พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร



พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นนายทหารมืออาชีพ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือแนวทางสมานฉันท์ ดำรงชีวิตอย่างสมถะและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ[1]

 ประวัติ

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่บ้านพักนายทหารในค่ายจักรพงษ์ เป็นบุตรคนที่ 3 ของพันโทพโยม จุลานนท์ กับนางอัมโภช จุลานนท์ (สกุลเดิม ท่าราบ)[2] พันโทพโยมผู้เป็นบิดาเป็นนายทหารที่มีบทบาทสูงทั้งในกองทัพและการเมือง เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี เป็นนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพล ป.พิบูลสงครามและมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร 8_พฤศจิกายน_พ.ศ.2490 ภายหลังพันโทพโยมได้ขัดแย้งกับพล.ต.อ.เผ่า_ศรียานนท์รวมถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้เข้าร่วมกบฎเสนาธิการร่วมกับ พลตรีสมบูรณ์_ศรานุชิตและพ.ตรีเนตร_เขมะโยธิน แต่ถูกปราบปรามในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491[3] ทำให้พันโทพโยมต้องหลบหนีออกนอกประเทศในขณะที่พลเอกสุรยุทธ์มีอายุได้เพียง 6 ขวบ[4] และต่อมาได้เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย[5]ขณะที่มารดาเป็นบุตรสาวคนโตพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น_ท่าราบ) เสนาธิการของ”คณะกู้บ้านกูเมือง”หรือกบฎบวรเดชที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2476[6]

  ด้านการศึกษา พลเอกสุรยุทธ์ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2500 จากนั้นสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 ในปี พ.ศ. 2501 และเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 จบการศึกษาปี พ.ศ. 2508 [7] เมื่อเข้ารับราชการแล้วได้ศึกษาหลักสูตรด้านการทหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หลักสูตรนายร้อยเหล่าทหารราบ หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม หลักสูตรชั้นนายพันเหล่าทหารราบ สหรัฐอเมริกา หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 (สอบได้ที่ 1) หลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36 (พ.ศ.2536)

ชีวิตครอบครัว พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สมรสครั้งแรกกับนางสาวดวงพร รัตนกรี มีบุตรชาย 1 คน คือ ร้อยเอก นนท์ จุลานนท์ สมรสครั้งที่สองกับ พันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช) มีบุตรชาย 2 คน คือ นายสันต์ จุลานนท์ (ข้าว) และ นายจุล จุลานนท์ (น้ำ) พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้นิยมการเดินป่าชมธรรมชาติ เป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นที่ปรึกษาของเยาวชนกลุ่ม รักษ์เขาใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ในชื่อลุงแอ้ด[8]

 

ผลงานที่สำคัญ

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ารับราชการทหารในยศร้อยตรีเมื่อพ.ศ. 2508 โดยประจำศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรผู้บังคับหมวดโดยมีผลการศึกษาสอบได้เป็นลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกหน่วยไปปฏิบัติราชการพลเอกสุรยุทธฺขอเลือกไปอยู่กรมผสมที่ 13 จังหวัดอุดรธานี แต่กองทัพบกกลับรรจุเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 โดยให้เหตุผลว่าห้ามไม่ให้ไปอยู่พื้นที่ชายแดนเพราะเป็นลูกของแกนนำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้พลเอกสุรยุทธ์รู้สึกว่าเส้นทางเดินในชีวิจรับราชการทหารคงไม่ราบรื่น[9] ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับหมู่หมวดอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 เป็นนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึกกองร้อยรบพิเศษ(พลร่ม) ที่ 2 เป็นครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ และอาจารย์สอนวิชายุทธวิธีโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จากนั้นรับราชการตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 ต่อมาได้เป็นเสนาธิการกรมทหาราบที่ 23และเป็นหัวหน้ากองยุทธการทหารบก รองเสนาธิการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1

พลเอกสุรยุทธ์ติดยศพลตรีในตำแหน่งนายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี (พลเอกเปรม_ติณสูลานนท์) ในพ.ศ.2529 จากนั้นจึงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ในปี พ.ศ.2532 ต่อจากนั้นเป็นรองผู้บัญชาการสงครามพิเศษในปี พ.ศ. 2533 ได้รับยศพลโทในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษใน ปี พ.ศ.2535 ย้ายไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ปี พ.ศ.2537 ได้รับยศพลเอกในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกและขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.2541 และขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี พ.ศ.2545

  พลเอกสุรยุทธ์ตำแหน่งพิเศษอื่นๆ เช่น ราชองค์รักษ์พิเศษ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2 ครั้ง ในปีพ.ศ. 2546 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในเดือนพฤศจิกายน[10]

 

เหตุกาณ์สำคัญ

พลเอกสุรยุทธ์มีบทบาทสำคัญในการนำกองทัพถอยห่างจากการเมืองและเป็นทหารอาชีพไม่ฝักใฝ่ผู้มีอำนาจทางการเมือง ทันทีที่นังเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสุรยุทธ์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยให้เหตุผลว่าการที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจะทำให้การทำงานของกองทัพเกิดความยุ่งยาก และต้องการทำให้เห็นว่าทหารจะไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง[11]

