การเเข่งขันทางการค้าในอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ที่มาและความสำคัญ

จุดเริ่มต้นของการมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีขึ้นเพื่อรองรับแนวคิดมาว่า การผูกขาดเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ[1] กล่าวคือ เมื่อใดที่ผู้ผลิตมีอำนาจผูกขาดในการตัดสินใจว่าจะขายให้ใคร ราคาเท่าไร อย่างไรเเล้ว เมื่อนั้นผู้บริโภคก็จะเผชิญกับภาวะสินค้าราคาเเพง จนกลุ่มคนบางกลุ่มไม่สามารถซื้อได้ภาวะเช่นนี้นอกจากไม่เป็นธรรมเเล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การมีกฎหมายการเเข่งขันทางการค้า [2] โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือ ต้องมีการกระตุ้นให้มีการเเข่งขันทางธุรกิจเพื่อลดการผูกขาด เเละต้องป้องกันการสมคบกันเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นการมีกฎหมายการเเข่งขันทางการค้า จึงมีความสำคัญ คือ เพื่อป้องกันผลลบต่างๆที่มาจากการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการค้ากำไรเกินควร รวมถึง การกีดกันคู่ต่อสู้เพื่อจำกัดการแข่งขันของผู้ประกอบการ[3] นอกจากนี้ กฎหมายการเเข่งขันทางการค้า ยังถือเป็นธรรมนูญการค้า อันจะเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า ตลาดอาเซียนจะเปิดตลาดสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ให้เข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี [4]

กฎหมายการเเข่งขันทางการค้าในอาเซียน

หลักการทั่วไปที่สำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นสากล คือ ผู้ประกอบการจะต้องไม่ใช้อำนาจทางการตลาดของตนอย่างไม่เป็นธรรม ห้ามการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อลดหรือจำกัดการแข่งขัน ห้ามการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ทำลายหรือจำกัดการแข่งขัน [5]

ตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC Blueprint ภายในปี ค.ศ.2015ประเทศสมาชิกอาเซียน มีพันธะผูกพันที่จะต้องส่งเสริมนโยบายและกฎหมายการแข่งขัน (Competition Policy Law : CPL) ในประเทศให้ทั่วถึงภายในปี ค.ศ.2015 เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันทางธุรกิจที่ยุติธรรมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคระยะยาว[6] ซึ่งจะทำให้โอกาสขยายตัวทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีค.ศ.2015 โดยมีผลให้ สินค้ารายการต่างๆนั้นสามารถเข้า-ออก ประเทศในอาเซียนได้อย่างเสรี ซึ่งจะส่งผลให้เงื่อนไขและปัจจัยต่างๆที่เคยเกื้อกูลและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ที่แต่ละประเทศเคยมีต้องเปลี่ยนไปนอกจากนี้ยังจะช่วยคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs)ไม่ให้ถูกธุรกิจขนาดใหญ่ เอาเปรียบได้โดยง่าย ดังนั้น กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการกำกับดูแลการค้า เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในประชาคมอาเซียน [7]

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเพียง 5 ประเทศจาก 10 ประเทศ ที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า (Comprehensive Competition Law) คือ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย ส่วนอีก 5 ประเทศที่เหลือนั้น[8] อยู่ในระหว่างการพิจารณายกร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หรือริเริ่มนโยบาย เพื่อให้มีกฎหมายดังกล่าว[9]

กฎหมายการเเข่งขันทางการค้าของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่สมบูรณ์แบบ คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติที่ครบถ้วนในการป้องพฤติกรรมที่เป็นการจำกัดหรือกีดกันการเเข่งขันที่เป็น มาตรฐานทางสากลมีทั้งสิ้น 57 มาตรา [10] ใช้บังคับตั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999 [11]

