การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์



เหตุการณ์และสาเหตุ

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยนายทหารบกและเรือระดับพันเอกจนถึงร้อยตรีและพลเรือนซึ่งเกือบทุกคนเป็นข้าราชการ จำนวนทั้งหมด ๑๐๒ นาย[1] ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จในครึ่งวัน โดยปฏิบัติการแต่เช้าตรู่ที่กรุงเทพฯ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่สวนไกลกังวล หัวหิน

คณะราษฎรมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าที่เป็นทางการและหัวหน้าสายทหารบก นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้าสายทหารเรือ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้าสายพลเรือน[2]

การยึดอำนาจในวันนั้นสำเร็จลงได้ด้วยปัจจัยหลายประการด้วยกันคือ หนึ่ง การดำเนินการรวมพลังและกำลังทหารอย่างมีแผนการ ความพร้อมที่จะเสี่ยงของแกนนำ และการกระทำการโดยพลันและพร้อมเพรียง[3] สอง สาระของประกาศคณะราษฎร ซึ่งพระยาพหลฯ ยืนอ่านที่กลางลานพระราชวังดุสิต (ที่เบื้องซ้ายคล้อยไปด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า) หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารท้องพระโรง ต่อหน้ากองกำลังทหาร และแจกใบปลิวแก่ราษฎร ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ดังกล่าว มีข้อความประนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อย่างรุนแรง เช่นว่าเป็นสาเหตุของความฝืดเคือง และทุกข์เข็ญ และกล่าวด้วยว่าจะเชิญพระองค์ “ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หาก ทรง “ปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด......ก็จำเป็นจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา” พร้อมทั้งได้ประชาสัมพันธ์หลักการใหญ่ๆ ของคณะราษฎร ๖ ประการ ซึ่งเกี่ยวกับการที่จะ ๑. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย ๒. รักษาความปลอดภัยในประเทศ ๓. บำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ๔. ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ๕. ให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระเมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น และ ๖. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร[4]

ปัจจัยประการที่สามที่ช่วยให้การยึดอำนาจการปกครองครั้งนั้นประสบความสำเร็จโดยเร็วก็คือ การที่เจ้านายและนายทหารที่มีอำนาจสั่งการเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจถูกควบคุมตัวไว้ได้เกือบทั้งหมด เจ้านายที่สำคัญยิ่งคือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งคณะราษฎรได้ไปเชิญเสด็จจากวังบางขุนพรหม วังส่วนพระองค์ ไปประทับภายใต้การควบคุมของคณะราษฎรที่ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งคณะราษฎรได้เข้ายึดเป็นที่ทำการ ในภาวะเช่นนั้น พระองค์ผู้ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ได้ทรงลงพระนามในประกาศความว่าคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองไว้แล้ว และทรง “ขอให้ทหาร ข้าราชการและราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเองโดยไม่จำเป็นเลย”[5] ด้วยการทรงเติมวรรคสุดท้ายเพิ่มไปในร่างที่คณะราษฎรถวายให้ลงพระนาม[6] พระองค์ทรงได้แปรน้ำเสียงสั่งการให้กลายเป็นคำเตือนสติ

เกี่ยวกับประกาศนี้ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิเคราะห์ไว้ว่า “ด้านหนึ่งเท่ากับว่า “องค์อธิปัตย์” ของระบอบเก่าในพระนคร ทรงยอมรับว่าอำนาจของพระองค์ถูกยึดไปโดยคณะราษฎรแล้ว อีกด้านหนึ่งนั้นทำให้คณะราษฎรมีอำนาจอันชอบธรรมในการสั่งราชการใดๆ ในนามของ “รัฐบาลชั่วคราว” โดยมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจ”[7]

