ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย

จากบริบททางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมโลกปัจจุบัน ผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั้น จึงได้ร่วมกันจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นทั้ง 3 เสา ซึ่งเสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้นนับได้ว่าเป็น 1 ในความร่วมมือที่สำคัญของประชาคมอาเซียน ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน อันจะส่งผลกระทบต่อพลเมืองอาเซียนโดยตรง ในภาพรวมประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้นจะมุ้งเน้นถึงสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคเป็นหลัก รวมถึงวิธีการอยู่ร่วมกันของประชาชนในภูมิภาคได้อย่างมีความสุข ปราศจากการใช้กำลังทางการทหารเข้าคุกคาม นอกจากนั้นยังรวมถึงภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ การก่อการร้าย โรคระบาด เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในภูมิภาค ประชาคมความมั่นคงอาเซียนก็จะเน้นการระงับข้อพิพาทในทางระหว่างประเทศ โดยสันติวิธี

ประวัติความเป็นมา

ภายหลังจากที่มีการตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ตามปฏิญญากรุงเทพ ในปี ค.ศ. 1967 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างเสถียรภาพและสันติภาพ อย่างไรก็ดีอาเซียนมิได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ เป็นชิ้นเป็นอันจนกระทั่งประธานาธิบดีนิกสัน ได้ประกาศลัทธินิกสัน อันเป็นการลดบทบาทของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาเซียนเนื่องจากอาเซียนจะต้องสู้กับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยตนเองปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อาเซียนต้องมีการปรับตัวและร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการกำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพเสรีภาพ และความเป็นกลาง(ZOPFAN) อันนำมาสู่ จุดกำเนิดของความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงที่สำคัญ

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้นมีจุดกำเนิดมาจากปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 และปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายใน ค.ศ. 2015 ในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ซึ่งประชาคมการเมืองและความมั่นคงนั้น ก็ได้มีการรับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงขึ้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ ชะอำ-หัวหิน ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2009 โดยมุ่งเน้นถึงการให้อาเซียนนั้นเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ และมีความมั่นคงในภูมิภาค และแก้ไขข้อพิพาทด้านสันติวิธี

เป้าหมายของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้นได้มีแผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน ซึ่งได้รับรองโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 10 ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งมีเป้าหมายดังนี้

1. Political Development: เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการในเรื่องการเมืองของอาเซียน โดยจะเป็นการส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย เสถียรภาพ และความมั่นคง เพื่อให้เกิดขึ้นในภูมิภาค

2. Shaping and Sharing of Norms: เป็นการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกควรจะมีร่วมกัน อันเป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิก ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น

3. Conflict Prevention: เป็นการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้น หรือ ป้องกันมิให้รุนแรงยิ่งขึ้น

4. Conflict Resolution: เป็นการเน้นแก้ไขข้อพิพาทโดนสันติวิธีและการใช้กลไกการระงับข้อพิพาทภายในภูมิภาค

5. Post-Conflict Peace Building: เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่อสันติภาพอย่างยั่งยืนในดินแดนที่จะเกิดปัญหาจากสงคราม และป้องกันไม่ให้ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นอีก รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและฟื้นฟูประเทศด้วย

6.Implementing Mechanisms : เป็นกลไกการติดตามการปฏิบัติงานโดยให้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนั้นรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนทุกปี

โครงสร้างของประชาคมการเมืองและความมั่นคง

จากแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนซึ่งได้กำหนดครอบคลุมถึงลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เป็นประชาคมที่มีกติกาและมีการพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน : กล่าวคือจะต้องเป็นประชาคม ที่มีการยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจภายใน พร้อมทั้งส่งเสริมค่านิยมของประชาคมควบคู่กันไป

2. เป็นประชาคมที่ทำให้ภูมิภาค มีความเป็นเอกภาพ มีความสงบสุข มีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ : กรณีนี้เป็นการส่งเสริมถึงตัวตนของอาเซียน ในการพัฒนาอาเซียนเอง โดยพึ่งกลไกของตนมากขึ้นในการแก้ปัญหา หรือ ดำเนินการต่างๆ

3. เป็นประชาคมที่ทำให้เป็นภูมิภาคที่มีพลวัตร และมองไปยังโลกภายนอก ที่มีการรวมตัวและลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น : กล่าวคือในกรณีนี้ จะเป็นการชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่อาเซียนมีการพัฒนา ในเรื่องภายในแล้วนั้น ก็ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับภายนอกด้วย อันเป็นการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

บทบาทของกระทรวงกลาโหมไทยในการสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น กระทรวงกลาโหมถือเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาคมนี้มีความมั่นคงและดำรงเสถียรภาพให้กับประชาคมอาเซียน กระทรวงกลาโหมไทยได้มีบทบาทในรักษาความมั่นคงภายในภูมิภาคผ่านความกรอบความร่วมมือสองเวที ได้แก่ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( ASEAN Regional Forum: ARF) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defense Ministers’ Meeting: ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-PLUS)

1. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF)

การประชุม ARF ได้จัดขึ้นครั้งแรกที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1994 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งในด้านการเมืองและความมั่นคงร่วมกัน ระหว่างภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การประชุม ARF นั้นเป็นเพียงเวทีสำหรับการปรึกษาหารือระหว่างประเทศที่เข้าร่วม เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน กล่าวคือเป็นเวทีที่ใช้วิธีการทูตเชิงป้องกันและใช้เป็นเวทีในการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันเท่านั้น มิได้ใช้เป็นเวทีขจัดข้อพิพาท หรือขจัดความขัดแย้งแต่อย่างใด

