Eminent Person Group on the ASEAN Charter
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
Eminent Person Group on the ASEAN Charter (EPG)
ประวัติความเป็นมา
คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Person Group : EPG) ตั้งขึ้นจากความริเริ่มให้มีการจัดทำกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียนขึ้น ในการประชุมอาเซียนครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนจึงได้ลงนามปฏิญญากัวลาลัมเปอร์เรื่องการสถาปนากฎบัตรอาเซียนและในพร้อมกันนั้นก็ได้ก่อตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Persons Group: EPG)ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งจากประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ชาติขึ้นมาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการรวมตัวของอาเซียนและสาระสำคัญที่ควรมีปรากฏในกฎบัตรอาเซียน
รายนามคณะผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 10 ท่าน ได้แก่
Name Countries
Pehin Dato Lim Jock Sengm Jock Seng Brunei
Dr. Aun Porn Moniroth Cambodia
Ali Alatas Indonesia
Mr. Khamphan Simmalavong Laos
Tan Sri Musa Hitam (Chairman) Malaysia
Dr. Than Nyun Myanmar
Fidel V. Ramos Philippines
Prof. S. Jayakumar Singapore
Mr. Kasemsamosorn Kasemsri Thailand
Mr. Nguyen Manh Cam Viet Nam
ขอบเขตการทำงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Person Group: EPG)
ขอบเขตการทำงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ มีดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบผลการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของ ASEAN เพื่อระบุข้อสัมฤทธิ์ผล หาข้อบกพร่อง และประเมินการทำงานของอาเซียนในทุกๆ ด้าน ประมวลจารีต หลักการ คุณค่าและเป้าหมายต่างๆ ที่ปรากฏตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญๆ สนธิสัญญา ปฏิญญาตลอดจนกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างกฎบัตรอาเซียน รวมทั้งนำเสนอการปรับปรุงในหัวข้อดังต่อไปนี้
- 1.1 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน (the ASEAN Security Community)
- 1.2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (the ASEAN Economic Community)
- 1.3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน (the ASEAN Socio-Cultural Community)
- 1.4 ความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ระดับทวิภาคี และในภูมิภาค
- 1.5 ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนโดยอาศัยบริบทของความคิดริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน(ASEAN Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI) และเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษของยูเอ็น (UN’s Millennium Development Goals หรือ MDGs)
- 1.6 โครงสร้างของ ASEAN รวมถึงกระบวนการตัดสินใจ รูปแบบการบริหาร แหล่งเงินทุน วิธีการทำงาน การประสานงานระหว่างภาครัฐ ระเบียบการประชุม การเตรียมเอกสารการประชุม หน้าที่ของเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน
2. ให้คำเสนอแนะเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของกฎบัตรอาเซียน ได้แก่
- 2.1 วิสัยทัศน์ของอาเซียนถัดจากปีพ.ศ. 2563
- 2.2 ธรรมชาติ หลักการ และวัตถุประสงค์ของอาเซียน
- 2.3 การเป็นสมาชิกอาเซียน
- 2.4 พื้นที่เพื่อการสนับสนุนความร่วมมือการรวมกลุ่มอาเซียน
- 2.5 ลดความแตกต่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน
- 2.6 เป็นเครื่องมือในการทำงานของอาเซียน
- 2.7 โครงสร้างด้านการบริหารของอาเซียน (กลไก, บทบาทของเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน)
- 2.8 สภาพนิติบุคคลของอาเซียน
- 2.9 กลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ
- 2.10 ความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก
3. ให้คำแนะนำแผนการสำหรับขั้นตอนการร่างกฎบัตรอาเซียน
- 3.1 การประชุมระดับชาติ
- 3.2การประชุมระดับภูมิภาคของผู้ถือผลประโยชน์ร่วมสำคัญทั้งหมดในอาเซียนในกระบวนการร่างกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนของประชาสังคม
- 3.3 ข้อมูลสาธารณะ
ข้อเสนอหลักห้าประการของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Person Group : EPG)
ถัดมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 2006 คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Person Group :EPG) ได้นำเสนอเอกสารข้อเสนอแนะสุดท้ายในการร่างกฎบัตรอาเซียนต่อผู้นำอาเซียน โดยมีใจความหลักห้าประการดังนี้
