กาจ กาจสงคราม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลโท กาจ กาจสงคราม

          พลโทหลวงกาจสงคราม หรือพลโทกาจ กาจสงคราม เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายทหาร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร 8_พฤศจิกายน_พ.ศ.2490 เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_(ฉบับชั่วคราว)_พุทธศักราช_2490 หรือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลโทหลวงกาจสงครามมีชื่อเดิมว่า เทียน_เก่งระดมยิง เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2433 ที่จังหวัดลำพูน สมรสกับคุณหญิงฟองสมุทร เก่งระดมยิง มีบุตร-ธิดา 7 คน

          หลวงกาจสงครามจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2459 เริ่มรับราชการทหารที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 8 เชียงใหม่ และย้ายไปกรมเสนาธิการทหารบกในพระนครใน พ.ศ. 2471 จากนั้นได้รับยศและบรรดาศักดิ์เป็นร้อยเอกหลวงกาจสงครามใน พ.ศ. 2475

 

เหตุการณ์สำคัญ

          พ.ศ. 2475 หลวงกาจสงครามได้รับการชักชวนจากพันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล_ป.พิบูลสงคราม) ให้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง_พ.ศ._2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลวงกาจฯได้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 จังหวัดพระนคร

          เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่คณะผู้ก่อการฯ โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 วิกฤติการณ์ทางการเมืองได้นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาพระนคร มีหลวงพิบูลสงครามเป็นเลขานุการฝ่ายทหารบกและหลวงศุภชลาศัยเป็นเลขานุการฝ่ายทหารเรือ[1] หลวงกาจสงครามได้นำกำลังเข้าร่วมในการรัฐประหารโดยเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำจดหมายของผู้รักษาพระนครไปยื่นต่อมหาอำมาตย์โทพระยา มโนปกรณ์นิติธาดา[2]

          เมื่อเกิดกบฏบวรเดช หลวงกาจสงครามอยู่ในกลุ่มนายทหารรุ่นหนุ่มของคณะราษฎรที่ได้ตัดสินใจทำการสู้รบโดยไม่ประนีประนอมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง[3]หลวงกาจฯได้นำทหารออกปราบปรามและได้รับบาดเจ็บในที่รบ จึงได้รับการปูนบำเหน็จจากคณะราษฎรให้ไปดำรงตำแหน่งเสนาธิการกรมอากาศยานในปี พ.ศ. 2479 ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอกและนายนาวาอากาศเอก ต่อมากรมอากาศยานได้ขยายขึ้นเป็นกองทัพอากาศ หลวงกาจสงครามจึงได้รับตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศคนแรก จากนั้นใน พ.ศ. 2481 ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ด้วยความที่เป็นคนใกล้ชิดหลวงพิบูลสงคราม เมื่อหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 ใน พ.ศ. 2481[4]  ได้แต่งตั้งให้หลวงกาจสงครามเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะด้วย และในสมัยที่ 2 หลวงกาจสงครามได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485[5]  

          เมื่อญี่ปุ่นบุกประเทศไทย หลวงกาจสงครามได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและร่วมด้วยกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการต่อต้านญี่ปุ่นโดยเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจเสรีไทยและเป็นผู้ชักชวนให้นายปรีดีออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ หลวงกาจสงครามร่วมกับนายปรีดี_พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคสหชีพ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยมาก่อน แต่เมื่อแนวความคิดแตกต่างกันทำให้หลวงกาจสงครามเริ่มถอยห่างออกจากกลุ่มและเริ่มต่อต้านแนวทางประชาธิปไตยของนายปรีดี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่คัดค้านเรื่องการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์[6]

          สภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่_2 นั้นสถานะของนายปรีดีและขบวนการเสรีไทยได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอันมาก สามารถกำจัดบทบาทของจอมพล ป.พิบูลสงครามออกจากศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองได้ แต่สภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ประชาชนเดือดร้อนจากการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ทหารบกมีความไม่พอใจรัฐบาลตั้งแต่สงครามโลกสิ้นสุดลง เพราะอำนาจของกองทัพบกลดลง ทหารไม่สามารถเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเพราะข้อห้ามในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ.2489 เช่น สมาชิกพฤตสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ[7]

