แนวราษฎร์
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคแนวราษฎร์
หลังเหตุการณ์14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อันส่งผลให้การปกครองภายใต้รัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร สิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ขึ้น พร้อมทั้งได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518
ในขณะเดียวกันก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับที่สามของไทย ส่งผลให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้จนถึงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งรวมแล้วกว่า 43 พรรค
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2518 ผ่านพ้นไปแล้ว ปรากฏว่าการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลาระหว่างหลังการเลือกตั้งดังกล่าวถึงช่วงก่อนการรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่อีกจำนวน 14 พรรค ได้แก่ พรรคสยามใหม่ พรรคธรรมาธิปไตย พรรคไทสังคม พรรคพิทักษ์ไทย พรรคแนวร่วมประชาธิปไตย พรรคกรุงสยาม พรรคพลังเสรี พรรคชาติสยาม พรรคชาตินิยม พรรคไทยอิสระ พรรคพลังสยาม พรรคนิยมไทย พรรคไตรรงค์สยาม และพรรคแนวราษฎร์
สำหรับพรรคแนวราษฎร์นั้น มีนาวาอากาศโทจรูญ พวงมะลิ เป็นหัวหน้าพรรค และมีเลขาธิการพรรค คือ นายสุนทร เสตะจิต แต่หลังจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 และกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ปรากฏว่าพรรคแนวราษฎร์ไม่ได้ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้งในครั้งนี้แต่อย่างใด
ที่มา
จเร พันธุ์เปรื่อง, “พรรคการเมืองกับการเลือกตั้งทั่วไป 2526,” รัฐสภาสาร ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 (เมษายน 2526), หน้า 10-26.
เสนีย์ คำสุข, “ข้อมูลพื้นฐานพรรคการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2544,” รัฐสภาสาร ปีที่ 49 ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2544), หน้า 17-70.
สงวน คำวงษ์ศา, “พรรคการเมืองของไทย,” รัฐสภาสาร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มิถุนายน 2521), หน้า 1-16