สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) เป็นการรวมกลุ่มบุคคลเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่กระบวนการรัฐสภาโดยปกติไม่สามารถดำเนินการได้ ที่ผ่านมาในอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดคงได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Constitutional Convention) ที่ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2330 และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จวบจนปัจจุบัน[1]
หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยแล้ว พบว่าประเทศไทยเราเคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2)
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 ที่จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 และ
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดสุดท้าย ซึ่งเป็นชุดที่ 4 ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549[2] หรือที่เรียกกันว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550”
สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 จากเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแทนฉบับเดิม เป็นสภาที่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้รับการสรรหามาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 จำนวน 1982 คน ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัดส่วนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ มาจากบุคคลในภาครัฐ 28 คน ภาคเอกชน 27 คน ภาคสังคม 23 คน และภาควิชาการ 22 คน หากจำแนกตามภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ 10 คน ภาคกลาง 68 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คน และภาคใต้ 10 คน[3] สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะคัดเลือกกันเองให้เหลือ จำนวน 25 คน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน รวมเป็น 35 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550[4]
สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยึดตามแนวทางและแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ 4 ประการ คือ[5]
1) คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน
2) ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน
3) การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม
4) ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 18) และต้องเสนอความเห็นพร้อมกับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการออกเสียงลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 และมีมติเลือก ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ_เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะคัดเลือกกันเองให้เหลือ จำนวน 25 คน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน รวมเป็น 35 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ และจัดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 โดยผลการลงประชามติปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ 14,727,306 (คิดเป็นร้อยละ 57.81) มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เห็นชอบ ซึ่งมีคะแนนเสียง 10,747,441 (คิดเป็นร้อยละ 42.19) จากนั้นจึงประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบันที่ประชาชนไทยยึดถือและปฏิบัติอยู่ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 4 ที่ผ่านการร่างจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ[6]
เนื่องจากในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ การร่างจึงดำเนินไปบนความร้อนแรงทางการเมือง เผชิญหน้าทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ต่อต้าน รวมถึงการ วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นขั้นตอนการร่าง เช่น การขาดความมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชน การที่ คมช. ผูกขาดการสรรหาสมาชิก สสร. และในเนื้อหาสาระของร่าง เช่น มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรม คมช. เองสำหรับการก่อรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีประเด็นที่แก้ไขคือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และข้อกำหนดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190) [7]
อ้างอิง
[1] ภูมิ มูลศิลป์, 2562. “ย้อนรอยสภาร่างรัฐธรรมนูญ.” มติชนออนไลน์ 8 พฤศจิกายน 2562. สืบค้นเมื่อ 1 Sep 2021 จาก https://www.matichon.co.th/article/news_1744229
[2] วิกิพีเดีย, 2021. “สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550.” วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 1 Sep 2021 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย_พ.ศ._2550
[3] Sanook.com, 2021. “สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550.” Sanook.com 26 พ.ย. 56. สืบค้นเมื่อ 1 Sep 2021 จาก https://guru.sanook.com/4347/
[4] วิกิพีเดีย, 2021. อ้างแล้ว.
[5] กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2021. “เอกสารความรู้เล่มที่ 010125550001 เรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.” กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สืบค้นเมื่อ 1 Sep 2021 จาก http://ofs101.ldd.go.th/LDDOFS/ofskm01/ofskm_content.asp?TS=&IDS=010125550001&NS=&MS=&YS=2564&CHS1=&CHS2=&CHS3=&CHS4=&CHS5=&CHS6=1
[6] สถาบันพระปกเกล้า, สิฐสร กระแสร์สุนทร ผู้เรียบเรียง, 2021. “สภาร่างรัฐธรรมนูญ.” ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า. สืบค้นเมื่อ 1 Sep 2021 จาก http://wiki.kpi.ac.th/ index.php?title=สภาร่างรัฐธรรมนูญ
[7] กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2021. อ้างแล้ว.