กาจ กาจสงคราม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลโท กาจ กาจสงคราม

          พลโทหลวงกาจสงคราม หรือพลโทกาจ กาจสงคราม เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายทหาร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2490 หรือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลโทหลวงกาจสงครามมีชื่อเดิมว่า เทียน เก่งระดมยิง เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2433 ที่จังหวัดลำพูน สมรสกับคุณหญิงฟองสมุทร เก่งระดมยิง มีบุตร-ธิดา 7 คน

          หลวงกาจสงครามจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2459 เริ่มรับราชการทหารที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 8 เชียงใหม่ และย้ายไปกรมเสนาธิการทหารบกในพระนครใน พ.ศ. 2471 จากนั้นได้รับยศและบรรดาศักดิ์เป็นร้อยเอกหลวงกาจสงครามใน พ.ศ. 2475

 

เหตุการณ์สำคัญ

          พ.ศ. 2475 หลวงกาจสงครามได้รับการชักชวนจากพันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ให้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลวงกาจฯได้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 จังหวัดพระนคร

          เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่คณะผู้ก่อการฯ โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 วิกฤติการณ์ทางการเมืองได้นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาพระนคร มีหลวงพิบูลสงครามเป็นเลขานุการฝ่ายทหารบกและหลวงศุภชลาศัยเป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ[1] หลวงกาจสงครามได้นำกำลังเข้าร่วมในการรัฐประหารโดยเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำจดหมายของผู้รักษาพระนครไปยื่นต่อมหาอำมาตย์โทพระยา มโนปกรณ์นิติธาดา[2]

          เมื่อเกิดกบฏบวรเดช หลวงกาจสงครามอยู่ในกลุ่มนายทหารรุ่นหนุ่มของคณะราษฎรที่ได้ตัดสินใจทำการสู้รบโดยไม่ประนีประนอมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง[3]หลวงกาจฯได้นำทหารออกปราบปรามและได้รับบาดเจ็บในที่รบ จึงได้รับการปูนบำเหน็จจากคณะราษฎรให้ไปดำรงตำแหน่งเสนาธิการกรมอากาศยานในปี พ.ศ. 2479 ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอกและนายนาวาอากาศเอก ต่อมากรมอากาศยานได้ขยายขึ้นเป็นกองทัพอากาศ หลวงกาจสงครามจึงได้รับตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศคนแรก จากนั้นใน พ.ศ. 2481 ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ด้วยความที่เป็นคนใกล้ชิดหลวงพิบูลสงคราม เมื่อหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 ใน พ.ศ. 2481[4]  ได้แต่งตั้งให้หลวงกาจสงครามเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะด้วย และในสมัยที่ 2 หลวงกาจสงครามได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485[5]  

          เมื่อญี่ปุ่นบุกประเทศไทย หลวงกาจสงครามได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและร่วมด้วยกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการต่อต้านญี่ปุ่นโดยเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจเสรีไทยและเป็นผู้ชักชวนให้นายปรีดีออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ หลวงกาจสงครามร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคสหชีพ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยมาก่อน แต่เมื่อแนวความคิดแตกต่างกันทำให้หลวงกาจสงครามเริ่มถอยห่างออกจากกลุ่มและเริ่มต่อต้านแนวทางประชาธิปไตยของนายปรีดี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่คัดค้านเรื่องการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์[6]

          สภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่_2 นั้นสถานะของนายปรีดีและขบวนการเสรีไทยได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอันมาก สามารถกำจัดบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกจากศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองได้ แต่สภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ประชาชนเดือดร้อนจากการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ทหารบกมีความไม่พอใจรัฐบาลตั้งแต่สงครามโลกสิ้นสุดลง เพราะอำนาจของกองทัพบกลดลง ทหารไม่สามารถเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเพราะข้อห้ามในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ.2489 เช่น สมาชิกพฤตสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ[7]

