กลุ่มแดงอิสระ
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความนำ
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถือเป็นเหตุการณ์ที่นำความแตกร้าวมาสู่สังคมเมืองไทยอย่างร้ายแรง ถือเป็นจุดเริ่มต้น (point of departure) ของความสงสัย-ไม่เข้าใจ-ไม่พอใจของ “คนเสื้อแดง” หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภายหลังจากการทำรัฐประหารสำเร็จ และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เข้าบริหารประเทศได้ไม่นาน “กลุ่มเสื้อเหลือง” หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เริ่มเคลื่อนไหวประท้วงต่อเนื่องยาวนานกว่า 193 วัน ด้วยยุทธศาสตร์ยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกันเกิดการฟ้องร้องให้มีการยุบพรรคการเมืองจำนวนหลายพรรค จนสร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองและประชาชนคนเสื้อแดงอย่างมาก[1]
จากสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “สองมาตรฐาน” เป็นความอยุติธรรมทางการเมือง จากนั้นความไม่พอใจเหล่านี้ก็ได้ถูกพัฒนาเป็นวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” เพื่อเป็นจุดยืนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางการเมืองของคนเสื้อแดง กล่าวได้ว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถือเป็นการจุดชนวน “ความเป็นเสื้อแดง” อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทว่าการเลือกปฏิบัติและ “สองมาตรฐาน” ยังคงดำรงอยู่ กอปรกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีจุดยืนที่แตกต่างกันในหลายเรื่องตั้งแต่ต้น ทั้งเรื่องเป้าหมาย วิธีการ และมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมือง ก็ยิ่งขับเน้นให้เกิดความหลากหลายภายใต้กลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” โดยเฉพาะภายหลังการปราบปรามการประท้วงของคนเสื้อแดง ที่เรียกว่า “กระชับพื้นที่” เมื่อเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 [2]
ใครคือคนเสื้อแดง ใครคือกลุ่มแดงอิสระ
ภายหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็แปลงสภาพเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช. หรือ Council of National Security - CNS) และเข้าบริหารประเทศ อันก่อให้เกิดสถานการณ์การบริหารประเทศและบังคับใช้กฎหมายซึ่งเบี่ยงเบนไปจากหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยสากล โดยอาศัยหลักการและมาตรฐานอย่างหนึ่งถูกใช้บังคับกับคนกลุ่มหนึ่ง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ถูกปรับบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดสภาวะที่กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกกันภายหลังว่า “สองมาตรฐาน” แม้คำว่า “สองมาตรฐาน” จะไม่ปรากฏอยู่ในบัญญัติของกฎหมายต่างๆ เท่าที่มีอยู่ แต่จะมีถ้อยคำที่ใกล้เคียงกัน คือ คำว่า “เลือกปฏิบัติ” ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 30 วรรคสาม ที่ได้บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมความเชื่อทางศาสนาการศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” ทั้งนี้ “สองมาตรฐาน” ที่สร้างไม่พอใจให้กับคนเสื้อแดงและใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านก็สื่อความหมายถึงการได้รับการปฏิบัติจากผู้มีอำนาจแตกต่างกันอันเป็นความไม่ถูกต้อง ดังตัวอย่างเช่น
1) กฎหมายฉบับเดียวกันแต่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน กรณีเมื่อสองกลุ่มทางการเมืองประท้วงและเข้าการยึดสถานที่ราชการเหมือนกัน แต่การดำเนินคดีของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มเพียงแค่ออก “หมายเรียก” แต่ขณะอีกกลุ่มอาจมีการออก “หมายจับ”
2) มีการขยายความหรือตีความกฎหมายในแนวทางที่ไม่ชัดเจน เช่น การวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การตีความความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” แบบสองมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ
3) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “หลักกฎหมายห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง” โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรค ได้นำประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ประกาศ ค.ป.ค.) ฉบับที่ 27 มาใช้บังคับเพื่อตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบด้วย ซึ่งการกระทำของกรรมการบริหารพรรคเกิดขึ้นก่อนจะมีการประกาศใช้ประกาศฉบับนี้
“สองมาตรฐาน” ได้กลายเป็นคำสำคัญสำหรับรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้ สภาวะ “สองมาตรฐาน” เกิดจากความรู้สึกว่ากลุ่มของตนเป็นผู้สูญเสียจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และผลพวงของการรัฐประหารอื่นๆ ตลอดจนการถูกดูหมิ่นดูแคลนจากการกลุ่มการเมืองและกลุ่มสังคมอื่น จนกระทั้งเกิดความไม่พอใจและความคับแค้นใจ ผลักดันให้คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องสิทธิที่พวกเขาคิดว่าเป็นของตน แต่ถูกลิดรอนไปนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549[3]
หากนับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสงสัย-ไม่เข้าใจ-ไม่พอใจของ “คนเสื้อแดง” การถูกลิดรอนอำนาจของประชาชนโดยการรัฐประหารก็เปรียบเสมือนการฉวยชิงอำนาจทางการเมืองของประชาชนไป ความไม่พอใจที่นำไปสู่การต่อต้านรัฐประหารในครั้งนั้นก็เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวต่อต้านโดยคนกลุ่มเล็กๆ มีการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวกันเองอย่างอิสระทั้งเป้าหมายและวิธีการ มีความหลากหลายของกลุ่ม แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็นับว่ามีความแตกต่างกันอยู่ในระดับลึก กลุ่มคนเสื้อแดงจึงประกอบไปด้วยกลุ่มที่สนับสนุน พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มที่คัดค้านการรัฐประหารแต่ไม่ได้สนับสนุนพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หรือกลุ่มที่ทั้งคัดค้านการรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มที่เคลื่อนไหวในช่วงนั้น เช่น “กลุ่มเครือข่าย_19_กันยา_ต้านรัฐประหาร” “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” “กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ_2540” “กลุ่มคนจนเมือง” “กลุ่มรักสมาพันธ์ประชาธิปไตย” “นิตยสารสยามปริทัศน์” “พรรคแนวร่วมภาคประชาชน” “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)” “เครือข่ายรามคำแหงรักประชาธิปไตย” “สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่ม” “กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์” “กลุ่มกรรมกรปฏิรูป” “ชมรมคนรักอุดร” “มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย” “สมาพันธ์แนวร่วมประชาธิปไตยอีสาน” “สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า” และ “แนวร่วมประชาชนแห่งประเทศไทย” ฯลฯ ได้ร่วมกันก่อตั้ง “องค์กรร่ม (umbrella organization)” ขึ้นเพื่อต้านรัฐประหาร คือ “แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นตปร.)” ภายใต้ยุทธศาสตร์_“คว่ำ_โค่น_ล้ม”[4] ก่อนที่กลุ่มผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์พีทีวี (PTV) นำโดย นายวีระ มุสิกพงษ์ (ปัจจุบันชื่อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์) นายจตุพร พรหมพันธ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายณัฐวุฒิ ใสยเกี้อ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง จะปรับเปลี่ยนจากการจัดรายการโทรทัศน์มาเป็นการจัดการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งจัดการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มแดงอิสระ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มแดงอิสระจะเป็นการรวมกลุ่มทางการเมืองอย่างหลวมๆ และไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนดังเช่นกลุ่มก้อนการเมืองอื่น แต่กระนั้นก็ตาม จะเห็นว่าได้มีการเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด เช่น การรวมตัวเพื่อต่อต้านและแถลงจุดยืนคัดค้าน “[[ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน]]” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร การเคลื่อนไหวคัดค้านนี้นำโดยนายภูมิใจ ไชยา (ดีเจต้อม) และนายอภิชาติ อินสอน (ดีเจอ้วน) ที่ได้ออกมาชุมนุมที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน นำแผ่นป้ายพร้อมข้อความ อาทิ “หยุดล้างกฎหมายล้างผิด ส.ป.ก. 4-01” “หยุดกฎหมายล้างผิด 309” “ถ้าตอนเขาทำรัฐประหารมึงคัดค้านกันมากขนาดนี้ วันนี้มึงไม่ต้องมาค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมหรอก” เป็นต้น[5] นอกจากนั้น กลุ่มแดงอิสระยังออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้าน กลุ่ม[[คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข]] (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ เมื่อครั้งวิกฤตการเมืองไทยปี 2556 ถึงกลางปี 2557 ดังกรณีที่ นายอภิชาติ อินสอน (ดีเจอ้วน) แกนนำกลุ่มแดงอิสระบุกเวที กปปส. และมีการกระโดดถีบธงชาติที่บริเวณลานหน้าวัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่[6]
ทั้งนี้ สำหรับการเคลื่อนไหวสำคัญของกลุ่มแดงอิสระก่อนการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ การตั้งโต๊ะที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับสมัคร “อาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ” โดยดีเจอ้วนกล่าวว่าการรับสมาชิกในครั้งนี้ตั้งเป้าหมายสมาชิกไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทั้งจากผู้ที่มาสมัครเองและจากการรวบรวมของแกนนำในพื้นที่ ทั้งได้เน้นย้ำว่าอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติมีจุดยืนการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงทุกกลุ่ม[7]