          นอกจากอำนาจทางการเมืองจะถูกลดลงแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการเสรีไทยกลับได้รับชื่อเสียงและได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ กำลังอาวุธของทหารไม่สามารถสู้อาวุธของเสรีไทยที่มีอาวุธที่ทันสมัยเพราะได้มาในระหว่างดำเนินงานใต้ดินสมัยสงคราม มีการจัดตั้งกรมสารวัตรทหารโดยมีพลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ เสรีไทยคนสำคัญเป็นสารวัตรใหญ่ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะมาแข่งอำนาจของกองทัพบก หลวงกาจสงครามได้กล่าวว่าสิ่งที่ทหารบกไม่สามารถทนได้คือกองทัพบกได้รับการดูหมิ่นดูแคลน โดยแสดงความรู้สึกต่อสภาพของกองทัพบกในครั้งนั้นว่า มีคำสั่งให้ปลดนายทหารออกจากประจำการอย่างฉับพลัน คนทั้งหลายมองดูทหารไทยมองดูนักโทษญี่ปุ่น กองทหารทั้งหลายมีชื่อว่าเป็นกองทหารแค่ในนาม แต่กองทหารไม่มีประโยชน์[8] บางคนเมื่อสดุดีเสรีไทยในหนังสือพิมพ์แล้วยังไม่พอ ได้เหยียดหยามกองทัพบกว่าตั้งมาได้ถึง 50 ปีแล้ว ทำประโยชน์ได้ไม่เท่าเสรีไทยที่ตั้งมาเพียงสองปี[9]

          เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดอภิปรายทั่วไปลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดพลเรือตรีถวัลย์_ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ญัตติในการอภิปราย ได้แก่ รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในตามนโยบายที่แถลงไว้ ดำเนินการทางเศรษฐกิจผิดพลาด ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนานาประเทศ ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำทำให้ข้าราชการขาดกำลังใจในการทำงาน และไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่_8 มาแถลงต่อประชาชนได้  ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชนะในการลงมติ นายกรัฐมนตรีก็ได้ลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งพลเรือตรีถวัลย์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง[10]

          วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เวลา 23.30 น. คณะรัฐประหารนำโดยพลโท ผิน_ชุณหะวัณได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยผู้ก่อการรัฐประหารครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการภายใต้การนำของหัวหน้ากลุ่ม ดังนี้ พลโท ผิน ชุณหะวัณ หลวงกาจสงคราม พันโทก้าน_จำนงภูมิเวท พันเอกสวัสดิ์_สวัสดิ์เกียรติ โดยหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารพร้อมด้วยพันโทถนอม_กิติขจร นายประพันธ์_ศิรากาญจน์และนักเรียนนายร้อยทหารบก 20 คน ได้รับมอบหมายให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไปให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม โดยเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทรที่วังวิทยุ หลังจากกรมขุนชัยนาทฯได้ลงพระนามแล้วหลวงกาจสงครามได้ไปหาพระยามานวราชเสวีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนหนึ่งที่บ้านถนนสาทรแต่ไม่พบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 จึงขาดผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่งลงนาม[11]

          คณะรัฐประหารได้จัดตั้งคณะผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการฯ พลโท ผิน หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นรองผู้บัญชาการฯและหลวงกาจสงครามเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ และเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยทหารรักษาพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง[12]

          วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้หลวงกาจสงครามเป็นผู้ร่างขึ้นโดยมีผู้ที่ร่วมร่าง เช่น พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา พันเอกสุวรรณ_เพ็ญจันทร์ เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญทหารบก ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าอัยการศาลพิเศษ รวมทั้งนายเขมชาติ_บุญยรัตพันธุ์ นายเลื่อน_พงศ์โสภณ ร้อยเอกประเสริฐ_สุดบรรทัด และคนอื่นๆ ซึ่งก่อนการรัฐประหาร หลวงกาจสงครามได้ซ่อนร่างรัฐธรรมนูญไว้ใต้ตุ่ม ภายหลังจึงเรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม[13]  รัฐธรรมนูญฉบับนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภาและสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทน โดยสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีวาระ 6 ปีเมื่อครบ 3 ปีให้จับสลากเปลี่ยนออกครึ่งหนี่ง ส่วนสภาผู้แทนมีวาระ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ ถือเกณฑ์ 200,000 คนต่อผู้แทน 1 คน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายควง_อภัยวงศ์  เป็นนายกรัฐมนตรี[14]

