ประเสริฐ สุดบรรทัด
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประเสริฐ สุดบรรทัด : ผู้ไม่ยอมให้ตำรวจจับสมาชิกกลางสภา
การปฏิบัติทางการเมืองที่ได้ทำกันสืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานนั้น ล้วนแต่มีที่มาและที่ไป ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อปี 2491 ตอนนั้น คนในคณะรัฐประหารมีอำนาจมาก ตัวนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม วันหนึ่งตำรวจได้ยกโขยงกันไปที่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นก็คือพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อจะจับสมาชิกสภากันที่กลางสภาเลยทีเดียว วันเวลาขออ้างบันทึกของท่านเลขาธิการเก่าของสภาฯคือคุณ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ท่านเขียนไว้ดังนี้
“วันที่ '11 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 21 น. ซึ่งขณะนั้นสภากำลังประชุมเรื่องตามระเบียบวาระอยู่ ได้มีนายตำรวจชั้นนายพล นายพัน นายร้อย หลายนายมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของสภาว่าได้รับคำสั่งจากอธิบดีให้มารอรับคำสั่งที่สภา”
คนที่จะถูกจับ คือ พันโท พโยม จุฬานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ตอนนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ชื่อเกษม บุญศรี ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ และรองประธานสภาฯก็คือ ร.อ. ประเสริฐ สุดบรรทัด ผู้แทนฯ จังหวัดสระบุรี เมื่อคุณประเสริฐทราบเรื่องจากเลขาธิการสภา ท่านจึงได้หารือกับประธานสภา จากนั้นท่านจึงลงจากบัลลังค์มาพบกับอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งว่ากันว่ามีอำนาจมากกว่ารัฐมนตรี และมาอยู่ในสภาฯ แล้ว ท่านรองฯ ประเสริฐได้พยายามพูดจาให้ทางท่านอธิบดีเข้าใจถึงเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าตำรวจมาจับโดยไม่ขอต่อสภาฯ ก็จะขัดรัฐธรรมนูญ และสภาฯ ก็จะเสียหาย เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะเสียหายมากด้วย เพราะเรื่องเกิดกลางสภาฯ มีผู้คนได้รู้ได้เห็นกันมาก ไม่มีทางจะปิดให้เงียบได้
ครั้งนั้นรองประธานสภาฯ ร.อ.ประเสริฐ เจรจาได้สำเร็จ อธิบดี เผ่า ศรียานนท์ ยอมรับฟังเหตุผล ถอนกำลังตำรวจออกไปจากสภาฯ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีคนรู้จัก ร.อ.ประเสริฐ ว่าเป็นมากกว่าผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี คือ เป็นผู้นำของอำนาจนิติบัญญัติที่กล้าคานอำนาจของอธิบดีตำรวจได้ และช่วยผดุงรักษาเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกสภาฯจากการจับกุมของอำนาจบริหารได้ และทำให้ต่อมาอีกสองสัปดาห์รัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องมาตอบกระทู้ของผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง นายก่อเกียรติในเรื่องนี้และยอมรับว่าจะไปดูแลไม่ให้มีเหตุเช่นนี้อีก ดังนั้นเรามาดูชีวิตและเส้นทางการเมืองของอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้นี้กันบ้าง
ประเสริฐ สุดบรรทัด เป็นคนกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2449 ที่ตำบลอุทัย อำเภออุทัย มีบิดาชื่อ ผ่อง มารดาชื่อ บ่วง การศึกษาเบื้องต้นของท่านนั้นอยู่กับวัด เคยบวชเป็นเณรอยู่ที่วัดขุนทรายประมาณได้ 4 ปี จนอายุได้ 16 ปีแล้วจึงเข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงได้บวชเป็นพระอยู่ถึง 3 พรรษา ระหว่างที่บวชเป็นพระก็ได้เรียนและสอบจนได้นักธรรมโท จากนั้นจึงออกไปเรียนโรงเรียนนายดาบ “รุ่นปี 2473” เรียนจบออกมารับราชการทหารไปประจำอยู่ที่จังหวัดลำปาง การที่ได้ไปเป็นทหารอยู่ที่เมืองเหนือนี่เองจึงได้พบและสมรสกับ น.ส.พูนศรี เนตรงาม ที่เป็นคนงามเมืองลำพูน
หลังปลดประจำการจากทหารในปี 2475 ประเสริฐ ได้ลงมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองหลวง มาเปิดโรงเรียนราษฎร์ชื่อประเสริฐวิทยาขึ้นในปีเดียวกันที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย และได้เข้าเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น เคยเป็นทั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพ และสมาชิกสภาจังหวัดพระนคร ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ท่านได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ แต่ยังเรียนไม่ทันจบก็ถูกเรียกตัวกลับเข้าเป็นทหารอีกครั้งเพื่อไปรบในสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพา ดังนั้นท่านจึงได้รับการเลื่อนยศทางทหารมาตามลำดับ จากนายร้อยตรีจนได้เป็นนายร้อยเอก ในปี 2487 แต่ที่สำคัญต่อชีวิตการเมืองของท่านในเวลาต่อมาก็คือในปีถัดมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2488 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี อันเป็นจังหวัดที่ท่านได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 และท่านก็ชนะได้เป็นผู้แทนฯ เข้าสภาฯ สมใจและได้เป็นเลขานุการรัฐมนนรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านเป็นผู้แทนฯ อยู่จนถึงปลายปี 2490 มีรัฐประหารล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านจึงพ้นตำแหน่งไปด้วย ครั้นมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ตอนต้นปี 2491 ท่านก็ลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดสระบุรี และก็ชนะเลือกตั้ง คราวนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกท่านให้เป็นรองประธานสภาฯ และท่านก็ได้สร้างชื่อเสียงว่ากล้าห้ามทัพตำรวจไม่ให้จับสมาชิกกลางสภาได้ดังที่กล่าวมา ท่านทำงานการเมืองรุ่งเรืองดี จึงได้ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงคมนาคม และในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2492 ครั้นถึงวันที่ 16 มกราคม ปี 2493 ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลชุดนี้มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ช่วงที่เป็นรัฐมนตรีนี่เองที่ท่านได้มีเรื่องขัดใจกับนายทหารรุ่นน้องที่เป็นบุตรเขยของจอมพล ผิน ชุณห-วัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร คือพันเอก ประมาณ อดิเรกสาร คุณประเสริฐนั้นตอนออกมาจากทหารท่านมียศเป็นพันโท ขัดใจกันถึงขนาดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2495 คุณประมาณได้ไปสมัครผู้แทนฯที่จังหวัดสระบุรีแข่งกันเลยทีเดียว และคุณประเสริฐได้แพ้เลือกตั้งแก่คุณประมาณ จึงพ้นจากวงการเมืองไปถึง 15 ปี ท่านกลับมาใหม่โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2511 สมัยจอมพล ถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี และในการเลือกตั้งปี 2512 ท่านได้ส่งภรรยาคือคุณพูนศรี สุดบรรทัด ลงแข่งขันที่จังหวัดสระบุรี และคุณพูนศรีก็สามารถชนะเอาที่นั่งคืนมาได้ คุณประเสริฐกลับมาลงเลือกตั้งเองอีกครั้งในปี 2518 และก็ชนะได้เข้าสภาฯ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 การเมืองยังวุ่นวาย แต่ท่านอยู่นอกวงการเมืองแล้ว
พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2523