พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวท่ามกลางความขัดแย้งหลายมิติ
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
บทความนี้ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านความขัดแย้งในเรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาคาบกัน คือเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองและเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้เสนอ ซึ่งพระยามโนฯ ได้ “จัดการ” โดยการ “ปิดสภา” ผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ส่งผลมุมกลับเป็นการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ล้มล้างรัฐบาลพระยามโนฯ และแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมทั้งเปิดสภาผู้แทนราษฎรและใช้รัฐธรรมนูญเต็มฉบับอีกครั้ง จนถึงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อใกล้กลางเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
โดยที่เหตุการณ์และสถานการณ์ในช่วง ๑๐ เดือนนี้มีความซับซ้อนเจาะรายละเอียดมาก ซึ่งได้มีผู้พรรณนาและอธิบายไว้แล้ว[1] ในที่นี้จึงจะนำเสนอแต่โดยสังเขปและมุ่งความสนใจไปที่สถานภาพและบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและผลกระทบต่อพระองค์ของสถานการณ์ความขัดแย้งหลายมิติเหล่านั้นเป็นการเฉพาะ ตามวัตถุประสงค์ของฐานข้อมูลส่วนนี้
คณะรัฐมนตรีของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนอื่น มีอยู่ ๓ ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” ได้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจการปกครองระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาล โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมการดำเนินงานของรัฐบาลด้วยการตั้งกระทู้ถามและใช้มติไว้วางใจคณะรัฐมนตรี และในทางกลับกัน ให้รัฐบาลมีอำนาจยุบสภา ซึ่งรัฐบาลไม่มีในธรรมนูญฯ ชั่วคราว[2] แต่ทางนี้มิได้หมายความว่ารัฐบาลมีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในสภาพจริง คณะราษฎรเป็นผู้คัดเลือก และสภาฯ นั้นเองเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีอีกที ทั้งนี้เป็นในสภาพที่ไม่มีพรรคการเมืองเฉกเช่นในปัจจุบันสมัยที่จะอำนวยให้พรรครัฐบาลสามารถครองใจสภาผู้แทนราษฎรได้ ตรงกันข้ามกลับมีคณะราษฎรเท่านั้นที่พอจะมีลักษณะคล้ายพรรคการเมือง และเป็นผู้มีอำนาจจริงในท้ายที่สุด ดังนั้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะราษฎรจึงเป็นปัจจัยชี้ขาดความสัมพันธ์ทางอำนาจการปกครองระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรในสภาพความเป็นจริงและตามแก่นสาระที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ
ประการที่สอง โดยที่แกนนำคณะราษฎรทราบว่าตนเองยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง คณะราษฎรจึงได้ประสานความร่วมมือกับและสนับสนุนให้พระยามโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรีและยอมให้พระยามโนฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้งหมดจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยที่แกนนำของคณะราษฎรจำนวนไม่น้อยเป็นรัฐมนตรีลอย ในจำนวนนี้ มีพันเอก พระยาพหลฯ พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมศิริ) พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในภายหลัง) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นต้น อยู่ด้วย โดยคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้จัดการเลือกตั้งทางอ้อมสู่กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นแล้วภายใน ๖ เดือนหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจต่อรองของพระยามโนฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรจึงมีมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลมีอำนาจครอบนำสภาผู้แทนราษฎร
ประการที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระสถานภาพพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจจำกัดมาก แต่ ดังจะเห็นได้ต่อไป พระองค์ทรงถือว่าทรงมี “พระราชสิทธิ” ตามธรรมเนียมปฏิบัติในระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เช่นของอังกฤษที่จะทรงรับปรึกษา พระราชทานคำแนะนำ และคำเตือนสติผู้มีอำนาจทางการปกครองจริงๆ และได้ทรงใช้พระราชสิทธินั้นๆ อย่างแข็งขันท่ามกลางความขัดแย้งหลายมิติที่ได้เกิดขึ้น
ความขัดแย้งที่สำคัญมีในเรื่องพรรคการเมืองและในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเกิดขึ้นซ้อนทับกัน
ประเด็นพรรคการเมือง
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและพรรคพวกฝ่ายพลเรือน “หัวก้าวหน้า” ของคณะราษฎรได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรสำเร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว โดยได้เปิดรับสมาชิกทั่วประเทศ ซึ่งแต่เดิมจะแบ่งหน้าที่เป็น ๑. กองอาสาสมัคร ติดอาวุธคล้ายเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ คอยทำหน้าที่ปกป้องคณะราษฎร ๒. กองพลเรือน ทำหน้าที่ฝ่ายธุรการของคณะราษฎร และ ๓. กองนักสืบ คอยสอดส่องเหตุการณ์ต่างๆ รายงานให้คณะราษฎรทราบ แต่จัดตั้งจริงได้แต่เฉพาะกองนักสืบ และต่อมาได้โอนหน้าที่นี้แก่ตำรวจสันติบาล สมาคมคณะราษฎรนี้ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เห็นว่าเทียบได้ว่าเป็น “พรรคของข้าราชการ” เพราะการจัดตั้งสาขาประจำจังหวัดต่างๆ ลงไปถึงอำเภอและตำบลเพื่อเตรียมการสำหรับใช้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น กระทำโดยอาศัยกลไกระบบราชการเป็นแกนจัดตั้ง และสมาชิกในสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ไม่น้อยว่าพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีจะมองการแสวงหาฐานสนับสนุนเช่นนี้ของคณะราษฎรจะเป็นปัญหาต่อรัฐบาลของเขาในการดูแลให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติ[3]