           วันที่ 15 พฤศจิกายน หลวงกาจสงครามเป็นผู้เปิดเผยว่าได้พบแผนการมหาชนรัฐ ข้อกล่าวหาต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว คือกระทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่มหาชนรัฐและอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ ทำให้รัฐบาลนายควง ออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ให้อำนาจแก่คณะรัฐประหารในการกวาดล้างจับกุมบุคคลที่สงสัยว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การจับกุมตัวบุคคล เช่น พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด_วัชโรทัย) นายเฉลียว ปทุมรส นางชอุ่ม ชัยสิทธิเวช นายชิด_สิงหเสนี และ นายบุศย์_ปัทมศริน เรือเอกวัชรชัย_ชัยสิทธิเวช และ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วยข้อหาเกี่ยวข้องกับกรณีปลงพระชนม์ และจับกุมบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี อีกหลายคนเช่น พันเอกหม่อมราชวงศ์ลาภ หัสดินทร นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายทวี บุณยเกตุ เป็นต้น[15]

           การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตครั้งแรก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกมากที่สุดจึงได้สิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เจ้าพระยาธรรมาธิเบศร์ ประธานรัฐสภาประชุมสมาชิกสองสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  แต่รัฐบาลนายควง บริหารประเทศได้ไม่นานเกิดความขัดแย้งกับคณะรัฐประหารกรณีการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 สร้างความไม่พอใจให้กับคณะรัฐประหาร กระทั่งวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 พันโทก้าน จำนงภูมิเวท และนายทหารอีก 3 คนได้เข้าพบนายควง อภัยวงศ์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ และหลวงกาจสงคราม ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ผู้นำในคณะรัฐประหารประชุมกันแล้วมีมติให้รัฐบาลลาออกภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อนายควงได้รับการยืนยันจากจอมพลผินและหลวงกาจสงครามว่าเป็นความประสงค์ของคณะรัฐประหารจริง นายควง อภัยวงศ์ จึงลาออกในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 มีผู้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าการปฏิวัติเงียบ[16]

           หลวงกาจสงครามดำรงตำหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ระหว่าง พ.ศ.2491-2492[17] ก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หลังจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม บริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง ได้เกิดความขัดแย้งกับหลวงกาจสงครามซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก หลวงกาจสงครามวางแผนเตรียมการยึดอำนาจแต่ถูกจับกุมตัวเสียก่อนโดยพล.ต.อ.เผ่า_ศรียานนท์ หลวงกาจสงครามถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศและลี้ภัยไปอยู่ฮ่องกงเป็นเวลา 18 เดือน จึงกลับประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2494 โดย พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้รับรองและจากนั้นมาหลวงกาจสงครามก็ไม่ได้มีบทบาททั้งทางทหารและทางการเมืองอย่างใดอีก[18]  

          หลวงกาจสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510

 

หนังสือแนะนำ

กาจ การสงคราม (พลโท).(2492).'เรื่องกำลังและอำนาจของประเทศชาติ'. พระนคร : โรงพิมพ์วัฐภักดี.

สุชิน ตันติกุล, (2557), รัฐประหาร 2490, นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชน.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, (2553), แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500)'พิมพ์ครั้งที่ '3, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.

 

บรรณานุกรม

กองทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บังคับบัญชา, เข้าถึงจาก http://www.army1.rta.mi.th/hitory/commanAA1/indexAA.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540).หน้า 280.

นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 143.

สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 89.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 81-82.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประวัติคณะรัฐมนตรี คณะที่ 10, เข้าถึงจาก https://www.soc.go.th/cab_09.htm เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559. 

โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551) หน้า 162-163.

 

อ้างอิง

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 143.

[2] สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 89.

[3] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540).หน้า 280.

[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 81-82.

[5] [5] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประวัติคณะรัฐมนตรี คณะที่ 10, เข้าถึงจาก https://www.soc.go.th/cab_09.htm เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559. 

[6] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 83.

[7] สุชิน ตันติกุล, หน้า 72.

[8] สุชิน ตันติกุล, หน้า 69-70.

[9] สุชิน ตันติกุล, หน้า 74.

[10] สุชิน ตันติกุล, หน้า 75.

[11] สุชิน ตันติกุล, หน้า 98.

[12] สุชิน ตันติกุล, หน้า 106.

[13] สุชิน ตันติกุล, หน้า 112.

[14] โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, ล้มรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจเผด็จการทางการเมือง, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ทองกมล, 2551) หน้า 162-163.

[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 114-119.

[16] โสภณ เพชรสว่าง และ ทนงศักดิ์  ม่วงมณี, หน้า 164-166.

[17] กองทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บังคับบัญชา, เข้าถึงจาก http://www.army1.rta.mi.th/hitory/commanAA1/indexAA.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559.

[18] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, หน้า 146-153.