หลักที่ 1 หลักการพื้นฐานและวัตถุประสงค์: กฎบัตรอาเซียนจะต้องมีหลักการและวัตถุประสงค์ที่ทันสมัย เสริมสร้างความสามัคคีและความสามารถในการปรับตัวในระดับภูมิภาค ดังนั้น กฎบัตรอาเซียนจะต้องส่งเสริมสันติภาพและรักษาเสถียรภาพโดยตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย หลักธรรมมาภิบาล หลักนิติธรรม และให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังต้องพยายามบรรลุผลทางด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างประชาคมเศรษฐกิจ (Economic Community) และการเป็นตลาดร่วม (Single Market) ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดช่องว่างด้านการพัฒนาของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังต้องตอบสนองต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันก็มุ่งรักษามรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงการมีส่วนเชื่อมโยงกับประชาสังคม
หลักที่ 2 มุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน: กฎบัตรอาเซียนจะต้องนำมาซึ่งพันธะสัญญาทางการเมืองจากประเทศสมาชิก เพื่อที่จะตระหนักถึงวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน เพื่อผลลัพธ์ดังกล่าว ผู้นำอาเซียนจะต้องประชุมอย่างสม่ำเสมอและนำเสนอสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นเพื่อผลักดันการสร้างประชาคม จะต้องมีการก่อตั้งสภาระดับรัฐมนตรีขึ้น 3 สภาเพื่อสนับสนุน 3 เสาหลักแห่งประชาคมอาเซียน ซึ่งได้แก่ เสาหลักด้านความมั่นคง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งมุ่งสู่การจัดตั้งตลาดร่วม (Single Market) ด้วย
หลักที่ 3 ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด: อาเซียนจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้สัญญาเหล่านั้นคงความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังนำเสนอให้สร้างกลไกระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanisms) ขึ้นมาเพื่อตรวจตราผู้ที่ไม่เคารพกฎ โดยมีสำนักเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้
หลักที่ 4 การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น: คณะผู้ทรงคุณวุฒิเสนอให้องค์กรคำนึงถึงกลไกการแก้ไขปัญหาที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงกระบวนการการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย มิใช่แค่ฉันทามติเพียงเท่านั้น โดยฉันทามติควรนำมาใช้ในกรณีที่มีความละเอียดอ่อนสูงเท่านั้น
หลักที่ 5 มุ่งสู่การเป็นอาเซียนซึ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง: กฎบัตรอาเซียนจะต้องส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพลเมือง นอกจากนี้อาเซียนยังต้องมีส่วนร่วมในประชาสังคม ภาคธุรกิจ การศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) และผู้ถือผลประโยชน์ร่วมอื่นๆในประชาคม
ข้อเสนอที่ไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในกฎบัตรอาเซียน
จากรายงานที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เสนอต่อผู้นำของประเทศอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่12 มีข้อเสนอสำคัญที่กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวซึ่งไม่ได้รับการบรรจุอยู่ คือข้อเสนอที่คณะผู้ทรงวุฒิเสนอบทลงโทษสำหรับประเทศสมาชิกที่ละเมิดพันธกรณี เช่น ถอนสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมของอาเซียน หรือสิทธิการเป็นประธานในที่ประชุมของอาเซียน เป็นต้น การดำเนินงานของอาเซียนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าข้อตกลงเกือบทั้งหมดจะปราศจากข้อผูกพันทางกฎหมาย การที่ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนไม่อาจยอมรับข้อเสนอนี้ได้เป็นเพราะประเทศสมาชิกยังคงหวงแหนอำนาจอธิปไตยและยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้น ข้อเสนอในประเด็นนี้จึงตกไป
เอกสารอ้างอิง
The ASEAN Secretariat.2014.List of Members of the Eminent Persons Group (EPG) on the ASEAN charter.http://www.asean.org/archive/ACP-EPGMember.pdf. (accessed 30 July 2014)
The ASEAN Secretariat.2006.Report of the Eminent Persons Group on the ASEAN Charter.http://ww.asean.org/archieve/19247.pdf.(accessed 31 July 2014)
The ASEAN Secretariat.2014.Terms of Reference of the Eminent Persons Group (EPG) on the ASEAN Charter.http://www.asean.org/archive/ACP-TOR.pdf. (accessed 26 July 2014)
Tommy koh, Manalo Rosario and Water Woon. The Making of the ASEAN Charter. Singapore: World Scientific Publishing.,2009.
อรณิช รุ่งธิปานนท์.ภูมิภาคนิยมกับอาเซียน. กรุงเทพมหานคร :สำนักการพิมพ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฏร.,2557