ครั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ได้มีข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ซึ่งเพิ่งถูกปลดออกจากราชการ ทั้งทหารและพลเรือน ซึ่งธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์เรียกว่า “กลุ่มนิยมเจ้า” ได้ก่อตั้ง “คณะชาติ” หรือ “สมาคมชาติ” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า “เชิดชูหลักประชาธิปตัย” ต้องให้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติตามรัฐธรรมนูญอยู่ชั่วนิรันดร (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[4] ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเป้าประสงค์เดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการจะให้มีระบอบประชาธิปไตยประเภทที่เรียกว่า Constitutional Monarchy หรือระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ แต่จะสรุปตามธำรงศักดิ์ว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีบทบาทมากสุดในการเป็นตัวแทนของระบอบเก่า “ต่อรอง” กับรัฐบาลระบอบใหม่”[5] เห็นจะไม่ถนัด ดังข้อมูลซึ่งธำรงศักดิ์เองได้ให้ไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว เมื่อผู้นำคณะราษฎรกราบบังคมทูลว่ามีเจ้านายผู้มี “ปากเสียงอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบ” พระองค์ได้ทรงประกาศปราบปรามพระบรมวงศานุวงศ์และชี้แจงแก่ผู้จงรักภักดีมิให้กระทำการใดๆ แม้ด้วยวาจาอันเป็นอันตรายต่อความสงบราบคาบ[6] อีกทั้งก็มีนักรัฐศาสตร์อาวุโสปัจจุบันสมัยที่วิเคราะห์ว่า พระองค์ “มิได้ทรงมีพระราชดำริจะหาหนทางกลับคืนสู่การปกครองแบบเดิม หรือต่อสู้เพื่อกลุ่มอำนาจเดิม”[7]
ข้อเท็จจริงที่มีก็คือ คณะชาติได้มีหนังสือลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (พ.ศ. ๒๔๗๖ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะตั้งสมาคมคณะชาติขึ้นโดยให้เหตุผลว่า “ประเทศที่ปกครองโดยถือเสียงราษฎรเป็นใหญ่ ซึ่งเรียกว่าดีโมคราซี หรือประชาธิปไตยนั้น จำเป็นต้องมีคณะการเมืองมากกว่าหนึ่งคณะ จึงจะถูกต้องตามประเพณีนิยม...ถ้าดำเนินแบบคณาธิปไตย คือ ปกครองโดยคณะการเมืองคณะเดียวเท่านั้นแล้ว ก็อาจบังเกิดผลร้ายได้ง่าย” และเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (พ.ศ. ๒๔๗๖ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี ความโดยย่อว่าในสยามในเวลานั้น “ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมือง...ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งขันกันเช่นนี้ ก็จะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการตั้งหมู่ตั้งคณะสำหรับเป็นปฏิปักษ์หักร้างอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่สุดอาจเป็นเหตุชวนให้วิวาทบาดหมางกันขึ้นได้อย่างรุนแรง จนถึงเป็นภัยแก่ความสงบสุขของประเทศ...ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเวลานี้อย่ามีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า แต่โดยเหตุที่ในเวลานี้รัฐบาลได้อนุญาตให้มีสมาคมคณะราษฎรขึ้นเสียแล้ว จึงเป็นการยากที่กีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรที่จะเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว แล้วรัฐบาลควรจัดการทำการเผยแผ่การศึกษาวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ โดยพยายามหาวิธีให้ความเข้าใจเรื่องวิธีการปกครองแบบนั้นให้แพร่หลายแก่ราษฎรทั่วไป” แล้วทรงต่อไปว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ควรไว้ตัวเป็นกลาง (independent) ไม่มีความผูกพันกับคณะการเมืองใดๆ” จนกว่าจะได้มีสมาชิกจากการเลือกตั้งทั้งหมดต่อไป โดยย่อหน้าสุดท้ายของพระราชหัตถเลขามีความว่า “ตามความเห็นของข้าพเจ้าทั้งนี้ ถ้าท่านเห็นสมควรจะเผยแผ่แก่ผู้ใด หรือจะพิมพ์ออกโฆษณาก็ได้ ไม่ขัดข้อง”[8]
การทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เช่นในอังกฤษ นับเป็นการที่องค์พระประมุขใช้พระราชสิทธิในการพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ทรงอำนาจการปกครองจริงๆ ซึ่งเป็นหน้าที่เชิงรัฐธรรมนูญของพระองค์ นอกเหนือจากหน้าที่เชิงสัญลักษณ์และเชิงพิธีการ[9] แต่ในประเทศนั้นมักจะกระทำโดยไม่เปิดเผยต่อผู้อื่นใดอย่างโจ่งแจ้ง การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตในคราวนั้น วิเคราะห์ได้ว่าเป็นการทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน (pro-active) โดยอาจทรงเห็นว่าจำเป็นต้องทรงแสดงบทบาทเช่นนั้นในระยะเริ่มต้นของระบอบนั้นในสยาม เพื่อเน้นย้ำว่าในระบอบนั้น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิ แม้ว่าจะทรงมีพระราชอำนาจจำกัดมาก อีกทั้งสาระแห่งพระราชหัตถเลขาก็เป็นไปเพื่อประคับประคองสถานการณ์
ธำรงศักดิ์เสนอไว้ว่า พระยามโนฯ น่าจะได้ใช้พระราชทัศนะนี้เป็นปัจจัยในการโน้มนำตามความประสงค์ของเขาให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ สั่งห้ามข้าราชการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง และให้ผู้ที่เป็นอยู่แล้วลาออก โดยกลุ่มผู้นำคณะราษฎรบางส่วน เช่นกลุ่มนายทหารของ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช และนายประยูร ภมรมนตรี ได้หันมาสนับสนุนพระยามโนฯ ส่วนพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงครามอาจงดออกเสียง ซึ่งแสดงว่ากลุ่มทหารของพระยาพหลฯ กับกลุ่มทหารของพระยาทรงฯ น่าจะมีความเห็นต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลวงประดิษฐ์ฯ และกลุ่มพลเรือนของเขาถูกโดดเดี่ยวในคณะรัฐมนตรี[10]