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้นำกองทัพเข้าสู่เวทีระดับโลกด้วยบทบาทใหม่ในการรักษาสันติภาพ (Peace-keeping) โดยเป็นผู้ริเริ่มการจัดประชุม "ผบ.ทบ.อาเซียน" (ASEAN CHIEF OF ARMIES MULTILATERAL MEETING หรือ ACAMM) เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพื่อแก้ไขปัญหาในภูมิภาคด้วยสันติและร่วมมือทางทหารกันใกล้ชิดมากขึ้น อันเป็นการวางรากฐานให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการต่อต้านการก่อการร้ายในเวลาต่อมา นิตยสาร “ไทม์” ได้ยกย่องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ารับตำแหน่ง “ผู้นำอาเซียนแห่งปี” (ASIAN HERO OF THE YEAR) เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546[12]  และเดือนมิถุนายน พ.ศ.2545 ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ASIAN Defence Journal ในด้านการปราบปรามยาเสพติดในการสกัดกั้นการลักลอบส่งออกและนำเข้า เป็นรวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญด้านการต่อต้านก่อการร้าย[13]

พ.ศ. 2543 การช่วยเหลือตัวประกันจากเหตุการณ์กองกำลังกะเหรี่ยงก๊อดส์อาร์มี่รวม 10 คน บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จับตัวประกันชาวไทย 130 คน นายชวน_หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยพลเอกสุรยุทธ์ได้ตัดสินใจปฏิบัติการจู่โจมหลังการเจรจาร่วม 24 ชั่วโมงไม่ประสบผลสำเร็จ สามารถช่วยตัวประกันได้อย่างปลอดภัย ใน พ.ศ. 2546 เกิดเหตุการณ์จลาจลในกรุงพนมเปญและบุกเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา พลเอกสุรยุทธ์ได้วางแผนในการรับคนไทยกลับประเทศด้วยความปลอดภัย [14]

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการขึ้นทำเนียบหอเกียรติศักดิ์ ประกาศชื่อเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกที่ค่ายลิแวนเวิร์ท และกลับมาทำงานในหน่วยรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในการนำชื่อของพลเอกสุรยุทธ์เข้าสู่ทำเนียบหอเกียรติศักดิ์ ทางโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐกล่าวว่า พลเอกสุรยุทธ์ได้ใช้เวลาอันยาวนานในการพิสูจน์การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย[15]

14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในเดือนพฤศจิกายน เมื่อทำหน้าที่องคมนตรีได้สักระยะได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาอุปสมบทเป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดป่าดานวิเวก ตำบลศรีชมภู อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย มีฉายาว่า สุรยุทโธ หลังจากลาสิกขาจึงกลับมารับตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้ง[16]    

หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ค.ป.ค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมมือกับผู้นำเหล่าทัพต่างๆ รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการของนายทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 [17]

  หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 พลเอกสุรยุทธ์ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้กลับดำรงตำแหน่ง องคมนตรีเป็นครั้งที่สองในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 พลเอกสุรยุทธ์ ได้รับรางวัล คนดีของแผ่นดินจากมูลนิธิรัฐบุรุษในพ.ศ.2543 และเป็นประธาน “มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” เนื่องจากเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และเป็นผู้ที่นิยมการเดินป่า เป็นกรรมการ “โครงการสานใจไทยสู่ใจใต้” ของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ริเริ่มโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ หรือโครงการนำเด็กและเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอยู่กับครอบครัวมุสลิมในต่างพื้นที่เป็นเวลา 20 วัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต[18]

 

บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพมหานคร :มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,2549,พิมพ์ครั้งที่ 6).

วาสนา นาน่วม, เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,2549).

วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549), 24 นายกรัฐมนตรีไทย, กรุงเทพมหานคร: บริษัทออลบุ๊คพับลิสซิ่ง จำกัด.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,สุรยุทธ์ จุลานนท์, 1 กรกฏาคม 2559, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org=1 กรกฏาคม 2559 เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2559

 

หนังสือแนะนำ

วาสนา นาน่วม, (2549), เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน.

วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549), 24 นายกรัฐมนตรีไทย, กรุงเทพมหานคร: บริษัทออลบุ๊คพับลิสซิ่ง จำกัด.

 

อ้างอิง


[1] วาสนา นาน่วม, เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,2549), หน้า 25

[2] วาสนา นาน่วม, หน้า 25

[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพมหานคร :มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,2549,พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 472

[4] วาสนา นาน่วม, หน้า 37

[5] วาสนา นาน่วม, หน้า 39

[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หน้า 159

[7]วาสนา นาน่วม, หน้า 50

[8] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,สุรยุทธ์ จุลานนท์, 1 กรกฏาคม 2559, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org=1 กรกฏาคม 2559 เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2559

[9] วาสนา นาน่วม, หน้า 61-62

[10] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทออลบุ๊คพับลิสซิ่ง จำกัด,2549), หน้า 210-211

[11] วาสนา นาน่วม, หน้า 144-149

[12] วาสนา นาน่วม, หน้า 164-166

[13] วาสนา นาน่วม, หน้า 173

[14] วาสนา นาน่วม, หน้า 208-213

[15] วีรชาติ ชุ่มสนิท, หน้า 212

[16] วาสนา นาน่วม, หน้า 275-276

[17] วาสนา นาน่วม, หน้า 278-279

[18] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,สุรยุทธ์ จุลานนท์, 1 กรกฏาคม 2559, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org=1 กรกฏาคม 2559 เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2559