การประชุม ARF ประกอบไปด้วยการเจรจา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ

ระดับแรก การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายด้านความมั่นคงของ ARF ซึ่งเป็นการประชุมของนายทหารระดับสูง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน อันนำมาซึ่งการลดการใช้กำลังและการใช้มาตรการทางการทหารระหว่างกัน

ระดับที่สอง การประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของ ARF เป็นการประชุมเพื่อหารือด้านความร่วมมือระหว่างฝ่ายกลาโหมของประเทศต่างๆภายใต้กรอบของ ARF

2. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-PLUS)

จากแนวความคิดที่ว่ากองทัพของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคได้ ดังนั้นจึงต้องมีเวทีสำหรับการเจรจาทางการทหารระหว่างกัน การประชุม ADMM และ ADMM-PLUS มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสันติภาพและความมั่นคง ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะใช้กลไกการปรึกษาหารือ การสนับสนุน และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ในลักษณะ การสร้างความโปร่งใส และเปิดเผยระหว่างกัน โดยการประชุม ADMM มีขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นับว่าเป็นการเพิ่มขีดจำกัดในความร่วมมือทางการทหารของอาเซียนไปอีกระดับหนึ่ง สำหรับการประชุม ADDM-PLUS นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการทหารกับประเทศภายนอกภูมิภาค ซึ่งอาเซียนได้กำหนดหลักเกณฑ์ ที่จะเข้าร่วม ADMM-PLUS ไว้ 3 ประการคือ

ก.ประเทศที่จะเข้ามาเจรจานั้น ต้องเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

ข.ประเทศคู่เจรจานั้น จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกลาโหมอาเซียนในระดับสูง

ค.ประเทศคู่เจรจานั้น ต้องเอื้อประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของกลาโหมอาเซียน ได้อย่างเป็นรูปธรรม

การประชุม ADMM และ ADMM-PLUS นั้น มีกลไกการประชุมแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

1.การประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ADSOM WG) และ การประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADSOM-PLUS WG)

2.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน (ADSOM) และ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADSOM-PLUS)

3. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-PLUS)

4.การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ (ADMM-PLUS Retreat)

ความท้าทายในการสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น แม้ผลสุดท้ายจะมองไปที่การทำให้อาเซียนนั้นเป็นภูมิภาคที่มั่นคง ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างสันติวิธี การร่วมกันป้องกันภัยคุกคามต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค แต่ในเส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นอาจจะไม่ได้ราบรื่นนัก เนื่องจากภายในภูมิภาคนั้น ประเทศอาเซียนก็ยังมีความขัดแย้งอยู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับเขตแดนระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีพิพาทพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณเขาพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา การพิพาทในเรื่องรัฐชาบาห์ ระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย กรณีปัญหาชายแดนภายใต้ของประเทศไทย กรณีโรฮิงญาที่ประเทศพม่า กรณีพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นต้น กรณีเหล่านี้อาเซียนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดข้อพิพาทหรือเสนอทางออกให้กับข้อพิพาทระหว่างประเทศอย่างจริงจัง โดยจะต้องพัฒนาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ประชาชนนั้นรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองอาเซียนร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำให้ให้เขตแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคมีความสำคัญน้อยลง เมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะเห็นถึงศักยภาพที่เต็มที่ของประชาคมการเมืองและความมั่นคง

เอกสารอ้างอิง

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. สู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ., 2555.

กระทรวงการต่างประเทศ.. แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่งคงอาเซียน . กรุงเทพฯ : เพจเมคเกอร์,2553.

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.ASEAN Mini book .กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 58 คำตอบ สู่ประชาคมอาเซียน 2558 .กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ., 2556.

กิตติ ประเสริฐสุข . 50คำ กุญแจไขอาเซียน. กรุงเทพฯ: กรมอาเซียนกระทรวงต่างประเทศ.,2556.


เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ .2556. “อุปสรรคของประชาคมความมั่นคงอาเซียน.” :มิติโลกาภิวัฒน์.

http://www.mfa.go.th/asean/th/asean-media-center/2417/33215-อุปสรรคของประชาคมความมั่นคงอาเซียน.html (accessed May 23 ,2014).

ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล ., 2556.

ไพศาล หรูพานิชกิจ. เอเชียตะวันออก บนเส้นทางสู่การเป็นประชาคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2553.

ภิญญดา ไรนิเกอร์. “การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทในอาเซียน :บทเรียนจากระบบระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอื่นๆ.”วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. “การเตรียมความพร้อมของกองทัพในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในพื้นที่รับผิดชอบ กองทัพภาคที่3.”สรุปผลการสัมมนาความมั่นคงสู่อาเซียนครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.,2557.

สุรินทร์ พิศสุวรรณ. อาเซียน รู้ไว้ ได้เปรียบแน่.กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง., 2555.

สุรชาติ บำรุงสุข . ประชาคมอาเซียน : มิติด้านความมั่นคง.จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 103.กรุงเทพฯ : สแควร์ ปรินซ์ 93.,2556.

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย. ประชาคมอาเซียนในมุมมองของศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์เดือนตุลา., 2555.

Mohamad Faisol Keling et all .2011. The development of ASEAN Historical Approach. repo.uum.edu.my/7270/1/6426.pdf (accessed September 10,2014).

The ASEAN Secretariat. 2014. ASEAN Political - Security Community. The ASEAN Secretariat.http://www.asean.org/communities/asean-political-security-community (accessed May 23 ,2014).