ในวันรุ่งขึ้น ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกลาโหมได้ออกคำสั่งให้ทหารออกจากสมาคมการเมือง โดยเห็นว่าทหารไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างใดๆ ทั้งสิ้น และต่อมาอีก ๔ วัน พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวต่อทหารหัวเมืองในมณฑลพายัพ อธิบายย้ำเช่นนี้ โดยมีพ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมสิริ) อยู่ด้วย ซึ่งการเผยแพร่แนวความคิดนี้ย่อมกดดันนายทหารของคณะราษฎร จนในวันที่ ๕ มีนาคม พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรและผู้บัญชาการทหารบกต้องออกคำชี้แจงยอกรับให้ “ทหารเราปลีกตัวออกเสียจากคณะ (ราษฎร) เพื่อเป็นกลาง” เกี่ยวกับเหตุการณ์ด้านทหารทั้งหมดนี้ ธำรงศักดิ์วิเคราะห์สรุปว่า “พระยาพหลฯ ได้ถูกโดดเดี่ยวในคณะกรรมการกลางกลาโหมและมีความแตกร้าวไม่ลงรอยกันกับกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ พ.อ. พระยาทรงสรุเดช”[11]
ครั้นวันที่ ๑๗ มีนาคม คณะราษฎรกลุ่มของหลวงประดิษฐ์ฯ จึงได้ “แก้เกม” ในสภาผู้แทนราษฎรโดยพระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน) นายกสมาคมคณะราษฎรได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม โดยเกี่ยงว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวน่าจะต้องออกเป็นกฎหมาย ปรากฎว่าผลการลงคะแนนลับมีคะแนน ๓๘ ต่อ ๑๑ ว่าควรออกเป็นกฎหมาย พระยานิติศาสตร์ฯ จึงเสนอให้รัฐบาลประกาศถอนคำสั่ง ซึ่งรัฐบาลรับไปปรึกษากันก่อน ธำรงศักดิ์สรุปไว้ว่ากลุ่มผู้นำคณะราษฎรได้แตกแยกกันเอง แต่กลุ่มของพระยามโนฯ พ่ายแพ้ในสภาผู้แทนราษฎร[12]
ประเด็นเค้าโครงการเศรษฐกิจ
ในช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกัน และในเดือนมีนาคมซ้อนทับกันเลยทีเดียว ความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการวางแผนเศรษฐกิจได้ทำให้ความขัดแย้งถึงจุดสูงเด่น ทั้งนี้ในช่วงที่พระยามโนฯ ยังอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่าประธานกรรมการราษฎรอยู่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้พยายามโดยต่อเนื่องที่จะผลักดันให้มีการวางแผนเศรษฐกิจตามหลักที่ ๓ ของ ๖ หลักที่คณะราษฎรประกาศไว้เมื่อทำการยึดอำนาจ “ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”
ทั้งนี้ พระยามโนฯ ได้แจ้งในคำแถลงนโยบายเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วว่า มีความเห็นต่างกันในคณะรัฐมนตรีว่าจะทำถึงขนาดนั้นและโดยทันที หรือว่าอย่างแยกแยะและอย่างเป็นขั้นเป็นตอน[13]
ครั้นไม่นานก่อนวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (พ.ศ. ๒๔๗๖ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) พระยามโนฯ ได้ไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ปรากฏตามความในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ลงวันที่ดังกล่าวไปยังต่างประเทศพระราชทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชนัดดาผู้ทรงเลี้ยงดูมาดุจเป็นพระราชโอรส ซึ่งเพิ่งมีการนำมาเปิดเผยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ พระยามโนฯ ได้กราบบังคมทูลว่ากำลังพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ อยู่ ซึ่งเป็นแบบ “บอลเชวิคทีเดียว” (Boeshevik คือแบบคอมมิวนิสต์รัสเซีย) และได้ออดอ้อนให้พระองค์เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ โดย “ขู่” ว่าจะลาออกหากไม่เสด็จฯ กลับ เพราะคนจะหมดความเชื่อถือในรัฐบาล พระองค์จึงได้ทรง “เกี่ยงว่า” ให้พระยามโนฯ จัดการให้คนสำคัญบางคนในคณะราษฎร เช่น พระยาพหลฯ อีกทั้งพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเฝ้าฯ ที่หัวหิน ซึ่งพระยามโนฯ “ออกจะอึดอัด แต่ก็รับว่าจะไปลองดู” ทรงเล่าในลายพระราชหัตถเลขาต่อไปถึงความในพระราชหฤทัยว่า บางคนกลัวตายได้แต่จะให้พระองค์ทรงเสี่ยงทุกอย่าง ปล่อยอำนาจหมด ลดรายได้และเอาเงินให้เขา ซึ่ง “unfair เหลือเกิน” (ไม่เป็นธรรม) และ “ดูจะไม่เป็น square deal เลย” (ไม่ได้ดุลหรือยุติธรรม)...เมื่อแย่งอำนาจเอาไปแล้วก็ควรรักษาไว้ให้ได้ ทำไมต้องมาคอยร้องให้เราช่วยบังคับคนไทยให้เป็นบ่าว ฉันฉุนเหลือเกิน อยากเล่นบ้าอะไรต่างๆ จัง แต่ยังกลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมดเท่านั้นเอง แต่การที่คนเราจะทน sacrifice (เสียสละ) อะไรต่างๆนั้น มันมี limit (ขีดจำกัด) พอ ถ้าข่มขี่กันนักก็เห็นจะต้องเล่นบ้าเอาจริงเสียที...เราจะพยายาม give a damn good fight (ต่อสู้ป้องกันตนเองอย่างจริงจัง) ก่อนจะยอมให้ถูกจับง่ายๆ ฉันรู้สึกว่า crisis (วิกฤตการณ์) คราวนี้จะเป็นคราวที่สุดในชีวิตของฉัน ถ้ามันเรียบร้อยไม่มีอะไรจริงๆ ก็เห็นจะเงียบไปได้นาน แต่ถ้าเกิดเรื่องยุ่งขึ้นก็อาจตายเลยหรือหนีไปได้ แต่น่าจะไม่เป็น king อยู่ต่อไปเป็นแน่”[14]
จากพระราชหัตถเลขานี้ เห็นได้ว่าวาระนั้นเป็นวาระที่ทรงรู้สึกว่าไม่ทรงได้รับความเป็นธรรมในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง คือต้องทรงเสี่ยงหลายประการเพื่อทรงทำหน้าที่ประคับประคองสถานการณ์ และจึงทรงรู้สึกว่าเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญในและอาจจะต่อพระชนมชีพ จำเป็นที่จะต้องคิดหายุทธวิธีที่จะทรงรักษาพระองค์ไว้ให้ได้ โดยที่อย่างไรเสีย ก็คงจะต้องทรงสละราชสมบัติ ดังนั้น การที่ทรงไว้ว่าอาจ “ต้องเล่นบ้าเอาจริงเสียที” นับเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งทรงคิดอยู่เพื่อที่จะ “ต่อสู้ ป้องกันตัวอย่างจริงจัง” เพื่อรักษาพระองค์ไว้ ดังนั้น จึงไม่อาจตีความได้ว่าทรงหมายถึงว่าจะทรงสนับสนุนการจับอาวุธขึ้นเพื่อชิงพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิคืน
ครั้นวันที่ ๙ มีนาคม ๔ วันหลังจากที่พระยาพหลฯ ได้ออกประกาศให้ทหารออกจากคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์ฯ ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของเขาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมานุการขึ้น ๑๔ นายเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
