ชาตินิยม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : นายปิยวัฒน์ สีแตงสุก และ ดร.ชาติชาย มุกสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความหมายชาตินิยม     

คำว่า “ชาตินิยม” (Nationalism) ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เป็นความสำนึก หรือความรู้สึกทางจงรักภักดีต่อหมู่ชนซึ่งตนถือเป็นชาติพันธุ์ (Ethnic) เดียวกัน และเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน”[1]

          พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นักชาตินิยมคนสำคัญของไทย ให้ทัศนะไว้ว่า “เมื่อชาติหมายถึงส่วนรวมของคน ความรักชาติก็เป็นความรักส่วนรวมของคนที่สืบสายโลหิตและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา...ลัทธิชาตินิยมทำให้เกิดความรู้สึกว่าชนชาติเดียวกันทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน ใครมาทำร้ายชนในชาติก็รู้สึกเหมือนทำร้ายลูกหลานในครอบครัวของตนเองและต้องพร้อมใจช่วยกัน ด้วยคำคำเดียวที่ร้องขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณ เขาจะรุมเข้ามาช่วยกัน โดยไม่ต้องไต่ถามว่าเป็นเรื่องอะไร นั่นคือชาตินิยม”[2]

          อัจฉราพร กมุทพิสมัย ได้ตั้งข้อสังเกตของคำว่าชาตินิยมไว้ คือ “เป็นเรื่องของคนที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมร่วมกัน ต่างมีความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งที่เห็นพ้องในคุณค่า มีความสำคัญ และเป็นความภาคภูมิใจเหมือนๆ กัน”[3]

          เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับชาตินิยมในไทยไว้ว่า “ปัญหาที่ทำให้เราคิดไม่ตกเกี่ยวกับ 'ชาตินิยม' ก็คือเรามักอ้างว่ามันเป็นอุดมการณ์หรือ 'ลัทธิ' (ism) ชนิดหนึ่ง แต่อาจจะเป็นการง่ายกว่า ถ้าเราจะมองดู 'ชาตินิยม' (ในบริบทของไทย) ว่ามีความใกล้ชิดกับคำว่า 'ศาสนา' (religion) หรือ 'เครือญาติ' (kinship) มากกว่าที่มันจะใกล้ชิดกับ 'ลัทธิเสรีนิยม' (liberalism) หรือ 'ลัทธิสังคมนิยม' (socialism)” แล้วเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ยังได้เสนอคำจำกัดความของชาติ (nation) ไว้ว่า “ชาติคือ ชุมชนจินตกรรม การเมือง-และจินตกรรมขึ้นโดยมีทั้งอธิปไตยและมีขอบเขตจำกัดมาตั้งแต่กำเนิด”[4]

ชาตินิยมในประเทศไทย

          ชาตินิยมในประเทศไทยมีรูปแบบ วิธีการ ตลอดจนเป้าหมายต่างกับชาติอื่นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมิได้เผชิญปัญหาเช่นประเทศอื่น คือมิได้ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจใด โครงสร้างสังคมก็มิได้ถูกทำลาย ในทางตรงข้าม ท่ามกลางภัยคุกคามที่บังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยโดยการนำของผู้นำในระบบเดิมได้ทำการปรับระบบระเบียบสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้รับความร่วมมือจากคนในชาติ และนำมาซึ่งผลสำเร็จในที่สุด

          ชาตินิยมในประเทศไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นยุคที่ไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติแล้ว โดยมีการชูรูปแบบของความเป็นไทยอันประกอบด้วย 3 สถาบัน ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[5] โดยหลักการชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 แสดงให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ทรงเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด สิ่งแรกที่ทรงตอบโต้คือ ความนิยมในลัทธิการปกครองอื่นที่มิใช่ราชาธิปไตย ประเด็นต่อมาที่ทรงเน้นคือ ความหมายของชาติไทย รูปแบบของความเป็นไทย และหน้าที่ของคนไทย[6] การปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ในระดับปัญญาชน-ประชาชนนั้น นับว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่ทรงตั้งพระทัยไว้มาก บรรยากาศทางความคิดในสังคมที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์นับว่าคึกคักมิใช่น้อยถือได้ว่าทรงบรรลุผลตามเป้าหมาย คือ ทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ทรงทราบว่า “ผู้อื่นมีความคิดเป็นเช่นไร” เพื่อว่า “ความเห็นนั้นคลาดเคลื่อนอย่างไรจะควรแก้ไขอย่างไร” ความเห็นที่ปรากฏมีทั้งคัดค้าน สนับสนุน และเสียดสี[7]

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลคณะราษฎรก็ยังคงมีการดำเนินนโยบายชาตินิยมเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพภายในชาติ หลวงวิจิตรวาทการ คือนักชาตินิยมคนสำคัญที่คอยสนับสนุนนโยบายชาตินิยมของนายกรัฐมนตรีไทย ทั้งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามและสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระหว่างที่หลวงวิจิตรฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น เริ่มนโยบายปลูกฝังนโยบายชาตินิยมใหม่ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย[8] ในหมู่ประชาชน หลวงวิจิตรวาทการจึงได้รับมอบหมายให้มาทำงานนี้ โดยการแต่งละครประวัติศาสตร์และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้น กรมศิลปากรจึงต้องเป็นฐานรองรับสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง[9]  ดังนั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงมีบทบาทสำคัญร่วมกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการ สร้างชาติ ให้เป็นประเทศมหาอำนาจ โดยผ่านการสร้างสรรค์ค่านิยมความ รักชาติ ให้แก่ประชาชน ด้วยข้อคิดและผลงาน“ชาตินิยม” ของตัวหลวงวิจิตรวาทการเอง[10]

          ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการใช้นโยบายชาตินิยมใหม่ เห็นได้จากในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน) ฉบับที่ 15 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 เรื่อง “คำประกาศแห่งยุคสมัย” ดังนี้

          ...ชาตินิยมใหม่คือจิตใจที่รักชนชาติในรัฐชาติ หวงแหนแผ่นดินและผลประโยชน์ร่วมของคนในชาติ ต่อสู้ป้องกันมิให้คนจากรัฐชาติอื่นๆ เข้ามาเอาเปรียบ ครอบงำ กดขี่ข่มเหงคนในรัฐชาติเดียวกัน ชาตินิยมใหม่จึงเป็นชาตินิยมป้องกันตนเอง ป้องกันผลประโยชน์ของคนในรัฐชาติเดียวกัน พิทักษ์และปกป้องความเป็นเอกราชของรัฐชาติตน...[11]

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

          เครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา คือ ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้เสนอประเด็นนี้ไว้ว่า ประวัติศาสตร์แม่บทแบบราชาชาตินิยม เป็นเรื่องเล่าแบบสมัยใหม่ ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ มักมีโครงเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นั่นคือ ถูกต่างชาติคุกคาม (แม้ว่าสยามจะไม่เคยเกะกะระรานคนอื่นเลยก็ตาม) พระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ ทรงนำการต่อสู้จนกระทั่งกอบกู้'/รักษาเอกราชไว้ได้ มีสันติสุขเจริญรุ่งเรื่องดังแต่ก่อน

          ภายใต้โครงเรื่องนี้สามารถมีเรื่องราวรายละเอียดได้ต่างๆ นานามากมายหลายเรื่อง และสามารถมีเรื่องรองๆ ได้ต่างๆ นานา ประวัติศาสตร์ไทยในองค์รวมเป็น “collections” หรือรวมเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อเอามาเรียงต่อกันจึงกลายเป็นการเน้นว่ามีการต่อสู้เพื่อเอกราชเกิดแล้วเกิดเล่าหลายรอบในยุคต่างๆ กัน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เน้นการเสียกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง สมัยรัชกาลที่ 6 เพิ่มเรื่องสุโขทัย พระร่วงต่อสู้ขอม เข้าไป ต่อมามีผู้เพิ่มเรื่องน่านเจ้าเป็นไทย แต่ถูกจีนคุกคามจนต้องอพยพลงใต้ หลวงวิจิตรวาทการ อาศัยโครงเรื่องเดียวกันนี่เอง เพิ่มเรื่องราวของวีรบุรุษ วีรสตรีที่เป็นขุนพลขุนศึกอีกหลายคน, บางจังหวัด บางท้องถิ่น ขอเพิ่มวีรบุรุษ วีรสตรีของท้องถิ่นเขาตามโครงเรื่องเดียวกัน เพิ่มเข้าไปในประวัติศาสตร์แห่งชาติ เป็นต้น

          เรื่องเล่าเหล่านี้รวมกันเข้าเป็นประวัติศาสตร์ไทยเล่มโต เป็นเรื่องทำนองเดียวกันที่เอามาเรียงต่อกันจนดูเป็นเรื่องที่ดำเนินต่อเนื่องกัน แต่ยังคงลักษณะของคัมภีร์ประวัติศาสตร์โบราณ คือคล้ายรวมเล่มปรัมปราคดีหรือนิทานชาดก ที่มักมีเรื่องคุณค่าเดิมๆ เกิดแล้วเกิดเล่า เพื่อตอกย้ำคติความเชื่อ หรือคำสอนหลักๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ประวัติศาสตร์สยามแบบใหม่มิใช่เรื่องของการสะสมบุญแข่งบุญ ระหว่างองค์ราชันย์อย่างในคัมภีร์ประวัติศาสตร์แบบโบราณอีกแล้ว กลับเป็นชาดกสมัยใหม่ว่าด้วยการกอบกู้/รักษาเอกราชของชาติ โดยวีรบุรุษ วีสตรีทั้งหลาย[12]

 

บรรณานุกรม

ดิเรก ชัยนาม, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, (พิมพ์ครั้งที่ 1, พระนคร: โรงพิมพ์สังคมศาสตร์, 2509)

ธงชัย วินิจจะกูล, โฉมหน้าราชาชาตินิยม, (พิมพ์ครั้งที่ 1, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559)

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม 2475, (พิมพ์ครั้งที่ 1, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2553)

สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” โดยหลวงวิจิตรวาท     การ, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545)

อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการชาตินิยมของผู้นำไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525)

แอนเดอร์สัน, เบเนดิกต์, ผู้แปล ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยการ          กำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)

อ้างอิง

[1]ดิเรก ชัยนาม, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, (พิมพ์ครั้งที่ 1, พระนคร: โรงพิมพ์สังคมศาสตร์, 2509) หน้า 32.

[2]สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” โดยหลวงวิจิตรวาทการ, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545) หน้า 53.

[3]อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการชาตินิยมของผู้นำไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525) หน้า 4.

[4]แอนเดอร์สัน, เบเนดิกต์, ผู้แปล ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยการกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552) หน้า 9.

[5]'แหล่งเดิม', หน้า 6-7.

[6]แหล่งเดิม, หน้า 30.

[7]'แหล่งเดิม', หน้า 46.

[8]'แหล่งเดิม', หน้า 49.

[9]นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม 2475, (พิมพ์ครั้งที่ 1, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2553) หน้า 30-32.

[10]แหล่งเดิม, หน้า  39.

[11]สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” โดยหลวงวิจิตรวาทการ, (พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545) หน้า 180.

[12]ธงชัย วินิจจะกูล, โฉมหน้าราชาชาตินิยม, (พิมพ์ครั้งที่ 1, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559) หน้า 5-6.