จากข้างต้นทั้งหมด วิเคราะห์ได้ว่า หนึ่ง แกนนำของคณะราษฎรผู้เป็นข้าราชการซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและจึงได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับความคิดและการปกครองในแบบรัฐสภา ประชาธิปไตย ชาตินิยม และสังคมนิยม (ซึ่งบางประเทศได้เปลี่ยนเป็นระบบสาธารณรัฐ (republic) โดยไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน) มีความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทำนองนั้นๆ ในสยาม (โดยอาจมีจุดเน้นและระดับความปรารถนาต่างๆ กันไป) สอง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากได้สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ซึ่งพึ่งเงินเดือนเป็นรายได้ โดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ เป็นประเด็นที่คณะราษฎรได้หยิบยกมาเน้นย้ำให้เห็นถึงความไร้ความสามารถของรัฐบาลและเลยไปถึงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาม บุคคลที่เข้าร่วมในคณะราษฎรยังเห็นด้วยว่าการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองที่รัฐบาลได้ดำเนินมา มีความเชื่องช้าเกินไป จึงสมควรที่ตนจะเข้ายึดอำนาจปกครอง และสี่ คณะราษฎรได้อิงความไม่พึงพอใจของราษฎรผู้เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำอยู่ เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุน หรืออย่างน้อยไม่ต่อต้าน การกระทำการยึดอำนาจการปกครอง ทั้งยังได้แสดงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยและได้ประกาศนโยบายกว้างๆ เป็นหลัก ๖ ประการ สร้างความหวังไว้ด้วย ซึ่งผู้มีการศึกษาส่วนหนึ่งคงจะเข้าใจและคล้อยตาม ส่วนราษฎรโดยทั่วไปน่าจะยังไม่เข้าใจว่า “กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” นั้นคืออะไร

ครั้นเย็นวันดังกล่าว เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ ที่อยู่ในพระนครไปประชุมกับคณะราษฎร และทุกท่านได้ทรงยอมลงพระนามและนามตกลงกับคณะราษฎรเรื่อง “วิธีปฏิบัติราชการ” ยกเว้นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทรงตั้งข้อแม้ว่า หากจะให้ทรงขอให้รัฐบาลต่างประเทศรับรองรัฐบาลใหม่โดยนิตินัยนั้น ยังทรงทำไม่ได้ เว้นแต่ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบแล้ว แต่ทรงรับจะแจ้งคณะทูตทราบถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเป็น “กิจการภายในประเทศ” ดังนั้นความมุ่งหวังของคณะราษฎรให้รัฐบาลต่างประเทศรับรองคณะราษฎรอย่างทันทีทันใด จึงยังค้างคา รอคอยให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบหนังสือกราบถวายบังคมทูลที่คณะราษฎรมีไปถวายที่หัวหินเสียก่อน [8][9]


การทรงตอบสนอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องการยึดอำนาจโดยทางโทรเลขแต่เช้าขณะทรงกอล์ฟอยู่ที่สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน จึงได้เสด็จฯ กลับสวนไกลกังวลเพื่อทรงตริตรองสถานการณ์ ส่วนที่ว่าทรงได้รับหนังสือกราบบังคมทูลของคณะราษฎรในเวลาใดไม่ปรากฎชัด แต่คณะราษฎรได้ให้นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) นำเรือหลวงศุโขทัยไปหัวหิน เพื่อเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับพระนครด้วยเรือรบนั้น

การที่จะลำดับเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ และ ๒๕ มิถุนายนให้แน่นอนลงไปนับว่าเป็นการยากจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ทำได้คือการเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้ทราบสาระที่สำคัญเกี่ยวกับกระบวนการและข้อตัดสินพระราชหฤทัยในภาวะนั้น

หนังสือกราบบังคมทูลลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน กล่าวถึงการที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองและได้เชิญเสด็จเจ้านาย เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ “ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน” ความประสงค์หลักใหญ่คือเพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครอง จึงขอเชิญเสด็จฯ กลับและ “ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น” ถ้าทรงตอบปฏิเสธหรือไม่ทรงตอบ “ภายในชั่ว ๑ นาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์”[10] ข้อความสุดท้ายนี้แตกต่างจากประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ที่พระยาพหลฯ อ่านและแจก ซึ่งระบุว่าจะเลือกสามัญชนขึ้นเป็นประมุขแทน อันเป็นการแสดงว่าจะให้เป็นสาธารณรัฐ (republic) ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งคำกราบบังคมทูลนี้มีน้ำเสียงแตกต่างอย่างมากจากประกาศนั้น และไม่มีการประนามพระองค์แต่อย่างใด ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จึงเรียกคำกราบบังคมทูลว่า “คำขาด” และประกาศฯ ว่า “คำขู่”[11]

อภิรัฐมนตรีพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงสามารถเสด็จด้วยขบวนรถไฟไปเฝ้าฯ ที่หัวหินได้ ตามข้อเขียนของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์[12] ประมาณเที่ยงคืนของวันที่ ๒๔ นั้น ได้มีการประชุมของเจ้านายและนายทหารระดับสูง ซึ่งอยู่หัวหินอยู่แล้วหรือเดินทางไปเฝ้าฯ ในการประชุม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีประทับอยู่ด้วย นายทหารบกมีข้อเสนอจากที่ได้วางแผนการที่จะรวบรวมกำลังทหารในหัวเมืองต่างๆ ทั้งที่นครราชสีมา นครสวรรค์ เพชรบุรีและราชบุรี และปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าล้อมพระนครบังคับให้คณะราษฎรยอมแพ้ โดยประเมินว่ามีทางจะชนะได้หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสนับสนุนอย่างชัดแจ้ง ข้อเสนอนี้ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหมไม่ทรงสนับสนุน ส่วนบุคคลอื่นๆ มีความเห็นว่าไม่ควรสู้เพราะเห็นว่าคณะราษฎรมิได้ตั้งใจที่จะล้มราชบัลลังค์ จึงเสนอทางออก ๒ วิธี คือ ๑. เสด็จฯ ออกนอกประเทศแล้วหาทาง “ต่อรอง”[13] กับคณะราษฎร และ ๒. ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครองโดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ”[14] โดยสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ พระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงแนะนำตลอดเวลาว่าให้เสด็จฯ กลับพระนคร “เพราะการที่จะยกทัพไปกรุงเทพฯ ก็คือจะทำให้มีการนองเลือดระหว่างคนไทยด้วยกัน” และก่อนที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยแน่วแน่ ได้รับสั่งถามสมเด็จพระบรมราชินีถึงความสมัครพระทัย เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จฯ ทรงพร้อมเยี่ยงขัตติยนารีที่จะทรงเผชิญกับเหตุการณ์ที่ต่อไปอาจจะเลวร้ายที่กรุงเทพฯ จึงได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยแน่วแน่ และคืนนั้นบรรทมไม่หลับ ซึ่งทรงรำพึงว่า “คงจะคล้ายกับทหารในเวลาสงคราม ซึ่งจะต้องเข้าประจัญบานกับข้าศึกในวันรุ่งขึ้น”[15]

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์[16] วิเคราะห์ไว้ว่า ทางเลือกที่จะเสด็จไปต่างประเทศใกล้ๆ คือมลายู อาณานิคมของอังกฤษนั้น “ย่อมเป็นอันตรายทั้งต่อราชบัลลังค์และต่อประเทศ พระองค์อาจถูกโจมตีว่ากำลังเตรียมที่จะใช้กองทัพของต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน ที่จะทำให้ประเทศชาติต้องเสียเอกราชอีกครั้งหนึ่ง” ส่วนการที่จะใช้กำลังทหารหัวเมืองสู้กับคณะราษฎรนั้น ก็อาจสู้ได้ แต่ “จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดิน” และ “พระองค์ก็จะไม่ดีขึ้นเลย”[17] ซึ่งธำรงศักดิ์เห็นว่า “น่าจะหมายถึงทั้งในด้านพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์” ซึ่งยังขาดความแน่นอนด้วยไม่ทรงมีพระราชโอรส “ดังนั้นสิ่งซึ่งพระองค์ต้องทรงปฏิบัติตลอดรัชสมัยของพระองค์คือการประคองให้ราชบัลลังก์พระมหากษัตริย์คงอยู่และดำเนินไปตามจารีตราชประเพณี”

วลีสุดท้ายของธำรงศักดิ์นี้ หากหมายความรวมถึงการคงสภาพสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ย่อมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ ว่าจริงอยู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์คงอยู่คู่ไทย ดังที่เป็นมาแต่โบราณ แต่ก็โดยการเชื่อมประสานจารีตเดิมเข้ากับธรรมเนียมใหม่คือประชาธิปไตย ให้เป็นระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โดยการรักษาไว้ซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงทราบดีว่านับวันจะล้าสมัยและหากติดตามพิจารณาพระราชปฏิบัติในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ต่อๆ ไป จะยิ่งเห็นถึงความทรงมุ่งมั่นที่จะทรงอำนวยให้ระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญเป็นจริงขึ้นมาในสยามได้