โดยสังเขป เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ[15] ระบุว่าการที่มีการกระจุกตัวของทรัพย์อยู่ในมือของคนส่วนน้อยเป็นสาเหตุของความแร้นแค้นของและความ อยุติธรรมต่อคนหมู่มาก ดังนั้นจึงจำเป็นยิ่งที่จะยึดเอาปัจจัยการผลิตดั้งหมด คือ ที่ดิน ทุนและแรงงาน รวมทั้งการค้า ให้มาอยู่ในมือของรัฐ เพื่อที่จะได้มีการกระจายทรัพย์สินและความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม โดยที่ในการยึดนี้รัฐจะออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นการตอบแทน ที่ดินการเกษตรจะได้รับการจัดการโดยสหกรณ์ภายใต้การควบคุมของรัฐ ให้ผู้ผลิตเป็นลูกจ้างของรัฐบาล เพื่อให้มีความมั่นคงในตำแหน่งงานและเกียรติ และจะได้รับการจัดสรรค่าจ้างเป็นบัตรสำหรับซื้อสินค้าซึ่งจะขายโดยไม่เอากำไรตามแหล่งจำหน่ายของรัฐบาล
วันรุ่งขึ้น วันที่ ๑๐ มีนาคม หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ไปเข้าเฝ้าฯ[16] และต่อมาคณะกรรมานุการ ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์ฯ อยู่ด้วยคนหนึ่ง ได้มีความเห็นแตกต่างกัน โดย ๘ ใน ๑๔ คน เห็นชอบกับเค้าโครงการฯ ๔ คนคัดค้าน ซึ่ง ๑ ใน ๔ คนนั้นมี พ.อ. พระยาทรงสรุเดช สมาชิกคณะราษฎรด้วยคนหนึ่ง อีก ๒ คนงดออกเสียง ทั้งนี้กลุ่มที่คัดค้านได้เตรียมแผนของตนเสนอต่อที่ประชุมด้วย
ต่อมาในวันที่ ๒๕ มีนาคม คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกัน และปรากฏว่าหลวงประดิษฐ์ฯ กับพระยามโนฯ ได้ถกเถียงกันมาก โดยทั้งคู่ขู่ว่าจะลาออกหากประสบความพ่ายแพ้ ทั้งนี้หลวงประดิษฐ์อ้างว่า เมื่อเขาได้เข้าเฝ้าฯ รับสั่งว่า “ถ้าจะประกาศเค้าโครงกรณีของข้าพเจ้า ก็ให้ลาออกจากรัฐบาลและราชการ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด อย่าให้เป็นโปลิซี (นโยบาย) ของรัฐบาล จะได้ปล่อยให้มหาชนติชมกันได้ตามความพอใจ” ในการนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ไกล่เกลี่ยด้วยการเสนอว่ายังไม่ประกาศโครงการของผู้ใด ให้ส่งคนไปดูงานต่างประเทศก่อน[17] ประกอบกับพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร ยังอยู่ระหว่างการไปราชการต่างจังหวัด ที่ประชุมจึงยังไม่มีการลงมติ
๓ วันต่อมา ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งถัดไปพระยามโนฯ ได้เสนอพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ อ่าน ซึ่งพระราชวิจารณ์นี้น่าจะได้ทรงขึ้นหลังวันที่ ๑๐ ซึ่งหลวงประดิษฐ์ได้เข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแก่พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์ฯ ดูแล้วกล่าวว่า ในเมื่อในหลวงไม่ทรงเห็นด้วย ตนก็ต้องลาออกจากรัฐมนตรี หากแต่ว่าพระยาพหลฯ ขอให้ระงับไว้ก่อน โดยเสนอว่าจะยังไม่ประกาศโครงการของผู้ใด สิ่งใดควรทำก็ทำไปก่อน ส่งคนดูงาน และเมื่อมีสภาฯ จากการเลือกตั้งทางอ้อมกึ่งหนึ่งแล้ว ก็ให้พิจารณาอีกที แต่ท้ายสุดที่ประชุมได้ลงมติ ๑๑ ต่อ ๓ รับเอานโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯ เป็นแนวทางของรัฐบาล แต่ยังไม่ประกาศออกไป เห็นได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระยามโนฯได้ใช้เรื่องที่พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้เหตุการณ์เป็นไปตามที่เขาต้องการ
พระราชวิจารณ์ดังกล่าว เป็นโดยละเอียดต่อแต่ละตอนของเค้าโครงการฯ ของหลวงประดิษฐ์ฯ มีข้อสรุปว่ามีลักษณะคล้ายคลึงมากกับนโยบายและแผนเศรษฐกิจ ๕ ปีของ สตาลิน (Stalin) ในคอมมิวนิสต์รัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงที่ไม่ยอมให้ราษฎรมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ “ในที่สุดเราจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปอย่างแน่นอน...เพราะการเศรษฐกิจเป็นไปในทางคอมมิวนิสต์... ดังนั้น จึงควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมือง...จะกลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จนกลายเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศชาติบ้านเมือง อันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ” (หน้า ๔๙๖-๔๙๗) ทรงแนะนำรัฐบาลให้ดำเนินการบำรุงเศรษฐกิจไปในทางการส่งเสริมและแนะนำ เช่นให้ราษฎรร่วมมือกันทำสหกรณ์และตั้งนาของรัฐบาล รับคนที่ไม่มีงานทำหรือคนอื่นที่สมัครเข้าไปทำงาน อีกทั้งบำรุงการค้าและการตั้งโรงงานโดยไม่เก็บภาษีมากจนเกินไปจนอยู่ไม่ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้เอาเปรียบคนงาน เป็นต้น (หน้า ๔๙๗) แต่ถ้าหากจะทำตามเค้าโครงการเศรษฐกิจเมื่อใด ก็ “ขอได้จัดการให้ราษฎรได้เป็นผู้เลือกที่จะใช้การเศรษฐกิจนี้จริงๆ คือขอให้ฟังเสียงราษฎรจริงๆ อย่าได้หักโหมบังคับเอาโดยทางอ้อม... (หน้า ๓๓๙)
ที่สำคัญคือพระองค์ได้ทรงไว้อย่างชัดแจ้งในตอนต้นของ “สรุปความ” ว่าเป็นความเห็นส่วนพระองค์ “ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้น ก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนถูกหรือผิด ก็ต้องทดลองดูเท่านั้น จึงจะเห็นได้” (หน้า ๔๙๓)
จึงวิเคราะห์ได้ว่าได้ทรงใช้พระราชสิทธิในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญพระราชทานคำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี และที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระราชทัศนะอย่างตรงไปตรงมามากนั้น อาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะทรงเห็นว่าประเด็นทางการเมืองได้กลายเป็นประเด็นทางการชาติแล้ว และจึงจำเป็นที่พระองค์ในฐานะประมุขของชาติจักต้องทรงแสดงพระองค์ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทรงทำได้โดยไม่เป็นการกระทำการขัดต่อวิถีแห่งระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ
หากแต่ว่า การที่พระยามโนฯ ได้อัญเชิญพระราชวิจารณ์มาใช้เช่นนั้น มีผลเป็นการนำองค์พระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การที่ผู้ที่มีอำนาจทางการปกครองจริงๆไม่ได้ทำการให้อยู่ในแบบแผนและหลักการของระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ได้ยังผลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตกอยู่ในสภาพที่ทรงถูกตำหนิจากบางฝ่ายว่าทรงเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง[18]
สำหรับพระยามโนฯ นั้น ดูจะได้แสดงอาการของการใช้ยุทธวิธีเอาตัวรอดต่างๆ นานา เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยทรงคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งที่ทรงแสดงพระทัศนะต่อร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เอง
พระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
จากนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ได้มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจโดยตรง แต่ในญัตติของสมาชิกที่จะให้รัฐบาลถอนประกาศซึ่งห้ามราชการเป็นสมาชิกสมาคมทางการเมือง สมาชิกสภาฯ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ พกปืนเข้าไปในที่ประชุมในวันที่ ๓๐ มีนาคม และวันรุ่งขึ้นพระยาทรงสุรเดชได้นำทหารพร้อมอาวุธเข้าไปในสภาโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบ พระยามโนฯ ถูกโจมตีว่าได้กระทำการฝ่าฝืนหลักของคณะราษฎรและกำลังดำเนินการเพื่อกลับไปสู่ “ระบอบเก่า” จากนั้น พระยามโนฯได้ปลีกตัวเดินทางไปหัวหินพร้อมกับ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏต่อมาว่า เพื่อที่จะกราบบังคมทูลฯ ขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งแล้ว
พระราชกฤษฎีกาซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ (วันขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น) มีพระยามโนฯ และรัฐมนตรีอีก ๑๓ คน เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในกลุ่มของพระยามโนฯ และในกลุ่มนายทหารที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงนามคือรัฐมนตรี ๖ คนซึ่งมีหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นหนึ่งใน ๖ คนดังกล่าว ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มของเขา
ตามธรรมดา ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐมนตรีนอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองฯ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ได้วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลต่างๆ หลากหลายว่าพระยามโนฯ ได้วางแผนและกลยุทธิ์ที่จะออกพระราชกฤษฎีกานี้ไว้แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ๒ ครั้งนั้น ทั้งยังเห็นว่าการออกพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นการทำรัฐประหาร[19]
แถลงการณ์ของรัฐบาลอธิบายเหตุที่ต้องออกพระราชกฤษฎีกาความโดยสรุปว่า เกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยฝ่ายข้างน้อยปรารถนาจะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางที่มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ฝ่ายข้างมากเห็นว่าถ้าเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎรและเป็นมหันตภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การที่มีความเห็นต่างกันเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินให้เรียบร้อยไม่ได้ และโดยที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ไม่ควรเพียรวางนโยบายเศรษฐกิจประดุจเป็นการพลิกแผ่นดินเช่นนั้น แต่มีสมาชิกสภาจำนวนมากปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น เฉกเช่นเสียงข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ความแตกต่างกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเช่นนี้เป็นอันตรายยิ่ง รัฐบาลจึงต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่[20]
การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานี้ เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา เช่นว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญตรงที่มาตราที่งดใช้นั้นทำให้เหลือแต่เพียงมาตราที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หน้าที่ของชาวสยาม และหมวดศาลอยู่เท่านั้น และการปิดสภาย่อมเท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยพร้อมๆ ไปกับอำนาจบริหาร[21] อีกแนวหนึ่งคือการวิเคราะห์ว่าการปิดสภาเป็นเสมือนการใช้อำนาจยุบสภาที่รัฐธรรมนูญให้ฝ่ายบริหารทำได้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงไม่ได้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ[22] ปัญหาที่การวิเคราะห์แนวนี้มี ก็คือ ได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่ใช่ให้คณะรัฐมนตรีเดิมรักษาการ ทั้งนี้ คณะใหม่นี้ไม่มีหลวงประดิษฐ์ฯ และฝ่ายของเขาเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป อีกทั้งรัฐบาลใหม่นี้ได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ในวันรุ่งขึ้น และต่อมาไม่นานรัฐบาลได้ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ทั้งหมดเท่ากับการขจัดเขาและพวกออกจากอำนาจทางการปกครองนั่นเอง
สำหรับบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กล่าวได้ว่าได้ทรงปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาตามการถวายคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายข้างมากในคณะรัฐมนตรี แต่ธำรงศักดิ์วิเคราะห์ว่า “ทรงให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการทำรัฐประหารของกลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดา”... และ “จะทรงได้รับพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญที่ทรงหวังไว้”[23]
