เฉลิม อยู่บำรุง
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เฉลิม อยู่บำรุง
ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคมวลชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวสภาที่มีฝีปากกล้า
ประวัติส่วนบุคคล
ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เกิดเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2490โดยไม่ทราบวันเกิดแน่นอน เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คนของร้อยตำรวจตรีแฉล้มและนางลั้ง อยู่บำรุง เข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 ที่โรงเรียนวัดบางบอนจากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดสิงห์ โดยในระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนวัดสิงห์ได้อาศัยอยู่ที่วัดกำแพง[1] จากนั้นเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก เหล่าสารวัตรทหาร สอบจบได้เป็นลำดับที่ 12
ในภายหลังร้อยตำรวจเอกเฉลิมเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก
เหตุการณ์สำคัญ
หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก ร้อยตำรวจเอกเฉลิม ได้เข้ารับราชการในกรมสารวัตรทหารบก โดยในระหว่างที่เป็นสารวัตรทหารได้มีโอกาสฝึกฝนวิชายูโดกับการต่อสู้ด้วยมือเปล่ากับรอยัล สคริปต์ ทหารสหรัฐอเมริกา ที่มาประจำคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (จัสแม็ก) จนได้รับประกาศนียบัตร ความรู้ดังกล่าวทำให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมโอนย้ายเข้าเป็นตำรวจโดยใช้วิชายูโดเข้าเป็นผู้บังคับหมู่ในแผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม หรือหน่วยคอมมานโด ครองยศสิบตำรวจเอก ในเวลาต่อมาได้สอบเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร โดยติดยศร้อยตำรวจตรีในพ.ศ. 2516 ในกองบังคับการกองปราบปราม จนดำรงตำแหน่งสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่เรียกว่าสารวัตรประเทศไทย[2]
พ.ศ.2523 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมเข้าจับกุมบ่อนแห่งหนึ่งในพื้นที่สถานีตำรวจพลับพลาไชย เขต 2 ตามคำสั่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และถูกพลเอกเล็ก แนวมาลีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นย้ายไปรับตำแหน่งหัวหน้าแผนก 8 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 8 อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเมื่อเกิดกรณีการเสียชีวิตของพันโทชายชาญ เทียนประภาส ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2523 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมจึงถูกเรียกกลับกองปราบปรามเพื่อทำคดี[3]
หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่แผนก 5 กองกำกับการ 7 กองบังคับการปราบปรามดูแลยาเสพติดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ก่อนจะย้ายกลับมาเป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 อีกครั้งแล้วเข้าร่วมยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกเปรม_ติณสูลานนท์ร่วมกับกลุ่มทหารหนุ่มในระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ.2524 โดยนำกำลังตำรวจจำนวน 370 นาย เข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เป้าหมายคือ กรมประชาสัมพันธ์ กองกษาปณ์ การไฟฟ้านครหลวง สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และ ช่อง 3[4] แต่การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ทำให้ถูกจับกุมในข้อหากบฏและถูกปลดออกจากราชการ แม้ภายหลังรัฐบาลจะออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 แต่ร้อยตำรวจเอกเฉลิมไม่ได้กลับเข้ารับราชการและตัดสินใจเข้าสู่วงการเมือง
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2524 ได้เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์แบบเบลล์ 205 ของกรมตำรวจ ที่นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการหลวง ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตกในหุบเขา ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ทำให้พันตำรวจเอก กฤช สังขทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายชัยทิพย์ น่วมอนงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครเสียชีวิต[5] ร้อยตำรวจเฉลิมได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าได้ลำดับที่ 2 ด้วยคะแนน 29,276 แพ้กำนันปลิว ม่วงศิริ ผู้สมัครจากพรรคประชากรไทย [6]คะแนนที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับจากการเลือกตั้งซ่อมทำให้นายพิชัย รัตตกุลหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มาชวนให้เข้าพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2526 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2526 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ได้รับตำแหน่งทางการเมืองเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร้อยตำรวจเอกเฉลิมเห็นว่าเส้นทางการเติบโตในพรรคประชาธิปัตย์มีน้อยมากอันเนื่องจากวัฒนธรรมของพรรค ดังนั้นร้อยตำรวจเอกเฉลิมจึงได้จดทะเบียนตั้งพรรคมวลชนในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2528 โดยในระยะแรกให้นายสมศักดิ์ ภาคีโพธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค จนเมื่อพลเอกเปรมได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2529 และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2529 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคมวลชนและได้ที่นั่งในสภาฯจำนวน 3 ที่นั่ง[7] โดยเป็นพรรคฝ่ายค้าน
เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 อันเนื่องจากความขัดแย้งกันเองของพรรครัฐบาลและกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ในการเลือกตั้งดังกล่าวพรรคมวลชนได้ที่นั่งในสภาฯจำนวน 5 ที่นั่ง และพรรคมวลชนได้เข้าร่วมรัฐบาล ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ดูแล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณและองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.)
