ครอบครัวเพื่อไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และศิปภณ อรรคศรี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

“ครอบครัวเพื่อไทย” ส่วนเสริมแบบกึ่งทางการของพรรคเพื่อไทย

          เมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ เนื่องจากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา ใกล้หมดวาระลงในปี 2566 ทางพรรคเพื่อไทยเองก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อประกาศตั้งกลุ่ม “ครอบครัวเพื่อไทย” ภายใต้ชื่อแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหม่ หัวใจดวงเดิม” ขึ้น ในวันที่ 20 มีนาคม 2565 โดยเหตุผลของชื่อ “ครอบครัวเพื่อไทย” มาจากประวัติศาสตร์การเดินทางจากครอบครัวแรก คือ พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ นายทักษิณ_ชินวัตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอแนวคิดประชาธิปไตยกินได้ แม้ว่าจะเผชิญกับการยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า สู่บ้านหลังใหม่ในชื่อพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยตามลำดับ โดยมีภาคประชาชนพี่น้องคนเสื้อแดงร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกันเสมอมา[1]

 

Pheu Thai Family (1).jpg
Pheu Thai Family (1).jpg

ภาพ : จาก Twitter พรรคเพื่อไทย Pheu Thai Party [2]

 

          ครอบครัวเพื่อไทยจึงถูกตั้งขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจที่มีมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และสร้างให้ครอบครัวเพื่อไทยเป็นพื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการสนับสนุนภารกิจของพรรคเพื่อไทยให้สามารถชนะเลือกตั้งแบบ แลนด์สไลด์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มแบบกึ่งทางการที่พรรคเพื่อไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับภาคประชาชนคนเสื้อแดง เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่คนเสื้อแดงมีต่อพรรคเพื่อไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น อันเป็นการสร้างหลักประกันในคะแนนนิยมที่จะส่งผลต่อชัยชนะอย่างเด็ดขาดตามที่พรรคเคยคาดหวังว่าจะได้รับในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พร้อมทั้งในวันที่จัดกิจกรรมเปิดตัวครอบครัวเพื่อไทยนั้นได้มีการเปิดตัวตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสะท้อนความพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเข้าด้วยกันภายใต้ความเป็น “ครอบครัวเพื่อไทย”

 

Pheu Thai Family (2.1).jpg
Pheu Thai Family (2.1).jpg

 

“พรรคเพื่อไทย + เสื้อแดง” ภาพการจัดองค์กรของครอบครัวเพื่อไทย

          เมื่อพิจารณาการจัดองค์กรของครอบครัวเพื่อไทย กล่าวได้ว่า ครอบครัวเพื่อไทยมีรูปแบบของการจัดองค์กรที่เป็นการประกอบเข้าด้วยกันระหว่างส่วนที่เป็นภาคประชาชนซึ่งไม่ได้มีความเป็นทางการ กับบทบาทการทำหน้าที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่เป็นทางการ โดยการเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทยมีข้อจำกัดน้อยกว่าการเป็นสมาชิกพรรคในการเข้าร่วม เนื่องจากการเข้าเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทยไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขแบบพรรคการเมืองที่ต้องมีการสมัครสมาชิกแบบมีค่าใช้จ่าย หรือสมาชิกก็ไม่ได้ผูกมัดให้ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมายเลือกตั้งเมื่อเทียบกับการสมัครเป็นสมาชิกพรรค

          โดยในส่วนของผู้บริหารหรือหัวหน้าองค์กร ได้สะท้อนภาพความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบคู่ขนานกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดง ดังที่มีการแต่งตั้งให้นางสาวแพทองธารมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นตำแหน่งชั่วคราวรองรับบทบาททางการเมืองของนางสาวแพทองธารไปพลางระหว่างที่ยังไม่ได้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง และยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอ (ซึ่งในภายหลังจากประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2566 ก็มีการเสนอชื่อของนางสาวแพทองธารเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ) ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ในบทบาทของที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566[3] บทบาทในองค์กรครอบครัวเพื่อไทยจึงเป็นการให้คำปรึกษาแก่นางสาวแพทองธาร แล้วทั้งคู่ยังได้รับการประกาศให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้มอบหมายตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรคเพื่อไทย แต่ให้เข้ามารับตำแหน่งในองค์กรทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการอย่างครอบครัวเพื่อไทยไปพลางเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

          ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ทางครอบครัวเพื่อไทยก็มีการจัดองค์กรด้วยการแต่งตั้งให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงให้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย[4] โดยณัฐวุฒิรับหน้าที่สำคัญในการยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นคนเสื้อแดงซึ่งพร้อมทำงานร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพื่อที่จะนำไปสู่การชนะเลือกตั้งและสานต่อเจตนารมณ์ของพรรคไทยรักไทยที่สืบทอดมายังพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังสังเกตได้ถึงความพยายามที่ต้องการก้าวข้ามกลุ่ม นปช. หลังจากที่แกนนำคนสำคัญเดิมแยกทางความคิดออกจากกันระหว่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ จตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งจตุพรได้แสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์พรคเพื่อไทยและทักษิณมากขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ปี 2562[5] ก่อนที่ในที่สุดแล้ว การตั้งครอบครัวเพื่อไทยขึ้นมาจะเป็นการแสดงถึงการสิ้นสุดของการแสดงความเป็นเจ้าของกลุ่มคนเสื้อแดง และเชื้อเชิญให้คนเสื้อแดงร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยผ่านช่องทางของกลุ่มครอบครัวเพื่อไทยซึ่งมีณัฐวุฒิเป็นตัวแทนความเป็นคนเสื้อแดงในกลุ่ม