องค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เองได้รับสั่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1933 (พ.ศ. ๒๔๗๖) เล่าพระราชทานเซอร์ อาร์. ฮอลแลนด์ (Sir R. Holland) ที่ปรึกษาราชการชาวอังกฤษว่า “พระยามโนฯ ได้ตัดสินใจปิดสภาฯ แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้ทัดทานไว้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจตามมา”[24] ก็ยังมีปัญหาเชิงเทคนิคทางกฎหมายว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาซึ่งกำหนดให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราด้วย ทั้งๆ ที่พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าในเมื่อได้ทรงเตือนสติพระยามโนฯ แล้ว แต่พระยามโนฯ ยังยืนยัน พระองค์ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ให้พระองค์มีพระราชอำนาจ
เรื่องราวต่อจากนั้นไปมีความซับซ้อนมาก[25][26] จึงขอนำเสนอแต่โดยสรุปว่าพระยามโนฯ สามารถที่จะกระทำการข้างต้นทั้งหมดนี้ได้ ก็เพราะในขณะนั้นเขามีกำลังทหารส่วนหนึ่งหนุนอยู่ คือทหาร ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช และ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ในขณะที่ พ.อ.พระยาพหลฯ ไม่ได้คุมกำลังโดยตรง เท่ากับว่านายทหารในคณะราษฎรได้แตกแยกกันเองเป็นพระยาพหลฯ ซึ่งเห็นใจหลวงประดิษฐ์ฯ กับพระยาทรงฯ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ และต่อต้านเขา ส่วนหลวงพิบูลฯ นั้นแม้ว่าจะเป็นเพื่อนกับหลวงประดิษฐ์ฯ มาตั้งแต่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสด้วยกัน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของเขา
หากแต่ว่า ต่อมาเมื่อพระยามโนฯ ได้ดำเนินการลดทอนอิทธิพลของคณะราษฎรลงและแสดงอาการประวิงเวลาในการที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง พระยาพหลฯ และหลวงพิบุลฯ เห็นว่าพระยามโนฯ กำลังหวงอำนาจไว้โดยที่พยายามกันคณะราษฎรออก จึงเกิดมีการแข่งขันชิงไหวชิงพริบกันระหว่างพระยาทรงฯ กับพระยาพหลฯ ปรากฏในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการยื่นใบลาออกทั้งจากตำแหน่งในกองทัพบกและในคณะรัฐมนตรีนับแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ของ “สี่ทหารเสือ” คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมศิริ) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ทั้งสองฝ่ายตั้งความหวังว่าจะสามารถบีบให้พระยามโนฯ รวมตลอดถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัดสินใจและพระทัยไปในทางที่อำนวยให้ฝ่ายของตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ณ จุดนี้ พระยามโนฯ กลับได้ใช้ไหวพริบกราบบังคมทูลแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นชอบตามกฎหมายให้นายทหารทั้งสี่ออกตามขอ และแล้วในวันที่ ๑๘ มิถุนายน พระยามโนฯ ได้ให้ทั้ง ๔ ลาพักราชการและแต่งตั้งพลตรี พระยาพิไชยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน) อดีตแม่ทัพกองทัพที่ ๑ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลฯ และแต่งตั้ง พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงฯ และ พท. หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงฯ ซึ่งมีผลทำให้หลวงพิบุลฯ มีอำนาจบังคับบัญชาทหารบกโดยตรง ซึ่งต่อมาไม่กี่วัน พระยามโนฯ ต้องพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา พระยามโนฯ ยังได้แก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ๓ ฉบับให้มีเนื้อหาเปิดโอกาสมากกว่าแก่ผู้สมัครที่มีอายุมากกว่า ซึ่งมีแนวโน้มจะสนับสนุนให้เขาเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทางอ้อมสู้กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และได้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น
รัฐประหาร ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖
ในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนการบังคับบัญชาทหารบกอยู่นั้นเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน หลวงพิบูลฯ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนฯ โดยใช้กำลังทหารแต่ไม่มีการต่อต้าน และพระยามโนฯ ยอมออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขัดขืน และต่อมาได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะปีนัง ตราบจนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่น คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกทั้งได้เปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง มีการประกาศพระราชบัญญัติย้อนหลังให้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนฯ เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์ก็คือการให้คณะราษฎรกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ฝ่ายทหารบกภายใต้พระยาพหลฯ และหลวงพิบุลสงคราม (จอมพลป.พิบุลสงคราม ในภายหลัง) เป็นผู้คุมกำลังเป็นฝ่ายที่ก็ได้ขึ้นมามีอำนาจเหนือฝ่ายอื่นๆ ในคณะราษฎร
สำหรับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัตินั้นวิเคราะห์ได้ว่า ในกรณีของการทรงเห็นชอบให้ “สี่ทหารเสือ” ลาออกนั้น ได้ทรงปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทบจะมิได้ถวายทางเลือกไว้ หากแต่ว่าการที่ได้ทรงปฏิบัติเช่นนั้น ได้นำมาซึ่งความผิดหวังแก่เขาเหล่านั้น และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดจึงไม่ได้ทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ใช้กันอยู่ในประเทศอื่นด้วยการทรงสอบถามถึงความตั้งใจที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น ซึ่งหากได้ทรงกระทำเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลให้พระยามโนฯ ต้องยอมทำการต่อรองกับนายทหารเหล่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้มีแนวโน้มจะชี้ให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเข้าข้างพระยามโนฯ หากแต่ว่าครั้นเมื่อพระยาพหลฯ ทำการรัฐประหาร กลับมีความคาดหวังให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงยอมรับสิ่งที่ในเชิงเทคนิคเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทรงยอมตามคำกราบบังคมทูลของพระยาพหลฯ ที่ว่าการทำการรัฐประหารของเขานั้นเป็นไปเพื่อยืนยันความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญ สภาพการณ์เช่นนี้เองคือสภาพของยุค “แรกมีประชาธิปไตย” ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังให้พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญทรงปฏิบัติตามความต้องการของเขา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับสั่งต่อเซอร์ อาร์. ฮอลแลนด์ในภายหลังคือในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า “ในอังกฤษ มีคำกล่าวว่าไม่อาจถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรผิด แต่ในสยามดูเหมือนว่าไม่ว่าจะทรงทำอะไรก็ไม่ถูกทั้งนั้น”[27]
จากนั้น พระยาพหลฯ ได้วางหมาก “มัด” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า การที่เขาเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ไม่ “บังควร” “จะเป็นว่าสยามดำเนิรการปกครองโดยใช้อำนาจทหารมีรัฐธรรมนูญไว้บังหน้า พลอยเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ...อีกสถานหนึ่ง” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) เท่ากับว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงมีทางเลือก พระองค์ต้องทรงขอไม่ให้พระยาพหลฯ ลาออก และในการนั้น ต้องทรงละเว้นการที่จะทรงคัดค้านการที่ทหารจะมีตำแหน่งและบทบาททางการเมือง ในส่วนของพระยาพหลฯ การวางหมากเช่นนั้น เป็นการเน้นย้ำอยู่ในที่ว่าเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็คือให้พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นเพียงสัญลักษณ์โดยไม่มีอำนาจ (power) หรือแม้แต่อิทธิพล (influence) ทางการเมืองแต่อย่างใดเลย
จากนั้น สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ยืนยันให้พระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในกาลต่อมา ทหารจึงได้มี “ฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือผู้ปกป้องระบอบใหม่”[28]
เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจแก่สาธารณชนคนชั้นกลางและชุมชนและรัฐบาลต่างประเทศ พระยาพหลฯ ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีองค์ประกอบแบบผสมระหว่างฝ่ายต่างๆ คือ ๓ คนจากคณะรัฐมนตรีของพระยามโนฯ ๕ คนจากคณะราษฎร และอีก ๖ คน แบ่งระหว่างผู้สนับสนุนคณะราษฎรและอดีตเสนาบดีในรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงฯ และพวก คู่แข่งขันของพระยาพหลฯ ถูกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้คุมกำลัง และไม่นานต่อมาไม่มีตำแหน่งใดๆ พระยาพหลฯ แถลงด้วยว่ารัฐบาลของเขาจะยังคงไว้ซึ่งนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และจะไม่ลดค่าเงินบาท
ในขณะเดียวกัน พระยาพหลฯ ได้ดำเนินการปูทางให้หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กลับมาจากต่างประเทศ โดยการตั้งคณะกรรมการซึ่งได้มีมติว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อได้รับคำสัญญาจากหลวงประดิษฐ์ฯ แล้วว่าจะยึดตามนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ยึดที่ดินเป็นของรัฐ และจะไม่บังคับให้ราษฎรต้องทำราชการ พระยาพหลฯ ได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับการกลับมาของหลวงประดิษฐ์ฯ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความเห็นชอบ คราวนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหลีกเลี่ยงที่จะต้องทรงร่วมรับผิดชอบด้วยพระราชกระแสว่า “การเรียกหลวงประดิษฐ์ฯ กลับและแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ก็ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ข้าพเจ้าให้เรียกกลับ”[29]
เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ปรากฏในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษซึ่งเปิดเผยนานหลายสิบปีให้หลังว่า ในพระราชบันทึกพระราชทานนาย เจมส์ แบกซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษากระทรวงการคลังชาวอังกฤษ ในต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์ว่าความประสงค์ของหลวงประดิษฐ์ฯ ในท้ายที่สุดคือการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยม แม้เขาจะทราบว่ายังไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ในเวลานั้น แต่ก็ต้องการบรรลุเป้าประสงค์นั้นโดยเร็วที่สุด และพวกของหลวงประดิษฐ์กำลังปล่อยข่าวลือต่างๆ ให้ร้ายพระราชวงศ์ และหวังจะวางหมากให้พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติโดยสมัครพระทัย[30]
ในพระราชบันทึกฉบับเดียวกัน ทรงไว้ด้วยว่าในช่วงของรัฐบาลพระยามโนฯ พระมหากษัตริย์ทรงมีอิทธิพลอยู่บ้างและได้ทรงใช้อย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อิทธิพลของพระมหากษัตริย์ต่อรัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นได้แต่ในทางลบ เพราะเขาไม่ขอพระราชทานคำแนะนำและถึงแม้จะทรงแนะนำ เขาก็ไม่มีใจจะทำตาม ดังนั้น พระมหากษัตริย์อาจจะทรงสามารถใช้อิทธิพลเชิงลบได้จริง ก็ต่อเมื่อทรงมีอิสรภาพในระดับหนึ่ง (ทรงใช้คำว่า “The King” โดยตลอด-ผู้เขียน) พระองค์จะต้องไม่ทรงยอมตกอยู่ในสภาพที่จะทรงถูกบีบบังคับได้โดยง่าย อาวุธที่แข็งแรงที่สุดของพระองค์ก็คือการทรงขู่ว่าจะทรงสละราชสมบัติ ซึ่งได้ทรงใช้อย่างได้ผลแล้วมากครั้ง แต่ถ้าจะให้มีประสิทธิผลจริง ต้องมีความเป็นไปได้ที่จะทรงทำตามที่ทรงขู่จริงๆ ซึ่งก็คือ เมื่อทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ที่อื่นที่มีความปลอดภัยและคอยเฝ้าดูสถานการณ์ การทรงขู่เช่นนั้นในขณะที่ประทับอยู่ในกรุงเทพจะไม่ได้ผลถึงครึ่งหนึ่ง เพราะเสี่ยงต่อการที่จะทรงถูกกักพระองค์ไว้ ซึ่งเป็นวิธีการไม่ให้ผู้ใดกล้าหือกับรัฐบาล ทรงจบพระราชบันทึกว่า “เป็นที่น่าเศร้าจริงๆ ที่ประชาชนตั้งความหวังไว้กับพระมหากษัตริย์จนเกินไป พระองค์ไม่อาจช่วยเหลือเขาได้มากนัก จะดีกว่าหากประชาชนเข้าใจเร็วขึ้นว่าเขาต้องช่วยตัวเอง”[31] พระราชบันทึกท่อนนี้แสดงว่า ณ บัดนี้ ทรงมีพระราชดำริจะทรงปลีกพระองค์ไปต่างประเทศ เพื่อทรงใช้ความพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะทรงต่อรองให้คณะราษฎรยอมเข้าสู่ครรลองของระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นเป้าพระราชประสงค์มาโดยตลอด และได้ทรงแสดงความอึดอัดพระราชหฤทัยที่ประชาชนยังคงหวังพึ่งพระมหากษัตริย์อยู่เช่นเดิมและยังไม่รู้ตัวว่าแท้ที่จริงแล้วต้องลุกขึ้นมาพึ่งตนเอง
สำหรับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น ภายในไม่กี่วันหลังจากที่เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีลอยในรัฐบาลของพระยาพหลฯ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ตามมาอย่างรวดเร็ว กฎหมายเลือกตั้ง ๓ ฉบับได้รับการแก้ไขไปให้กลับไปเป็นดังเดิม และกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อม ๒ ขั้นตอนสู่กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็กำลังจะเริ่มขึ้น
อ้างอิง
- ↑ เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitution: Thailand’s Political Development, 1932-2000. London and New York: Routledge Curzon. เป็นต้น
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๘๙.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๙๗-๓๑๑.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๑๕.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๑๓.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๑๓.
- ↑ สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๘.
- ↑ รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์) , หน้า ๑๙๒.
- ↑ Bogdanor, Vernon. 1995. The Monarchy and the Constitution. (Oxford: Oxford University Press) , pp. 61-63.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๕๑.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๕๑-๓๕๕.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๕๕-๓๕๗.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๔๑-๓๔๒.
- ↑ เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา (ผู้เรียบเรียง). ๒๕๔๒. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงมณี สิริวรสาร. (กรุงเทพฯ: เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา.) , หน้า ๕๔-๕๕.
- ↑ นายสุจินดา (นามแฝง). ๒๕๑๙. พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม) , หน้า ๓๓๘-๔๙๗.
- ↑ กรุงเทพฯวารศัพท์ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้าแรก.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๕๘-๓๖๐.
- ↑ Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. (Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University), p. 163.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๖๓-๓๘๖.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๙๘-๙๙.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๘๑-๓๘๒.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๑๐๐.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๓๘๓.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๑๙๒.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๒๗๕-๒๘๖ และบทที่ ๕.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๑๐๒-๑๐๔.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๑๙๓.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๔๔๗.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๔๔๕.
- ↑ วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า) , หน้า ๑๙๙-๒๐๐.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) , หน้า ๔๔๗.
บรรณานุกรม
กรุงเทพฯวารศัพท์ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
แถมสุข นุ่มนนท์. ๒๕๔๕. ละครการเมือง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ฯ.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
นายสุจินดา (นามแฝง). ๒๕๑๙. พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.
วัลย์วิภา จรูญโรจน์, มล. ๒๕๒๘. แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสาร
ประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดินชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา (ผู้เรียบเรียง). ๒๕๔๒. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงมณี สิริวรสาร. กรุงเทพฯ: เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา.
Bogdanor, Vernon. 1995. The Monarchy and the Constitution. Oxford: Oxford University Press.
Kobkua Suwannathat-Pian. 2003. Kings, Country and Constitution: Thailand’s Political Development, 1932-2000. London and New York: Routledge Curzon.
Prudhisan Jumbala. 2012. Prajadhipok: The King at the Transition to Constitutional Monarchy in Siam. In Monarchy and Constitutional Rule in Democratizing Thailand. Suchit Bunbongkarn and Prudhisan Jumbala. Editors. Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University.