          นอกจากอำนาจทางการเมืองจะถูกลดลงแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการเสรีไทยกลับได้รับชื่อเสียงและได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ กำลังอาวุธของทหารไม่สามารถสู้อาวุธของเสรีไทยที่มีอาวุธที่ทันสมัยเพราะได้มาในระหว่างดำเนินงานใต้ดินสมัยสงคราม มีการจัดตั้งกรมสารวัตรทหารโดยมีพลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ เสรีไทยคนสำคัญเป็นสารวัตรใหญ่ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะมาแข่งอำนาจของกองทัพบก หลวงกาจสงครามได้กล่าวว่าสิ่งที่ทหารบกไม่สามารถทนได้คือกองทัพบกได้รับการดูหมิ่นดูแคลน โดยแสดงความรู้สึกต่อสภาพของกองทัพบกในครั้งนั้นว่า มีคำสั่งให้ปลดนายทหารออกจากประจำการอย่างฉับพลัน คนทั้งหลายมองดูทหารไทยมองดูนักโทษญี่ปุ่น กองทหารทั้งหลายมีชื่อว่าเป็นกองทหารแค่ในนาม แต่กองทหารไม่มีประโยชน์[8] บางคนเมื่อสดุดีเสรีไทยในหนังสือพิมพ์แล้วยังไม่พอ ได้เหยียดหยามกองทัพบกว่าตั้งมาได้ถึง 50 ปีแล้ว ทำประโยชน์ได้ไม่เท่าเสรีไทยที่ตั้งมาเพียงสองปี[9]

          เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดอภิปรายทั่วไปลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ญัตติในการอภิปราย ได้แก่ รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในตามนโยบายที่แถลงไว้ ดำเนินการทางเศรษฐกิจผิดพลาด ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนานาประเทศ ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำทำให้ข้าราชการขาดกำลังใจในการทำงาน และไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 มาแถลงต่อประชาชนได้  ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชนะในการลงมติ นายกรัฐมนตรีก็ได้ลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งพลเรือตรีถวัลย์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง[10]

          วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เวลา 23.30 น. คณะรัฐประหารนำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยผู้ก่อการรัฐประหารครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการภายใต้การนำของหัวหน้ากลุ่ม ดังนี้ พลโท ผิน ชุณหะวัณ หลวงกาจสงคราม พันโทก้าน จำนงภูมิเวท พันเอกสวัสดิ์_สวัสดิ์เกียรติ โดยหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารพร้อมด้วยพันโทถนอม_กิติขจร นายประพันธ์ ศิรากาญจน์และนักเรียนนายร้อยทหารบก 20 คน ได้รับมอบหมายให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม โดยเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทรที่วังวิทยุ หลังจากกรมขุนชัยนาทฯได้ลงพระนามแล้วหลวงกาจสงครามได้ไปหาพระยามานวราชเสวีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนหนึ่งที่บ้านถนนสาทรแต่ไม่พบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 จึงขาดผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่งลงนาม[11]

          คณะรัฐประหารได้จัดตั้งคณะผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการฯ พลโท ผิน หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นรองผู้บัญชาการฯและหลวงกาจสงครามเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ และเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยทหารรักษาพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง[12]

          วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้หลวงกาจสงครามเป็นผู้ร่างขึ้นโดยมีผู้ที่ร่วมร่าง เช่น พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา พันเอกสุวรรณ เพ็ญจันทร์ เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญทหารบก ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าอัยการศาลพิเศษ รวมทั้งนายเขมชาติ บุญยรัตพันธุ์ นายเลื่อน พงศ์โสภณ ร้อยเอกประเสริฐ สุดบรรทัด และคนอื่นๆ ซึ่งก่อนการรัฐประหาร หลวงกาจสงครามได้ซ่อนร่างรัฐธรรมนูญไว้ใต้ตุ่ม ภายหลังจึงเรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม[13]  รัฐธรรมนูญฉบับนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภาและสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทน โดยสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีวาระ 6 ปีเมื่อครบ 3 ปีให้จับสลากเปลี่ยนออกครึ่งหนี่ง ส่วนสภาผู้แทนมีวาระ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ ถือเกณฑ์ 200,000 คนต่อผู้แทน 1 คน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายควง อภัยวงศ์  เป็นนายกรัฐมนตรี[14]

