กฎบัตรอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียน โดยประเทศในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไน ประเทศมาเลเซีย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในภูมิภาค แก่ประเทศสมาชิก ซึ่งในกฎบัตรดังกล่าวนี้ได้ประมวลบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ คุณค่าและเป้าหมายที่ชัดเจนของ อาเซียนเอาไว้เข้าด้วยกัน โดยกฎบัตรฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับหลังจากที่รัฐสมาชิกทุกประเทศที่ลงนามได้ให้สัตยาบัน

ประวัติความเป็นมา

แนวความคิดในการสร้างกฎบัตรอาเซียนนั้นมีมาตั้งแต่ช่วง ทศวรรษ 1970 โดยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนขณะนั้น ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องมีกฎหมายหรือธรรมนูญอาเซียนเพื่อที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายจะได้ถือปฏิบัติตาม หากย้อนกลับไปดู ณ วันที่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ ปีค.ศ. 1967 นั้น อาเซียนเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาหรือบทบัญญัติก่อตั้งสภาพนิติบุคคลในทางระหว่างประเทศอย่างชัดเจน จะมีก็เพียงปฎิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration 1967) ซึ่งหาได้มีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ ดังนั้นอาเซียนจึงประสบปัญหาเมื่อจะไปทำนิติกรรมใด ๆ กับองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคอื่นๆ หรือเมื่อต้องทำนิติกรรมกับประเทศคู่เจรจา เนื่องจากสภาพนิติบุคคลจะขึ้นอยู่กับว่าองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศคู่เจรจานั้นๆ ยอมรับว่าอาเซียนมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ดังนี้การจัดทำกฎบัตรอาเซียนจึงเป็นการดำเนินการให้อาเซียนมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รัฐสมาชิกต่างๆก็ได้เห็นพ้องถึงความจำเป็นดังกล่าวจึงได้มีการร่วมกันจัดทำกฎบัตรอาเซียนขึ้น เพื่อให้อาเซียนมีสภาพบุคคลตามกฎบัตรอาเซียน และวางแนวแนวทางการดำเนินงานของอาเซียนรวมถึง วัตถุประสงค์ของอาเซียน ไว้ในกฎบัตรฉบับนี้

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

กฎบัตรอาเซียนนั้นเป็นการร่วมมือกันของผู้นำประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้จัดทำขึ้นร่วมกัน โดยมีการประมวลเอาค่านิยม หลักเกณฑ์ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติต่างๆที่อาเซียนได้เคยกระทำมา รวมถึงมีการปรับปรุง กฎเกณฑ์ และโครงสร้างขององค์กรที่มีอยู่เดิม บางประการ รวมถึงวางแนวทางในการดำเนินการต่างๆให้สอดคล้องกับแนวทางของโลกในยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์นั้นก็เพื่อในเรื่องของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 โดยจะทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพยึดถือกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานต่างๆ

เนื้อหาของกฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน นั้นได้แบ่งเป็นหมวดหมู่ ซึ่งมีทั้งหมด 13 หมวด ซึ่งมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

หมวดที่ 1 : Chapter 1 (Art.1-2)

ความมุ่งประสงค์และหลักการ : เป็นการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเอเซียนว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร เช่นในเรื่องของการเน้นในเรื่องของสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพในภูมิภาค เช่น การเป็นภูมิภาคที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การร่วมมือบรรเทาปัญหาความยากจน เป็นต้น และในส่วนของหลักการเคารพอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน เช่นไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ไม่ใช้กำลัง หรือข่มขู่รัฐอื่น รวมถึงการยึดมั่นในหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักประชาธิปไตยอีกด้วย

หมวดที่ 2 : Chapter 2 (Art.3)

สภาพบุคคลตามกฎหมาย : ในส่วนนี้ เป็นการกล่าวถึงการให้อาเซียนนั้นเป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยมีสภาพบุคคลจากกฎบัตรนี้

หมวดที่ 3 : Chapter 3 (Art.4-6)

