พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เจ้าคุณลัดพลีฯ : หนึ่งในผู้ตัดสินคดีอาชญากรสงคราม
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีคดีดังที่การตัดสินของศาลได้เป็นบรรทัดฐานอันสำคัญและเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมืองพอสมควร คดีนั้นเรียกกันว่าคดีอาชญากรสงคราม จำเลยสำคัญ คือ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยสงครามที่ชื่อหลวงพิบูลสงคราม คดีนี้เริ่มขึ้นตอนปลายปี 2488 จำเลยหลายคนถูกจับกุมคุมขัง เพื่อเอามาดำเนินคดีและมีการตัดสินต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2489 ดังมีคำพิพากษาว่า
“ศาลนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 14 และเป็นโมฆะ ตามมาตรา 61 ดังความพิสดารที่ศาลได้บรรยายไว้...จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทย์เสีย ปล่อยจำเลยทั้งสามพ้นข้อหาไป'”
หนึ่งในคณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินคดีดังคดีนี้ คือ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ประธานศาลฎีกาในวันนั้น ท่านผู้นี้ต่อมาได้มีบทบาทและตำแหน่งทั้งทางการเมืองและการศึกษา คือ ได้เป็นทั้งรัฐมนตรีและคณบดีคณะนิติศาสตร์
พระยาลัดพลีฯ มีชื่อเดิมว่า วงศ์ เป็นคนจังหวัดพระประแดง เกิดที่ตำบลเมือง อำเภอเมือง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2436 จังหวัดนี้ในวันนี้เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ ท่านมีบิดาชื่อ หลวงประจักษ์สมุทรเขตร์ (จัมปา) มารดาชื่อ เขียน การศึกษาเบื้องต้นนั้นท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนสุนทรสมุทรตั้งแต่ปี 2442 ถึง 2448 จากนั้นจึงเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยจนจบการศึกษาชั้นมัธยมสามัญ และมัธยมพิเศษ ในปี 2542 แล้วจึงไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ที่พระนครเมื่อปี 2454 ก่อนที่จะต่อไปที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ที่จังหวัดนนทบุรี ครั้นถึงปี 2456 ท่านได้ทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ โดยได้เข้าเรียนที่สำนักกฎหมายเกรย์อินน์จนจบได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษในปี 2459 จากนั้นก็เดินทางกลับไทย เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในปีถัดมา การรับราชการของท่านก็เจริญก้าวหน้าด้วยดี เพราะในปี 2461 ท่านก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอินทปัญญา ทำงานต่อมาอีก 4 ปีก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ในชื่อเดิมเป็นคุณพระ จากนั้นอีก 6 ปี ในปี 2471 ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ มนูสัมบันยุติคดี ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนชีวิตสมรสภรรยาของท่าน คือ คุณทิพวรรณ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาบันตุลาการถูกกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ถึงสมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พระยาลัดพลีฯ เป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ หลวงธำรงฯ ได้ไปขอให้ท่านมาเป็นปลัดกระทรวงสำเร็จเพราะมีตำแหน่งว่าง ท่านจึงย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ครั้นถึงปี 2484 ตำแหน่งประธานศาลฎีกาว่างลง ท่านก็ได้กลับมาเป็นประธานศาลฎีกา และเป็นอยู่นานถึง 12 ปี คือถึงปี 2496 โดยก่อนหน้าที่จะพ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา ท่านยังไปเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2495 อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในเดือนมีนาคมของปีนั้น หลวงพิบูลฯ ผู้เป็นนายกฯได้เข้าไปเป็นอธิการบดีแล้ว
ระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกานั้นเป็นเวลาที่เมืองไทยได้เริ่มเข้าพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 และต่อมาไทยก็ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯในวันที่ 25 มกราคม ปีถัดมา ดังนั้นท่านจึงเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ในช่วงเวลาที่หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2487 หลวงพิบูลฯ จึงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะแพ้เสียงในสภาฯ ต่อมาหลวงพิบูลฯ กับพวกก็โดนจับมาดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม คดีอาชญากรสงครามนี้ศาลได้ยกฟ้องดังเหตุผลที่ได้นำเสนอมาแล้วในตอนต้น
หลวงพิบูลฯ หมดอำนาจจนต้องคดีไปขึ้นศาลในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม แต่ก็พ้นอันตรายมาได้โดยไม่ต้องโทษแต่อย่างใด และเพียง 3 ปีถัดมา เมื่อมีการรัฐประหารปี 2490 ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไปแล้ว และต่อมายังจี้รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งร่วมมือกับคณะรัฐประหารออกไปแล้ว หลวงพิบูลฯ จึงได้ฟื้นคืนชีพทางการเมืองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งตั้งแต่ปี 2491 ครั้นถึงปี 2496 พระยาลัดพลีฯ ท่านจึงได้ลาออกจากประธานศาลฎีกา เพื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายกฯ หลวงพิบูลสงคราม ก่อนหน้านี้สมัยหลวงธำรงฯ เป็นนายกฯ ได้เคยเชิญท่านมาร่วมรัฐบาลครั้งหนึ่งเหมือนกันแต่ไม่สำเร็จ ดังที่หลวงธำรงฯ เขียนเล่าเอาไว้
“ข้าพเจ้าเคยทาบทามเจ้าคุณลัดพลีฯ หลายครั้ง เพื่อขอให้ท่านดำรงตำแหน่งดังกล่าว ท่านเจ้าคุณลัดพลีฯ พูดกับข้าพเจ้าว่า ...การเมืองเล่นกันลำหักลำโค่นเหลือเกิน ท่านขอตัวที่จะไม่เข้าเกี่ยวข้องด้วย”
ขนาดนายกฯ หลวงธำรงฯที่เคยเป็นศิษย์ขอเชิญก็ไม่สำเร็จ แต่นายกฯ หลวงพิบูลฯ ชวนได้สำเร็จ แสดงว่าท่านชอบหลวงพิบูลฯ มาก และท่านก็อยู่ร่วมรัฐบาลจนมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังเข้าเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล และลงเลือกตั้งในนามพรรคที่พระนคร ร่วมคณะที่มีนายกฯ เป็นหัวหน้าและท่านก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร และได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของนายกฯ หลวงพิบูลฯ แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากประท้วงว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก จนนำไปสู่การยึดอำนาจล้มรัฐบาลในวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน เจ้าคุณลัดพลีฯจึงพ้นจากวงการเมือง
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ได้มีชีวิตต่อมาอีกกว่าสิบปี จึงถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 19 เมษายน ปี 2511