26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นวันการเมืองของไทย เพราะเป็นวันที่มีคณะบุคคลได้พยายามจะล้มรัฐบาล

วันนี้ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเอาไว้โดยเรียกว่า “เกิดการปฏิวัติ” มีเนื้อหาเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 20.00 น.เศษ ได้มีการประกาศข่าวพิเศษทางวิทยุกระจายเสียงว่า ได้มีพระบรมราชโองการให้รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะอีกหลายคน และยังแต่งตั้งผู้มีหน้าที่สำคัญ ๆ อีกหลายตำแหน่ง

บุคคลคณะนี้ได้ยึดพระบรมมหาราชวัง เป็นที่บัญชาการโดยมีผู้แต่งกายเป็นทหารเรือร่วมด้วย มีผู้กล่าวว่า หัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์”

การปฏิบัติการครั้งนี้ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ เรียกว่า “การปฏิวัติ” นั้นมีผู้เล่าว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือที่ต่อมาเมื่อปฏิบัติการยึดพระบรมมหาราชวัง เป็นที่บัญชาการในการยึดอำนาจ ในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

ในระยะแรกนั้นฝ่ายที่ยึดอำนาจได้จู่โจมอย่างรวดร็ว จึงยึดที่ทำการรัฐบาลได้ไม่ยากในบางแห่งเช่นกระทรวงการคลัง และสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ที่พญาไท สมัยนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ เมื่อยึดสถานีวิทยุได้จึงออกประกาศปลดนายกรัฐมนตรีและผู้นำทางทหารของรัฐบาลไปบางคน และก็แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่กับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางทหารคนใหม่ กับผู้นำตำรวจ ทำให้ดูว่าฝ่ายยึดอำนาจจะเป็นต่อ

ครั้นฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันได้จึงได้ใช้กำลังทหารที่ยังคุมกันได้เข้าขัดขวาง กำลังของฝ่ายรัฐบาลเป็นกำลังทหารบก ส่วนกำลังทางทหารของฝ่ายยึดอำนาจนั้นเป็นกำลังทหารเรือ ที่มีการเรียกขานตามประกาศของฝ่ายรัฐบาลว่า “มีผู้แต่งกายเป็นทหารเรือร่วมด้วย” นั้นแท้จริงเป็นทหารเรือเข้าร่วม รัฐบาลต้องการทำให้เห็นว่าทหารเรือไม่เกี่ยว แต่ทหารเรือที่เดินทางมาจากจังหวัดชลบุรีมาล่าช้า เล่ากันว่าที่ผิดแผนก็เพราะมาติดรออยู่ที่ข้ามบางปะกง รอน้ำขึ้น แพขบวนยนต์จึงจะแล่นข้ามาได้ ทำให้มาไม่ทันเวลา ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อทหารที่ถูกประกาศปลดทางอากาศเป็นผู้รับผิดชอบในการปราบปรามฝ่ายยึดอำนาจโดยใช้กำลังได้เต็มที่ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ก็ได้บันทึกไว้ต่อมาอีกว่า

“รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการปราบปรามโดยเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และเข้าต่อต้านผู้ปฏิวัติส่วนหนึ่งที่เข้ายึดสี่แยกราชประสงค์ มีการยิงต่อสู้กันด้วย ในที่สุดฝ่ายปฏิวัติได้หลบหนีไป คงจับผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมมือครั้งนี้ได้หลายคนซึ่งมีอดีตรัฐมนตรีร่วมอยู่ด้วย เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ต่อมาก็ได้จับกุมนายทองเปลว ชลภูมิ ได้อีกผู้หนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไว้เพื่อการสอบสวน” ทหารที่ยิงกันในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นทหารบกกับทหารเรือ ซึ่งตอนนั้นทหารเรือยังเข้มแข็งและมีกำลังที่จะคานอำนาจทหารบกได้พอสมควร

เมื่อทางฝ่ายผู้ยึดอำนาจเห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จจึงได้ถอนตัวออกจากกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวัง ทางรัฐบาลจึงเป็นฝ่ายมีชัยครองอำนาจต่อมา สุมาลี พันธ์ยุรา ได้สรุปผลของเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

“สิ่งที่ตามมาจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ การสลายตัวอย่างสิ้นเชิงของคณะราษฎรสายพลเรือนและการสลายตัวของเสรีไทย ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งที่สุดภายหลัง พ.ศ. 2475 ทำให้พลังฝ่ายพลเรือนที่จะถ่วงอำนาจฝ่ายทหารนั้นหมดไป และหลังจากนั้นคณะราษฎรสายพลเรือนก็กระจัดกระจายไปและยังถือเป็นจุดสุดท้ายของเสรีไทยด้วย”

จะเป็นอย่างที่สรุปหรือไม่ และด้วยเหตุนี้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องน่ากลับไปศึกาดู แต่ที่เห็นอย่างแน่นอนก็คือการล้มล้างฝ่ายที่แพ้อย่างร้ายกาจ ดังที่สุมาลี พันธุ์ยุรา เขียนเอาไว้ว่า

“การปราบปรามที่ร้ายแรงที่สุดของรัฐบาลคือการสังหารพ.ต.โผน อินทรทัต ซึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ ต่อมา พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ถูกตำรวจสังหารที่บ้าน และต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 อดีตรัฐมนตรี 4 คน คือ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และทองเปลว ชลภูมิ ถูกตำรวจสังหารที่บางเขน โดยตำรวจออกข่าวว่ามีโจรมลายูชิงตัวผู้ต้องหาระหว่างทาง ส่วน ทวี ตะเวทิกุล ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตหน้าวัดธรรมนิมิตร จังหวัดสมุทรสาคร” นี่ก็คือเรื่องราวของความพยายามที่จะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลผู้ยึดอำนาจเดิม หากแต่กระทำไม่สำเร็จนั่นเอง