สหประชาไทย (พ.ศ. 2511)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสหประชาไทย
พรรคสหประชาไทย เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ทะเบียนเลขที่ 1/2511 โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 2 คน ได้แก่ พลเอก ประภาส จารุเสถียร และนายพจน์ สารสิน เลขาธิการพรรคคือ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ และมีรองเลขาธิการพรรค 3 คน ได้แก่ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา พลโท แสวง เสนาณรงค์ และพลตำรวจโท พิชัย กุลละวณิชย์
รายชื่อกรรมการอำนวยการอื่นในพรรคสหประชาไทยมีดังนี้ นายเสริม วินิจฉัยกุล พลโท พงษ์ ปุณณกันต์ พลเอก จิตติ นาวีเสถียร นาวทวี แรงขำ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู นายมาลัย หุวะนันทน์ พลเอก กฤช ปุณณกันต์ พลเรือเอก จรูญ เฉลิมเตียรณ พลอากาศเอก บุญชู จันทรเบกษา และพลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร
ความเป็นมาของพรรคสหประชาไทย
พรรคสหประชาไทย เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค การจัดตั้งพรรคสหประชาไทยจึงเป็นการจัดตั้งพรรคโดยคณะทหารที่คุมอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น เพื่อหวังผลชัยชนะในการเลือกตั้ง และสร้างฐานเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคสหประชาไทยเคยเป็นสมาชิกของพรรคเสรีมนังคศิลามาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามนำเสนออุดมการ์และนโยบายที่ชัดเจน เพื่อดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหน้าเก่าและใหม่ให้เข้ามาร่วมสนับสนุนพรรค รวมทั้งมีความพยายามที่จะดึงประชาชนและข้าราชการให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของพรรคด้วย
พรรคสหประชาไทยพยายามสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองและนำเสนอแนวนโยบายด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาของพรรคการเมืองไทยในอดีตที่มักถูกโจมตีว่าขาดอุดมการณ์ที่แน่นอน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างอุดมการณ์ของพรรค และแนวนโยบายต่าง ๆ ก็คือ บรรดานักวิชาการในสายของพลโท แสวง เสนาณรงค์ ซึ่งเป็นนายทหารที่จอมพลถนอม กิตติขจร ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมาก
สำหรับอุดมการณ์ของพรรคสหประชาไทยนั้น ปรากฏอยู่ในอามรัมภบทของธรรมนูญพรรคสหประชาไทย กล่าวคือ
“พรรคสหประชาไทยเป็นพรรคของปวงชนทุกส่วนในสังคมไทยทั่วประเทศ ศรัทธาและยึดมั่นในการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เลื่อมใสในศาสนา ยึดมั่นในลักษณะพิเศษประจำชาติ อันได้แก่ การรักความเป็นไทย การไม่ชอบใช้วิธีรุนแรง และการรู้จักประสานประโยชน์ซึ่งเป็นมรดกประชาธิปไตยของไทย
ด้วยพลังแห่งความศรัทธาและความปรารถนาที่จะยังให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความมั่นคงถาวร พรรคสหประชาไทย จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนำเอาสิทธิประชาธิปไตยมาประยุกต์เข้ากับสภาวการณ์และลักษณะพิเศษของประเทศไทย ให้ปรากฏเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทย ซึ่งยึดมั่นในหลักการสำคัญ คือ การดำรงอยู่อย่างมมั่นคงของชาติไทย ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความยุติธรรมทางสังคม และความร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งจะช่วยทำให้การขจัดความขัดแย้งในสังคมเป็นไปโดยราบรื่น อันเป็นรากฐานของความมีระเบียบเรียบร้อยในสังคมและเกื้อกูลแก่สันติสุขของโลก
ขบวนการทางการเมืองแห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของการปฏิวัติหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยมีแผนและโครงการที่แน่นอน และการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับความต้องการของประเทศชาติ ผลสำเร็จดังกล่าวนี้เป็นการวางรากฐานอันสำคัญยิ่งของความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปกครองและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
บนวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวและภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 พรรคสหประชาไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นจากขบวนการทางการเมืองแห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยรับสืบทอดมาทั้งภารกิจและนโยบาย
แนวนโยบายรากฐานของพรรคสหประชาไทย จึงได้มีปรากฏอยู่แล้วในเอกสารหลายฉบับด้วยดัน โดยเฉพาะ คำปราศรัยของอดีตนายกรัฐมนตรีในวันประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแผนแรก “การบริหารของรัฐบาลไทยปัจจุบัน” โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี 25 มีนาคม พ.ศ. 2500 คำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511
เพื่อให้การปฏิบัตภารกิจขั้นต่อไปของพรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองของประชาชน อันเกิดจาก “การรวมพลังประชาชนชาวไทย โดยสัญชาติทุกหมู่ ทุกเหล่า โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา” ได้บรรลุผลสำเร็จสมดังปณิธานอันปรากฏอยู่ในคติพจน์ของพรรคว่า “ไทยอยู่คู่ฟ้า ไทยพัฒนา ไทยสามัคคี” พรรคสหประชาไทยจึงขอประกาศนโยบายของพรรคไว้...”
