ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้คนเดียวกัน)
บรรทัดที่ 281: บรรทัดที่ 281:
 
 


[[Category:รัฐธรรมนูญ]] [[Category:กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ]]
 
 
[[Category:กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ]] [[Category:รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 23:36, 18 มีนาคม 2563

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

          เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยกเว้นในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยให้เหตุผลว่าได้มีการเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน จนนำไปสู่การใช้กำลัง ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาไว้สามระยะคือ ระยะเฉพาะหน้า เป็นการใช้อำนาจสกัดการใช้กำลังและการนำอาวุธมาใช้คุกคามประชาชน ยุติความหวาดระแวง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ที่สะสมมากว่าหกเดือนให้คลี่คลายลง เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่สองซึ่งจะจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้งสภาขึ้นทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และให้มีคณะรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน แก้ไขสถานการณ์อันวิกฤติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคี และความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง จัดให้มีกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้มีการปฏิรูปในด้านการเมืองและด้านอื่น ๆ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม

          หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งกำหนดกระบวนและขั้นตอนในการร่างรัฐธรรมนูญไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เกิดจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะผู้จัดทำ 2 ชุด คือ 1) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน โดยมีศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และ 2) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละคณะทำงานมีกระบวนการและขั้นตอนดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดให้ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ

          ที่มาของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

          การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่ที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก[1] ซึ่งประกอบด้วยบุคคล ดังนี้

                    - ประธานคณะกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ

                    - ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 20 คน

                    - ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 5 คน

                    - ผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรี จำนวน 5 คน

                    - ผู้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ จำนวน 5 คน

          ในกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ แต่ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง

          คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 31(2) ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้นำร่างดังกล่าวเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ

          1.1 กรอบและเนื้อหาสาระในการร่างรัฐธรรมนูญ

          การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย

          (1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

          (2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย

          (3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

          (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

          (5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          (6) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ

          (7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

          (8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

          (9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้

          (10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป

          โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

          นอกจากนี้ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญด้วย ดังนี้

          - สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

          - คณะรัฐมนตรี และ

          - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ

          - ภาคประชาชน และ

          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          1.2 ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ

          คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 31(2) ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้นำร่างดังกล่าวเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ

          ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปตามมาตรา 37 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น เพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

          หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ทั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมที่สิ้นสุดนี้ จะเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณีชุดใหม่มิได้

          1.3 ขั้นตอนการการนำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบ

          เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 36 ดังนี้

          1. เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมกันเพื่อพิจารณาเสนอแนะ หรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

          2. ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย

          1.4 การเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ

          ร่างรัฐธรรมนูญที่แล้วเสร็จนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สามารถเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

          1. สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้นการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยื่นคำขอหรือที่ให้คำรับรองคำขอของสมาชิกอื่นแล้ว จะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอของสมาชิกอื่นอีกมิได้

          2. คณะรัฐมนตรีหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

          1.5 การพิจารณาความเห็นหรือคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ

          ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 36 วรรคสอง ในการนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คำขอแก้ไขเพิ่มเติมมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากหรืออาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ขยายระยะเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมออกไปได้อีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และให้แจ้งมติขยายระยะเวลาพร้อมเหตุผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติทราบก่อนครบกำหนดเวลานั้นด้วย[2]

          1.6 การพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

          เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วให้สภาปฏิรูปแห่งชาติรอไว้ 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว ในการนี้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ เว้นแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้แก้ไขเฉพาะในกรณีพบเห็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญและจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน

          และเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ_พ.ศ._2552 ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับแก่การดำเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

          คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แล้วเสร็จและนำต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 และที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 คน เป็นผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอันตกไป และมีผลทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง ในการนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่นี้ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณีมิได้

          ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_(ฉบับชั่วคราว)_พ.ศ._2557_(ฉบับที่_1) พ.ศ. 2558 มาตรา 39/1 ได้กำหนดให้ “ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา 39 หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปตามมาตรา 37 วรรคแปด แล้วแต่กรณี ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 21 คน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้นำมาตรา 33 และมาตรา 35 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

          คณะรักษาความสงบเรียบร้อยจึงได้ออกประกาศรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีก จำนวน 20 คน ทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

          คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน กรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ ยังคงยึดตามหลักการในมาตรา 35 ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชาชน ประกอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เสนอกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 5 ประการ ดังนี้

          1. ให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศและคนไทยที่มีอยู่หรือเป็นอยู่

