สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2516 เป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นนักวิชาการที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

ประวัติส่วนบุคคล

          ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2494 ที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 11 คนของนายเชียงฮวด  แซ่อึ่งกับนางเงิน แต่เดิมครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ยาสูบ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีแต่ในช่วงเวลานั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุม จึงได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ดร.สมบัติสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเพชรพิทยาคมโดยสอบได้เป็นลำดับที่หนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์  ได้รับทุนเรียนดีจากมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ จากนั้นได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารการพัฒนาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ โดยสำเร็จการศึกษาเป็นคนแรกของคณะ[1]

          ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ได้สมรสกับคุณเรวดี  เกรียงวัฒนศิริ  มีบุตรธิดา 3 คน คือ นายอาทิตย์ ธำรงธัญวงศ์ นายอิสรา ธำรงธัญวงศ์ และนางสาวอาภากร ธำรงธัญวงศ์

เหตุการณ์สำคัญ

          ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ขณะเป็นนิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ที่มีความสนใจในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม จึงได้รับเลือกให้เป็นเป็นผู้แทนชั้นปีที่ 1 เมื่อศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับมหาวิทยาลัยอีก 10 แห่ง ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันจัดตั้ง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในพ.ศ.2516 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

          การปฏิวัติตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจรในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ทำให้ประเทศปกครองด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร_พ.ศ._2515 และอำนาจทางการเมืองอยู่เฉพาะกลุ่มของจอมพลถนอม กิตตขจรและจอมพลประภาส_จารุเสถียร สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในกลุ่มประชาชนทั่วไป ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 มีบุคคลจำนวน 100 คน ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น ข้าราชการ นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2516 นายธีรยุทธ_บุญมีและคณะได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และถูกจับกุมจำนวน 13 คนในข้อหากบฏ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการชุมนุมที่ลานโพธิ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 9 ตุลาคมและในวันที่ 10 ตุลาคมศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ประกาศเป็นผู้นำการชุมนุมโดยเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 13 คน[2]

          ตอนสายของวันที่ 11 ตุลาคม จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้เปิดการเจรจากับ นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและคณะ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายนิสิตนักศึกษายืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน แต่รัฐบาลยืนกรานจะดำเนินการตามมาตรา 17 ในคืนนั้นก็มีการประชุมรัฐมนตรีนัดพิเศษ ตั้งศูนย์ปราบปรามจลาจลขึ้นที่สวนรื่นฤดี มีจอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นผู้อำนวยการ

          วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ยืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขภายในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 เวลา 12.00 น.มิเช่นนั้นจะได้พิจารณาใช้มาตรการในขั้นเด็ดขาดต่อไป เช้าวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 เวลา 05.00 น. นายสมบัติ พร้อมด้วยกรรมการศูนย์ฯ ได้นำการร้องเพลงชาติและกล่าวสาบานต่อที่ประชุม ที่จะเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ จนในเวลาเที่ยงขบวนนักศึกษา ประชาชนได้เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในระหว่างนั้นตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้เข้าพบ เจรจาขั้นสุดท้ายกับจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อได้รับคำตอบว่าจะปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นตัวแทนของศูนย์ฯ ก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลา 16.20 – 17.20 น.[3] แต่ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนกำลังจะสลายตัวก็เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ จนกลายเป็นการจลาจล

          หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นายสมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2517 ว่าเป็นหนึ่งในบรรดา “ผู้ซึ่งกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลก” (Rising World Leaders) ขณะอายุ 22 ปี โดยเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการยกย่อง จำนวน 150 คนจากทั่วโลก[4]

          นายสมบัติยังเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคไท ซึ่งมีคำขวัญพรรคว่า "สร้างไทย ให้เป็นไท" ในการเลือกตั้งทั่วไปพ.ศ. 2518 พรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน ได้แก่ อนันต์_ภักดิ์ประไพ (พิษณุโลก) ธวัชชัย_นามพรหมวงศ์ (เชียงใหม่) ปกรณ์_กุลกำจร (บุรีรัมย์) และประภัทรพงศ์_เวชชาชีวะ (จันทบุรี)[5]

หลังจากนั้น ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จนดำรงตำแหน่งคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2550 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อธิการบดีคนที่ 12 ดำรงตำแน่งอธิการบดีตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2550 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2556 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 ปี[6]

         ผลงานในตำแหน่งอธิการบดี ดร.สมบัติได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาสถานบันฯ ให้เป็น World Class University และเป็น Green University โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา รองรับการเป็นสถานบันการศึกษาระดับโลก เพื่อให้นักศึกษาชาวต่างชาติเข้ามาเรียนด้วยระดับมาตรฐานสากล

          ผลงานสำคัญที่นายสมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ได้สร้างไว้แก่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แก่

          1.การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันบัฒฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ.2553-2556 (ต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2550-2552)

          2. การกำหนดกรอบการปฏิรูปการเมืองใหม่ ภายใต้บริบทของสังคมไทย Popular Party System

          3. เป็นผู้ก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก[7]

          หลังครบวาระอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ดร.สมบัติยังมีบทบาทในแวดงวงการศึกษา เช่น ผู้อํานวยการศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 ได้รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 ได้รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์[8]