หากย้อนกลับไปที่สวนไกลกังวล หัวหิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตัดสินพระราชหฤทัยจะเสด็จฯ กลับพระนครแล้วและหลวงศุภชลาศัยได้นำเรือหลวงสุโขทัยไปถึงแล้ว ซึ่งสมเด็จฯ รับสั่ง ๔๐ ปีให้หลังว่า “เป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ”[18] ซึ่งน่าจะทรงหมายถึงของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ทั้งนี้ทรงทราบทางโทรเลขตั้งแต่วันที่ ๒๔ แล้ว และได้ตัดสินพระราชหฤทัยจะไม่เสด็จฯ โดยเรือนั้น แต่จะเสด็จฯ โดยรถไฟพระที่นั่ง เหตุผลตามโทรเลขของหลวงศุภชลาศัยว่า “ซึ่งเป็นการสมพระเกียรติยศ และ...ในเรือมีสถานที่ไม่เป็นที่ทรงพระสำราญพอ”[19] แต่ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงไว้ว่า “เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่าถูกเขาจับไป”[20]

ประเด็นนี้วิเคราะห์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์จะทรงรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งจำเป็นจะต้องมีในระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญที่จักได้สร้างขึ้นต่อไป การทรงหลีกเลี่ยงการที่องค์พระมหากษัตริย์ (คือ “หัวโขน” ไม่ใช่องค์ประชาธิปก) จะ “ถูกจับ” นี้ เป็นพระราชปฏิบัติต่อเนื่องมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖

พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร (พระยาพหลฯ) ซึ่งส่งโดยหลวงศุภฯ ทางวิทยุโทรเลขทหารเรือเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีความดังนี้

“ด้วยได้ทราบความตามสำเนาหนังสือที่ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธรว่าคณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัย ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงตัวข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพลภาพ และไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ”[21]

เห็นได้ว่าพระราชหัตถเลขานี้ประมวลไว้อย่างกระชับซึ่งประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อธิบายว่าเหตุใดจึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ กลับพระนคร คือ ๑. เพื่อมิให้เสียเลือดเนื้อ ๒. เพื่อการจะได้เป็นไป “โดยละม่อมละมัย” ซึ่งเป็นวลีที่ได้ทรงใช้มาแต่ต้นๆ รัชกาล เพื่อแสดงถึงวิธีการที่ตั้งพระราชหฤทัยจะทรงดัดแปลงวิธีการปกครอง ๓. การทรงอ้างถึงพระราชดำริที่ทรงมีอยู่ก่อนแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (พึงสังเกตว่าทรงลอกคำว่า “ใต้” จากหนังสือกราบบังคมทูลแต่ทรงว่า “ตาม” เมื่อทรงใช้เอง) ๔. การทรงเห็นเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบระบอบนั้น ๕. การทรงพร้อมจะอำนวยให้รัฐบาลใหม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะจะเป็นการดำรงความเสมอภาคกับชาติเอกราชอื่นๆ และ ๖. การทรงแสดงความตระหนักในขีดความสามารถของพระองค์เองในด้านต่างๆ และความพร้อมที่จะทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังค์ไว้เป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ต่อไป

การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลือกแนวทางที่ประนีประนอมและที่อยู่ในวิถีทางอันสันติดังที่เป็นพระราชปฏิบัติมาโดยตลอด ประกอบกันกับยุทธวิธีทำนองเดียวกันของคณะราษฎร ได้อำนวยให้การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นไม่มีความรุนแรงจนเสียเลือดเนื้อ


การประนีประนอมอย่างมีเงื่อนไข

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟขบวนพิเศษถึงพระนครเมื่อเวลาประมาณ ตี ๑ หรือ ๐๑.๐๐ น. ซึ่งนับเป็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ วังศุโขทัย วังส่วนพระองค์ แทนที่จะเป็นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเสมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระราชสถานะได้เปลี่ยนแปลงไป