นโยบายของพรรคสหประชาไทย
นโยบายด้านการเมือง พรรคสหประชาไทย จะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติทั้งภายในและภายนอกอย่างสมบูรณ์ โดยจะส่งเสริมกำลังกองทัพบก เรือ อากาศ ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง จะธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและวามเป็นตัวของตัวเองในกิจการระหว่างประเทศ จะธำรงไว้ซึ่งเอกราชทางศาลโดยเคร่งครัด
พรรคสหประชาไทยจะเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่อไป โดยจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ตลอดกาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกซึ่งความสามัคคีของชาติ จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 อย่างเคร่งครัด และโดยบริสุทธ์ใจ จะมุ่งสร้างระบบพรรคการเมืองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จ จะถือว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นผู้รว่มงานทางการเมือง ยกเว้นพรรคที่มีเจตนาร้ายและใช้ความรุนแรงเป็นวิธีดำเนินการ จะเปิดโอกาสและชักชวนให้ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพเข้าเป็นสมาชิกของพรรค และร่วมดำเนินกิจกรรมของพรรค ตามระดับความสนใจและความสามารถของแต่ละบุคคล จะส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเมืองของประเทศอย่างกว้างขวาง
นโยบายด้านการปกครอง พรรคสหประชาไทยจะสร้างความสามัคคีในชาติให้เป็นผลสำเร็จ โดยทำให้ข้าราชการกับประชาชนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเสมือนบุคคลในครอบครัวเดียวกัน จะทำให้ประชาชนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมทำงานสำคัญของชาติด้วยกัน จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านทั้งปวงให้เหมาะสม จะสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ ระหว่างนักการเมืองอาชีพกับทหารและพลเรือน ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระหว่างชนชาติไทยกับชนกลุ่มน้อยและชนต่างด้าว โดยยึดมั่นในหลักการประสานผลประโยชน์เฉพาะส่วนของทุกฝ่ายเข้ากับผลประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติ จะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินประชาธิปไตยตามวิธีทางรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดเสียซึ่งการใช้กำลังและวิธีอันรุนแรงใด ๆ จะรับฟังความคิดเห็นและข้อติชมในทางสร้างสรรค์จากทุกฝ่าย และพร้อมที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ จะจัดระบบการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน พรรคการเมือง และรัฐบาลได้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถูกต้องในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
พรรคสหประชาไทย จะปราบปรามคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นศัตรูบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศไทยให้ได้ผลอย่างจริงจัง โดยปราบปรามผู้ก่อการร้ายให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วมิให้ยืดเยื้อ จะขจัดมูลเหตุต่าง ๆ ที่จะผลักดันให้ประชาชนหันไปเข้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จะใช้มาตรการทางการเมืองประสานกับมาตรการการปราบปรามด้วยอาวุธ และจะพัฒนายุทธศาสตร์ในการต่อสู้คอมมิวนิสต์ แยกและประสานมาตรการ เผชิญการรุกรานจากกำลังทัพประเทศคอมมิวนิสต์ กับมาตรการเผชิญการรุกรานจากลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเหมาะสม
พรรคสหประชาไทย จะประสานกลไกพรรคเข้ากับกลไกรัฐ เพื่อให้การปฏิบัติงานของสองกลไกมีส่วนสัมพันธ์สอดคล้องและดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งเสริมให้ข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคสหประชาไทย และเห็นการเมืองเป็นคุณธรรม จะทำให้บรรดาสมาชิกของพรรคทั้งปวง โดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการได้เข้าใจและยอมรับความสำคัญในบทบาทของพรรคที่มีต่อการแก้ปัญหาและปรับปรุงตัวเอง ตลอดจนสังคมให้ดีขึ้น และจะพยายามใช้กลไกของพรรคในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง
พรรคสหประชาไทย จะส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและสนใจในการปกครองส่วนท้องถิ่น และจะส่งเสริมให้ผู้บริหารงานเทศบาลได้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