พ.ศ.2533 รัฐบาลพลเอกชาติชาย_ชุณหะวัณเริ่มเกิดปัญหากับกองทัพ เมื่อพลเอกชวลิตตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้ารับตำแหน่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2533 แต่ในระหว่างอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลอย่างรุนแรง ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้ออกมาวิจารณ์ “หลังบ้าน”พลเอกชวลิตว่าเป็นตู้เพชร ตู้ทองเคลื่อนที่ หลังจากนั้นไม่นานพลเอกชวลิตก็ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลพลเอกชาติชายและก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกองทัพมากยิ่งขึ้น[8]
พลเอกชาติชายให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมติดตามดูว่ามีหน่วยทหารหน่วยใดที่คิดปฏิวัติโดยร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้ใช้รถโมบายยูนิตขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ไปดักฟัง วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2533 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ออกแถลงการณ์ยึดรถโมบายยูนิต ซึ่งจอดอยู่บริเวณวัดไผ่เลี้ยง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพราะต้องสงสัยทำให้ระบบสื่อสารของทหารถูกรบกวน เมื่อองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ขอทวงรถคืน แต่ถูกปฏิเสธจากพลเอกสุนทร_คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร้อยตำรวจเอกเฉลิมจึงได้ให้สัมภาษณ์โจมตีพลเอกสุนทร เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าพรรคมวลชนทำหนังสือถึงสมาชิกให้เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจร้อยตำรวจเอกเฉลิม พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกได้อาศัยอำนาจของผู้อำนวยการรักษาพระนคร ออกคำสั่งที่ 43/2533 ห้ามชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล[9]
ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวมีความพยายามกดดันให้ปรับร้อยตำรวจเอกเฉลิมออกจากคณะรัฐมนตรี ในตอนแรกพลเอกชาติชายรับปากว่าจะให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมออกจากรัฐบาล แต่การปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2533 พลเอกชาติชายตัดสินใจปรับร้อยตำรวจเอกเฉลิมไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผลการปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลยิ่งขยายตัวออกไป ทำให้พลเอกชาติชายตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2533 ในการจัดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พลเอกชาติชายได้ตัดพรรคมวลชนออกจากการร่วมรัฐบาล[10]
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือรสช.นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ได้ทำรัฐประหาร โดยอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจ 5 ข้อ เช่น มีการทุจริตคอรัปชั่นของบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร[11] ทำให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ 26 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) โดยมีพลเอกสิทธิ_จิรโรจน์เป็นประธาน[12]ผลจากการตรวจสอบของ คตส.ได้กล่าวหาว่าร้อยตำรวจเอกเฉลิมร่ำรวยผิดปกติ และถูกยึดทรัพย์จำนวน 32 ล้านบาท
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2534 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมจึงได้เดินทางกลับประเทศและลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเป็นลำดัยที่ 4 โดยแพ้ผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ ที่ได้คะแนนลำดับที่ 3 ไป 900 คะแนน[13]
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และพรรคมวลชนได้ที่นั่งในสภาฯจำนวน 4 ที่นั่ง
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 สมาชิกพรรคมวลชนได้รับการเลือกตั้งจำนวน 3 ที่นั่ง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม[14]
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สมาชิกพรรคมวลชนได้รับการเลือกตั้งจำนวน 2 ที่นั่ง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2544 สมาชิกพรรคมวลชนได้ยุบรวมเข้ากับพรรคความหวังใหม่ ซึ่งต่อมาได้พรรคความหวังใหม่ได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทยในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2545 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมมีความขัดแย้งกับสมาชิกบางกลุ่มในพรรคไทยรักไทย ทำให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิมออกจากพรรคไทยรักไทยแล้วลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2547 แต่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 4
ระหว่าง พ.ศ.2548 – พ.ศ.2550 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้ถอยออกจากแวดวงการเมืองและไปเรียนหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ร้อยตำรวจเอกเฉลิมกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งโดยตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนโดยอธิบายว่า ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมพร้อมครอบครัวได้เดินทางไปเยี่ยม ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดร.ทักษิณได้ชวนเข้าร่วมงานทางการเมืองกับพรรคพลังประชาชน[15] ในการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนลำดับที่ 2 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551