ครั้นเวลา ๑๑.๐๐ น. ผู้แทนคณะราษฎร จำนวน ๗ คน ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดตามที่ผู้แทนคณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย แสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมทางการเมือง[22] การออกพระราชกำหนดเช่นนี้ในครั้งนั้นได้กลายเป็นแบบอย่างมาจนปัจจุบัน

สำหรับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ นั้น แม้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะได้กราบถวายบังคมทูลขอให้ทรงตอบเร็วที่สุด แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่ายังไม่เข้าพระราชหฤทัยดีเกี่ยวกับข้อความบางตอน จึงทรงขอให้คำตอบในวันรุ่งขึ้นเวลา ๑๗.๐๐ น. ซึ่งเมื่อพระราชทานลงมา ปรากฏว่ามีคำว่า “ชั่วคราว” เป็นลายพระหัตถ์ต่อท้ายชื่อเอกสาร[23] ซึ่งหมายความว่าต้องพระราชประสงค์จะให้มีการร่างฉบับใหม่ขึ้นต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อมา ในพ.ศ. ๒๔๗๗ ในขณะที่กำลังทรงเจรจาต่อรองในเรื่องที่ว่าจะทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไปหรือไม่ พระองค์ได้ทรงมี พระราชบันทึก ข้อ ๑ ทรงเท้าความว่าเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นทรง “รู้สึกทันทีว่าหลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้าไม่พ้องกันเสียแล้ว...ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะพยายามรักษาความสงบไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย...”[24]

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ธรรมนูญการปกครองฯ ซึ่งประกาศเป็นพระราชบัญญัติดังที่ทำอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือเป็นพระบรมราชโองการและทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่มีผู้ใดรับสนองฯ จึงเป็นการทรงยอมสละพระราชอำนาจมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญตาม“คำร้องขอ” ของคณะราษฎร[25] ซึ่งนับได้ว่าเป็นการทรงประนีประนอม และคณะราษฎรได้สนองตอบต่อมาด้วยการดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้น[26]

ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะทหารผู้รักษาพระนครของคณะราษฎรได้ดำเนินการตามธรรมนูญการปกครองฯ แต่งตั้งผู้แทนราษฎร ๗๐ คน ซึ่งในจำนวนนั้น ๓๗ คนเป็นสมาชิกของคณะราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวได้เปิดประชุมกันในวันเดียวกันนั้น เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานกรรมการราษฎร และพระยามโนฯ ได้คัดเลือกบุคคลอีก ๑๔ คนซึ่งรวมกับเขาเป็นคณะกรรมการราษฎรทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมการปฏิบัติการบริหารของเสนาบดี นอกจากนั้น สภาฯ ได้ตั้ง “คณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์” จำนวน ๗ คน[27][28]

อนึ่ง การที่สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งพระยามโนฯ เป็นประธานกรรมการราษฎรนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ให้ข้อมูลเองไว้ในภายหลังว่าเขาเป็นผู้ชักจูงให้สภาฯ เลือกเพราะเชื่อมั่นว่าเป็นผู้นิยมประชาธิปไตยและมิได้เกรงกลัวอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์[29] แต่ในขณะเดียวกัน พระยามโนฯ ก็เป็นผู้ที่เคยมีตำแหน่งสูงทั้งในด้านการเป็นปลัดทูลฉลอง ๒ กระทรวง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นกรรมการองคมนตรีมาโดยตลอดอีกทั้งคุณหญิงมโนฯ (นิตย์) ก็เป็นอดีตนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯจนประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรมในคราวตามเสด็จประพาสอินโดจีนใน พ.ศ. ๒๔๗๓[30]

