กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร
เรียบเรียงโดย : ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร
ปราสาทพระวิหารสร้างจากหินทรายตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีลักษณะภูเขายอดตัดที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูง มีทางเดินขึ้นสะดวกลาดตามแนวเขาจากทางด้านหน้าด้านเดียว พิกัดตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทยปัจจุบันตั้งอยู่บนผาเป้ยตาดี (Pey Tadi) ของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา การเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารขึ้นได้สองทาง คือ ฝั่งไทยเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษผ่านทางผามออีแดง ส่วนกัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตรไต่เขาขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร ในเขตอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร
จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของการสร้างปราสาทไว้บนที่สูงคือยอดภูเขานั้น เพื่อถวายสักการะแด่พระศิวะเทพเจ้าของคนโบราณแห่งอุษาคเนย์ในยุคที่รวมเอาคนเข้าด้วยกันด้วยความเชื่อและศรัทธา การให้ความเคารพและเดินทางไปสักการะคือวิธีการที่คนโบราณกระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่พอมาถึงยุครัฐชาติจากการเข้ามาเผยแพร่อุดมการณ์เรื่องดินแดนตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ การกระทำต่อเขาพระวิหารจึงเปลี่ยนไปเป็นการแย่งชิงให้เป็นสมบัติของชาติตามนิยามสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นที่มาของความขัดแย้งในทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชามากว่าครึ่งศตวรรษ และเป็นการเมืองภายในประเทศของทั้งสองประเทศไปพร้อมๆ กันเสมอ การทำความเข้าใจถึงที่ไปที่มาของความขัดแย้งและการเมืองเรื่องเขาพระวิหารจึงจะทำให้เราเห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของเรื่องนี้กับสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น
ที่มาของความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร
ก่อนหน้าจะเกิดการปะทุประเด็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารของกัมพูชาจนกลายเป็นความขัดแย้งของการเมืองภายประเทศของไทยว่าด้วยเรื่องเขาพระวิหารขึ้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้เคยถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ทำสงครามอินโดจีนได้เขาพระวิหารมา และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กัมพูชาฟ้องศาลโลกให้ไทยคืนเขาพระวิหารให้กัมพูชา
ปราสาทเขาพระวิหารได้เข้ามาสู่การรับรู้ของชนชั้นปกครองไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2442 โดยผู้เดินทางไปเยือนปราสาทพระวิหารคนแรกคือ พระเจ้าน้องยาเธอ_กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาน ในสมัยรัชกาลที่_5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "118 สรรพสิทธิ" ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย
ช่วงใกล้เคียงกันเมื่อพ.ศ. 2450 ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 ได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธม) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก "ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา ส่วนจันทบุรีนั้นฝรั่งเศสคืนมาให้ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2447 แล้ว[1] โดยต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว
ดังนั้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสทางด้านทิศตะวันออกของประเทศไทยมีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหารก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส โดย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้[2]
ด้วยความตระหนักในชนชั้นปกครองไทยต่อเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเมื่อคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในขณะทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่_7 เสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหารใน พ.ศ. 2472 จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร "ปราสาทเขาพระวิหาร" ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยระบบสภาของคณะราษฎรในช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองจะระเบิดขึ้นในเอเชียและญี่ปุ่นกำลังแผ่แสนยานุภาพไปทั่วเอเชียนั้น ฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำในสงครามที่ต่อสู้กับเยอรมนีจนต้องไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอังกฤษ ทางรัฐบาลไทยสมัยชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำสงครามอินโดจีนบุกยึดดินแดนที่เป็นของไทยเดิมในเขมรจากฝรั่งเศส คือจังหวัดพระตะบองและศรีโสภณ จึงทำให้ปราสาทเขาพระวิหารมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มา ดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ" [3]
แต่ก็ต้องคืนไปหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดแล้วฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ แต่ไทยก็ไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงครามเพราะมีเสรีไทยร่วมมือกับพันธมิตรแต่ก็ต้องคืนดินแดนที่ได้มาระหว่างสงครามให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษไป ดินแดนเขาพระวิหารจึงกลายเป็นของฝรั่งเศสตามเดิม แต่รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามที่กลับมาหลังรัฐประหาร 2490 ก็ได้ส่งทหารเข้าไปยึดปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยอีกครั้ง จนกัมพูชาได้เอกราชฝรั่งเศสแล้วใน พ.ศ. 2496 อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 ให้คืนปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชา
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชกับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดีด้วย และมีการเดินขบวนเรียกร้องเขาพระวิหารคืนกันด้วย ทำให้เขาพระวิหารกลับมาสู่ความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด นับเป็นการใช้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นประเด็นเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองเรื่องชาตินิยมในประเทศได้อย่างมีพลังครั้งที่สอง
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น
โดยหลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ การจะนำคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นสามารถทำได้ถ้ามีหลักฐานใหม่และต้องทำภายในสิบปี
การที่รัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบและคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือก็คือการใช้หลักกฎหมายโรมันที่ว่าด้วย "กฎหมายปิดปาก" ที่เป็นอุทาหรณ์ให้นักเรียนกฎหมายได้เรียนมาโดยตลอด
เขาพระวิหารกับการทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง
การเมืองเรื่องเขาพระวิหารล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกัมพูชาได้เสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ไทยมีปัญหาว่าแผนที่ ที่กับพูชาแนบท้ายว่าเป็นอาณาบริเวณของพระวิหารนั้นได้ ขีดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในบริเวณทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน และ ได้ขีดเส้นเขตแดนประเทศล้ำเข้ามาในฝั่งไทย
เมื่อเห็นดังนั้นกระทรวงต่างประเทศจึงหารือกับทางกัมพูชาเพื่อให้ร่วมกับฝ่ายไทยจดทะเบียน โบราณสถานอื่น (ในเขตไทย) และพระวิหาร (ของกัมพูชา) ร่วมกันในทีเดียวเพื่อความสมบูรณ์ของพระวิหาร และให้กัมพูชาเปลี่ยนแผนที่ให้ไม่ล้ำเข้ามาในเขตไทยและพื้นที่ทับซ้อน และได้ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 เลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนของ กัมพูชาออกไป จนต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้หารือร่วม กับนายสก อาน ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาตกลงที่จะเปลี่ยนแผนที่ที่แนบในเอกสารคำขอยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยจดทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทประวิหาร ซึ่งศาลโลกได้พิพากษาว่าเป็นของกัมพูชา เท่านั้น และต่อมาทางกัมพูชาส่งแผนที่ที่ปรับแก้ไขใหม่มาให้ฝั่งไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบว่าแผนที่ใหม่ที่ส่งมานั้นไม่มีการล้ำเข้ามาในเขตไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติจึงได้พิจารณาเห็นชอบ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายกัมพูชาและยูเนสโก ในขณะเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามกรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร เนื่องจากไม่ยอมเปิดเผยแผนที่ทับซ้อนเขาพระวิหารให้กับประชาชนคนไทยได้รับรู้ หลังจากตกลงร่วมกับประเทศกัมพูชาไปก่อนหน้านี้นั้น
หลังจากนั้นในวันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และคณะ รวม 9 คน เป็นตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด
โดยมีผู้สนับสนุนหลายฝ่ายด้วยกัน เช่น หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนักวิชาการ เดินทางมาพบ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อรับมอบรายชื่อผู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ซึ่งในส่วนของพันธมิตรฯ ได้มีการมอบรายชื่อให้กับทางสถาบันไทยคดีศึกษาไปแล้ว 6,000 รายชื่อ และต่อมามอบให้อีก 3,488 รายชื่อ ซึ่งล่าสุดตัวเลขของผู้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมีทั้งหมด 33,400 รายชื่อ ภายหลังจากที่มีการรับมอบรายชื่อจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรแล้ว ม.ล.วัลวิภา ยังได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ ต่อนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย
หลังจากพิจารณาอย่างเร่งด่วนในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และใช้เวลาไต่สวนกว่า 10 ชั่วโมง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อเวลา 02.00 น. ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังที่ศาลปกครองกลางได้ส่งโทรสารคำสั่งไปยังคู่ความ ในคดีที่ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาโดยมีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติ การดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่รับรอง การออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าว ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น รวมทั้งให้เพิกถอนการกระทำของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 พร้อมกันนั้นมีคำสั่งให้นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก
แต่อย่างไรก็ตามในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ทำให้ประเด็นเรื่องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารยิ่งเพิ่มความเข้มข้นยิ่งในการเมืองไทย แต่ขณะที่กำลังขับเคี่ยวกันโดยมีประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชก็พ้นจากการดำรงตำแหน่งไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าขาดคุณสมบัติ จึงทำให้การเมืองเรื่องเขาพระวิหารถูกนำมาเป็นประเด็นในการโจมตีการทำงานของฝ่ายรัฐบาลที่ผิดพลาดรัฐบาลในที่นี้คือ พรรคเพื่อไทย
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552 นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในฐานะโฆษกและนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อลงมติชี้มูลความผิดคดีเขาพระวิหาร โดยที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 ว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
เหตุและผลของความขัดแย้ง
