาลยังไม่ได้รับชัยชนะ เป็นต้น

สภาพเหตุการณ์ในวันเลือกตั้งได้เกิดการขลุกขลักและวุ่นวายขึ้นในหลายพื้นที่ รวมทั้งการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตของฝ่ายพรรคเสรีมนังคศิลาที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ โดยมีการพุ่งเป้าไปที่การกระทำของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ตัวอย่างจากการรายงานของหนังสือพิมพ์ถึงเหตุการณ์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่เขตการเลือกตั้งสมาคมสตรีไทย ถนนเพชรบุรี ประมาณเวลา 10.00 น. ขณะที่ประชาชนมาใช้สิทธิกันอย่างคับคั่งนั้น ได้พบบัตรเลือกตั้งจำนวน 7 ปึกใหญ่ที่กาลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาไว้แล้ววางอยู่บนโต๊ะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้นักศึกษาประชาชนและผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์คือหลวงอังคณานุรักษ์ที่ร่วมสังเกตการณ์ร้องคัดค้านและขอให้คณะกรรมการเปิดบัตรเลือกตั้งออกดูเพื่อความโปร่งใสแต่กรรมการไม่ยอม ประชาชนจึงห้อมล้อมคัดค้านการลงคะแนนจนการเลือกตั้งหยุดชะงัก แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคือนายชลอ วนะภูติ ซึ่งได้รับแจ้งได้มาระงับเหตุการณ์ด้วยการยอมให้กรรมการเปิดบัตรลงคะแนนดูพบว่าได้มีการกาหมายเลขของพรรคเสรีมนังคศิลาเอาไว้แล้ว จึงได้สั่งเก็บหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งมีบัตรลงคะแนนให้เอาหีบบัตรเลือกตั้งใหม่มาแทนจึงสามารถดำเนินการเลือกตั้งต่อไปได้ [5]

ทั้งการเลือกตั้งและการนับคะแนนที่เขตดุสิตมีความวุ่นวายจนกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่าเกิดการทุจริตอย่างขนานใหญ่ นายสะอาด ศิริพัฒน์นายอำเภอดุสิตได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างชัดแจ้งแต่ไม่มีใครทำอะไรได้ ทำให้ผู้ว่าราชการกรุเทพมหานครถึงกับขอลาออกเพราะไม่สามารถควบคุมสั่งการนายอำเภอที่เป็นลูกน้องให้ปฏิบัติตามคำสั่งและกฎหมายได้ และจากผลงานการช่วยเหลือรัฐบาลให้ชนะเลือกตั้งแทนที่จะโดนสอบกลับได้รางวัลเป็นการเดินทางไปดูงานต่างประเทศแทน[6]

เหตุการณ์การทุจริตการเลือกตั้งเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้ชัยชนะนี้ ต่อมาหลังการเลือกตั้งถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง และสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งในเวลาต่อมา รวมทั้งการขัดขวางจากรัฐบาลรักษาการที่ทำให้ข้าราชการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตได้นายชะลอ วนะภูติจึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ถูกยับยั้งไว้ ซึ่งเขามาเปิดเผยภายหลังว่าถูกพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ข่มขู่ถึงขั้นเอาชีวิตทีเดียว [7]

ผลการเลือกตั้ง

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวายนานัปการทั้งก่อนและในวันเลือกตั้งก็ตาม แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันมาก จึงถือว่าประชาชนมีความตื่นตัวและเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยจากหลายสถาบันได้จัดอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ โดยเฉพาะในพระนคร และได้พบเห็นการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยตาตนเองด้วย

หลังการนับคะแนนที่มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะที่เขตดุสิตและบางเขนที่นับคะแนนถึงสองวันสองคืนและมีไฟดับขณะนับคะแนนและฝ่ายค้านกำลังนำอยู่ แต่ต่อมาก็มีคะแนนของฝ่ายรัฐบาลมาแซงนำจนกลายที่เป็นที่วิจารณ์กันอย่างมากว่ารัฐบาลโกงการนับคะแนนด้วยจนจอมพล ป. พิบูลสงครามเอาชนะนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ไปในที่สุด โดยผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพฯ จำนวน 9 ที่นั่งและเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกต่อสู้กับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านคือนายควง อภัยวงศ์นั้น ปรากฏว่ามีผู้ได้รับเลือกตั้ง ดังนี้ พรรคเสรีมนังคศิลา ประสบชัยชนะ 7 ที่นั่ง คือ 1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม 2) พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ 3) พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ 4) พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา 5) พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ 6) พลเอก มังกร พรหมโยธี 7) พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่นั่ง คือ 1) นายควง อภัยวงศ์ 2) นาวาโท พระประยุทธชลธี

