สองนคราประชาธิปไตย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

สองนคราประชาธิปไตย เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อสะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี 2533-2536 พร้อมทั้งเสนอนโยบายปฏิรูปผ่านความเข้าใจสภาพปัญหาจากกรอบทฤษฎี ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย อธิบายว่าความไม่มั่นคงลงตัวของระบอบประชาธิปไตยนับแต่ต้นทศวรรษ 2520 (อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”) จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2530 (ที่มวลชนคนชั้นกลางลุกขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.[1] ) เป็นผลมาจากคนชั้นกลางในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการประชันขันแข่งทางการเมืองระหว่างคณะทหารและพรรคการเมือง มีโลกทัศน์ต่อ “ประชาธิปไตย” แตกต่างกัน[2]

จนกล่าวได้ว่า คนชนบทเป็นผู้ “ตั้ง” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานเสียง” ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง ขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ “ล้ม” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานนโยบาย” ของรัฐบาล[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องกดดันรัฐบาล ไปจนถึงการเชื้อเชิญให้ทหารแทรกแซงการเมืองโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ สำนึกรู้และความเข้าใจ “ประชาธิปไตย” ที่ต่างกันนี้จึงกลายเป็นมูลเหตุให้การเมืองไทย “เหวี่ยงไปมาระหว่างเผด็จการที่ล้าหลังกับประชาธิปไตยที่ขาดความชอบธรรม[4] การก้าวพ้นจากสภาพสองนคราประชาธิปไตยก็คือ การแสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกัน[5]

สาระสำคัญของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย

สองนครา กับ ทวิลักษณ์ “ประชาธิปไตย”

ปัญหาการเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2520-2530 ถูกตอกย้ำสม่ำเสมอว่าเป็นผลมาจากการซื้อสิทธิขายเสียงในชนบท ภาพลักษณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งต่างจังหวัด ในสายตาของคนชั้นกลางเมือง (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ) ล้วนเต็มไปด้วยภาพประทับของผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ นักเลง และนายทุนท้องถิ่น ทั้งยังกังขาไปจนถึงตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ในความรู้ความสามารถ รสนิยม อากัปริยา และบุคลิกของผู้นำทางการเมือง[6] ภาพประทับเหล่านี้มีมูลฐานจากการมอง “ประชาธิปไตย” ของกลุ่มชนที่มีพื้นเพภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกันสองมุมมอง กล่าวคือ “ประชาธิปไตย” ของคนชั้นกลาง และ “ประชาธิปไตย” ของคนชนบท

“ประชาธิปไตย” ของคนชั้นกลางวางอยู่บนฐานประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งหมายความว่าประชาธิปไตยที่ “แท้จริง” จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับอุดมการณ์และนโยบายของผู้สมัคร/พรรคการเมือง ตลอดจนคุณธรรมความสามารถขององค์กรและบุคลากรทางการเมืองในการบริหารปกครองประเทศ[7] ขณะที่ประชาชนแต่ละคนอยู่ในฐานะปัจเจกชนผู้สามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองอย่างอิสระ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงไม่ควรกระทำโดยมีพันธะผูกพันในเชิงบุญคุณต่อผู้สมัคร ดังนั้นการรับอามิสสินจ้างเพื่อไปลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใดจึงถือเป็นเรื่องผิดบรรทัดฐานประชาธิปไตยของคนชั้นกลาง

“ประชาธิปไตย” ของชาวชนบทวางอยู่บนฐานคิดรูปธรรมมากกว่า เพราะอาศัยวิธีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือนิยามตนเองเข้ากับผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การสนับสนุนผู้สมัครคนใดจึงขึ้นอยู่กับบุญคุณของผู้สมัครที่มีต่อตนเองหรือครอบครัวของตนในอดีต รวมถึงความมุ่งหวังที่จะได้รับความอุปถัมภ์ค้ำจุนเกื้อหนุนในอนาคตอีกด้วย สำหรับชาวนาชาวไร่ในชุมชนชนบทที่มีชีวิตแบบรวมหมู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แล้ว (ซึ่งหมายความว่าไม่ได้มองตนเองเป็นอิสรชน) การรับเงินทองระหว่างช่วงเลือกตั้งจึงไม่ได้มีค่าเท่ากับการรับอามิสสินจ้าง หรือ “การขายเสียง” แต่อย่างใด[8]

