เลขาธิการพรรค

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เลขาธิการพรรคการเมือง

เลขาธิการพรรคการเมือง ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญของพรรคการเมือง ในการประสานการทำงานของทุกส่วนงานภายในพรรค เพื่อให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปมักมีภารกิจหลักในการควบคุมดูแลกิจการภายในของพรรค ทำหน้าที่บริหารและรับผิดชอบงานในหน่วยงานต่างๆ ของพรรค และรับผิดชอบในจัดการประชุมใหญ่ การประชุมคณะกรรมการบริหารหรือการประชุมอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ตลอดจน ดำเนินการใดๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารหรือหัวหน้าพรรค เป็นต้น ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดให้เลขาธิการพรรคได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง (มาตรา 28)ด้วย ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง(มาตรา 11) โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1)สมาชิกผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2)มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

(3) ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 102 ที่มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่

          - ติดยาเสพติดให้โทษ

          - เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

          -เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          -ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

          -เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

          - เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

          -เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ

          -อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

          -เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

สำหรับกรณีพรรคการเมืองของไทย ตำแหน่งเลขาธิการพรรค มีฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำของพรรคการเมือง และมักเป็นตำแหน่งที่ไม่มีการแข่งขันกันมากนัก ทั้งยังมักเลือกจากกลุ่มคณะผู้ก่อตั้งพรรค หรือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคการเมือง และมักจะเลือกจากผู้มีชื่อเสียงหรือเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคการเมือง หรือมีประวัติ ภาพลักษณ์ที่ดีเด่น ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ที่สามารถดึงคะแนนเสียงหรือคะแนนนิยมจากประชาชนได้เป็นอย่างดี หรือสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้แก่พรรคการเมืองได้ดีกว่าบุคคลอื่นรวมไปถึงการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหากสำเร็จก็จะมีบทบาทในการคัดสรรบุคคลในพรรคเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง จึงกล่าวได้ว่าผู้นำพรรคการเมือง โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ถือเป็นผู้ควบคุมกลไกการทำงานของพรรค ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตลอดจนในบางครั้งยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคด้วย


เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

1. พล.ต. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (6 เมษายน 2489 - 16 กันยายน 2491)

2. นายเทพ โชตินุชิต (17 กันยายน 2491 - 25 มิถุนายน 2492)

3. นายชวลิต อภัยวงศ์ (มิถุนายน 2492 - 29 พฤศจิกายน 2494)

4. นายใหญ่ ศวิตชาติ (30 กันยายน 2498 - 20 ตุลาคม 2501) และ (พ.ศ. 2511 - 26 กันยายน 2513)

5. นายธรรมนูญ เทียนเงิน (26 กันยายน 2513 - 6 ตุลาคม 2518)

6. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ (13 พฤศจิกายน 2518 - 6 ตุลาคม 2521)

7. นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ (3 กุมภาพันธ์ 2522 - 26 พฤษภาคม 2522)

8. นายมารุต บุนนาค (26 พฤษภาคม 2522 - 3 เมษายน 2525)

9. นายเล็ก นานา (3 เมษายน 2525 - 5 เมษายน 2529)

10. นายวีระ มุสิกพงศ์ (5 เมษายน 2529 - 10 มกราคม 2530)

11. พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ (10 มกราคม 2530-พ.ศ. 2543)

12. นายอนันต์ อนันตกูล (พ.ศ. 2543-2547)

13. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ (พ.ศ. 2547-2548)

14. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน)


เลขาธิการพรรคชาติไทย

(1)พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) (พ.ศ.2517-2522)

(2)นายบรรหาร ศิลปอาชา (พ.ศ.2522-2537)

(3)นายเสนาะ เทียนทอง (พ.ศ.2537-2539)

(4)นายปองพล อดิเรกสาร (พ.ศ.2540-2543)

(5)นายสนธยา คุณปลื้ม (พ.ศ.2544-2547)

(6)นายประภัตร โพธสุธน (พ.ศ.2548-2551)


ที่มา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

เวปไซต์พรรคเพื่อไทย http://www.ptp.or.th/info/rule6.htm

วิทยา นภาศิริกุลกิจและสุรพล ราชภัณทารักษ์. พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544 หน้า 105.

เวปไซต์พรรคชาติไทย http://www.chartthai.or.th/index.php?option=com_profiles

เวปไซต์พรรคประชาธิปัตย์ http://www.democrat.or.th/history.htm และ http://www.democrat.or.th/rule/rule_4.htm