กิจกรรม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย”

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:18, 16 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ นน ศุภสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          กิจกรรมการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย”[1] หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์” เป็นการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเย็นของ วันที่ 3 สิงหาคม  2563 ณ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา การชุมนุมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับ

          การชุมนุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์_จันทร์โอชา นับจากช่วงครึ่งหลังของ ปี 2563 ภายหลังการหายสาบสูญของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชาในเดือนมิถุนายน และกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลในเรื่องการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน ในการชุมนุมนี้มีการปราศรัยที่สำคัญจาก อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และการประกาศแถลงการณ์ของผู้จัดการชุมนุมในช่วงปิดท้าย ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมในลักษณะท้าทายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก[2] ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและการนำเสนอข้อเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์นับแต่นั้นมา

ที่มาของชื่อและรูปแบบของการชุมนุม

          ที่มาของการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยและหัวข้อหลักของการชุมนุม มีที่มาจากวรรณกรรมสัญชาติอังกฤษแนวแฟนตาซี “แฮร์รี่ พอตเตอร์” (Harry Potter) ประพันธ์โดย J. K. Rowling และมีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นรู้จักแพร่หลายทั้งตัววรรณกรรมและภาพยนตร์

          ผู้จัดกิจกรรมได้หยิบยกสัญญะและเนื้อหาของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองไทยและการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยจากการแถลงในที่ชุมนุม กลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเนื้อเรื่องของ แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น “มีความสอดคล้องกับสังคมไทย”[3] และ “มีสัญญะในการต่อสู้กับอำนาจมืดที่มองไม่เห็น”[4] ซึ่งการอ้างอิงถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์นี้ ได้แสดงออกมาผ่านธีมการแต่งตัวของผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนกิจกรรมในการชุมนุม เช่น การแจกจ่ายไม้กายสิทธิ์แก่ผู้เข้าร่วมรวมถึงการเปล่งเสียงตะโกนร่ายเวทย์มนต์ของผู้ชุมนุมร่วมกัน และการเชื่อมโยงเนื้อหาของวรรณกรรมและภาพยนตร์เข้ากับสถานการณ์การเมืองและการต่อสู้กับอำนาจรัฐ เช่น การกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายแสงสว่างกับฝ่ายมืด ซึ่งสื่อถึงฝ่ายรัฐ การแทนภาพผู้ชุมนุมหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นตัวละครพ่อมดแม่มดวัยหนุ่มสาว[5] ซึ่งเป็นฝ่ายตัวละครหลักของวรรณกรรมรวมไปถึงการเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายเข้ากับความเป็น “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” หรือ “ลอร์ดโวลเดอมอร์” (Voldemort)[6] ซึ่งเป็นศัตรูกับตัวละครหลักตามเนื้อเรื่อง

          การชุมนุมโดยอ้างอิงถึงวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมยอดนิยม (pop culture) ซึ่งถูกหยิบยกมาใช้ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยกิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในหลายครั้งที่นำเอาสัญญะจากวัฒนธรรมยอดนิยมมาใช้ เช่น สัญลักษณ์การชูสามนิ้ว ซึ่งมีที่มาจากวรรณกรรมและภาพยนตร์ Hunger Games หรือการร่วมร้องเพลง Do You Hear The People Sing ซึ่งมีที่มาจากละครเวทีและภาพยนตร์ Les Miserables[7] รวมไปถึงการนำเอาวลีหรือประโยคที่เป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการชุมนุมประท้วง

          ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นช่วงเวลาที่มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งที่นำเอาวัฒนธรรมยอดนิยมเข้ามาใช้ด้วยเช่นกัน เช่น กิจกรรมม็อบแฮมทาโร่ หรือการนำบทพูดในภาพยนตร์ชุดหอแต๋วแตกมาใช้ในการชุมนุม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล”[8] 