พรรคสหประชาไทย จะรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยจะเสริมสร้างกำลังและสมรรถภาพของตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครองให้สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในท้องถิ่นของตน
พรรคสหประชาไทยจะส่งเสริมให้ประชาชนได้มาและใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โดยจะทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของการมีสิทธิและการใช้สิทธิเสรีภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและต่อสังคมโดยรวม จะประกันความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ จะเคารพต่อหลักนิติธรรมและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะใช้มาตรการทางกฎหมายที่อาจมีผลในทางริดรอนสิทธิและเสรีภาพให้น้อยที่สุด
พรรคสหประชาไทย จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตนให้ดียิ่งขึ้น โดยจะแนะนำและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหน้าที่และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น และจะยกย่องบุคคลที่ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตนด้วยความเต็มใจและด้วยความเสียสละ
พรรคสหประชาไทยจะส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยจะตีพิมพ์และเผยแพร่ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยอาศัยเครื่องมือสื่อมวลชนทุกประเภท และส่งผู้ทำงานพรรคออกไปชี้แจงทำความเข้าใจ รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน
นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคสหประชาไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจตามระบบเสรีนิยม เป็นการพัฒนาอย่างมีแผนในรูปเศรษฐกิจผสม เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดยกำหนดเป้าหมายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติให้มุ่งไปในทางที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศไทย โดยเน้นหนักในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยเกษตรกรรมเป็นสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาพาณิชยกรรม และการขนส่งให้ได้สัดส่วนและสอดคล้องกัน นอกจากนี้จะกำหนดเป็นหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนที่เป็นของเอกชน มีความสมดุลกับกิจกรรมเศรษฐกิจในส่วนที่เป็นของรัฐและส่วนที่อยู่ในความควบคุมของรัฐ
พรรคสหประชาไทย จะเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศและรายได้ของประชาชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพและรายได้ของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับผลจากการพัฒนาโดยเสมอภาคและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเร่งรัดกำลังการผลิตของประเทศและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้นทุกวิถีทาง อีกทั้งจะปรับปรุงโครงการเศรษฐกิจของประเทศให้มีรากฐานที่มั่นคงและสมดุลยิ่งขึ้น โดยจะสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า และมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม และจะส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และประเภทของการผลิต โดยถือการพัฒนาการเกษตรเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
พรรคสหประชาไทย จะพัฒนากำลังคนด้วยกาขยายการมีงานทำให้มากขึ้นและพัฒนาแรงงานระดับต่าง ๆ โดยเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศ โดยการนำทรัพยากรกำลังคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จะส่งเสริมให้มีการขยายการมีงานทำมากขึ้น และพัฒนาแรงงานระดับต่าง ๆ และจะวางมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้มีรายได้และสวัสดิการเพียงพอตามความเป็นธรรม พรรคสหประชาไทยจะสนับสนุนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการด้านประยุกต์ โดยจะส่งเสริมและนำผลการประดิษฐ์ การวิจัย และการปรับปรุงต่าง ๆ มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับภาวะและความต้องการภายในประเทศ และจะขยายบริการของรัฐให้กับเอกชนในด้านการประยุกต์วิทยาการสมัยใหม่
พรรคสหประชาไทยจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดในแง่เศรษฐกิจ จะป้องกันรักษา ทำนุบำรุงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อมิให้ทรัพยากรที่มีอยู่เสื่อมโทรมลง และจะทำการสำรวจทรัพยากรแหล่งใหม่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และเสริมสร้างกำลังการผลิตของประเทศชาติ
นโยบายด้านการเงินและการคลัง พรรคสหประชาไทย จะรักษาเสถียรภาพทางการเงิน การคลัง เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ ส่งเสริมการออมทรัพย์และการลงทุนของเอกชน ตลอดจนหาทางเพิ่มรายได้ของรัฐให้สูงขึ้น โดยยึดถือหลักความเป็นธรรมแก่สังคม โดยจะป้องกันมิใช้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนกำลังในการพัฒนา และเป็นการกระทบกระเทือนต่อการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ จะส่งเสริมการออมทรัพย์ของเอกชน เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนในกิจการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ประเทศ และได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงต่อส่วนรวม และจะรักษาดุลการชำระเงินระหว่างประเทศไว้มิให้ขาดดุล และรักษากองทุนสำรองของประเทศในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับความจำเป็นในการธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและอิสรภารพในทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
นโยบายด้านสังคม พรรคสหประชาไทยจะพัฒนาระบบสังคมให้ก้าวหน้าและมีความเสมอภาคยิ่งขึ้น โดยจะขยายการลงทุนและบริการของรัฐในด้านต่าง ๆ ให้เห็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง และเพื่อพัฒนาให้ระบบสังคมไทยมีความเสมอภาคยิ่งขึ้น จะให้ความอนุเคราะห์ในด้านสังคมสงเคราะห์แก่บุคคลซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เต็มที่ตามความเหมาะสม จะส่งเสริมสวัสดิภาพของสังคมด้วยการพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชน
นโยบายด้านการเกษตร พรรคสหประชาไทยจะช่วยเหลือเกษตรกร ในด้านวิชาการทันสมัย เพื่อเพิ่มผลผลิต ช่วยให้มีตลาดประกันราคาผลิตผลเกษตรกรรม ช่วยประนอมหนี้ ช่วยควบคุมค่าเช่าที่ดิน และช่วยให้มีที่ดินของตนเอง จะจัดหาและจำหน่ยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในราคาถูกให้กับเกษตรกร จะขยายกิจการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออกไปให้กว้างขวางทั่วทั้งประเทศ และจะขยายและรักษาตลาดภายนอกประเทศสำหรับผลิตผลทางการเกษตรไว้อย่างมั่นคง
นโยบายด้านการศึกษา พรรคสหประชาไทย จะพัฒนาการศึกษาอย่างมีแผน และให้ประสานกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมทั้งจะให้การศึกษาอบรมแก่ชาวไทยอย่างทั่วถึงเพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพและมีจิตใจเป็นนักประชาธิปไตย โดยกำหนดเป้าหมายไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ จะขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปให้ทั่วประเทศ จะปรับปรุงหลักสูตรของการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับนโยบายสร้างสังคมประชาธิปไตยของไทย และจะปรับปรุงโรงเรียนทุกชนิด โดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวะให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเพิ่มจำนวนให้เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งจะช่วยเหลือบรรดาครูอาจารย์และศาสตราจารย์ในรูปสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้บรรดาครูบาอาจารย์ได้มมีความรู้สึกมั่นคงในอาชีพของตน และสามารถอุทิศเวลาเพื่อให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชนอย่างเต็มที่
นโยบายด้านศาสนาและวัฒนธรรม พรรคสหประชาไทย จะส่งเสริมและรักษาขนบประเพณีอันดีงามของชาติและของประชาชน บำรุงพระพุทธศาสนาและอนุเคราะห์เกื้อกูลศาสนาต่าง ๆ ส่งเสริมมรรยาทและจริยธรรมไทย รับวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างกลั่นกรอง โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความภาคภูมิใจและช่วยกันรักษาขนบประเพณีอันดีงามของชาติไว้ จะส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันรักษาปูชนียสถานและวัดวาอารามไว้เป็นที่เคารพสักการะ และเป็นที่พึ่งทางจิตใจ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทางศาสนาได้อย่างแท้จริง รวมถึงจะยกย่องเยาวชนไทยที่มีมารยาทดีงามในโอกาสอันควร