สาระสำคัญของกฎหมาย คือ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับพฤติกรรรมที่เป็นการจำกัดการเเข่งขันที่เป็นมาตรฐานสากล ตัวอย่างมาตราที่สำคัญ เช่น การมิให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด (มาตรา 25), การมิให้มีการควบรวมกิจการอันจะทำให้เกิดการผูกขาด (มาตรา26), การมิให้มีการร่วมมือกันเพื่อผูกขาดหรือลดการเเข่งขัน (มาตรา 27)[12] , การมิให้มีการกีดกันการเเข่งขัน (ม.28,ม.29) 2 มาตรานี้ มีบทบัญญัติค่อนข้างกว้าง มีไว้เพื่อให้มีความยืดหยุ่นเเก่สำนักการเเข่งขันทางการค้า ในการกำกับควบคุมพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่พึงปราถนา เเละไม่เข้าข่ายมาตรา 25-27 ที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น [13]

ทั้งนี้ ข้อเเตกต่างระหว่างกฎหมายการเเข่งขันทางการค้าของไทยกับกฎหมายของประเทศอื่นในอาเซียน คือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย มีผลบังคับใช้กับการประกอบการเเละกิจกรรมทางธุรกิจทุกประเภท ยกเว้น

1.รัฐวิสาหกิจ

2.สหกรณ์และสหกรณ์การเกษตร

3. หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางเเละส่วนท้องถิ่น รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่กำหนดในกระทรวง

แต่หากเทียบกับกฎหมายของอินโดนิเชีย สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะเห็นได้ว่าไม่มีการยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจ เเต่มีการกำหนดข้อยกเว้นให้เเก่ “พฤติกรรม”ทางการค้าที่ผู้ถูกกล่าวหา สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ในการกำกับดูเเล ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวนั้น ทั้งรัฐวิสาหกิจเเละธุรกิจเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน [14]

4. ปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประเทศไทยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีการดําเนินคดีแก่ผู้ประกอบการแม้แต่รายเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง [15]

ทั้งนี้ ปกรณ์ นิลประพันธ์ [16] ได้วิเคราะห์ถึงจุดบกพร่องในที่ใช้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542ที่ต้องนำมาแก้ไข เพื่อที่จะให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้ 2 ประการที่น่าสนใจด้วยกัน ดังนี้ คือ

1. กลไกตามกฎหมายของประเทศไทย ไม่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกตลาด (Market-oriented economy) สืบเนื่องจาก การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปัจจุบันนั้นเป็นระบบการควบคุมอย่างใกล้ชิด (Control) กล่าวคือ เมื่อมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต้องผ่านการอนุมัติ การอนุญาต และการออกใบอนุญาตทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่าง ๆ (Permission/Licensing System)[17] ดังนี้ จึงทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำหน้าได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

2. มีมาตรการและกลไกตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ควรได้รับการปรับปรุงให้รองรับกับหลักการค้าเสรีของอาเซียนและการค้าโลกในยุคปัจจุบันด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นก่อนที่แนวคิดเกี่ยวกับการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ทางการค้าจะพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน หากกฎหมายไม่ได้รับการปรับปรุงแล้ว คนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้บริโภคภายในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการจากสมาชิกอาเซียนมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากหรือที่ใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices) ต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ส่วนผู้บริโภคก็อาจได้รับผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากการบริโภคสินค้าที่ไม่ปลอดภัยแต่มีราคาถูกที่นำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร[18] ดังนี้ จึงสรุปได้ว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฏหมาย คือไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มข้น เนื่องจากนโยบายของแต่ละรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อกฎหมายฉบับนี้ ทั้งๆที่ในต่างประเทศกฎหมายนี้มีความสำคัญมาก แทบทุกประเทศบังคับใช้อย่างจริงจัง หากได้มีการบังคับใช้จริงจัง จะนำมาซึ่งการพัฒนาโดยตัวมันเอง [19]