          นอกจากนั้นแล้ว การจัดกิจกรรมทางการเมืองของกิจกรรมเสกคาถาผู้พิทักษ์ฯ ยังใช้อารมณ์ขันมาเป็นยุทธวิธียั่วล้อและใช้สัญลักษณ์กระทบกระเทียบ ซึ่งเป็นยุทธวิธีการประท้วงด้วยสันติวิธี[9] การใช้อารมณ์ขันมาเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะการต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยแสดงออกมาให้เห็นความตลกขบขัน ดูไม่จริงจัง ดูไม่เป็นการเมือง ซึ่งสามารถลดทอนความตึงเครียดน่ากลัว สร้างภาพความเป็นมิตรของผู้ชุมนุมให้ปรากฏต่อสาธารณะ รวมถึงบ่อนเซาะทำลายอำนาจรัฐและลดความชอบธรรมที่รัฐจะใช้เป็นของอ้างเพื่อใช้ความรุนแรงปราบปราม[10] ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมบางส่วนในการชุมนุม เช่น การร่ายเวทย์มนตร์คาถาหรือการแต่งกาย ทั้งนี้ ควรพิจารณาว่าในช่วงไล่เลี่ยกันได้มีการจัดกิจกรรมที่แสดงออกในเชิงตลกขบขันหรือดูไม่เป็นการเมืองเช่นเดียวกัน เช่น การ “ชมสวน” บนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่ม “มศว คนรุ่นเปลี่ยน” หรือ ม็อบแฮมทาโร่และม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งฯ ซึ่งจัดขึ้นก่อนกิจกรรมเสกคาถาผู้พิทักษ์ฯ

การชุมนุม-ประเด็นการปราศรัยเบื้องต้น

          ในช่วงต้นของการชุมนุมม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ได้มีผู้ขึ้นปราศรัยผลัดเปลี่ยนกัน โดยประเด็นในการปราศรัยโดยรวมเป็นการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความไม่เป็นประชาธิปไตย ความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล[11] การทุจริต กระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงประเด็นการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CPTPP และการให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)[12] นอกจากนั้น ยังได้วิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างและสถาบันทางการเมือง ได้แก่ รัฐธรรมนูญและวุฒิสภา พร้อมกับเน้นย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่จัดขึ้นก่อนหน้าใน วันที่ 18 กรกฎาคม ได้แก่ ให้รัฐบาลหยุดคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา[13] ทั้งนี้ ยังมีการแถลงจุดยืนของกลุ่มผู้จัดในเรื่องการสนับสนุนความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศ จากการที่มีข้อกังวลถึงการนำเอาวรรณกรรมของ J. K. Rowling ซึ่งเป็นผู้ที่แสดงทัศนคติเหยียดเพศ[14] มาใช้อ้างอิงกับการชุมนุมนี้

การกล่าวปราศรัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

          1) การปราศรัยของอานนท์ นำภา

          อานนท์ นำภา เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทยเป็นสิ่งที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เพื่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุด[15] ทั้งยังกล่าวการกล่าวถึงหรือตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ที่ปรากฏให้เห็นในการเคลื่อนไหวชุมนุม ซึ่งอานนท์กล่าวว่าจะไม่มีความหมายหากประเด็นเหล่านั้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาและมีเหตุผลตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข[16] อานนท์ได้กล่าวต่อไปถึงปัญหาจากกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ “ถอยออกห่าง” จากระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น[17] กระบวนการแรก คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ที่มีลักษณะขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการบริหารจัดการหน่วยราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และการรับสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นพระราชอำนาจในการวินิจฉัยเมื่อเกิดเหตุวิกฤตและการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายหลังการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ[18]

          กระบวนการที่ 2 ได้แก่ การออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นการขยายพระราชอำนาจ ได้แก่ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดตั้งหน่วยงานราชการในพระองค์และ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ที่ทำให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเขาเห็นว่าแต่เดิมนั้นมีสถานะเป็น “สาธารณสมบัติ” ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยพระมหากษัตริย์เพียงผู้เดียว[19] นอกจากนั้นอานนท์ยังกล่าวถึงการออกกฎหมายโอนกำลังพลมาสังกัดภายใต้พระมหากษัตริย์หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ซึ่งนับเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[20]

          ประการต่อมา อานนท์ได้กล่าวถึง “ความนิ่งเฉยจนเกินความจำเป็น” ของสถาบันฯ จากการแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในการสนับสนุนตนเองและคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง[21] โดยได้ยกกรณีการถวายสัตย์ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา การกระทำของ เหรียญทอง แน่นหนา และการเชื่อมโยงการต่อต้านรัฐบาลเข้ากับการล้มล้างสถาบันกษัตริย์[22] โดยที่สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านการกระทำเหล่านี้แต่อย่างใด[23] ต่อจากนั้นอานนท์ได้ปราศรัยถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้แก่การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนธุรกิจส่วนพระองค์ การจัดสรรงบประมาณการเดินทางด้วยเครื่องบินและงบประมาณท้องถิ่นในการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ[24] ซึ่งอานนท์ได้กล่าวต่อในช่วงท้ายถึงการแก้ไขกฎหมายจัดการทรัพย์สินฯ และรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์และสนับสนุนพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายเช่นนี้[25]

