ไม่โกง แค่ส่วนต่างเยอะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

“ไม่โกง แค่ส่วนต่างเยอะ” เป็นวลีที่สื่อมวลชนขนานนามกรณีการจัดซื้อจัดจ้างชุดไมโครโฟน (รุ่นเดียวกับที่ใช้ในห้องประชุมทำเนียบขาว ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา) เพื่อติดตั้งในห้องประชุม 501 (รวมถึงห้องประชุม 301 และ 302) ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรู้จักกันในชื่อเรียก “กรณีไมค์แพง” (ตกตัวละ 145,000 บาท) ซึ่งก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผู้ให้ความสนใจในประเด็นการเมืองและเทคโนโลยีจำนวนมาก ภายหลังจากที่เป็นสื่อมวลชนหลายแขนงเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมอบหมายให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีการติดตั้งชุดไมโครโฟนในห้องประชุมก่อนที่จะทำข้อตกลงสัญญาอย่างเป็นทางการ จึงไม่ได้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 สำหรับวลี “ไม่โกง แค่ส่วนต่างเยอะ” นี้เพี้ยนมาจากคำแถลงผลการตรวจสอบของ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวความตอนหนึ่งว่า “ไม่ถึงขั้นมีการทุจริต เพียงแต่ยอดวงเงินไม่สูงมากนัก แต่ส่วนต่างมันเยอะ จึงทำให้มองไม่ดี”


สาระสำคัญของเหตุการณ์

ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์

คดีไมค์แพงอันเป็นที่มาของวลี "ไม่แพง แค่ส่วนต่างเยอะ" ที่สื่อมวลชนใช้แสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ประจำห้องประชุมคณะรัฐมนตรี เริ่มขึ้นเมื่อมีโครงการปรับปรุงทัศนียภาพ และอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยวันที่ 4 กันยายน 2557 หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะตึกบัญชาการ 1 และ 2 ที่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเปิดเผยว่าการปรับปรุง ห้องประชุม 501 ห้อง 301 และ 302 ตึกบัญชาการ 1 ได้มีการติดตั้งระบบเครื่องเสียงไฮเทค เฉพาะไมโครโฟนซึ่งอ้างว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ใช้ในทำเนียบขาว ตกตัวละ 145,000 บาท รวมทั้งสิ้น 89 ตัว ประมาณราคาที่ 37 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณปรับปรุงรวมทั้งหมดทุกอย่างของทั้ง 3 ห้อง ตั้งงบไว้ประมาณ 69 ล้านบาท [1]

ภายหลังจากที่ตกเป็นข่าวก็เกิดกระแสที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง รวมถึง “นักสืบโซเชียล” ที่เป็นผู้ใช้เว็บบอร์ดออนไลน์ชื่อดังรู้จักกันชื่อ "นักสืบพันทิป" จึงช่วยกันขุดค้นหาข้อมูลแบ่งปันกันอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์แพร่หลายไปทั่วโลกออนไลน์ พบว่าจากข้อมูลของบริษัทที่ขายอุปกรณ์ดังกล่าวระบุราคาขายปลีกตกชุดละ 99,000 บาทเท่านั้น ขณะที่จัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งในทำเนียบรัฐบาลนับร้อยชุดกลับมีราคามากกว่าถึงเกือบ 5 หมื่นบาท [2] นอกจากนั้นแล้วยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับระบบภาพ (VDO Wall) ของแต่ละห้องประชุมนั้น เป็นจอยี่ห้อ LG พลาสมา C60PW120 ขนาด 60 นิ้ว ราคาจอละ 529,870 บาท เพื่อดำเนินการติดตั้งที่ห้องประชุม 501 จำนวน 16 จอ ห้องประชุม 301 จำนวน 12 จอ รวมทั้งสิ้น 28 จอ เมื่อรวมราคาจอพร้อมขาตั้งยึดผนังอันละ 19,270 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 15,375,920 บาท ความสงสัยยังเพิ่มมากขึ้นเมื่อพบว่าจอพลาสมาที่ได้ดำเนินการติดตั้งนั้นเป็นรุ่นที่ไม่ได้มีการทำตลาดแล้วเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า เมื่อเทียบกับจอ LG พลาสมาขนาด 60 นิ้ว รุ่นใหม่ที่มีความละเอียดของภาพสูงกว่า กลับมีราคาต่ำกว่ามาก กล่าวคือมีตั้งแต่ราคา 49,900 - 70,900 บาทเท่านั้น [3]