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแดงอิสระนั้น ได้ดำเนินกิจกรรมขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์แล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกับจุดยืนของมวลชนใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดง (นปช.) อยู่บ้างในสาระสำคัญ แต่กระนั้นโดยหลักใหญ่ใจความก็ยังมีจุดมุ่งหมายร่วม คือ การต่อต้านอำนาจนอกระบบ และการรัฐประหารนั่นเอง
ขบวนการเคลื่อนไหว: ความเชื่อมโยงของกลุ่มคนเสื้อแดง
เมื่อพิจารณาถึงการจัดตั้งและขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดง ก็ย่อมเห็นได้ว่ามีทั้งในระดับชาติ เช่น กลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) และกลุ่มเคลื่อนไหวขนาดเล็กจำนวนมากในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ เช่น กลุ่มแดงอิสระเชียงใหม่ กลุ่มแดงอิสระโคราช กลุ่มแดงอิสระปริมณฑล หรือกลุ่มแดงอิสระที่จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ต่างก็มีจุดยืนและเป้าหมายอันแตกต่างกันเป็นของตนเอง บางครั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เป้าหมายของคนเสื้อแดงที่นำโดย นปช. ก็ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องตามเป้าหมายและวิธีการของกลุ่มตน แต่กระนั้นก็ตาม กลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยเหล่านี้ต่างก็มีการเชื่อมโยงต่อประสานงานระหว่างสองระดับและระหว่างกลุ่มในแนวราบ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ กับนักการเมืองและนักกิจกรรมระดับต่างๆ ที่สังกัดหรือเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย โดยบทบาทของแกนนำเสื้อแดงทุกระดับทั้งในระดับใหญ่และระดับย่อย ต่างก็มีบทบาทในการเป็นผู้สร้างอุดมการณ์-วาทกรรม “ความเป็นเสื้อแดง” ในจังหวะก้าวต่าง ๆ เพื่อดึงดูดมวลชนให้เข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง
อ้างอิง
- ↑ ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวชต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ว่า นายสมัคร มีความผิดตาม มาตรา 267 และ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัว เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 180 วรรค 1 (1)) แต่รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 181)
- ↑ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, และนิติ ภวัครพันธุ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่อง ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556), หน้า 47.
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 48.
- ↑ โปรดดูรายละเอียดใน อุเชนทร์ เชียงแสน และยุกติ มุกดาวิจิตร, “กำเนิดพลวัตคนเสื้อแดง,” ใน ชัยธวัช ตุลาธน (บรรณาธิการ), ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) (กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.), 2555).
- ↑ “แดงอิสระ” เชียงใหม่-ลำพูน เล็งยื่นหนังสือท้วง มช. ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม,” ผู้จัดการออนไลน์, (10 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000139959>. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ส่งปูกลับทำเนียบเฉลิมฮึ่มลุยขอคืน5พื้นที่แจงวัฒนะ-ราชดำเนินถ้าเจรจาเหลว-เจอปจ.ม็อบกร้าวไม่ยอมถอยกปปส.เชียงใหม่หนีวุ่นเสื้อแดงยกพลรื้อเวที,” ข่าวสด, (17 กุมภาพันธ์ 2557), 14.
- ↑ “เสื้อแดงเชียงใหม่ตั้งโต๊ะสมัคร อพปช. ตั้งเป้าหลักพัน,” ผู้จัดการออนไลน์, (11 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000027800&Html=1&TabID=3&>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557.
บรรณานุกรม
““แดงอิสระ” เชียงใหม่-ลำพูน เล็งยื่นหนังสือท้วง มช. ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม.” ผู้จัดการออนไลน์. (10 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000139959>. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559.
“ส่งปูกลับทำเนียบเฉลิมฮึ่มลุยขอคืน5พื้นที่แจงวัฒนะ-ราชดำเนินถ้าเจรจาเหลว-เจอปจ.ม็อบกร้าวไม่ยอมถอย กปปส.เชียงใหม่หนีวุ่นเสื้อแดงยกพลรื้อเวที.” ข่าวสด. (17 กุมภาพันธ์ 2557), 14.
เสื้อแดงเชียงใหม่ตั้งโต๊ะสมัคร อพปช. ตั้งเป้าหลักพัน.” ผู้จัดการออนไลน์. (11 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000027800&Html=1&TabID=3&>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557.
อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, และนิติ ภวัครพันธุ์ (2556). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่อง ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. เชียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อุเชนทร์ เชียงแสน และยุกติ มุกดาวิจิตร (2555). “กำเนิดพลวัตคนเสื้อแดง.” ใน ชัยธวัช ตุลาธน (บรรณาธิการ). ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.).
กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูล
ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.).