          ซึ่งในช่วงหนึ่งในการปราศรัย อานนท์ได้กล่าวว่าการปราศรัยนี้ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันฯ แต่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตเพื่อให้สถาบันฯ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข[26] พร้อมทั้งกล่าวถึงความคาดหวังให้การพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา-มีเหตุผลในประเด็นสถาบันกษัตริย์จะเป็นสิ่งที่ทำได้ และจะไม่มีการคุกคามผู้ที่แสดงความเห็นในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป[27]

          2) แถลงการณ์จากกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด       

          ในช่วงท้ายของการชุมนุม ตัวแทนจากกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด ได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มฯ ก่อนยุติการชุมนุม โดยขึ้นต้นด้วยการกล่าวถึงปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ “การทำลายหลักการประชาธิปไตยลงอย่างย่อยยับ” การขยายพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางผ่านการออกกฎหมาย การแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อใช้โจมตีกล่าวหาฝ่ายการเมืองตรงกันข้ามและเพื่อสร้างความขัดแย้ง รวมถึงได้กล่าวถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วยกฎหมายต่อ “ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากฝ่ายกษัตริย์นิยม” ซึ่งผิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น และได้กล่าวถึงการถูกจำคุก ลี้ภัย เสียชีวิต และหายสาบสูญ ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ “มีความแตกต่างทางความคิด”

          ทางกลุ่มฯ ได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

          1. ให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

          2. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

          3. รับฟังเสียงเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย[28]

ผลสืบเนื่องภายหลังจากการชุมนุม

          ภายหลังจากการชุมนุม มีการดำเนินคดีกับทั้งผู้ปราศรัยและผู้จัดการชุมนุม อานนท์ นำภา ถูกจับกุมโดยตั้งข้อกล่าวหา 4 กล่าวหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ความผิดจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง, และความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม[29] โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและถูกสั่งฟ้องเพิ่มอีก 2 ข้อหา ได้แก่ การฝ่าฝืนข้อกำหนดใน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และความผิดตามมาตรา 112[30] ในขณะที่ผู้จัดการชุมนุมและผู้ขึ้นปราศรัยรายอื่น อีก 6 คน ถูกสั่งฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ จากการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม, พ.ร.บ. ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, และการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ[31]

          เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้มีการจัดชุมนุมเพื่อระลึกการครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ฯ บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ลอร์ดโวลเดอมอร์ยังไม่ตายเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน” โดยที่ อานนท์ นำภา ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน[32]

ผลกระทบต่อการเมืองไทย

          การชุมนุม “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ฯ” ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ในเชิงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก และนำมาสู่การขยายขอบเขตข้อเรียกร้องหรือประเด็นการชุมนุมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมทางการเมืองครั้งต่อ ๆ มา ที่ถูกเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทะลุเพดาน” หรือ “ทะลุฝ้า”[33] ที่สถาบันกษัตริย์ถูกกล่าวถึงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยภายหลังการชุมนุม วันที่ 3 สิงหาคม ได้มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม การชุมนุมที่ท้องสนามหลวง วันที่ 19 กันยายน ไปจนถึงการชุมนุมและชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อขบวนเสด็จฯ ในวันที่ 14 ตุลาคม รวมไปถึงการปราศรัยว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ณ สถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม หรือการส่ง “ราษฎร์สาส์น” ถึงพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นต้น ซึ่งการ “ยกระดับ” การเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแล้ว ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม-สนับสนุนรัฐ ที่ได้มีการรวมตัวจัดตั้งและเปิดตัวเพื่อเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในการตอบโต้กับข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เช่น กลุ่มไทยภักดี กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นต้น

อ้างอิง

[1] มอกะเสด – Kased Movement, Facebook, (29 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/KasedMovement/posts/581288152535896. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564.

[2] วาด รวี, 2563. โอลด์รอยัลลิสต์ดาย. กรุงเทพฯ. Shine Publishing House. หน้า 206; วาด รวี ใช้คำว่า “นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 10”, iLaw, “วันนี้เมื่อ 1 ปี 63 – เปิดหน้ากับ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ปราศรัยถึงบทบาทสถาบันกษัตริย์ครั้งแรก,” Facebook, (3 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165722825215551. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564, The Momentum, “อานนท์ นำภา 1 ปี หลังทะลุเพดาน,” Facebook, (3 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2756457371312616/ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564.