การตรวจสอบโดยหน่วยงานภาครัฐ

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนไปใช้ห้องประชุมตึกสันติไมตรี ในการประชุม ครม. นัดแรกอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 แม้จะมีการถอดไมโครโฟนชุดที่มีปัญหาดังกล่าวออกไปแล้ว โดยอ้างว่าห้องยังมีกลิ่นสี พร้อมกันนั้นก็สั่งการให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ดำเนินการตรวจสอบในกรณีนี้ [4] สำหรับ หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ได้ออกมาชี้แจงทันทีว่ายังไม่ทราบเรื่องราคาและยังไม่ได้รับเอกสารรายงานในเรื่องนี้ เนื่องจากการปรับปรุงตึกบัญชาการ 1 และ 2 ทำเนียบรัฐบาลเป็นความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง ต่อมา มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการปรับปรุงระบบเสียงและระบบควบคุมการประชุมเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องใช้วิธีการพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงได้ให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2557 แต่ยังไม่มีการลงนามสัญญาใดๆ


ของมีเพียงเจ้าเดียว การจ้างจึงเป็นการจ้างเจ้าเดียว เราจึงไม่รู้หลักการตั้งราคาของผู้ขาย ส่วนที่มีข่าวว่าราคาไมค์แพงกว่าทั่วไปก็ต้องเรียนว่า ไมค์ตัวนี้ยังไม่มีที่ใดใช้ ตัวราคาก็ได้คุยกับบริษัท อัศวโสภณ ว่า เมื่อไมค์ตัวนี้เป็นของที่นำเข้าก็ให้ท่านตั้งราคา และส่งรายละเอียดในเรื่องของการเสียภาษีศุลกากรและภาษีนำเข้ามาว่าท่านจะตั้งราคาขายเท่าใด แล้วก็จะทำการเจรจาต่อรอง โดยมีกรอบว่าต้องจ้างในวงเงินที่เราได้รับการอนุมัติมา[5]


ในวันที่ 10 กันยายน 2557 กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้เปิดแถลงข่าว พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทอัศวโสภณ ยอมรับว่าไมโครโฟนตกราคาตัวละ 145,000 บาทจริง แต่บริษัทผู้จำหน่ายลดให้ 35% เหลือ 94,250 บาท ส่วนการจัดซื้อนั้นเป็นการ "ยกเว้น" ตามที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอยกเว้นระเบียบการจัดซื้อพัสดุ โดยทั้งหมดเป็นงบที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโอนมาให้ [6] อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยผลการตรวจสอบว่า ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้มีความหวังดีในอันที่จะให้งานแล้วเสร็จได้ทันเวลา บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจึงได้เข้าไปติดตั้งไมโครโฟนให้ก่อนที่การจัดซื้อจัดจ้างจะดำเนินการเรียบร้อย จึงทำให้ราคามีความคลาดเคลื่อนและสร้างความไม่สบายให้หลายฝ่ายในสังคม ในกรณีนี้จึง "ไม่ถึงขั้นมีการทุจริต เพียงแต่ยอดวงเงินไม่สูงมากนัก แต่ส่วนต่างมันเยอะ จึงทำให้มองไม่ดี" และได้ดำเนินการให้จัดซื้อจัดจ้างใหม่แล้ว ทางด้านปฏิกิริยาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังจากมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