ส่วนผลการเลือกตั้งทั่วประเทศปรากฏว่าพรรคเสรีมนังคศิลาได้เสียงข้างมาก ดังตารางต่อไปนี้

ตารางแสดงผลการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 [8]
พรรคการเมือง จำนวนสส.ที่ได้รับเลือก หมายเหตุ
พรรคเสรีมนังคศิลา 83
พรรคประชาธิปัตย์ 28
เสรีประชาธิปไตย 11
ธรรมาธิปัตย์ 10
เศรษฐกร 8
ชาตินิยม 3
ไฮด์พาร์ค 2
อิสระ 2
ไม่สังกัดพรรค 13
รวม 160

การประท้วงการเลือกตั้ง

เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาแล้วปรากฏว่าประชาชนไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่ารัฐบาลโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งด้วยตนเอง และพบการโกงการเลือกตั้งหลายรูปแบบ เมื่อมีสื่อมวลชนและประชาชนประณามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอม พล ป.พิบูลสงครามได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”[9] เท่านั้น

ดังนั้นในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีข่าวเตรียมเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทางหนังสือพิมพ์

รัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีใจความสำคัญว่า มีคณะบุคคลจากการสนับสนุนของชาวต่างชาติจะก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเพื่อจะฉวยโอกาสยึดครองประเทศ จึงขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ถัดจากนั้นไม่นานก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารรับผิดชอบจัดการรักษาความสงบ[10] ด้วยทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลนั้นต้องการป้องกันการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาและประชาชน

แต่ไม่สามารถสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาให้นักศึกษาดำเนินการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นจริงจังขึ้นมาอีก จนกระทั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์เพื่อกล่าวปราศรัยและรับทราบความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้อนุญาต จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์เริ่มได้รับความนิยมจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอก เผ่า นั้นยิ่งเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปอีก

ดังนั้นในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 2 มีนาคมคลื่นมหาชนที่ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เดินขบวนเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยด้วยความเรียบร้อยและสงบ เพื่อขอพบพระยารามราชภักดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ปลัดกระทรวงได้มอบหมายให้หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมมหาดไทยออกมาชี้แจงแทน ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนได้ยื่นข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ โดยมีจุดประสงค์สำคัญให้รัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะและให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยขอให้รัฐบาลให้คำตอบภายในวันเดียวกัน ต่อมาจึงเดินขบวนต่อไปที่ท้องสนามหลวงและเปิดไฮด์ปาร์คโจมตีรัฐบาล

จนสุดท้ายราวเวลา 17.30 น. ก็เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญเพื่อไปเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรีเมื่อขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางก็มีประชาชนมาสมทบจนขบวนใหญ่ขึ้นทุกที โดยมีทหารเตรียมสกัดอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่ให้ประชาชนผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ทหารและประชาชนประจันหน้ากันอยู่อย่างตึงเครียดนั้น สุดท้ายฝ่ายทหารก็ยอมเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยฝูงชนได้พังประตูทำเนียบเข้าไป และได้พบรัฐบาลหลายคนรวมทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็อยู่ในที่นั้นด้วย ผู้เดินขบวนได้เรียกร้องโดยตรงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ชี้แจงถึงการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเมื่อจอมพล ป. พูดไม่ยอมรับปากจะจัดการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ประชาชนจึงเกิดไม่พอใจและได้โห่จอมพล ป.และขอให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนซึ่งเมื่อไม่สามารถทัดทานเสียงเรียกร้องของประชาชนได้ จอมพล ป.จึงยอมให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนโดยขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาที่ทางผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นจอมพลสฤษดิ์รับปากว่าจะขอรับไปนำเสนอเพื่อแก้ไขดันในคณะรัฐบาลภายหลัง ประชาชนจึงพอใจและสลายการชุมนุมและเหตุการณ์ก็คืนสู่ภาวะปกติ จนรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500