           วันที่ 15 พฤศจิกายน หลวงกาจสงครามเป็นผู้เปิดเผยว่าได้พบแผนการมหาชนรัฐ ข้อกล่าวหาต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว คือกระทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่มหาชนรัฐและอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ ทำให้รัฐบาลนายควง ออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ให้อำนาจแก่คณะรัฐประหารในการกวาดล้างจับกุมบุคคลที่สงสัยว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การจับกุมตัวบุคคล เช่น พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) นายเฉลียว ปทุมรส นางชอุ่ม ชัยสิทธิเวช นายชิด สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช และ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วยข้อหาเกี่ยวข้องกับกรณีปลงพระชนม์ และจับกุมบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี อีกหลายคนเช่น พันเอกหม่อมราชวงศ์ลาภ หัสดินทร นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายทวี บุณยเกตุ เป็นต้น[15]

           การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตครั้งแรก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกมากที่สุดจึงได้สิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เจ้าพระยาธรรมาธิเบศร์ ประธานรัฐสภาประชุมสมาชิกสองสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  แต่รัฐบาลนายควง บริหารประเทศได้ไม่นานเกิดความขัดแย้งกับคณะรัฐประหารกรณีการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 สร้างความไม่พอใจให้กับคณะรัฐประหาร กระทั่งวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 พันโทก้าน จำนงภูมิเวท และนายทหารอีก 3 คนได้เข้าพบนายควง อภัยวงศ์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ และหลวงกาจสงคราม ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ผู้นำในคณะรัฐประหารประชุมกันแล้วมีมติให้รัฐบาลลาออกภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อนายควงได้รับการยืนยันจากจอมพลผินและหลวงกาจสงครามว่าเป็นความประสงค์ของคณะรัฐประหารจริง นายควง อภัยวงศ์ จึงลาออกในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 มีผู้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าการปฏิวัติเงียบ[16]

           หลวงกาจสงครามดำรงตำหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ระหว่าง พ.ศ.2491-2492[17] ก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หลังจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม บริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง ได้เกิดความขัดแย้งกับหลวงกาจสงครามซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก หลวงกาจสงครามวางแผนเตรียมการยึดอำนาจแต่ถูกจับกุมตัวเสียก่อนโดยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หลวงกาจสงครามถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศและลี้ภัยไปอยู่ฮ่องกงเป็นเวลา 18 เดือน จึงกลับประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2494 โดย พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้รับรองและจากนั้นมาหลวงกาจสงครามก็ไม่ได้มีบทบาททั้งทางทหารและทางการเมืองอย่างใดอีก[18]  

          หลวงกาจสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510

 

หนังสือแนะนำ

กาจ การสงคราม (พลโท).(2492).'เรื่องกำลังและอำนาจของประเทศชาติ'. พระนคร : โรงพิมพ์วัฐภักดี.

สุชิน ตันติกุล, (2557), รัฐประหาร 2490, นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชน.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, (2553), แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500)'พิมพ์ครั้งที่ '3, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.

 

บรรณานุกรม

กองทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บังคับบัญชา, เข้าถึงจาก http://www.army1.rta.mi.th/hitory/commanAA1/indexAA.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540).หน้า 280.

นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 143.

สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 89.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 81-82.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประวัติคณะรัฐมนตรี คณะที่ 10, เข้าถึงจาก https://www.soc.go.th/cab_09.htm เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559. 

โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551) หน้า 162-163.

 

อ้างอิง

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 143.

[2] สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 89.

[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540).หน้า 280.

[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 81-82.

[5] [5] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประวัติคณะรัฐมนตรี คณะที่ 10, เข้าถึงจาก https://www.soc.go.th/cab_09.htm เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559. 

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 83.

[7] สุชิน ตันติกุล, หน้า 72.

[8] สุชิน ตันติกุล, หน้า 69-70.

[9] สุชิน ตันติกุล, หน้า 74.

[10] สุชิน ตันติกุล, หน้า 75.

[11] สุชิน ตันติกุล, หน้า 98.

[12] สุชิน ตันติกุล, หน้า 106.

[13] สุชิน ตันติกุล, หน้า 112.

[14] โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551) หน้า 162-163.

[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 114-119.

[16] โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, หน้า 164-166.

[17] กองทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บังคับบัญชา, เข้าถึงจาก http://www.army1.rta.mi.th/hitory/commanAA1/indexAA.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559.

[18] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 146-153.