ต้องแยกผลสอบให้ออก ไม่ใช่สอบปุ๊บแล้วบอกทุจริต แต่มันมีขั้นตอน เช่น ส่อทุจริต ทุจริต และมีเจตนาหรือไม่ ต้องดูก่อนว่ามีการทุจริตหรือยัง มีการไปรับเงินรับทองตรงไหน เขาตรวจสอบเยอะ อย่ามองว่า ครม.จะต้องมาใช้ไมค์ใหม่ หรือมาเปลี่ยนเก้าอี้เพื่อให้ผมนั่ง ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น แต่เห็นว่าอนาคตถึงอย่างไรเราก็ต้องมี แต่เมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบกันไป ที่ทำไปก็เพื่อหน้าตาของพวกท่านหน้าตาของประเทศทั้งนั้น ไม่ใช่หน้าตาผม ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากมาตรฐานที่ไม่มีราคากลางเท่านั้น[7]


เช่นเดียวกับการตรวจสอบขององค์กรอื่นๆ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ให้ข้อสรุปเดียวกันว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนการโอนเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และไม่เกี่ยวข้องกับโครงการซ่อมแซมห้องประชุม เพราะทำหน้าที่เพียงด้านการจัดการ ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากเรื่องนี้ได้รับการร้องเรียนก็ได้มีการแก้ไขยกเลิกโครงการไปแล้ว จึงทำให้ไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด จนกระทั่งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้าร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีการตรวจสอบกรณีไมค์แพงอีกครั้ง โดยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่ากรณีนี้มีข้อมูลเพียงพอ จึงมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยกับพวก 5 ราย เนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการจัดซื้อระบบโสตทัศนูปกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดราคากลางจากกรมโยธาธิการ จำนวน 5 ราย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคำนวณราคากลางและการต่อรองราคาที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ ทั้งยังยังเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เข้ามาดำเนินการปรับปรุงระบบเสียง ระบบไฟฟ้า และแสงสว่าง ระบบวิดีโอวอล และระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และไม่ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ 2554) มาตรา 103/7 จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวต่อไป [8]

ปฏิกิริยาและข้อวิจารณ์จากสังคม

การจัดซื้อจัดจ้างกรณี “ไมค์แพง” ปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวไม่นานก่อนที่จะเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ทั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคณะ คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งหมายในการเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโหมกระแสต้านทุจริตทุกรูปแบบ ความกังวลของภาคสังคมและสื่อมวลชนจึงแสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัด เพราะการให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างซื่อตรง ยึดมั่นในความสุจริตยุติธรรม และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ แต่กลับปรากฏกรณีอื้อฉาวกับคนในรัฐบาล ความคาดหวังของสื่อมวลชนที่จะให้มีการชี้แจงและตรวจสอบกรณี “ไมค์แพง” อย่างจริงจังจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ซึ่งแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ แต่ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจึงถือเป็น “เจ้าบ้าน” แล้วก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ สำหรับสื่อมวลชนแล้วการพิสูจน์ความจริงให้กระจ่างโดยการตรวจสอบทุกขั้นตอนจึงเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจในการเข้ามาทำงานของรัฐบาล และ คสช. [9]

จริงอยู่ การประชุมคณะรัฐมนตรีตามกลไกประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามีความสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นสถาบันการเมืองที่กำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ แต่สำหรับนิธิ เอียวศรีวงศ์ แล้ว การประชุมคณะรัฐมนตรีของไทยเป็นเพียงเรื่อง “พิธีกรรม” ที่แสดงออกถึงความเคร่งขรึมจริงจังในการบริหารประเทศของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย แต่วาระการประชุมและมติในที่ประชุมแต่ละครั้งล้วนถูกจัดวางและผ่านการเจรจาต่อรองระหว่าง หรือ ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นหลายวาระที่สำคัญของประเทศก็สามารถผ่านมติที่ประชุมภายในระยะเวลาอันสั้น สาระของการกำหนดตัดสินใจจึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากทำให้ข้อตกลงที่มีมากก่อนหน้านั้นได้รับการประทับรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น ในแง่นี้ความใหญ่โตโอ่อ่าของห้องประชุม ครม. และงบประมาณที่ใช้จ่ายไปในการปรับปรุงห้องประชุม รวมถึงระบบเสียง ระบบควบคุมการประชุมกว่า 69 ล้านบาท ก็คือ การจัดเตรียมสภาวะแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อพิธีกรรมอันเข้มขรึมจริงจังที่แสดงต่อเบื้องหน้าสาธารณชนผ่านทางงสื่อมวลชน สิ่งที่ถูกแถลงผ่านไมโครโฟนในห้องประชุมจึงต้องมีลักษณะที่เป็นทางการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่คณะรัฐมนตรี [10]