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคสหประชาไทยจะรักษาศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของประเทศไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นให้สูงอยู่เสมอ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์การนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง และจะสนับสนุนการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างองค์การภูมิภาคขึ้นทำหน้าที่ช่วยองค์การสหประชาชาติ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พรรคสหประชาไทยจะจัดระบบการบริหารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นจักรกลในการรวบรวมและระดมทรัพยากรทั้งมวลภายในชาติ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติ ให้พุ่งไปในการดำเนินบริการสาธารณะอย่างสมบูรณ์ โดยกำหนดโครงการตามความต้องการของประชาชนและประเทศชาติไว้ทุกด้าน จัดลำดับความสำคัญของโครงการนั้น ๆ ให้เหมาะสมในสภาพการณ์หนึ่ง ๆ โดยจะเลือกโครงการที่เห็นว่าสำคัญที่สุดเป็นโครงการสูงสุด แล้วกำหนดโครงการอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันให้สนับสนุนโครงการสูงสุดนั้นลดหลั่นกันลงมา เพื่อสามารถระดมจักรกลการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดพลังเร่งไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด และได้ผลดีที่สุด
พรรคสหประชาไทยจะจัดระบบวิธีการประสานงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยยึดหลักเอกภาพในระดับนโยบายโดยจะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทุกหน่วยงานไว้ให้ชัดเจนและแน่นอน โดยมุ่งให้ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนได้เต็มที่ และสอดคล้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีช่องว่างเกิดขึ้น และจะรวบรวมหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันโดยใกล้ชิด ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยการจัดระเบียบองค์การเหมาะสมขึ้นใหม่
พรรคสหประชาไทย จะจัดระบบการบริหารราชการระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลางให้สอดคล้องประสานกันยิ่งขึ้น เพื่อขจัดความล่าช้า ซ้ำซ้อนและสูญเปล่าในการดำเนินบริการสาธารณะ โดยให้อำนาจการบริหารส่วนท้องถิ่นมีอิสรภาพในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดวิธีการควบคุมจากภายนอกให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นทางส่งเสริมการกระจายอำนาจและความเจริญให้แพร่ไปทั่วพระราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุด และจะให้องค์การบริหารส่วนภูมิภาค มีฐานะเป็นตัวแทนองค์การบริหารส่วนกลางอย่างแท้จริงในการบริหาร วินิจฉัยสั่งการ และการบังคับบัญชาเกี่ยวกับโครงการ นโยบาย และแผนงานที่ได้รับอนุมัติแล้ว องค์การบริหารส่วนกลางมีแต่อำนาจยับยั้ง ตรวจสอบ และประสานงาน อันเป็นการสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนภูมิภาคได้ดำเนินไปด้วยดี รวดเร็ว มีเอภาพ และด้วยความรับผิดชอบของตนเอง
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ผลปรากฏว่า พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกตั้งมากที่สุด คือ 95 ที่นั่ง แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้สมัครพรรคสหประชาไทยได้รับเลือกตั้งโดยกระจายทั่วประเทศ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับสองคือ 50 ที่นั่งนั้น ยังคงเป็นพรรคที่ยึดกุมฐานเสียงในเขตกรุงเทพฯ ไว้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม พรรคสหประชาไทยได้ดึงผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาร่วมสังกัดพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล จึงส่งผลให้ในที่สุดพรรคสหประชาไทยมีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 110 ที่นั่ง
ที่มา
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 117 ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2511 หน้า 3375-3406
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519