สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีแห่งกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2435 โดยเป็นผู้วางรากฐานการบริหาราชการของกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องถึง 23 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอภิรัฐมนตรีและ นายกราชบัณฑิตยสภา ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทรงถูกทูลเชิญไปควบคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมและเสด็จลี้ภัยไปประทับที่เมืองปีนัง จนปลายพระชนม์ชีพจึงเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ได้รับการถวายสมัญญานามว่าพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และเป็นคนไทยคนแรกที่องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ถวายสดุดีให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
พระประวัติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2405 ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นโดยศึกษาภาษาไทยจากคุณแสงเสมียนและคุณปาน ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ศึกษาภาษาบาลีในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวงโดยมีนายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สันเป็นพระอาจารย์[1] จากนั้นทรงเข้าศึกษาในคะเด็ตทหารมหาดเล็กจนสำเร็จการศึกษาในพ.ศ. 2420 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก
เหตุการณ์สำคัญ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเริ่มรับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงโปรดให้จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นจึงโปรดให้เสด็จในกรมฯเข้ารับราชการในกรมแผนที่ ก่อนจะย้ายไปบังคับบัญชากรมกองแก้วจินดาซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำแท่นปืนใหญ่และจัดทำรางปืนใหญ่เก่าใหม่ซึ่งยังใช้ในราชการ ทรงมีบทบาทอย่างสูงในการจัดการการศึกษาในระยะเริ่มแรกโดยทรงจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบใน พ.ศ.2424 ใน พ.ศ. 2428 โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก ด้วยการที่ทรงมีความดีความชอบทำให้ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพใน พ.ศ.2429 [2]
พ.ศ.2430 โปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกในกรมยุทธนาธิการควบคุมกิจการทั้งปวงของทหารบก (พระสถานะเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน โดยกองทัพบกจัดลำดับให้ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 1)[3]
พ.ศ.2433 โปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับการธรรมการและเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ.2435 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และมีบทบาทอย่างสำคัญในการวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศและการบริหาราชการของกระทรวงมหาดไทย โดยมีผลงานที่สำคัญคือ[4]
1. ทรงจัดการบังคับบัญชางานภายในกระทรวงให้มีรูปแบบเป็นระบบราชการชัดเจน มีลำดับขั้นการบังคับบัญชา มีการแบ่งงานและเลือกสรรผู้มีความสามารถเข้ารับราชการ โดยการจัดสอบคัดเลือก ตลอดจนออกระเบียบวินัยต่างๆ เช่น เลิกประเพณีให้ข้าราชการทำงานอยู่ที่บ้าน กำหนดให้มีการประชุมข้าราชการทุกวัน กำหนดเวลาการทำงาน ตลอดจนจัดระเบียบส่งร่าง เขียน และเก็บหนังสือราชการ เป็นต้น
2. ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า “ระบบเทศาภิบาล” ได้เป็นผลสำเร็จ และนับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดของพระองค์ โดยทรงรวมหัวเมืองต่างๆ จัดเข้าเป็น "มณฑล"และมี “ข้าหลวงเทศาภิบาล” เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง ใน พ.ศ.2440 ได้ออก พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร โดยการแบ่งเขตการปกครองย่อยลงไปเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
3.ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือทรงริเริ่มจัดตั้ง “การสุขาภิบาลหัวเมือง” ใน พ.ศ. 2448 โดยริเริ่มจัดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมืองที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงดำรงราชานุภาพ และ พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น กรมพระดำรงราชานุภาพ[5]
พ.ศ.2458 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จในกรมฯทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเนื่องจากปัญหาสุขภาพและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายใน[6]
พ.ศ.2466 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งกลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และทรงดำรงตำแหน่งกรรมการสภาการคลังและกรรมการตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[7]
พ.ศ.2468 ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาชั้นสูงเหนือคณะเสนาบดี[8] ทรงได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรีสภา และโปรดเกล้าฯ เป็นนายกราชบัณฑิตยสภาเมื่อ พ.ศ.2469 และทรงได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพใน พ.ศ.2472[9]
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อคณะราษฎรทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ทรงเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกทูลเชิญไปควบคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยทรงอธิบายว่า “เขาเอาไปด้วยเห็นว่าเป็นคนสำคัญของบ้านเมือง จะเอาไปไว้เป็นประกันให้เขาปลอดภัยเขาเอง”[10]
