19 กันยายน พ.ศ. 2549

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:11, 16 ตุลาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นวันที่คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ดังปรากฏในแถลงการณ์ของคณะผู้ยึดอำนาจว่า

“...การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้ม นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมืองไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน...”

การยึดอำนาจในครั้งนี้ทำให้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540” สิ้นสุดลงตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 หลังจากนั้นมาระยะเวลาหนึ่งทางคณะปฏิรูปฯ ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นกติกาในการปกครองประเทศและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 จึงได้ดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน ให้จัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลา 180 วัน ซึ่งการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็เสร็จได้ภายในระยะเวลากำหนดและได้นำเสนอขอประชามติของประชาชน ซึ่งประชามติของประชาชนในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ก็ได้เห็นชอบ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งผลการเลือกตั้งถือว่าเป็นการตัดสินใจของประชาชน และนำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ของพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองในการเลือกตั้งผู้ปกครองแล้ว และมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบก็หาได้ลดลงไม่ และแม้ต่อมาจะมีนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช อีก 2 คน ความขัดแย้งในสังคมก็มิได้ลดลง หากแต่ได้ทวีความรุนแรง เกิดการประท้วงใหญ่ มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการใช้ความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก และมีการเผาสถานที่สำคัญเกิดขึ้นด้วยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะมีการยุบสภา มีการเลือกตั้งทั่วไปอีก ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในสังคมก็ยังมีอยู่ยังไม่มีทางออกที่ดีที่จะให้ผู้ที่มีความเห็นต่างและขัดแย้งกันตกลงกันได้เลย