การสร้างชนชั้นกลางให้เป็นฐานเสียง

ด้วยเหตุที่ชนชั้นกลางเมืองมีสัดส่วนเป็นจำนวนน้อยแต่มีต้นทุนทางสังคมและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมาก จนกระทั่งในยุคหนึ่งกลายเป็นพลังขับเคลื่อนต่อรองเชิงนโยบายรัฐบาล ดังนั้นตราบใดที่ชนชั้นกลางไม่มีส่วนในการตั้งรัฐบาล ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าชนชั้นกลางจะสำนึกถึงความเป็นเจ้าของประชาธิปไตยร่วมกัน แนวทางแก้ไขปัญหาจึงต้องแสวงหามาตรการทางการเมืองให้คนชั้นกลางเมืองเป็น “ฐานเสียง” หรือมีโอกาสกำหนดตัวผู้มีอำนาจในระบบการเมือง[9]

มาตรการแรก ใช้ระบบเลือกตั้งแบบคัดเอาแต่ผู้ชนะ (First-Past-the Post) ตามเดิม แต่ลดขนาดเขตเลือกตั้งลงให้เขตเทศบาลและเขตปริมณฑลที่คนชั้นกลางอาศัยอยู่หนาแน่นในต่างจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้แทนหนึ่งคน เพื่อให้เสียงของ “เมือง” ในต่างจังหวัดรอดพ้นจากเสียงของ “ชนบท” และเพื่อให้ “เมือง” มีโอกาสส่งผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาได้บ้าง

มาตรการที่สอง เปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (proportional representation) อาจใช้ทั่วประเทศ หรือแต่ละภูมิภาค (เหนือ กลาง อีสาน ใต้ เป็นต้น) เป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อสะสมรวบรวมเสียงของคนชั้นกลางที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศให้สามารถแปรเป็นที่นั่งในสภา และเพิ่มการแข่งขันเชิงนโยบายและหลักการของพรรคการเมืองมากขึ้น

การสร้างคนชนบทให้เป็นฐานนโยบาย

ชาวนาชาวไร่ในชนบทตกอยู่ภายใต้เครือข่ายสายสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์อันมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ชาวชนบทจึงมักลงคะแนนตามคำชี้นำของผู้อุปถัมภ์และตามสินจ้างรางวัลอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากไม่มีความแตกต่างในการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ[10] ดังนั้นเพื่อให้ระบบอุปถัมภ์และการรับสินจ้างรางวัลลดความสำคัญลง การแก้ไขปัญหาจึงต้องเสาะหาหนทางทางการเมืองให้คนชนบทเป็น “ฐานนโยบาย” คือมีโอกาสได้รับการตอบสนองเชิงนโยบายจากรัฐบาลมากขึ้น[11]

มาตรการที่แรก ให้พรรคและนักการเมืองที่เสนอทางเลือกใหม่เชิงนโยบายได้มีโอกาสพัฒนาตนเองขึ้นโดยง่ายผ่านระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน เพื่อให้พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถเจาะตลาดชาวชนบทได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักการเมืองที่มุ่งหวังรวมตัวกันเพื่ออุดมการณ์มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ระบบการเมือง ทำให้ชาวชนบทสามารถมองการเมืองผ่านนโยบายและหลักการมากขึ้น

มาตรการที่สอง ให้ชาวนาชาวไร่ใช้สิทธิตัดสินใจผ่านประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ในรูปประเด็นสาธารณประโยชน์ โครงการ งบประมาณ ภาษี หรือกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชาวชนบทโดยตรง โดยอาศัยช่องทางการถอดถอนผู้แทนราษฎร (recall) การริเริ่มเสนอกฎหมาย (initiative) การลงประชามติรับไม่รับกฎหมาย (referendum) เพื่อให้ชาวชนบทเข้าใจหลักการและนโยบายมากขึ้น พร้อมทั้งตระหนักว่าการลงคะแนนเสียงเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