[3] ประชาไท Prachatai.com, “ [LIVE] ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,” Facebook, (3 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/Prachatai/videos/775078313239884. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564, นาทีที่ 35.16-35.24.

[4] อ้างแล้ว, นาทีที่ 35.54-35.57.

[5] อ้างแล้ว, นาทีที่ 21.09-21.13, 22,50-22.58, 23.10-23.15, 27.00-27.30., “ชุมนุมธีมแฮรี่พอตเตอร์ ร้องยกเลิก-แก้กฎหมายขยายพระราชอำนาจฯ และฟังเสียงนักศึกษาประชาชน,” ประชาไท, (3 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2020/08/88882. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

[6] ประชาไท Prachatai.com, “ [LIVE] ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,” นาทีที่ 20.58-21.03, 21.41-22.15, 30.09-30.34, 31.10-31.40.

[7] “ไปม็อบ ส่อง pop culture อะไรคือเบื้องหลัง ติดโบว์ขาว-ชูสามนิ้ว?” กรุงเทพธุรกิจ, (19 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/894350. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564.

[8] “สรุป ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ สนับสนุนเยาวชนปลดแอก เรียกร้องสมรสเท่าเทียม,” WorkpointTODAY, (26 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/lgbt-flash-mob/. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564.

[9] จันทร์จิรา สมบัติพูนศิริ, 2558. หัวร่อต่ออำนาจ อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี. กรุงเทพฯ. มติชน.

[10] อ้างแล้ว, หน้า 31, 42-43, 58, 231.

[11] ประชาไท Prachatai.com, “ [LIVE] ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,” นาทีที่ 38.55-40.10.

[12] อ้างแล้ว, นาทีที่ 28.50-29.14.

[13] “ชุมนุมธีมแฮรี่พอตเตอร์ ร้องยกเลิก-แก้กฎหมายขยายพระราชอำนาจฯ และฟังเสียงนักศึกษา-ประชาชน,” ประชาไท.

[14] ประชาไท Prachatai.com, “ [LIVE] ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,” นาทีที่ 34.20-35.15.

[15] อานนท์ นำภา, 2563. สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย. หน้า 3-4.

[16] อ้างแล้ว, หน้า 4.

[17] อ้างแล้ว.

[18] อ้างแล้ว, หน้า 4-7.

[19] อ้างแล้ว, หน้า 9-10.

[20] อ้างแล้ว, หน้า 12.

[21] อานนท์ นำภา, สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย, หน้า 16-18.

[22] อ้างแล้ว, หน้า 15-18.

[23] อ้างแล้ว, หน้า 17-18.

[24] อ้างแล้ว, หน้า 18-21.

[25] อ้างแล้ว, หน้า 22-23.

[26] อ้างแล้ว, หน้า 13-15.

[27] อ้างแล้ว, หน้า 14.

[28] “ชุมนุมธีมแฮรี่พอตเตอร์ ร้องยกเลิก-แก้กฎหมายขยายพระราชอำนาจฯ และฟังเสียงนักศึกษา-ประชาชน,” ประชาไท.

[29] “ประมวลสถานการณ์สองวันของการจับกุม ‘อานนท์’ – 8 ผู้ร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอก,” ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, (21 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://tlhr2014.com/archives/20540. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564.

[30] “เปิดคำฟ้องอัยการคดี ม.112 ‘อานนท์’ ปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว,” ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, (9 กันยายน 2564). เข้าถึงจาก https://tlhr2014.com/archives/34773. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564.

[31] “อัยการยื่นฟ้อง มายด์-พวก 6 คน จัดชุมนุม แฮร์รี่ พอตเตอร์ 3 ส.ค. ศาลให้ประกันโดยสาบาน,” มติชนออนไลน์, (29 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/local/news_2856048. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564.

[32] เมธิชัย เตียวนะ, “1 ปี ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์,” The 101, (3 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.the101.world/harry-potter-mob-03082021/, เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564, “แนวร่วมกลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ โหมโรงใหญ่ก่อนจัดชุมนุม 7 สิงหาคมนี้,” The Standard, (3 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://thestandard.co/1y-anniversary-harry-potter-mob/. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564.

[33] ตัวอย่างการใช้คำว่าทะลุเพดาน ใน “‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’: นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘ขยับเพดาน’,” บีบีซีไทย, (11 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54741254. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564, “Timeline ทะลุฝ้า: ปี 63 ที่เพดานแห่งการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกดันจนทะลุฝ้า,” ประชาไท, (6 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91097. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564.