พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
ผู้เรียบเรียง นพรัตน์ วงศ์วิทยาพาณิชย์ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ถูกบัญญัติขึ้นหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 ภายใต้สภานการณ์ที่จะต้องนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไป และเพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นระบบการดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีคุณธรรรม และจริยธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว และการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่[1] ดังนั้นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บางส่วนอาจคงสภาพเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และเนื้อหาบางส่วนก็เป็นไปเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาทิ
เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่มีการปรับปรุง
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรค หากเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อสถานะการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้มติหรือข้อบังคับนั้นถูกยกเลิกไปได้ (มาตรา 65) เพื่อลดความเข้มแข็งของหัวหน้าพรรคการเมือง
2. ห้ามควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาในระหว่างอายุของสภา เพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา (มาตรา 104)
3. ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 90 วัน ยกเว้นการยุบสภาต้องสังกัดไม่ได้ต่ำกว่า 30 วัน (มาตรา101)
เนื้อหาในส่วนของระบบพรรคการเมือง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบพรรคการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) มีการกล่าวถึงใน 2 หมวดใหญ่ด้วยกัน อันได้แก่ (1) หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 47 และ (2) ในบทเฉพาะกาลมาตรา 328 ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายประการ ดังนี้
1. มาตรา 65 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 11 เสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม ได้มีการกำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง
2. มาตรา 138 หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 6 การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้มีการบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญ จำนวน 9 ฉบับซึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ก็นับเป็นกฎหมายในนั้น โดยในบทเฉพาะกาลมาตรา 295 ได้ระบุว่า ให้สภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
ดังนั้น จึงส่งผลให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ว่า ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือผู้มีสัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดยมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ (มาตรา 8) และต้องมีสมาชิกห้าพันคนขึ้นไปภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และกระจายตามภาคและจังหวัดตามที่นายทะเบียนกำหนด และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาภายใน 1 ปี (มาตรา 26)
รายละเอียดต่าง ๆ ว่าด้วยพรรคการเมือง
นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังระบุรายละเอียด
- 1) การจัดองค์กรของพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดองค์กรภายของพรรคการเมืองดังต่อไปนี้
- - คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองและมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและซื่อสัตย์ สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และต้องส่งเสริมความเป็นประขาธิปไตยในพรรคการเมือง (มาตรา17)
- - คณะกรรมการบริหารพรรคประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองโฆษกพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารอื่นๆ ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (มาตรา11)
- 2) การรวมและการยุบพรรคการเมือง
เจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2541 ที่มีเนื้อหาให้พรรคการเมืองใหญ่มีความเข้มแข็งโดยการส่งเสริมให้ควบรวมและยุบพรรคการเมืองขนาดเล็ก ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงวางหลักเกณฑ์เงื่อนไขส่งเสริมให้พรรคการเมืองยุบพรรคหรือรวมพรรคให้ยากกว่าเดิม เพื่อป้องกันเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่เกินจริงอันเนื่องมาจากการที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ควบรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก และส่งเสริมให้พรรคการเมืองขนาดเล็กดำรงอยู่ได้ในฐานะที่เป็นตัวแทนทางอุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่งของประชาชนที่มีฐานหลากหลายความคิดการเมืองเช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่
ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงข้อบัญญัติว่า “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้” (หมวด 5 การควบรวมพรรคการเมือง มาตรา 99) และการรวมพรรคการเมืองอาจกระทำได้ 2 วิธีคือ (1) การรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ และ (2) การรวมพรรคการเมืองเข้าเป็นพรรคเดียวกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก (มาตรา 100)
2.1.1 การรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ (มาตรา 101) กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ ให้ที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคมีมติเห็นชอบ โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคจำนวนพรรคละ 10 คน ประชุมร่วมกัน เพื่อกระทำการเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ว่าต้องกำหนดนโยบายพรรคการเมือง และกำหนดข้อบังคับพรรคการเมือง และให้นายทะเบยนประกาศคำสั่งการเลือกและการควบรวมพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา
2.1.2 การรวมพรรคการเมืองเข้าเป็นพรรคเดียวกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก (มาตรา 103) กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ ให้แต่ละพรรคขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง และให้หัวหน้าพรรคทุกพรรคที่ต้องการจะควบรวมกันแจ้งต่อทนายทะเบียน เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเลิกพรรคการเมืองที่รวมกับพรรคหลักนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง
2.2 การเลิกและการยุบพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองสิ้นสภาพด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (มาตรา 91)
- 1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
- 2) ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกัน หรือเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกัน
- 3) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 5,000 คน ภายในระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี
- 4) ไม่มีการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมือง หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี
- 5) มีการควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น
- 6) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง
- 7) ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองไม่ครบ หรือไม่สามารถหาสมาชิกได้อย่างน้อย 5,000 คน สาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง (ตามมาตรา 26)