          2. ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

          3. ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้

          4. มีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล

          5. ให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม

          2.1 ขั้นตอนการการนำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบ

          เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา[3]

          2.2 การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

          เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปดำเนินการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาใดๆ และให้แจ้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญ ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวก และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันถัดจากวันที่แจ้งคณะรัฐมนตรี

          การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดไม่เกินหนึ่งประเด็นที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องเสนอภายในสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสามเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับฟังความคิดเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบการพิจารณาด้วย

          กำหนดเวลาการออกเสียงประชามติ

          ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าเก้าสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญส่งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง

          2.3 การเสนอประเด็นเพื่ออกเสียงประชามติเพิ่มเติม

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ โดยต้องเสนอภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับฟังความคิดเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบการพิจารณาด้วย

          และในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นนั้น หากจะมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

          หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

          ในการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

          เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน ๙๐ วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

          ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป

          สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมด้วยประเด็นคำถามพ่วงซึ่งเป็นประเด็นเพิ่มเติมจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยจัดให้มีการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559[4] ผลการลงประชามติปรากฏว่าประชนมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียง 16,820,402 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 61.35 ขณะที่คำถามพ่วงว่าด้วยการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีภายในระยะเวลา 5 ปีแรกผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 15,132,050 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.7 [5] ซึ่งผลจากคำถามพ่วงนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงในบางมาตราและในบทเฉพาะกาลเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมนั้น โดยได้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล และส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

          ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสามารถสรุปได้ ดังนี้[6]

          1. ผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

          ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูนได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 272 วรรคแรก โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภานั้นสอดคล้องและชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว

         2. ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ และมติในการให้ความเห็นชอบ

          ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสองที่กำหนดให้ในกรณีที่ไม่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขในมาตรา 272 วรรคสองในประเด็นยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 นี้ ไม่สอดคล้องและไม่ชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติ ส่วนมติในการให้ความเห็นให้ยกเว้น คือ มติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภานั้นชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว

          3. กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

          ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่กำหนดว่า "ในระหว่าง 5 ปี แรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268..." จึงเป็นประเด็นว่า"รัฐสภา" หมายถึงสภาใด ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญแปลเจตนารมณ์ว่า “รัฐสภา หมายถึง ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการแก้ไขในเรื่องกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นี้ ไม่สอดคล้องและไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ

          จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้แก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ดังนี้

          1) ผู้ที่มีสิทธิขอยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

          2) กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

          หลังจากนั้นเมื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทำการส่งร่างกลับคืนนายกรัฐมนตรีให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560[7] ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ต่อจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

เนื้อหา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. '2560

1. ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ จำนวน 35 คน เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการแต่งตั้งโดยประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 36 คน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 21 คน

2. กรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ

1) สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ

2) สถาบันการเมือง

3) องค์กรตรวจสอบอิสระ

เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35

3. การเสนอประเด็นอื่นเพิ่มเติม

ไม่สามารถเสนอประเด็นอื่นได้

สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรได้

4. การเห็นชอบรัฐธรรมนูญ

การออกเสียงประชามติ

การออกเสียงประชามติ

 

บรรณานุกรม

คำชี้แจงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประกอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม. สืบค้นจาก https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/download/article/article_20160908100646.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562.

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 32 ก ลงวันที่ 20 เมษายน 2559.

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการออกเสียงประชามติ. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 69 ก ลงวันที่ 11 เมษายน 2559. สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/giventake/content_give/cdc58-ect-110859-11.pdf เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562.

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ. ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558

พิมลพัชร์ อริยะฌานกุล, สรุปคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖/๒๕๕๙ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙, จุลนิติ: พ.ย. - ธ.ค. ๕๙ สืบค้นจาก เมื่อวันที่ http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/con79.pdf

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอน 40 ก.

 

อ้างอิง 

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557, มาตรา ๓2.

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๓๗.

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๓๙/๑.

[4] ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 32 ก ลงวันที่ 20 เมษายน 2559.

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการออกเสียงประชามติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 69 ก ลงวันที่ 11 เมษายน 2559, สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/giventake/content_give/cdc58-ect-110859-11.pdf เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562.

[6] พิมลพัชร์ อริยะฌานกุล, สรุปคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖/๒๕๕๙ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙, จุลนิติ: พ.ย. - ธ.ค. ๕๙ สืบค้นจาก เมื่อวันที่ http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/con79.pdf.

[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอน 40 ก หน้า 1.