มาตรการที่สาม สนับสนุนชุมชนทางการเมือง (political community) ที่ใกล้ชิดกับชีวิตและการทำงานของชาวชนบท ด้วยการสร้างประชาธิปไตยระดับกลุ่มให้สังคมพยายามทำอะไรด้วยตนเอง เช่นกลุ่มช่วยแรงงาน กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มอุบาสกอุบาสิกา กาลุ่มสหกรณ์ กลุ่มฝึกอาชีพ กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน เป็นต้น รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยที่ระดับการปกครองท้องถิ่นเป็นเครื่องมือพัฒนาภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อลดสภาพ “รัฐรวมศูนย์-ผูกขาดอธิปัตย์”

การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อประชาธิปไตย

การปฏิรูปการเมืองทั้งมิติการสร้างชนชั้นกลางให้เป็นฐานเสียงและการสร้างคนชนบทให้เป็นฐานนโยบาย จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเกษตรที่ล้าหลังให้เป็นเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แปรหมู่บ้านให้กลายเป็นเมืองขนาดเล็กและเมืองขนาดกลางระดับภูมิภาค ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากสายสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์[12] ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะยาว ดังนี้[13]

ประการแรก ต้องดึงคนออกจากชนบทและภาคการเกษตรล้าหลังซึ่งมีขนาดใหญ่ เพื่อสร้างให้เกิดปัจเจกชนที่มีความเป็นอิสระ จากข้อมูลจากธนาคารโลกได้ชี้ให้เห็นว่าในปี 2533 ประเทศไทยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพียงร้อยละ 23 ของทั้งประเทศ[14] ดังนั้นการที่ชาวนาชาวไร่ต้องเข้าสู่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อันเป็นต้นเหตุแห่งการเลือกผู้แทนโดยคำนึงถึงบุญคุณ ก็เพราะบรรดาผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่นล้วนผูกขาดช่องทางและโอกาสในการทำมาหากิน การดึงคนออกจากชนบทจึงไม่ได้เหมือนกับการอพยพชาวชนบทที่ล้าหลังเข้าสู่เมืองที่ห่างไกล แต่เป็นการโยกย้ายคน/แรงงานในสภาพที่ชนบทได้รับการทำนุบำรุง กลายเป็นชนบทที่คนมีการศึกษา มีวิชาชีพ และมีฐานเศรษฐกิจพอสมควร เพื่อเข้าไปหางานที่ดีในเมืองใกล้ๆ

ประการที่สอง สร้างเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง อาศัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาคเพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับคนที่ออกจากชนบทเป็นหลัก (ภาคเมืองต้องสามารถให้ชีวิตที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัยด้วย) มีหมู่บ้านที่ล้าหลังยากจนและกรุงเทพฯ เป็นส่วนประกอบเท่านั้น โดยการพัฒนาหมู่บ้านควบคู่ไปกับการสร้างเมืองและอาชีพอื่นๆ นอกภาคการเกษตร กอปรกับต้องมีการกระจายอำนาจการปกครองให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวเมืองในต่างจังหวัดและเกษตรกรในชนบทจึงจะสามารถกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สามารถตัดสินชีวิตของตนเองได้

ประการที่สาม พัฒนาชนบทที่เหลืออยู่ให้เป็นเมืองขนาดเล็กซึ่งมีเกษตรกรรมทันสมัยและมีอุตสาหกรรมท้องถิ่นขนาดเล็ก ทำให้เกิดการเปลี่ยนชาวนาเป็นเกษตรกรชนชั้นกลางหรือแรงงานอิสระที่มีรายได้พอเลี้ยงตัว เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาพลังการผลิตของชนบทไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งในด้านประสิทธิภาพการใช้แรงงาน (labor productivity) และการใช้ที่ดิน (land productivity) ดังนั้นรัฐจึงต้องทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนเพื่อพัฒนาชีวิตและการศึกษาของชาวชนบท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ดินและปรับปรุงการผลิต