- 3) ระบบเงินสนับสนุนพรรคการเมือง
ระบบเงินอุดหนุนพรรคการเมืองโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ระบบคือ ระบบเงินอุดหนุนจากเอกชน (Private Financing) และ ระบบเงินอุดหนุนจากรัฐ (Public Financing)
3.1 ระบบเงินอุดหนุนจากเอกชน (Private Financing) หมายถึง การได้มาซึ่งรายรับของพรรคการเมืองจากผู้สนับสนุนทางการเมืองซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรทางธุรกิจหรือองค์กรอื่นๆ
การบริจาคเงินเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปดำเนินการตามนโยบายของพรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 72) ดังนี้
(1) จำต้องทำการบริจาคในนามพรรคการเมืองห้ามบริจาคสมาชิกพรรคเป็นการส่วนตัว (มาตรา 56) และการบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ให้กระทำโดยเปิดเผยชื่อผู้บริจาคและสามารตรวจสอบได้ (มาตรา 56) และการบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และหากบริอจาคเป็นตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไปต้องสั่งจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อม (มาตรา 57) นอกจากนั้นกฎหมายยังห้ามให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลบริจาคให้แก่พรรคกาเรมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และหากนิติบุคลใดบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องได้รับอนุมัติหรือสัตยาบันโดยมติที่ประชุมหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นหรือสนมาชิกของนิติบุคคลนั้น (มาตรา 59)
(2) ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวสนเป็นเงินได้ โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 65)
(3) ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคจากผู้กระทำหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ (มาตรา 66)
(4) ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคจาก (มาตรา 69)
- (4.1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
- (4.2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร
- (4.3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การพิจารณาตามอนุมาตรานี้ ให้พิจารณาในวันกาอนวันที่บริจาคโดยให้ถือทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือซึ่งมัผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
- (4.4) องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
- (4.5) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาค เพื่อดำนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
- (4.6) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
3.2 ระบบเงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2550 ส่วนที่ 4 การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ มาตรา 73 ระบุให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมืองและการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยกองทุนประกอบก้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนื้
- (1) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย
- (2) เงินที่ได้รับมาจากกรมสรรพากรตามมาตรา 58
- (3) เงินสนับสนุนสมทบจากรัฐตามมาตรา 76
- (4) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทยราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
- (5) เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษทางปกครองหรือทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
- (6) เงินหรือทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
- (7) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตรามมาตรา 96
- (8) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
- (9) เงินดอกผลของกองทุน
- (10) เงินรายรับอื่น
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมิอง ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียน และพัฒนาพรรคการเมือง (มาตรา 74) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่แทน ซึ่งประกอบด้วยนายทะเบียนเป็นประธาน กรรมการการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน ผู้แทนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนพรรคการเมืองสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน (ผู้แทนของพรรคการเมืองต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้แทนพรรคการเมืองที่มิได้มีสมาชิกในสังกัดเป็นสมาชิกสภาผ็แทนราษฎรซึ่งเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคนและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ (มาตรา 74)
การจัดสรรเงินให้แก่พรรคการเมือง (มาตรา 75) จะกระทำเป็นรายปีให้แก่พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด โดย
- (1) ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนรวมกัน
- (2) หรือได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละศูนย์จุดห้าของคะแนนเสียงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนได้รับในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ
ทั้งนี้พรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนจะได้รับการจัดสรรเงินตาม
- (1) จำนวนคะแนนเสียง จากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนเงินทั้งหมดที่จัดสรร จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 20 ของจำนวนเงินทั้งหมดที่จัดสรร
- (2) จำนวนสาขาพรรคการเมือง ได้ร้อยละ 10 ของจำนวนเงินทั้งหมดที่จัดสรรร
- (3) จำนวนสมาชิกพรรค ที่ชำระค่าบำรุงรายปี ได้ร้อยละ 10 ของจำนวนเงินทั้งหมดที่จัดสรรร
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองใดพรรคเมืองหนึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมดที่จัดสรรไม่ได้
นอกจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการลดหรือเลิกการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองได้ ดังนี้ (มาตรา 78)
- (1) ในกรณีที่สมาชิกของพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปเกิน 2 ครั้งติดต่อกัน ให้ลดเงินสนับสนุนพรรคลงกึ่งหนึ่งจากที่คำนวนได้
- (2) ในกรณีที่สมาชิกของพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปเกิน 3 ครั้งติดต่อกัน ให้ลดเงินสนับสนุนพรรคลง 3 ใน 4 จากที่คำนวนได้
- (3) ในกรณีที่สมาชิกของพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปเกิน 4 ครั้งติดต่อกัน และ/หรือพรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งสมาชิกลงเลือกตั้งทั่วไป ให้เลิกให้เงินสนับสนุนพรรค
อีกทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดให้พรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนในเรื่อง ค่าไปรษณียากร ค่าโทรศัพท์ หรือค่าโทรคมนาคมอื่น การจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ของพรรคการเมือง ค่าเช่าสำนักงานพรรคการเมือง หรือสาขาพรรคการเมือง ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าสถานที่จัดประชุมใหญ่พรรคการเมือง หรือจัดประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองหรือเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น (มาตรา 81)
อ้างอิง
- ↑ สภาร่างรัฐธรรมนูญ, ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2550), น.170.
ดูเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550(PDF File Download)