รัฐสมาชิก : ในส่วนนี้จะเป็นการกล่าวถึงรัฐสมาชิกในอาเซียนว่ามีประเทศใดบ้างทั้ง 10 ประเทศ หรือกรณีของการรับสมาชิกใหม่ รวมถึงสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายของรัฐสมาชิก เช่นในเรื่องของการร่วมกันออกกฎหมายเป็นต้น

หมวดที่ 4 : Chapter 4 (Art.7-15)

องค์กร : เป็นการกล่าวถึงองค์กรต่างๆในอาเซียนว่ามีส่วนใดบ้างและมีการดำเนินงานอย่างไร ทั้ง ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา เลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน มูลนิธิอาเซียน

หมวดที่ 5 : Chapter 5 (Art.16)

องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน : เป็นการกล่าวถึง องค์กรต่างๆที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน โดยองค์กรเหล่านี้มีอะไรบ้างนั้นจะมีบัญญัติไว้ในภาคผนวก 2 ของกฎบัตรอาเซียน

หมวดที่ 6 : Chapter 6 (Art.17-19)

เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน : ในส่วนนี้กล่าวถึง การให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันว่าจะให้แก่ใครบ้าง อันเป็นวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์จากการกระทำหน้าที่ดังกล่าว

หมวดที่ 7  : Chapter 7 (Art.20-21)

การตัดสินใจ : การตัดสินใจของอาเซียนนั้นจะเป็นรูปแบบของการปรึกษาหารือระหว่างรัฐสมาชิก ซึ่งการตัดสินใจของอาเซียนนั้นต้องเป็นฉันทามติ โดยหากไม่สามารถหาฉันทามติได้ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

หมวดที่ 8 : Chapter 8 (Art.22-28)

การระงับข้อพิพาท : การระงับข้อพิพาทในอาเซียนนั้นจะเน้นที่การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี กล่าวคือจะใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือในการดำเนินการ หรือการประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ ก็ได้ อย่างไรก็ดี หากมีข้อตกลงกำหนดไว้ว่าจะใช้กลไกระงับข้อพิพาทใดเป็นการเฉพาะก็ต้องดำเนินการตามกลไกนั้น ซึ่งหากข้อพิพาทใดไม่อาจระงับได้ก็จะมีการส่งข้อพิพาทดังกล่าวไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

หมวดที่ 9 : Chapter 9 (Art.29-30)

งบประมาณและการเงิน : เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการเงินว่าจะมีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างไร มีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร

หมวดที่ 10 : Chapter 10 (Art.31-34)

การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน : เป็นการกำหนดถึงขั้นตอนการดำเนินงานว่ามีการดำเนินงานและบริหารอย่างไร เช่น ประธานอาเซียนมีการหมุนเวียนตำแหน่งอย่างไร รวมถึงบทบาทและหน้าที่ของประธานอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต รวมถึงภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน

หมวดที่ 11 : Chapter 11 (Art.35-40)

อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ : เป็นการกล่าวถึงการส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของอาเซียน ซึ่งมีทั้งคำขวัญ ธงประจำอาเซียน ดวงตราอาเซียน วันอาเซียน รวมถึงเพลงประจำอาเซียน

หมวดที่ 12 : Chapter 12 (Art.41-46)

ความสัมพันธ์ภายนอก : เป็นกรณีของการที่อาเซียนได้ดำเนินการกับภายนอกทั้งนานาประเทศ ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อประสานประโยชน์ร่วมกัน

หมวดที่ 13 : Chapter 13 (Art.47-55)

บททั่วไป : เป็นบททั่วไปและบทบัญญัติสุดท้ายในส่วนของกฎบัตรนี้ เช่น ในเรื่องการลงนาม ให้สัตยาบัน การมีผลใช้บังคับ การแก้ไขกฎบัตร การทบทวนกฎบัตรเมื่อบังคับใช้ครบ 5 ปี เป็นต้น