 

ทางแยก (?) ของครอบครัวเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566

          หลังจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดลง ทิศทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงผันผวน ในสถานการณ์ที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถคว้าเสียงลงคะแนนมากเพียงพอที่จะให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ อันเป็นเหตุผลให้พรรคเพื่อไทยนำมาเป็นคำอธิบายต่อความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยการทอดทิ้งพรรคก้าวไกล และเชิญพรรคที่ตนเองเคยวิจารณ์อย่างดุเดือดในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคภูมิใจไทยที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงเรื่องการตีงูเห่า[6] หรือการรวมพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเข้ามาในรัฐบาลใหม่แม้ว่าจะเคยประกาศว่าจะไม่รับพรรคของ “2 ลุง” ทั้งสองพรรคก็ตาม[7] จนในที่สุดแล้วนำมาสู่คำวิจารณ์เรื่องความไม่จริงใจของพรรคเพื่อไทยหรือการใช้เพื่อการหาเสียง ซึ่งในเวลาต่อมา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนสายคนเสื้อแดงที่มีบทบาทในครอบครัวเพื่อไทยประกาศยุติบทบาทจากครอบครัวเพื่อไทย โดยให้เหตุผลในเรื่องความไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว[8] ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงจุดสิ้นสุดของครอบครัวเพื่อไทยสายเสื้อแดง ขณะที่แกนนำครอบครัวเพื่อไทยสายพรรคเพื่อไทยอย่างนายเศรษฐาก็เข้าเป็นนายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธารก็เข้ารับตำแหน่งภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ต่างก็สะท้อนถึงการลดบทบาทในฐานะตัวแทนครอบครัวเพื่อไทย สุดท้ายแล้วจึงไม่อาจทราบได้ว่ามาถึงจุดสิ้นสุดของครอบครัวเพื่อไทยแล้วหรือยัง

 

บรรณานุกรม

The Momentum. (2566). ณัฐวุฒิ คนเสื้อแดง และ ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ กับเป้าหมาย ‘ยึดอำนาจ’ พลเอกประยุทธ์ ผ่านการเลือกตั้ง. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://themomentum.co/closeup-nattawut-saikua-2/

คมชัดลึกออนไลน์. (2566). 'เพื่อไทย' ดูดดื่ม 'ภูมิใจไทย' - อธิบาย 'ไล่หนูตีงูเห่า' แค่กุศโลบายหาเสียง. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.komchadluek.net/news/politics/555486

เดลินิวส์. (2566). ด่วน! “ณัฐวุฒิ” ประกาศยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.dailynews.co.th/news/2642056/

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). "จตุพร" ลั่น ไม่มีวันทำร้าย "ณัฐวุฒิ" ก่อน ปูด "ทักษิณ" หลอกซ้ำซาก. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2648811

ประชาชาติธุรกิจ. (2566). เพื่อไทย แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาฯ มีผลทันที. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.prachachat.net/politics/news-1217080

ผู้จัดการออนไลน์. (2566). จาก “มีลุง ไม่มีเรา” สู่ “มีเรา ต้องมีลุง” คำตอบสุดท้ายจาก “เพื่อไทยการละคร”. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://mgronline.com/daily/detail/9660000072519

มติชนออนไลน์. (2565). เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/politics/news_3242754

 

อ้างอิง

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: มติชนออนไลน์. (2565). เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.matichon.co.th/politics/news_3242754

[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ประชาชาติธุรกิจ. (2566). เพื่อไทย แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาฯ มีผลทันที. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.prachachat.net/politics/news-1217080

[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: The Momentum. (2566). ณัฐวุฒิ คนเสื้อแดง และ ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ กับเป้าหมาย ‘ยึดอำนาจ’ พลเอกประยุทธ์ ผ่านการเลือกตั้ง. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://themomentum.co/closeup-nattawut-saikua-2/

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ไทยรัฐออนไลน์. (2566). "จตุพร" ลั่น ไม่มีวันทำร้าย "ณัฐวุฒิ" ก่อน ปูด "ทักษิณ" หลอกซ้ำซาก. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.thairath.co.th/news/politic/2648811

[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: คมชัดลึกออนไลน์. (2566). 'เพื่อไทย' ดูดดื่ม 'ภูมิใจไทย' - อธิบาย 'ไล่หนูตีงูเห่า' แค่กุศโลบายหาเสียง. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.komchadluek.net/news/politics/555486

[7] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ผู้จัดการออนไลน์. (2566). จาก “มีลุง ไม่มีเรา” สู่ “มีเรา ต้องมีลุง” คำตอบสุดท้ายจาก “เพื่อไทยการละคร”. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://mgronline.com/daily/detail/9660000072519

[8] อ่านเพิ่มเติมได้ที่: เดลินิวส์. (2566). ด่วน! “ณัฐวุฒิ” ประกาศยุติบทบาท ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว. Retrieved 17 กันยายน 2566, from https://www.dailynews.co.th/news/2642056/