สาเหตุของการปะทุขึ้นของปัญหาความขัดแย้งในกรณีปราสาทเขาพระวิหารใน พ.ศ. 2551 นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในของสังคมไทยที่มีการใช้ประเด็นชาตินิยมมาปลุกเร้าเพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาลและคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประเด็นนี้ก็ได้ขยายออกไปเป็นปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจึงอาจไม่ใช่สังคมส่วนรวม หากเป็นบุคคลบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสใช้ความคิดชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ถือเป็นการทำให้เขาพระวิหารกลายเป็นประเด็นทางการเมืองโดยมีการเมืองของการแย่งชิงอำนาจรัฐของฝ่ายที่เรียกกันว่าเหลืองและแดงนั่นเอง
อาจารย์ศรีศักร วิลลิโภดมนักวิชาการด้านสังคมวัฒนธรรมคนสำคัญของไทยได้อธิบายสาเหตุของข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารที่แท้จริง ว่าเป็นกับดักและระเบิดเวลาของประเทศมหาอำนาจที่ครอบงำอินโดจีนในยุคล่าอาณานิคมวางไว้ ที่เรียกว่ากับดักเพราะว่า ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเอาความรู้แบบฝรั่งมาให้ไทยเรียนและไทยต้องทำตาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยอยากจะทัดเทียมชาติตะวันตกจึงเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่จากชาติตะวันตกรวมทั้งการทำแผนที่ให้เป็นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ มีการปักปันเขตแดนแบ่งเป็นรัฐชาติ แบ่งเขตแดนโดยใช้สันปันน้ำ (ถ้าเป็นที่สูงใช้สันปันน้ำ ถ้าเป็นลำน้ำใช้ล่องน้ำลึก) ชาติตะวันตกแบ่งเช่นนี้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศอาณานิคมของตน ไทยไม่ได้เป็นประเทศอาณานิคมจึงเสียเปรียบ กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อชาติตะวันตกเข้ามาสร้างเส้นเขตแดนซึ่งได้กลายเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยไป เส้นพรมแดนได้ทำลายระบบความคิดดั้งเดิมทั้งหมดของประเทศแถบนี้ที่คนไทยไม่ได้คิดอย่างนั้นมาก่อน[4]
กล่าวถึงที่สุดแล้วกรณีเขาพระวิหารยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่อาจจะถูกหยิบยกมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้เสมอจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ขัดแย้งและเปราะบางต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศคือไทยกับกัมพูชา ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการรณรงค์จากในประเทศก่อนจะขยายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ทั้งนี้การปลูกฝังชาตินิยมแบบคลั่งชาติของระบบการศึกษาและสื่อมวลชนของทั้งสองชาติก็เป็นสาเหตุของการหยิบประเด็นทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ.ปราสาทพระวิหาร : ความจริงที่คนไทยต้องรู้. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2551.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปราสาทเขาพระวิหาร : หลุมดำ-หีบพยนตร์-ลัทธิชาตินิยม-ประวัติศาสตร์แผลเก่า-ตัดตอน-กับบ้านเมืองของเรา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551.
ดวงธิดา ราเมศวร์. ปราสาทพระวิหาร : ความขัดแย้งตลอดกาลของสองประเทศ?. กรุงเทพฯ: มายิก, 2551.
ธิดา สาระยา.เขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2535.
ทัศนา ทัศนมิตร. สงครามอินโดจีนและสนธิสัญญาที่ทำให้ไทยต้องเสียเขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2552.
นพดล ปัทมะ. ผมไม่ได้ขายชาติ. กรุงเทพฯ : จัดจำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, 2551.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. แฉเอกสาร "ลับที่สุด" ปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505-2551. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.
พิเชฐ แสงทอง (บรรณาธิการ). พรมแดนบนแผ่นกระดาษ ปราสาทเขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2551.
เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.'.[[javascript:buildNewList('http://search.library.tu.ac.th/ipac20/ipac.jsp?session=126WS2563197H.11256&profile=pridi&uri=full=3100001@!47784@!4&ri=4&aspect=advanced&menu=search&source=203.131.219.164@!db73_tudb&ipp=20&staffonly=&term=%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3&index=.TW&uindex=&aspect=advanced&menu=search&ri=4')%7Cคดีเขาพระวิหาร.]] พระนคร, โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505.
สุชาติ บำรุงสุข.', ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช.ปราสาทพระวิหาร : บริบทกฎหมายและการเมือง.กรุงเทพฯ : โครงการความมั่นคงศึกษาด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2551.
สุวัฒน์ กิขุนทด, ทรงฤทธิ์ โพนเงิน, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. ขะแมร์-ไทย มิตรหรือศัตรู'?.กรุงเทพฯ: อินโดไชน่า พับลิชชิ่ง, 2551.
อนุชา แป๊ะพรรณวรรณ. Exclusive การเมืองเรื่อง... เขาพระวิหาร. กรุงเทพฯ: คลื่นอักษร, 2551.
อ้างอิง
[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปราสาทเขาพระวิหาร : หลุมดำ-หีบพยนตร์-ลัทธิชาตินิยม-ประวัติศาสตร์แผลเก่า-ตัดตอน-กับบ้านเมืองของเรา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551.
[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปราสาทเขาพระวิหาร : หลุมดำ-หีบพยนตร์-ลัทธิชาตินิยม-ประวัติศาสตร์แผลเก่า-ตัดตอน-กับบ้านเมืองของเรา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551.
[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปราสาทเขาพระวิหาร : หลุมดำ-หีบพยนตร์-ลัทธิชาตินิยม-ประวัติศาสตร์แผลเก่า-ตัดตอน-กับบ้านเมืองของเรา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551.
[4] ศรีศักร วัลลิโภดม. เขาพระวิหาร': ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2551. หน้า 1-33.