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3-4 วัน ทรงได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับถูกปลดออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมด ทรงย้ายจากวังวรดิศไปประทับที่ “สำนักดิศกุล” บ้านพักชายทะเลของพระองค์ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงเขียนจดหมายแจ้งข่าวไปยังมิตรสหายชาวต่างประเทศว่าขณะนี้ทรง leading a retired life (ใช้ชีวิตหลังเกษียณ) อยู่ แต่แล้วเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎรหลังกรณีกบฏบวรเดช ประกอบกับข่าวลือที่ว่าอาจมีการจับเจ้านายเป็นตัวประกันไว้ต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯอีก ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับที่เมืองปีนัง ในชั้นต้นเสด็จในกรมฯทรงดำริว่าจะพำนักอยู่ที่ปีนังเพียงชั่วระยะหนึ่ง รอจนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลงแล้วก็จะเสด็จกลับ แต่ปัญหาการเมืองในประเทศไทยทำให้ทรงประทับอยู่ที่ปีนังเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยทรงประทับ ณ ซินนามอนฮอลล์ จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยินยอมให้เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับประเทศไทยโดยมีการประสานงานผ่านไปยังกองทัพญี่ปุ่นในเมืองปีนังให้เป็นผู้เชิญเสด็จกลับมายังประเทศไทย เสด็จในกรมฯเสด็จกลับถึงวังวรดิศในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2485 ระหว่างน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ในปีต่อมา [11]
เหตุการณ์อื่น ๆ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีผลงานนิพนธ์ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ดังนี้[12]
1.ชุมนุมพระนิพนธ์ 60 เรื่อง
2.พระนิพนธ์ตำนาน 46 เรื่อง
3.พระนิพนธ์ประวัติศาสตร์และท่องเที่ยว 47 เรื่อง
4.พระนิพนธ์ชีวประวัติ 120 เรื่อง
5.นิทานโบราณคดี 21 เรื่อง
6.สาส์นสมเด็จ 55 เรื่อง
7.พระกวีนิพนธ์ 92 เรื่อง
8.บทความภาษาต่างประเทศ 5 เรื่อง
พ.ศ.2505 องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้จัดงานเฉลิมฉลองถวายพระเกียรติแด่เสด็จในกรมฯ โดยถวายสดุดีให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นบุคคลสำคัญของโลก
หนังสือแนะนำ
จักรกฤษณ์ นรนิติผดุง,(2506),สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ กระทรวงมหาดไทย ,พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รุจน์ มัณฑิรา,(2545),ชีวิตและงานนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์น้ำฝน.
กรมศิลปากร,(2556),'150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ': บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร, 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ': บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย,' (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), หน้า8.
กองทัพบก,ทำเนียบอดีตผู้บังคับบัญชา,เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command1.htm เมื่อ 1 กันยายน 2559
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 190.
รมณีนยฉัตร แก้วกิริยา ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับงานการศึกษา, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา, 2543), หน้า 5.
ศรัณย์ ทองปาน,'ติดเกาะ! ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไป '“ลี้ภัยการเมือง” ที่ปีนัง, เข้าถึงจาก http://www.sarakadee.com/2013/03/18/kromdamrong/เมื่อ 1 กันยายน 2559.
สายชล สัตยานุรักษ์ , “สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์เมืองไทยและชั้นของชาวสยาม”, วารสารศิลปวัฒนธรรม. (กรุงเทพมหานคร : ศิลปวัฒนธรรม, 2546), หน้า 26.
ส.ศิวรักษ์, พิจารณาในกรมดำรงฯเมื่อพระชนม์ครบ 150, (กรุงเทพมหานคร : ศึกษิตสยาม, 2555), หน้า 1.
สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย,พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,เข้าถึงจากhttp://www.moi.go.th/portal/page?_pageid=235,804615,235_804641&_dad=portal&_schema=PORTAL เมื่อ 1 กันยายน 2559
หอสมุดดำรงราชานุภาพ,งานพระนิพนธ์, เข้าถึงจากhttp://web.princedamronglib.org/pages/index.php?id=11 เมื่อ 1 กันยายน 2559.
[1] รมณีนยฉัตร แก้วกิริยา ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับงานการศึกษา, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา, 2543), หน้า 5.
[2] ส.ศิวรักษ์, พิจารณาในกรมดำรงฯเมื่อพระชนม์ครบ 150, (กรุงเทพมหานคร : ศึกษิตสยาม, 2555), หน้า 1.
[3] กองทัพบก,ทำเนียบอดีตผู้บังคับบัญชา,เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command1.htm เมื่อ 1 กันยายน 2559
[4] สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย,พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,เข้าถึงจากhttp://www.moi.go.th/portal/page?_pageid=235,804615,235_804641&_dad=portal&_schema=PORTAL เมื่อ 1 กันยายน 2559
[5] กรมศิลปากร, 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ': บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย,' (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), หน้า8.
[6] สายชล สัตยานุรักษ์ , “สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์เมืองไทยและชั้นของชาวสยาม”, วารสารศิลปวัฒนธรรม. (กรุงเทพมหานคร : ศิลปวัฒนธรรม, 2546), หน้า 26.
[7] กรมศิลปากร, หน้า8.
[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 190.
[9] กรมศิลปากร, หน้า9.
[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,หน้า 47.
[11] ศรัณย์ ทองปาน,'ติดเกาะ! ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไป '“ลี้ภัยการเมือง” ที่ปีนัง, เข้าถึงจาก http://www.sarakadee.com/2013/03/18/kromdamrong/เมื่อ 1 กันยายน 2559.
[12] หอสมุดดำรงราชานุภาพ,งานพระนิพนธ์, เข้าถึงจากhttp://web.princedamronglib.org/pages/index.php?id=11 เมื่อ 1 กันยายน 2559.