นอกจากนี้ ประการที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้านั้นควรจะต้องเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยแท้จริง (Independent Regulatory Authority)เฉกเช่นรูปแบบที่ใช้ในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ เป็นต้น กล่าวคือ ปกติอยู่ ปรับจากการอยู่ภายใต้กรมการค้าภายใน ออกเป็นหน่วยงานอิสระ คล้ายกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ [20]

5.บทสรุปทิศทางการแข่งขันทางการค้าในอาเซียน

แต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน (Asymmetric Enforcement) บ้างประเทศสมาชิกยังไม่มีแม้กระทั้งกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า บ้างประเทศแม้มีกฎหมายเฉพาะแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันกฎหมายเฉพาะนี้กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายหรือจำกัดศักยภาพการแข่งขัน [21] การปล่อยให้แต่ละประเทศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าภายในประเทศตนโดยปราศจากความร่วมมือกันจะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างหลีกไม่ได้ แม้จะมีความพยายามในระดับอาเซียนในการจัดทำกรอบเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ก็ยังคงเกิดปัญหาขึ้นว่ากฎหมายเหล่านี้จะสภาพบังคับอย่างไร องค์กรบังคับใช้กฎหมายจะมีความเป็นเอกภาพแค่ไหนและเพียงใด [22]ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกันพัฒนากันอย่างจริงจังหรือไม่

บรรณานุกรม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.2557.”นโยบายการแข่งขันในอาเซียน.” http://intra.oie.go.th/AEC/AEC%20Factbook%20-%20ยุทธศาสตร์%202.pdf (accessed May 29 2015).

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ.2555. “เกาะติดข่าว:กฎหมายว่าด้วยการเเข่งขันทางการค้ากับประชาคมอาเซียน(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์).” http://mfa.go.th/business/th/news/84/28955-กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับประชาคมอาเซียน.html (accessed May 24 2015).

ชุติมา บุณยประภัศร.2553. “ยกเครื่อง "กม.แข่งขันการค้า" บังคับใช้ 11 ปี ไม่เคยเอาผิดใคร” . https://www.dlo.co.th/node/281(accessed May 24 2015).

นภา ไทยเจริญ.2555.”12ปี พ.ร.บ.การเเข่งขันทางการค้าการบังคับใช้ล้มเหลว หวั่นเปิดเสรีอาเซียนไทยเสียเปรียบ ต่างชาติแฮปปี้ นักกฎหมายเร่งรัฐทลายกำแพงผูกขาด”. http://thaipublica.org/2012/02/competition-act-12-enforcement-has-failed/(accessed May 24 2015).

ปกรณ์ นิลประพันธ์. 2556. “ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดให้มี ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1815(accessed May 24 2015).

วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์.2554. “ รายงานสรุปและวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า(ฉบับที่...) พ.ศ. ..... “ http://thailawwatch.org/wp-content/uploads/2011/11/Summary-and-Analysis-of-Trade-Competition-Bill.pdf (accessed May 29, 2015).

วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ .2525. “การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศไทย.” http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/27534 (accessed May 30, 2015).

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2554.”พระราชบัญญัติว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 : ข้อจำกัดและการปฏิรูป.” http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2012/09/wb92.pdf(accessed May 24 2015).

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2554.”โครงการ การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดเเละส่งเสริมการเเข่งขันในเศรษฐกิจไทย.” http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/06/Final-Draftการปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาด_ดร.เดือนเด่น.pdf (accessed May 24 2015).

สันติชัย สารถวัลย์แพศย์.2556. “ก้าวสู่ AEC :ต้องมีกลไกขับเคลื่อนการแข่งขันที่เป็นธรรม.” http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=205649:-aec--&catid=231:aec-news&Itemid=621#.VXbnkM-qqko (accessed May 29 2015).

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.2549.”พระราชบัญญัติการเเข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542.” http://econ.tu.ac.th/archan/rangsun/ec%20460/กฎหมายเศรษฐกิจ/การแข่งขันและการผูกขาด/พรบ.%20การแข่งขันทางการค้า%20๒๕๔๒.pdf (accessed May 29 2015).

สำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน.2555.”กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” http://otcc.dit.go.th/pdf/know3.pdf (accessed May 24, 2015).

อ้างอิง

  1. วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ .2525. “การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศไทย.”http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/27534 (accessed May 30, 2015).
  2. วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์.2554. “ รายงานสรุปเเละวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการเเข่งขันทางการค้า(ฉบับที่...) พ.ศ. ..... “ http://thailawwatch.org/wp-content/uploads/2011/11/Summary-and-Analysis-of-Trade-Competition-Bill.pdf (accessed May 29, 2015).
  3. วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์.2554.อ้างเเล้ว.
  4. สำนักส่งเสริมการเเข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน.2555.”กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” http://otcc.dit.go.th/pdf/know3.pdf(accessed May 24, 2015).
  5. สำนักส่งเสริมการเเข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน.2555.อ้างแล้ว.
  6. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.2557.”นโยบายการแข่งขันในอาเซียน.” http://intra.oie.go.th/AEC/AEC%20Factbook%20-%20ยุทธศาสตร์%202.pdf(accessed May 29 2015).
  7. สันติชัย สารถวัลย์แพศย์.2556. “ก้าวสู่ AEC :ต้องมีกลไกขับเคลื่อนการแข่งขันที่เป็นธรรม.”http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=205649:-aec--&catid=231:aec-news&Itemid=621#.VXbnkM-qqko(accessed May 29 2015).
  8. ประเทศที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อนำมาใช้ ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว พม่าเเละกัมพูชา
  9. สำนักส่งเสริมการเเข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน.2555.อ้างเเล้ว.
  10. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.2549.”พระราชบัญญัติการเเข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542.”http://econ.tu.ac.th/archan/rangsun/ec%20460/กฎหมายเศรษฐกิจ/การแข่งขันและการผูกขาด/พรบ.%20การแข่งขันทางการค้า%20๒๕๔๒.pdf (accessed May 29 2015).
  11. กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ.2555. “เกาะติดข่าว:กฎหมายว่าด้วยการเเข่งขันทางการค้ากับประชาคมอาเซียน(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์).” http://mfa.go.th/business/th/news/84/28955-กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับประชาคมอาเซียน.html (accessed May 24 2015).
  12. วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์.2554.อ้างเเล้ว.
  13. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2554.”พระราชบัญญัติว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 : ข้อจำกัดเเละการปฏิรูป.” http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2012/09/wb92.pdf(accessed May 24 2015).
  14. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2554.อ้างเเล้ว.
  15. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2554.”โครงการ การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดเเละส่งเสริมการเเข่งขันในเศรษฐกิจไทย.” http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/06/Final-Draftการปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาด_ดร.เดือนเด่น.pdf (accessed May 24 2015).
  16. กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  17. ปกรณ์ นิลประพันธ์. 2556. “ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดให้มี ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1815(accessed May 24 2015).
  18. ปกรณ์ นิลประพันธ์. 2556.อ้างแล้ว.
  19. พรนภา ไทยเจริญ.2555.”12ปี พรบ.การเเข่งขันทางการค้าการบังคับใช้ล้มเหลว หวั่นเปิดเสรีอาเซียนไทยเสียเปรียบ ต่างชาติเเฮปปี้ นักกฎหมายเร่งรัฐทลายกำเเพงผูกขาด”.http://thaipublica.org/2012/02/competition-act-12-enforcement-has-failed/(accessed May 24 2015).
  20. ชุติมา บุณยประภัศร.2553. “ยกเครื่อง "กม.แข่งขันการค้า" บังคับใช้ 11 ปี ไม่เคยเอาผิดใคร” .https://www.dlo.co.th/node/281(accessed May 24 2015).
  21. กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ.2555.อ้างแล้ว
  22. กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ.2555.อ้างแล้ว