นโยบายของร้อยตำรวจเอกเฉลิมหลายนโยบายถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น นโยบาย ผู้ว่า 1 คน 1 วัน โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาพบที่บ้านพักย่านบางบอนในตอนเช้าก่อนจะนั่งรถไปทำงานที่กระทรวงมหาดไทยด้วยกัน ระหว่างที่เดินทางก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พูดถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรใส่เทป เพื่อนำมาเป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย[16] ร้อยตำรวจเอกเฉลิมพ้นจากตำแหน่ง ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2551 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี
เมื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชนอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส่งผลให้นายสมชายถูกตัดสิทธิทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ สมาชิกของพรรคได้มาตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อพรรคเพื่อไทย โดยได้มีการปรับโครงสร้างหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2552 ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกร้อยตำรวจเอกเฉลิมเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคและประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่คล้ายกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[17]
การเลือกตั้งทั่วไปในอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดและสามารถจัดตั้งรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[18] เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ร้อยตำรวจเอก เฉลิม ถูกปรับให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน[19]
ในระหว่างการชุมนุมของ[[คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข|คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข]] (กปปส.) ซึ่งเริ่มชุมนุมตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ร้อยตำรวจเอกเฉลิมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในสถานการณ์ฉุกเฉินตามคําสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2557[20] ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 ถึง วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการโยกย้ายนายถวิล_เปลี่ยนศรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิลต้องถือว่ากระทำการโดยมิชอบ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวลงด้วยเช่นกัน ทำให้ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุงต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีรักษาการ[21] ซึ่งก่อให้เกิดสุญญากาศในการใช้อำนาจทางการเมืองเพราะรัฐบาลไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้และคณะรัฐมนตรีรักษาการต้องพ้นจากตำแหน่ง จนนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองและการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
หนังสือแนะนำ
อนุสรณ์ ศิริชาติ.(2555).ฉะเหลิม คนรักต้องอ่าน คนไม่รักยิ่งต้องอ่าน.กรุงเทพฯ : บริษัทอินอินจำกัด.
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการมติชน.289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2550.พิมพ์ครั้งที่ 2) หน้า 54.
ไทยรัฐออนไลน์,เปิดรายชื่อ รมต. ตกเก้าอี้ พร้อม ยิ่งลักษณ์. เข้าถึงจากhttp://www.thairath.co.th/content/421277.เมื่อ 10 กันยายน 2559.
ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 108 ตอนที่ 34 หน้า 2 ลงวันที่25 กุมภาพันธ์ 2534
ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2552,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2553), หน้า 40.
ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2554,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2555), หน้า 273.
ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2556,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2557), หน้า 222.
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 13 ง หน้า 8 ลงวันที่ 21 มกราคม 2557
อนุสรณ์ ศิริชาติ.ฉะเหลิม คนรักต้องอ่าน คนไม่รักยิ่งต้องอ่าน.(กรุงเทพฯ : บริษัทอินอินจำกัด.2555).หน้า 38.
อ้างอิง
[1] อนุสรณ์ ศิริชาติ.ฉะเหลิม คนรักต้องอ่าน คนไม่รักยิ่งต้องอ่าน.(กรุงเทพฯ : บริษัทอินอินจำกัด.2555).หน้า 38
[2] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 31.
[3] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 67.
[4] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 75.
[5] กองบรรณาธิการมติชน.289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2550.พิมพ์ครั้งที่ 2) หน้า 54.
[6] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 89.
[7] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 106.
[8] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 115.
[9] กองบรรณาธิการมติชน.หน้า 165.
[10] กองบรรณาธิการมติชน.หน้า 168.
[11] กองบรรณาธิการมติชน.หน้า 183.
[12] ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 108 ตอนที่ 34 หน้า 2 ลงวันที่25 กุมภาพันธ์ 2534
[13] อนุสรณ์ ศิริชาติ.หน้า 179.
[14] อนุสรณ์ ศิริชาติ,หน้า 185.
[15] อนุสรณ์ ศิริชาติ,หน้า 251.
[16] อนุสรณ์ ศิริชาติ,หน้า 269.
[17] ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2552,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2553), หน้า 40.
[18] ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2554,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2555), หน้า 273.
[19] ศูนย์ข้อมูลมติชน,บันทึกประเทศไทย ปี 2556,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.2557), หน้า 222.
[20] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 13 ง หน้า 8 ลงวันที่ 21 มกราคม 2557
[21] ไทยรัฐออนไลน์,เปิดรายชื่อ รมต. ตกเก้าอี้ พร้อม ยิ่งลักษณ์. เข้าถึงจากhttp://www.thairath.co.th/content/421277.เมื่อ 10 กันยายน 2559.