          ผลงานทางวิชาการที่สำคัญได้แก่  1.การเมือง: แนวความคิดและการพัฒนา   2. นโยบายสาธารณะ : แนวความคิด การวิเคราะห์และกระบวนการ  3. การเมืองอเมริกา 4. การเมืองอังกฤษ  5. การบริหารโครงการ 6. การเมืองการปกครองไทย พ.ศ.1762-2500 7. การเมืองการปกครองไทย : ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป  8. การเมืองไทย 9. อุดมการณ์ทางการเมือง

          ในบทบาทนักวิชาการ มีงานวิจัยที่สำคัญได้แก่  1. วัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางในสังคมไทย 2. การพัฒนาชนบท: ความสำเร็จและความล้มเหลว  3. ทัศนคติทางการเมืองของเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร 4. ประเมินผลการปรับโครงสร้างกรมตำรวจ  5. ปัจจัยที่มีผลต่อการยกฐานะเทศบาลนครยะลา 6. ปัจจัยภูมิหลัง วัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้นำเยาวชนไทย[9]

          วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอกสนธิ  บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำรัฐประหาร โค่นรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ _ชินวัตร และได้จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ   พ.ศ.2549  เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่[10]  โดยนายมีชัย  ฤชุพันธ์เป็นประธานสภานิติบัญญัติ  มีสมาชิก 242 คน แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาควิชาการ โดย ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ เป็นตัวแทนภาควิชาการซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์[11]  

          บทบาทในทางการเมืองอื่นๆของ ดร.สมบัติคือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยเฉพาะข้อเสนอแนวทางของการปฏิรูปการเมืองและมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ดร.สมบัติได้เข้าร่วมการชุมนุมและได้ถูกนายธาริต_เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศอ.รส.จับกุมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2557[12]

          ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2557 ดร.สมบัติได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง

 

ผลงานอื่น ๆ

          ดร.สมบัติ ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติและประกาศนียบัตร “Thomas Hart Benton Mural Medallion in recognition of prominent achievement and dedicated service” จาก Indiana University ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2555

 

หนังสือแนะนำ
พรพธู  รูปจำลอง. (2545).บทสะท้อนชีวิตครบรอบ 60 ปีของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ ผ่านมุมมองของบรรดาลูกศิษย์.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง.

 

บรรณานุกรม

พรพธู  รูปจำลอง,บทสะท้อนชีวิตครบรอบ 60 ปีของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ ผ่านมุมมองของบรรดาลูกศิษย์,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, 2545), หน้า 15-20.

ประกาศแต่งตั้งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. (2553, กรกฎาคม 9).ราชกิจจานุเบกษาเล่ม127ตอนพิเศษ84ง: 1.เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/084/5.PDFเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,พรรคไท,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคไท_(พ.ศ._2517)  เมื่อ 6 กันยายน 2559

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(ประเทศไทย)_พ.ศ._2549 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ.2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_ประเทศไทย_(พ.ศ._2549)  เมื่อ 13 กันยายน 2559

สมบัติ ธํารงธัญวงศ์,ประวัติ,

 เข้าถึงจาก http://202.28.68.27/executive/CV/5900000032CV.pdf เมื่อ 6 กันยายน 2559

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล,มหาวิทยาลัยชีวิต,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามัญชน, 2545 พิมพ์ครั้งที่ 11), หน้า 10.

ASTVผู้จัดการออนไลน์, “ธาริต” เหิมจับ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อดีตอธิการบดีนิด้าเซ่นคดีกบฏ,เข้าถึงจาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000054243 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559

TLC การศึกษา,14 ตุลาวันประชาธิปไตย เข้าถึงจาก http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4529.html  เมื่อ 6 กันยายน 2559

 

อ้างอิง


[1] พรพธู  รูปจำลอง,บทสะท้อนชีวิตครบรอบ 60 ปีของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ ผ่านมุมมองของบรรดาลูกศิษย์,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, 2545), หน้า 15-20.

[2] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล,มหาวิทยาลัยชีวิต,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามัญชน, 2545 พิมพ์ครั้งที่ 11), หน้า 10.

[3] TLC การศึกษา,14 ตุลาวันประชาธิปไตย เข้าถึงจาก http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4529.html  เมื่อ 6 กันยายน 2559

[4] พรพธู  รูปจำลอง,หน้า 15-20.

[5] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,พรรคไท,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคไท_(พ.ศ._2517)  เมื่อ 6 กันยายน 2559

[6] ประกาศแต่งตั้งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. (2553, กรกฎาคม 9).ราชกิจจานุเบกษาเล่ม127ตอนพิเศษ84ง: 1.เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/084/5.PDFเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559

[7] พรพธู  รูปจำลอง,หน้า 59  

[8] สมบัติ ธํารงธัญวงศ์,ประวัติ,

 เข้าถึงจาก http://202.28.68.27/executive/CV/5900000032CV.pdf เมื่อ 6 กันยายน 2559

[9] พรพธู  รูปจำลอง,หน้า 185-186

[10] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(ประเทศไทย)_พ.ศ._2549 

[11] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ.2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_ประเทศไทย_(พ.ศ._2549)  เมื่อ 13 กันยายน 2559

[12] ASTVผู้จัดการออนไลน์, “ธาริต” เหิมจับ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อดีตอธิการบดีนิด้าเซ่นคดีกบฏ,เข้าถึงจาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000054243 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559