บริบทแวดล้อมและรากฐานความเป็นมาของสองนคราประชาธิปไตย

ภายหลังการชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม 2535 สังคมการเมืองไทยอยู่ในสภาวะแห่งการแสวงหาแนวทางปฏิรูปประเทศ กลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชน นักกิจกรรม และผู้มีบทบาททางสังคมจำนวนมากต่างนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ[15] ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยถูกนำเสนอครั้งแรก ณ ที่ประชุมประจำปีสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย วันที่ 28 สิงหาคม 2537 ต่อมาจึงตีพิมพ์เป็นบทความในหนังสือ วิพากษ์สังคมไทย[16] ท่ามกลางบรรยากาศของการปฏิรูป โดยตั้งชื่อล้อกับงานวรรณกรรมอันโด่งของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ (Charles Dickens) เรื่อง A Tale of Two Cities ("เรื่องของสองนคร")[17]

เกษียร เตชะพีระ อธิบายถึงที่มาของชื่อเรียก “สองนคราประชาธิปไตย” ว่า “ตอนแรกอาจารย์เอนกคงคิดเป็นภาษาฝรั่ง คือปิ๊งขึ้นมาหลังจากเห็นพฤษภาทมิฬ พอเห็นชื่อนิยายของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ (Charles Dickens) เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่คนรู้จักกันเยอะในเรื่อง A Tale of Two Cities เลยตั้งชื่อแนวคิดว่า A Tale of Two Democracy เปลี่ยนคำว่า cities เป็น democracies หลังเห็นเหตุการณ์พฤษภา”[18]

ทั้งนี้ข้อเสนอของ เอนก วางอยู่บนความคิดเชิงทฤษฎีที่เชื่อว่าการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (economic development) จะนำไปสู่กระบวนการทำให้เกิดประชาธิปไตย (democratization) ในแง่ที่ว่าเศรษฐกิจทุนนิยมจะสร้างคนกลุ่มใหม่ นั่นคือ ชนชั้นกลาง-กระฎุมพี ที่มีปัจเจกภาพ และมาพร้อมกับสำนึกคิด วัฒนธรรมการเมือง วิถีชีวิต และโลกทัศน์อันเกื้อกูลต่อประชาธิปไตย สอดคล้องกับข้อเขียนของ Barrington Moore ที่ศึกษาการเกิดประชาธิปไตยและเผด็จการในหนังสือ Social Origin of Dictatorship and Democracy โดยอาศัยวิธีวิทยาการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (historical analysis method) ที่ชี้ให้เห็นว่าการเกิดเมืองและทุนนิยมเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบกระฎุมพี (bourgeois democracy) ในวลีที่โด่งดังว่า “หากไม่มีกระฎุมพี ก็ไม่มีประชาธิปไตย” (No bourgeoisie, no democracy) เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจการเมืองในหมู่บ้านชนบท ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าที่ดินกับชาวนา เป็นจุดชี้ขาดชัยชนะประชาธิปไตย[19]

กระบวนการเกิดเติบใหญ่ของประชาธิปไตยจึงต้องดำเนินควบคู่กับการเกิดเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมที่ทันสมัย ในแง่นี้ภารกิจประชาธิปไตยในไทยจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรและชนบทอันล้าหลัง เพื่อให้ชาวนาชาวไร่หลุดพ้นจากพันธนาการของระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งจะขุดรากถอนโคนกลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองที่หากินกับการเมืองอันเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตย

ข้อวิจารณ์สองนคราประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม สองนคราประชาธิปไตย ใช้อธิบายสภาพการเมืองไทยในช่วงเวลาที่จำกัดเท่านั้น กล่าวคือ สามารถอธิบายเหตุแห่งการล้มรัฐบาลนับแต่ยุคหลังพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนถึงปีพ.ศ. 2540 ซึ่งสภาพการณ์เมืองตกอยู่ในเงื่อนไขใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยยกชูแนวคิดการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล (accountability) ระบบรัฐสภาที่เป็นเหตุเป็นผล (rational parliament) ขณะเดียวกันก็เน้นความสำคัญของฝ่ายบริหารเข้มแข็ง (strong executive) แต่พรรคการเมืองอ่อน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า “หนังสืออาจารย์เอนกได้ให้ภาพสังคมไทยในช่วงหนึ่งได้ชัด แต่สิ่งที่ในหนังสือไม่ได้พูดคือประชาธิปไตยในยุคโบราณ เช่น ประชาธิปไตยที่มาจากการพระราชทาน (ซึ่งเชื่อในแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้รับมอบอำนาจมาจากชุมชนทางการเมืองตามหลักการเรื่อง “เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ดังนั้นสถานะของรัฐธรรมนูญจึงเกิดจากการ “พระราชทาน”—ผู้เรียบเรียง) และประชาธิปไตยหลังปี 2540 เป็นต้นมาซึ่งเป็นอีกชนิด คือ กึ่งประธานาธิบดี (ซึ่งให้อำนาจเกือบเบ็ดเสร็จแก่หัวหน้าฝ่ายบริหารอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน—ผู้เรียบเรียง)”[20] ดังนั้นประชาธิปไตยช่วงต้นสมัยรัฐธรรมนูญ (2475-2490) และหลังทศวรรษ 2530 จึงเป็นประชาธิปไตยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพ้นไปจากสองนคราประชาธิปไตย

ในแง่นี้สองนคราประชาธิปไตย จึงให้ภาพสะท้อนทัศนะที่มีต่อ “ประชาธิปไตย” แบบคู่ตรงข้ามระหว่างประชาธิปไตยของ “เมือง” กับประชาธิปไตยของ “ชนบท” แต่ละเลยมิติที่ซ้อนทับของผู้คนอันหลากหลาย เช่น คนชนบทที่อพยพเข้าสู่เมืองมีความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมือง สำนึกคิด และโลกทัศน์ที่มีต่อประชาธิปไตยจริงหรือไม่ และในระดับใด แรงงานระดับล่างในเมืองมีพฤติกรรมทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกับคนชั้นกลางเมืองมากน้อยเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้นการมองว่าชาวบ้านในชนบทอ่อนแอและไม่มีสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นมายาคติของนักรัฐศาสตร์กระแสหลัก[21] ประภาส ปิ่นตกแต่ง วิจารณ์ว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยตอกย้ำคำอธิบายที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าโดยปราศจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นเพียงพอ เพราะตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ผ่านการต่อสู้ด้วยขบวนการภาคประชาชน เพื่อนำเสนอประเด็นความเดือดร้อน ในชนบทเองก็เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น เพราะได้เชื่อมร้อยเข้ากับบุคคลภายนอก เช่น นักการเมือง หัวคะแนน เอ็นจีโอ ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวขยายปริมณฑลการต่อสู้ออกไป ตัวอย่างเช่น สมัชชาคนจน เป็นการต่อสู้ของคนจนเพราะถูกคุกคามจากนโยบายรัฐส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน เหมืองแร่ นิคมอุตสาหกรรม การสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการแบ่งแย่งทรัพยากรในชนบท จึงเกิดการรวมตัวกันระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนกระทั่งกลายเป็นเครือข่ายใหญ่ระดับประเทศ[22]

ประการสุดท้าย ก็คือ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ถูกใช้เพื่อสร้างความจริงทางสังคมขึ้นมาแบบหนึ่ง ยังผลให้เกิดการตอกย้ำซ้ำเติมสภาพด้อยพัฒนาของชนบท ขณะเดียวกันก็ยกชูความเหนือกว่าของคนชั้นกลางเมือง (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ) จนกลายเป็นข้ออ้างเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสม่ำเสมอ[23] ดังที่สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขณะรณรงค์ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในปลายปี พ.ศ. 2548 อธิบายว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยยังคงใช้อธิบายการเมืองไทยอยู่เสมอ "สถานการณ์ตอนนี้คนกรุงหรือชนชั้นกลางอาจยังไม่มีพลังพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ แต่รัฐบาลอย่าท้าทาย หรือปรามาส เพราะปรากฏการณ์สนธิ ผมคิดว่าเป็นเพียงการนับหนึ่งภายใต้ทฤษฎีเปิดโปง ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏการณ์สนธิ สามารถสร้างกระบวนการเปิดโปงได้ทั้งในหมู่ชนชั้นกลาง และเริ่มได้รับกระแสตอบรับจากคนชนบท ผ่านสื่อในเครือผู้จัดการทั้งเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ ซีดี และวารสาร ซึ่งพบว่าคนต่างจังหวัดให้การต้อนรับมาก เพราะเขาอยากรู้ความจริง จนเป็นเหตุให้สื่อแขนงอื่นเป็นแนวร่วมกับปรากฏการณ์สนธิไปด้วย"[24]

