การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 7 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500

การเลือกตั้งครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทย เพราะปรากฏว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนทั่วไปจนถึงกับมีการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งเป็นผลให้เกิดความยุ่งยากทางการเมืองเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็ได้มีการรัฐประหารเป็นผลให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากตำแหน่งไป

เท่าที่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยนั้น การเลือกตั้งครั้งที่ 1 เป็นการเลือกตั้งโดยทางอ้อมซึ่งมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกนั้นเป็นการเลือกตั้งทางตรง การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 5 เป็นการเลือกตั้งโดยวิธีแบ่งเขต แต่ละเขตให้เลือกผู้แทนราษฎรได้เพียงหนึ่งคน การเลือกตั้งครั้งที่ 6 ถึงครั้งที่ 8 เป็นการเลือกตั้งวิธีรวมเขต คือ ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ดังนั้น ในบางจังหวัดจึงเลือกผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2500 ซึ่งกระทำในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ .ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งโดยวิธีรวมเขตเช่นเดียวกับการเลือกตั้งโดยวิธีรวมเขตเช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่ 6 ถึงครั้งที่ 8

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้มีสัญชาติไทยคนใดมีบิดาเป็นคนต่างด้าว จะต้องเป็นผู้มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 6 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและต้องมีคุณสมบัติทั่วไปคือ ได้รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารร เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาลหรือครูประชาบาล โดยมีเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ถ้าเป็นบุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติ ต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวมาข้างต้น และได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับแต่ได้แปลงชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

สำหรับบุคคลซึ่งถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบด้วย บุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ บุคคลหูหนวกทั้งสองข้างและเป็นใบ้ ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยได้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ในกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งทุกประการ แต่ต้องไม่ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 16 กล่าวคือ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ บุคคลผู้ล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นคดี บุคคลผู้เป็นโรคเรื้อน วัณโรคระยะอันตราย หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ถูกจำคุก หรือเคยถูกจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และพ้นโทษไปถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบสิบปี หรือผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป ทั้งนี้เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ข้าราชการซึ่งถูกไล่ออก หรือปลดออกจากตำแหน่งเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยมิได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จ หรือบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันที่ออกจากตำแหน่งถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบห้าปี

นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามมิให้ข้าราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาลลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลต่อไปนี้ คือ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกเทศมนตรี หรือเทศมนตรี บุคคลซึ่งได้ออกจากตำแหน่งเกินกว่าหกเดือนในวันสมัครรับเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หรือในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างให้สมัครรับเลือกตั้งได้ เมื่อได้ออกจากตำแหน่งก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้จำต้องรับราชการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งมิใช่ทหาร หรือตำรวจที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร

สำหรับข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนมีสิทธิแต่งตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนพรรค หรือผู้แทนผู้สมัคร ประจำอยู่ ณ ที่ซึ่งจัดไว้ในที่เลือกตั้งได้แห่งละหนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่สอดส่องให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยความเรียบร้อยและยุติธรรม โดยผู้แทนพรรคการเมืองหรือผู้แทนผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิทักท้วงการเลือกตั้งได้ เมื่อเห็นว่ากรรมการตรวจนับคะแนนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยยื่นคำทักท้วงเป็นหนังสือต่อประธานกรรมการตรวจนับคะแนน

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวน 23 พรรค ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคเศรษฐกร พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคกรรมกร พรรคชาวนา พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคสงเคราะห์อาชีพและการกุศล พรรคชาตินิยม พรรคสหภราดร พรรคสังคมนิยม พรรคไฮด์ปาร์ค พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคหนุ่มไทย พรรคสหพันธเกษตรกร พรรค[[ราษฎร พรรคคนดี พรรคอิสระ พรรคประชาชน พรรคศรีอริยเมตไตย พรรคไทยมุสลิม และพรรคสยามประเทศ]]


ผลการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคซึ่งได้จัดตั้งขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นาน ต่างส่งสมาชิกของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขันในแทบทุกจังหวัด ข้อมูลจากกระทรวงหมาดไทยแสดงให้เห็นว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นี้ มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 5,667,321 คน จากจำนวนพลเมืองทั้งหมด 22,811,701 คน และเป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองมีบทบาทเป็นอย่างมากในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายของตนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนเกิดความนิยมในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ จะนำเสนอนโยบายของตนเองแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง แต่ผลการเลือกตั้งกลับปรากฏว่า มีเพียงพรรคเสรีมนังคศิลาและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุด

ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ แม้จะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบ้าง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก กล่าวคือ จากจำนวนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครของตนลงแข่งขันทั้งหมดประมาณ 23 พรรค มีเพียง 8 พรรคเท่านั้นที่สมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้ง ในจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 160 คน มีสมาชิกของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับเลือกตั้งดังนี้ พรรคเสรีมนังคศิลา 83 คน พรรคประชาธิปัตย์ 28 คน พรรคเสรีประชาธิปไตย 11 คน พรรคธรรมาธิปัตย์ 10 คน พรรคเศรษฐกร 8 คน พรรคชาตินิยม 3 คนพรรคขบวนการไฮปาร์ค 2 คน พรรคอิสระ 2 คน ไม่สังกัดพรรคใด 13 คน ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ส่งผลให้พรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน ได้รับเลือกตั้งเพียง 28 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็มีจำนวนไม่มากเพียงพอที่จะรวมตัวกันทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นการเลือกตั้งที่ดำเนินไปโดยไม่สุจริตโปร่งใสในหลายประการ ข้อสังเกตถึงความไม่สุจริตที่มีการกล่าวถึงกันมาก ได้แก่ การที่หน่วยเลือกตั้งหลายแห่งไม่มีกรรมการมาประจำหน่วย มีบุคคลบางกลุ่มได้อภิสิทธิ์ในการลงคะแนนได้คนละหลายครั้งและครั้งละหลาย ๆ บัตร มีการทำร้ายผู้ออกเสียงเลือกตั้ง กรรมการบางคนแสดงตนว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างเปิดเผย มีการจับพลร่มและไพ่ไฟได้ตามหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นิสิต นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับก็ได้ลงบทความติเตียนรัฐบาลอย่างรุนแรง จนนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวในหมู่นิสิตนักศึกษาเพื่อรวมตัวเดินขบวนคัดค้านผลการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องประสบกับปัญหาทางการเมือง และไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ จนในที่สุดมีการก่อรัฐประหารโดยคณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ และเป็นผลให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากตำแหน่งไป


ที่มา

กระทรวงมหาไทย รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1. พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2520