พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
หลักการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติถือเป็นกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจของตนเองได้ตลอดเวลา การออกเสียงประชามติจึงถือเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฐานะเป็นกลไกเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิทางการเมืองในฐานะพลเมืองของชาติ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและร่วมใช้อำนาจในฐานะพลเมืองนอกเหนือจากการใช้อำนาจผ่านผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติ จึงนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อแนวทางการปกครองประเทศซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยในทางตรง
พัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2492 ฉบับ พ.ศ. 2511 ฉบับ พ.ศ. 2517 ฉบับ พ.ศ. 2540 รวมถึง ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ได้นำหลักการออกเสียงประชามติมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น จนกระทั่งต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2540 ได้กำหนดเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมขึ้น กล่าวคือ กำหนดให้บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้การออกเสียงประชามติ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในกิจการสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี การออกเสียงประชามติของประชาชนมีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ขอปรึกษาเท่านั้น[1]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2550 เกิดจากการลงประชามติของประชาชนที่ให้ความเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณี ดังต่อไปนี้[2]
1. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
2. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
หลักการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ยังให้สิทธิแก่ประชาชนในท้องถิ่น ให้สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีที่การกระทำใดอาจจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้[3]
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยใช้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และยังคงกำหนดหลักในการออกเสียงประชามติไว้ในกรณีที่มีเหตุอันควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ[4]
หลักการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นผลให้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 รวมทั้งสิ้น 45 มาตรา 10 หมวด คือ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 การให้ข้อมูลและการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ หมวด 3 เขตออกเสียง และหน่วยออกเสียง หมวด 4 ผู้มีสิทธิออกเสียง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง หมวด 5 เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียง หมวด 6 หีบบัตรออกเสียง และบัตรออกเสียงประชามติ หมวด 7 การลงคะแนนออกเสียง และการนับคะแนน หมวด 8 การประกาศผลการออกเสียง หมวด 9 การคัดค้านการออกเสียง หมวด 10 ความผิดและบทกำหนดโทษ
หลักการออกเสียงประชามติที่สำคัญ มีดังนี้
ให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อกำหนดเรื่องในการจัดทำประชามติ และกำหนดว่าการกเสียงประชามติมีเพื่อเพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือเป็นไปเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี[5] ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีประกาศดังกล่าว[6] และงดเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างทั่วถึง[7] โดยรัฐมีหน้าที่อุดหนุนหรือจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ[8]
การออกเสียง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ[9] ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 16.00 นาฬิกา[10] ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงใดให้ลงคะแนนออกเสียงได้ ณ หน่วยออกเสียงนั้น และให้มีสิทธิลงคะแนนออกเสียงได้เพียงแห่งเดียว[11]
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว หากเป็นการออกเสียงตามมาตรา 165 (1) ของรัฐธรรมนูญให้แจ้งผลไปยังนายกรัฐมนตรี[12]
การคัดค้านการออกเสียง ในกรณีที่เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง[13] และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันออกเสียง[14]
ข้อห้ามกระทำการ
1. ห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งห้ามกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนับบัตรออกเสียงประชามติให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนผิด หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรออกเสียงประชามติชำรุดหรือเสียหาย
2. ห้ามขัดขวางการออกเสียงประชามติของประชาชน
- ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ หากการขัดขวางกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายจะระวางโทษหนักขึ้น
- ขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง
3. ห้ามทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงประชามติ นำบัตรออกเสียงประขามติออกไปจากที่ออกเสียง หรือทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรออกเสียงประชามติ
4. ห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลา 7 วัน ก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง
บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 114/ตอนที่ 55 ก/11 ตุลาคม 2540. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 124/ตอนที่ 47 ก/ 24 สิงหาคม 2550. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/ 6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 126/ตอนที่ 98 ก/27 ธันวาคม 2552. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
อ้างอิง
[1] มาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
[2] มาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
[3] มาตรา 287 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
[4] มาตรา 166 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
[5] มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[6] มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[7] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[8] มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[9] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[10] มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[11] มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
[12] มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552