อ้างอิง

  1. ลิขิต ธีรเวคิน, "อมาตยาธิปไตย-ประชาธิปไตยครึ่งใบ-การปฏิรูปการเมือง-การเมืองปัจจุบัน," รัฐศาสตร์สาร, 24, ฉบับพิเศษ (พฤศจิกายน 2546), 28-75.
  2. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย: แนวทางปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2556), หน้า 7.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 11.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 70.
  6. บรรหาร ศิลปอาชา, “ความในใจบรรหาร จากหลงจู๊สู่ผู้นำประเทศ,” มติชน, (20 กุมภาพันธ์ 2539), 25. สำหรับ “ชาวชนบท” แล้วมีทัศนะต่อนักการเมืองในเขตพื้นที่ด้วยสายตาที่ต่างไป กล่าวคือ เป็นผู้นำความเจริญ การพัฒนามาสู่ท้องถิ่น ดูงานศึกษาแนวมานุษยวิทยาการเมืองเพื่อทำความใจ “ทัศนะชาวบ้านอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจตนเอง” ใน Yoshinori Nishizaki, Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-Buri, (New York: Southeast Asia Program Publications, Southeast Asia Program, Cornell University, 2011).
  7. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, หน้า 9.
  8. เรื่องเดียวกัน, หน้า 8. สำหรับการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เกิดขึ้นจากการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เทาเทียมกัน ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์จึงเกิดมีขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าไม่ถึงทรัพยากรได้เข้าถึงบ้าง การซื้อสิทธิขายเสียงก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือของความสัมพันธ์นี้เพื่อให้ประชาชนในชนบทที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรได้อาศัยนักการเมืองเป็นช่องทางดูดดึงทรัพยากรจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่น แต่หากต้องการบรรเทาปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงก็ควรแก้ไขที่ต้นตอโดยการกระจายทรัพยากรให้เป็นธรรม โปรดดูรายเอียดใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ซื้อสิทธิ์ขายเสียง," รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), หน้า 68-73.
  9. เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, หน้า 13-20.
  10. เรื่องเดียวกัน, หน้า 21-30. เอนก ตั้งข้อสังเกตว่า “การซื้อขายเสียง” ไม่ได้เป็นเรื่องการเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม แต่มีแก่นแท้ของการประเมินผลงานในอดีตของผู้สมัครและประโยชน์ที่คาดว่าจะนำมาให้ชุมชนในอนาคต ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าการรับอามิสสินจ้างในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ไมได้หมายความว่าจะไม่รับเงิน เพราะสำหรับชาวชนบทแล้วมองว่าเป็นเงินก้นถุง หรือเงินจากคนดี ดังนั้นชาวบ้านจึงคิดว่าเขาเลือกคนดีพร้อมๆ กับรับเงินจากคนดีด้วย
  11. เรื่องเดียวกัน, หน้า 31-40.
  12. เรื่องเดียวกัน, หน้า 51.
  13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 55.
  14. World Bank, World Development Report 1992, (New York: Oxford University Press), pp. 278-279. อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, หน้า 26.
  15. Duncan McCargo, (ed.), Reforming Thai politics, (Copenhagen: NIAS, 2002).
  16. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (บรรณาธิการ), วิพากษ์สังคมไทย, (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2538) อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, (คำนำพิมพ์ครั้งที่ 8).
  17. Charles Dickens, A Tale of Two Cities, (London: Oxford University Press, 1949).
  18. เกษียร เตชะพีระ, เวทีราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/549 ในหัวข้อ “นคราประชาธิปไตย ทางรอดสังคมไทย,” ใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, (ภาคผนวก) หน้า 88.
  19. Barrington Moore, Social Origin of Dictatorship and Democracy, (Boston: Beacon Press, 1966), pp. 413-432. อ้างใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, หน้า 73.
  20. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, เวทีราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/549 ในหัวข้อ “นคราประชาธิปไตย ทางรอดสังคมไทย,” ใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, หน้า 98.
  21. เก่งกิจ กิติเรียงลาภและเควิน ฮิววิสัน, "บทวิพากษ์ "การเมืองภาคประชาชน" ในประเทศไทย: ข้อจำกัดของการวิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่"," ฟ้าเดียวกัน, 7(2), (เม.ย.-มิ.ย. 2552), 122.
  22. ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน 99 วันสมัชชาคนจน, (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรามหาวิทยาลัยเกริก, 2540). ดูงานที่วิพากษ์ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอย่างถึงแก่นอีกชิ้นหนึ่งได้ใน Somchai Phatharathananunth, Civil Society and Democracy: Social Movements in Northeast Thailand, (Copenhagen: NIAS Press, 2006).
  23. "พิสูจน์ ทฤษฎี 2 นครา ประชาธิปไตย พฤศจิกายน 56," มติชนรายวัน, (26 พฤศจิกายน 2556).
  24. สุริยะใส กตะศิลา, "ชี้ปรากฏการณ์สนธิขย่มทรท. ปลุกคนเมือง-ชนบทไล่รัฐบาล," ผู้จัดการรายวัน, (20 ธันวาคม 2548).

