คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หมายถึง คณะบุคคลที่มีจำนวนและที่มาตามที่ข้อบังคับของพรรคการเมืองกำหนด ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบุคคลสำคัญของพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการทั่วไปภายในพรรค

สำหรับกรณีของพรรคการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองนั้นๆ (มาตรา 28) และได้กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ประกอบด้วย (มาตรา 11)

(1) รองหัวหน้าพรรคการเมือง

(2) เลขาธิการพรรคการเมือง

(3) รองเลขาธิการพรรคการเมือง

(4) เหรัญญิกพรรคการเมือง

(5) นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง

(6) โฆษกพรรคการเมือง

(7) กรรมการบริหารอื่น ๆ ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่

- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง5ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งตามข้อบังคับพรรคการเมืองซึ่งต้องไม่เกินคราวละ 4 ปี และอาจได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกได้ (มาตรา 11)

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

(1) การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองและมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และต้องส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง (มาตรา 17)

(2) ทำการแทนหัวหน้าพรรคการเมือง ในฐานะผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือ(มาตรา 17)

(3) รับผิดชอบร่วมกันตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคการเมืองและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(มาตรา 17)

(4) ควบคุมไม่ให้สมาชิกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(มาตรา 18)

(5) มีหน้าที่ต้องควบคุมไม่ให้ผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม(มาตรา 18)

(6) การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนของพรรคการเมือง โดยพิจารณาจากรายชื่อตามลำดับ จากรายชื่อผู้ซึ่งที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบและรายชื่อบุคคลอื่นที่เห็นสมควรโดยมติคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ให้ส่งผู้ใดเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นที่สุด (มาตรา 37) และให้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง (มาตรา 38)

(7) รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง (มาตรา 44)

(8)ควบคุมไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ใช้จ่ายเกินวงเงินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 51)

(9) จัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ได้แก่

- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนให้จัดสรรเป็นจำนวนรวมโดยพิจารณาตามจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเสนอไว้ในบัญชีรายชื่อแต่ละบัญชีที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้จัดสรรให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเป็นรายบุคคล (มาตรา 52)

การตรวจสอบและควบคุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

(1) การฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือข้อบังคับพรรคการเมือง นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่งได้ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคน ออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอีกเว้นแต่จะพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง (มาตรา 31)

(2) การถอดถอนกรรมการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 10,000 คน แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่ากัน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนกรรมการบริหารพรรคการเมือง ออกจากตำแหน่งได้ โดยให้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำร้องขอไปถึงพรรคการเมือง ซึ่งมติให้ถอดถอนต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนผู้ที่เข้าประชุมใหญ่วิสามัญ โดยให้ลงคะแนนลับ ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดถูกถอดถอน ให้ที่ประชุมใหญ่ดำเนินการเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนั้น การดำเนินการตามมาตรานี้ให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การถอดถอนผู้นั้น ตามหลักเกณฑ์นี้ไม่ได้ (มาตรา 32)

(3)กรณีมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญหรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับพรรคการเมืองดังกล่าวขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป (มาตรา 33)

(4) การแสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพร้อมสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ภายใน30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง และภายใน 30 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ถูกยุบหรือนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมาให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อนายทะเบียน ทั้งนี้ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอื่นแล้ว อาจส่งสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ตามกฎหมายอื่นนั้นต่อนายทะเบียนแทนก็ได้ (มาตรา 49)

(5) การรับเงินบริจาคพรรคการเมือง

- ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งเป็นการบริจาคโดยไม่ปรากฏชื่อผู้บริจาคหรือที่บริจาคให้ตนเป็นส่วนตัว (มาตรา 56)

- ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด รับบริจาคจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเกินกว่า 10,000,000 บาทต่อปี (มาตรา 59)

- เมื่อมีการบริจาคแก่พรรคการเมือง ให้ กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้ที่รับบริจาค ต้องจัดทำบันทึกการรับบริจาคไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งบันทึกการรับบริจาคของพรรคการเมืองพร้อมเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่พรรคการเมือง เพื่อนำส่งเข้าบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคของพรรคการเมืองไว้ก่อนภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับบริจาค (มาตรา 60)

(6) การปฎิบัติหน้าที่ภายหลังพรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีการเงินของพรรคการเมืองจะแล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ เลิก หรือยุบได้ (มาตรา 96)

การกำหนดบทลงโทษกรรมการบริหารพรรคการเมือง

โทษทางอาญา

- ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ควบคุมหรือมิได้ยับยั้งให้สมาชิกหรือผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งไม่กระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 105)

- ผู้ใดรู้อยู่แล้ว แต่จัดให้พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี (มาตรา 107)

- ผู้ใดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 111)

- ผู้ใดไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพร้อมสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินในวันที่เข้ารับตำแหน่งวันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ หรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ในวันยื่นให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง ภายใน30วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือถูกยุบหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 112)

- ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน จัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 113)

- ผู้ใด ฝ่าฝืนรับบริจาคจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเกินกว่าจำนวน 10,000,000,000 บาทต่อปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 115)

- ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี (มาตรา 116)

โทษทางปกครอง

- ผู้ใดไม่จัดให้มีการทำบัญชีของพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมือง หรือจัดให้มีการทำบัญชีของพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมืองโดยละเว้นการลงรายการในบัญชีลงรายการในบัญชีเป็นเท็จ แก้ไขบัญชี ซ่อนเร้นหรือทำหลักฐานในการลงบัญชีอันจะเป็นผลให้การแสดงที่มาของรายได้และการใช้จ่ายของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่ปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งขึ้น และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 126)

- ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ไปแล้วและไม่จัดทำแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองในแต่ละปี ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หรือในกรณีที่ ภายหลังปรากฏว่ามีเหตุที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ต้องเลิก หรือยุบพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองนั้นต้องคืนเงินสนับสนุนแก่กองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หากต่อมาได้รับคำเตือนจากนายทะเบียนแล้วยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำเตือนนั้น ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกินสองเท่าของเงินสนับสนุนและดอกเบี้ยตามกฎหมายที่ต้องคืนให้แก่กองทุน (มาตรา 130) ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นร่วมรับผิดชอบชดใช้เงินคืนแก่กองทุนอย่างลูกหนี้ร่วม (มาตรา 86)

ตัวอย่างคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไทย

พรรคเพื่อไทย

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรค

นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรค

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรค

นายปลอดประสพ สรัสวดี รองหัวหน้าพรรค

นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร เลขาธิการพรรค

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ รองเลขาธิการพรรค

นางทัสน์วรรณ มุสิกบุญเลิศ เหรัญญิก

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองโฆษกพรรค

นายกมล บันไดเพชร นายทะเบียนพรรค

นายวรวีร์ มะกูดี กรรมการบริหารพรรค

นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ กรรมการบริหารพรรค

นายเอกธนัช อินทร์รอด กรรมการบริหารพรรค

พรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค

นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรค

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร

นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรค

นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รองเลขาธิการพรรค

นายธีระ สลักเพชร รองเลขาธิการพรรค

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เหรัญญิกพรรค

นายบุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรค

นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรค

นายวิรัช ร่มเย็น กรรมการบริหารพรรค


ที่มา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

ทวี สุรฤทธิกุล และ เสนีย์ คำสุข,”หน่วยที่ 7 โครงสร้างและกลไกของพรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน” ในเอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 505.

เวปไซต์พรรคพลังประชาชน http://www.ptp.or.th/member/m-board.aspx

เวปไซต์พรรคประชาธิปัตย์ http://www.democrat.or.th/teamwork_democrat/adminteam.htm