ผลของกฎบัตรอาเซียน

ภายหลังจากที่มีปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ จัดตั้งกฎบัตรอาเซียน ในปี ค.ศ. 2005 และปฏิญญาเซบูว่าด้วยพิมพ์เขียวของกฎบัตรอาเซียน ในปี ค.ศ. 2007 จนกระทั่งได้มีการลงนามของผู้นำอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 จนกระทั้งสิ้นสุดการให้สัตยาบันและกฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2008 ซึ่งผลจากกฎบัตรนั้นไม่เพียงแต่จะรับรองสถานะทางกฎหมายและจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เท่านั้น กฎบัตรอาเซียนยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางด้วย กล่าวคือ จะเป็นการสร้างประชาคมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง ในเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาความยากจน ความเป็นอยู่ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การพัฒนาด้านการศึกษา การลดปัญหาความยากจน รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นความร่วมมือร่วมกันของทุกประเทศอาเซียน ซึ่งประชาชนทั้งหลายนั้นจึงควรจะปรับทัศนคติให้เข้ากับประชาคมด้วย เพื่อให้เป็นประชาคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การเคารพความแตกต่างของบุคคลและสังคม ความสามัคคีและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ความมีน้ำใจต่อผู้อื่น การเคารพสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น การมีความสามารถที่หลากหลาย การมีความรับผิดชอบร่วมกัน การมีจิตสำนึกในทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในภูมิภาค ซึ่งหากประชาชนของอาเซียนมีคุณสมบัติดังนี้แล้วก็จะส่งผลให้อาเซียนพัฒนาตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างรวดเร็ว

รัฐสมาชิก

กฎบัตรฉบับนี้ ผู้นำประเทศอาเซียน ได้มีการลงนาม ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ซึ่งมีรายละเอียดการลงนามดังนี้

ประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ลงนามโดยดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (ประธานาธิบดี)

ประเทศมาเลเซีย ลงนามโดยดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ลงนามโดย นาย กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย (ประธานาธิบดี)

ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ลงนามโดย นาย ลี เซียน ลุง (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศราชอาณาจักรไทย ลงนามโดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศ บรูไนดารุสซาลาม ลงนามโดย สุลต่าน ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (สมเด็จพระราชาธิบดี)

ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ลงนามโดย นาย เหวียน เติน ซุง (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลงนามโดย นาย บัวสอน บุบผาวัน (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศสหภาพพม่า ลงนามโดย พลโท เต็ง เส่ง (นายกรัฐมนตรี)

ประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ลงนามโดย สมเด็จ ฮุน เซ็น (นายกรัฐมนตรี)

แหล่งอ้างอิง

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2557. “กฎบัตรอาเซียน.” เอกสารสำคัญอาเซียน. http://www.mfa.go.th/asean/th/other/2397 (accessed April 29 ,2014).

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.

กลุ่มงานนโยบาย กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ.2557.”ท่านเคยทราบเกี่ยวกับอาเซียนและกฎบัตรอาเซียนหรือไม่.” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาเซียน. http://www.mfa.go.th/asean/th/other/2399/page-7.html (accessed May 1 ,2014).

แพรภัทร ยอดแก้ว .2555. “คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน.” เอกสารประกอบการสอน วิชาอาเซียนศึกษา 2555. http://www.gotoknow.org/posts/505877 (accessed May 1 ,2014). ภิญญดา ไรนิเกอร์. “การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทในอาเซียน : บทเรียนจากระบบระงับข้อพิพาทในภูมิภาคอื่นๆ.” วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.

สุรพงษ์ ชัยนาม .2551. “อนาคตขององค์การอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียน.”เวทีทัศนะ.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000151228 (accessed May 2 ,2014).

The ASEAN Secretariat. 2014. ASEAN Charter. The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/asean/asean-charter (accessed May 2 ,2014).

The ASEAN Secretariat. 2014. Cebu Declaration on the Blueprint of the ASEAN Charter, Cebu, Philippines, 13 January 2007. The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/news/item/cebu-declaration-on-the-blueprint-of-the-asean-charter-cebu-philippines-13-january-2007 (accessed May 3 ,2014).

The ASEAN Secretariat. 2014. Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Charter. The ASEAN Secretariat. http://www.asean.org/asean/asean-charter/kuala-lumpur-declaration (accessed May 3 ,2014).