บรรณานุกรม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภและเควิน ฮิววิสัน (2552). "บทวิพากษ์ "การเมืองภาคประชาชน" ในประเทศไทย: ข้อจำกัดของการวิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่"." ฟ้าเดียวกัน, 7, (2), 120-155.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. บรรณาธิการ, (2538). วิพากษ์สังคมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2552). "ซื้อสิทธิ์ขายเสียง." รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน.

บรรหาร ศิลปอาชา. “ความในใจบรรหาร จากหลงจู๊สู่ผู้นำประเทศ.” มติชนรายวัน. (20 กุมภาพันธ์ 2539).

ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2540). การเมืองบนท้องถนน 99 วันสมัชชาคนจน. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรามหาวิทยาลัยเกริก.

“พิสูจน์ ทฤษฎี 2 นครา ประชาธิปไตย พฤศจิกายน 56." มติชนรายวัน. (26 พฤศจิกายน 2556).

ลิขิต ธีรเวคิน. "อมาตยาธิปไตย-ประชาธิปไตยครึ่งใบ-การปฏิรูปการเมือง-การเมืองปัจจุบัน." รัฐศาสตร์สาร. 24, ฉบับพิเศษ (พฤศจิกายน 2546), 28-75.

สุริยะใส กตะศิลา. "ชี้ปรากฏการณ์สนธิขย่ม ทรท. ปลุกคนเมือง-ชนบทไล่รัฐบาล." ผู้จัดการรายวัน. (20 ธันวาคม 2548).

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2556). สองนคราประชาธิปไตย: แนวทางปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

Moore, Barrington (1966). Social Origin of Dictatorship and Democracy. Boston: Beacon Press.

Dickens, Charles (1949). A Tale of Two Cities. London: Oxford University Press.

McCargo, Duncan. ed., (2002). Reforming Thai politics. Copenhagen: NIAS.

Somchai Phatharathananunth (2006). Civil Society and Democracy: Social Movements in Northeast Thailand. Copenhagen: NIAS Press.

Nishizaki, Yoshinori (2011). Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-Buri. New York: Southeast Asia Program Publications, Southeast Asia Program, Cornell University.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2536). ม็อบมือถือ: ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มติชน.

Anek Laothamatas (1996). "A Tale of Two Democracies: Conflicting Perceptions of Elections and Democracy in Thailand." in The Politics of Elections in Southeast Asia, Edited by R. H. Taylor. Cambridge: Cambridge University Press.

Anek Laothamatas. ed., (1997). Democratization in Southeast and East Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian studies.

Held, David (2006). Models of Democracy. 3rd edition. Cambridge: Polity Press.