บรรณานุกรม

โคตรไมค์ ต้องรีบเคลียร์ ก่อนเป็นตราบาป ครม.ใหม่." ผู้จัดการรายวัน. (10 กันยายน 2557), 18.

ตั้งอนุฯสอบอธิบดีโยธาซื้อไมค์แพง." ไทยรัฐ. (25 กุมภาพันธ์ 2558), 12.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ไมโครโฟน ในห้องประชุม ครม.." มติชนรายวัน. (15 กันยายน 2557), 20.

เปิดราคาปรับห้องประชุมทำเนียบ เฉียด 70 ล้าน - ไมค์ 181 ชุดกว่า 28 ล.- อึ้งอีกจอภาพรุ่นเก่าตัวละ 5 แสน." ผู้จัดการออนไลน์. (9 กันยายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000103696>. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2558.

ผลสอบไมค์แพงไม่ถึงโกงแค่ส่วนต่างมาก" คมชัดลึกออนไลน์. (14 ตุลาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://www.komchadluek.net/detail/20141014/194048.html>. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558.

ย้อนคดีไมค์แพง." เดลินิวส์. (3 พฤศจิกายน 2557), 2.

ย้อนรอยจัดซื้อไมค์แพงปมร้อนกลางกระแสปราบโกง." กรุงเทพธุรกิจ. (11 กันยายน 2557), 18.

อ้างอิง

  1. "โคตรไมค์ ต้องรีบเคลียร์ ก่อนเป็นตราบาป ครม.ใหม่," ผู้จัดการรายวัน, (10 กันยายน 2557), 18.
  2. "ย้อนรอยจัดซื้อไมค์แพงปมร้อนกลางกระแสปราบโกง," กรุงเทพธุรกิจ, (11 กันยายน 2557), 18.
  3. เปิดราคาปรับห้องประชุมทำเนียบ เฉียด 70 ล้าน - ไมค์ 181 ชุดกว่า 28 ล.- อึ้งอีกจอภาพรุ่นเก่าตัวละ 5 แสน," ผู้จัดการออนไลน์, (9 กันยายน 2557), เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx? NewsID=9570000103696>. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2558.
  4. "ย้อนคดีไมค์แพง," เดลินิวส์, (3 พฤศจิกายน 2557), 2.
  5. โคตรไมค์ ต้องรีบเคลียร์ ก่อนเป็นตราบาป ครม.ใหม่," ผู้จัดการรายวัน, (10 กันยายน 2557), 18.
  6. "ย้อนรอยจัดซื้อไมค์แพงปมร้อนกลางกระแสปราบโกง," กรุงเทพธุรกิจ, (11 กันยายน 2557), 18.
  7. "ผลสอบไมค์แพงไม่ถึงโกงแค่ส่วนต่างมาก" คมชัดลึกออนไลน์, (14 ตุลาคม 2557), เข้าถึงจาก <http://www.komchadluek.net/detail/20141014/194048.html>. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558.
  8. "ตั้งอนุฯสอบอธิบดีโยธาซื้อไมค์แพง," ไทยรัฐ, (25 กุมภาพันธ์ 2558), 12.
  9. “โคตรไมค์ ต้องรีบเคลียร์ ก่อนเป็นตราบาป ครม.ใหม่," ผู้จัดการรายวัน, (10 กันยายน 2557), 18.
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ไมโครโฟน ในห้องประชุม ครม.," มติชนรายวัน, (15 กันยายน 2557), 20.