ความแตกแยกที่นำไปสู่รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500

แม้จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงพร้อมทั้งการเรียกร้องจากนักการเมืองฝ่ายค้านและประชาชนให้รัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ รวมทั้งการที่สมาชิกสภาราษฎรฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดพระนคร สระบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานีและเชียงใหม่ให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในจังหวัดดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะเป็นไปโดยมิชอบและฝ่ายรัฐบาลไม่ได้จัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตแต่มีพฤติการณ์โกงการเลือกตั้งหลายประการ

แต่ก่อนหน้านั้นเพียง 4 วันได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2500 และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2500 ก็มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ หลังจากผ่านการอภิปรายนโยบายรัฐบาลจากฝ่ายค้านอย่างรุนแรงสองวันสองคืนของวันที่ 1-2 เมษายน พ.ศ. 2500 แต่ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถมีเสียงสนับสนุนในสภาเหนือฝ่ายค้านจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคมีมากกว่าด้วยคะแนนเสียง 144 ต่อ 4 คณะรัฐบาลชุดนี้จึงได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางการเมืองของการแข่งขันอำนาจกันในระหว่างผู้นำทางการเมือง จึงทำให้รัฐบาลอยู่ได้ต่อมาอีกไม่นานนัก

ผลประการสำคัญจากการโกงการเลือกตั้งของรัฐบาลที่ถูกขนานว่า “การเลือกตั้งสกปรก” และการเสนอข่าวด้านลบของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ และการประท้วงของฝ่ายค้าน นักศึกษาประชาชนต่อการเลือกตั้งที่สกปรก ที่สำคัญคือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแตกแยกกันในหมู่ผู้นำทางการเมืองมาถึงจุดแตกหักเร็วขึ้น หลังจากที่เริ่มแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การเมืองสามเส้าที่ดำรงอยู่ตลอดสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามกำลังจะกลายเป็นแค่สองฝ่ายคือทางฝ่ายจอมพล ป. เริ่มเอนเอียงเข้าทางพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องระมัดระวังในการเดิมเกมทางการเมืองไม่ให้เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายตรงข้าม จนท้ายที่สุดได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญคือกลุ่มนายทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการปฏิวัติในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ซึ่งนับว่าเป็นการล้มล้างการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ลงด้วยอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การเมืองระบบเผด็จทหารไปจนถึงวันปฏิวัติของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ที่มา

กระทรวงมหาดไทย. รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1. พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500.

เกรียงศักดิ์ พิศนาคะ. เลือกตั้งสกปรก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, 2517.

เฉลิม มลิลา. “รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

ไทยน้อย (นามแฝง-เสลา เรขะรุจิ) และ รุ่งโรจน์ ณ นคร, เลือกตั้งกึ่งพุทธกาล, พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐสิน, 2500.

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 74 ตอนที่ 22 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 2 มีนาคม 2500

สมบูรณ์ วรพงษ์, ยึดรัฐบาล รัฐประหาร 16 กันยา ล้มรัฐบาลพิบูล. พระนคร: เจริญธรรม, 2500.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500). กรุงเทพฯ: พี. เพรส, 2550.

อ้างอิง

  1. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526. หน้า 132
  2. ดูคำพิพากษาคดีแดงที่ 416/2503 ศาลอุทธรณ์ ตัดสินวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2503 อ้างจาก เกรียงศักดิ์ พิศนาคะ. เลือกตั้งสกปรก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, 2517. หน้า 102-21.
  3. เฉลิม มลิลา. “รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518. หน้า 105
  4. เฉลิม มลิลา. “รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518. หน้า 105-106
  5. อ้างจาก เกรียงศักดิ์ พิศนาคะ. เลือกตั้งสกปรก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, 2517. หน้า 64-67.
  6. ไทยน้อย (นามแฝง-เสลา เรขะรุจิ) และ รุ่งโรจน์ ณ นคร, เลือกตั้งกึ่งพุทธกาล, พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐสิน, 2500.
  7. เกรียงศักดิ์ พิศนาคะ. เลือกตั้งสกปรก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, 2517. หน้า 172-4.
  8. กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1, พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500, หน้า 147-154.
  9. สารเสรี, 3 มีนาคม 2500 อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), กรุงเทพฯ: พี. เพรส, 2550, หน้า 369.
  10. “คำแถลงการณ์ฉบับที่ 1”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 74 ตอนที่ 22 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 2 มีนาคม 2500, หน้า 1.