ครั้นวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยามโนฯ พระยาพหลฯ พระยาปรีชาชลยุทธ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (๓ ท่านหลังนี้เป็นแกนนำคณะราษฎร) และพระยาศรีวิสารวาจา ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วังศุโขทัย มีสาระตามที่เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้จด “บันทึกลับ” ไว้[31] ว่ารับสั่งว่าเมื่อทรงรับราชสมบัติ “ทรงนึกว่าถูกเลือกทำไมบางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง” คือ หนึ่ง ใช้หนี้และแก้ไขฐานะการเงินของประเทศ และสอง “เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ” แล้วทรงเท้าความถึงแนวพระราชดำริและพระราชกรณีกิจต่างๆ สู่การให้มีระบอบรัฐธรรมนูญ แล้วรับสั่งต่อไปว่า “ที่คณะราษฎรทำไปไม่ทรงโกรธกริ้ว และเห็นใจเพราะไม่รู้เรื่องกันแต่เสียพระทัยมากที่คณะราษฎรออกประกาศปรักปรำพระองค์และพระบรรพบุรุษ...เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกันทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว..” ทรงเปรียบการเขียนประกาศเหมือนการเหยียบย่ำธงให้เปรอะเปื้อน “จะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ” และประกาศได้ทำให้พระองค์เสียความนิยมในหมู่ราษฎร “จึงมีพระราชประสงค์จะออกเสีย...แต่จะทรงยอมอยู่ต่อไปจนเหตุการณ์สงบ...” แล้วทรงแนะนำเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ “เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ”

เกี่ยวกับพระราชดำริที่จะทรงสละราชสมบัตินี้ พระยาศรีวิสารฯ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้งดไว้ก่อน มีพระราชดำรัสว่า “จะดูก่อน ไม่ทราบว่าอาการแห่งพระเนตรจะทุพพลภาพเพียงไร เพราะการผ่าพระเนตรไม่ได้ผลสมคาด...ถ้าพระเนตรดีและแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ทำให้พระองค์เป็นที่เสื่อมความนิยม ก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน” พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกิน และหลวงประดิษฐ์ฯ รับจะไปหาทางร่างประกาศถอนความที่ได้ปรักปรำและขอพระราชทานอภัย

ในวาระเดียวกันนี้ ได้ทรงขอให้เลิกการคุมขังบุคคล เพราะยิ่งนานไปยิ่งทำให้รู้สึกว่าการภายในไม่ปกติ บุคคลที่สำคัญที่สุดคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ทรงมีทั้งคนรักและคนเกลียด ถ้ายิ่งกักไว้นานอาจมีคนรักมากขึ้น ทรงเห็นควรปล่อยให้เสด็จไปประทับที่วังหรือให้เสด็จไปต่างประเทศเสีย ซึ่งคณะราษฎรจะทูลเองหรือจะให้รับสั่งก็ได้ พระยามโนฯ กราบบังคมทูลว่า เห็นดีที่จะให้เสด็จต่างประเทศ

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับระบอบการปกครองก็คือ ระบอบที่พระองค์ต้องพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นคือ ระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitution Monarchy) ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์จำต้องได้รับความเคารพนับถือ จึงจะทรงทำหน้าที่เชิงรัฐธรรมนูญในฐานะประมุขได้อย่างมีประสิทธิผล พระองค์จึงได้รับสั่งว่า “เมื่อจะอาศัยกัน ทำไมไม่พูดดีกว่านั้น” แต่ ในเมื่อประกาศของคณะราษฎรได้ทำให้ราษฎรเสียความนิยมในพระองค์แล้ว จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปอีกนานนัก อีกประการหนึ่ง การที่รับสั่งเชิงถามว่า “ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว” นั้นเป็นการแสดงพระราชหฤทัยทั้งสงสัยและเกรงว่าต่อไปก็จะมีการนำรูปแบบสาธารณรัฐ ซึ่งไม่มีพระเจ้าแผ่นดินมาใช้ ซึ่งการนั้นไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ข้างต้น อีกทั้ง เห็นจะเป็นด้วยยังคงทรงมุ่งมั่นที่จะทรงประคับประคองให้เป็นไปตามพระราชดำริ พระองค์จึงได้รับสั่งไว้ด้วยว่า หากจะกราบบังคมทูลถามเรื่องรัฐธรรมนูญก็ได้ จะทรงช่วยให้งานเดิน

สำหรับกรณีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตนั้น คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ว่าคณะราษฎรได้เชิญเสด็จและทรงยินยอมเสด็จไปเปลี่ยนอิริยาบถ ณ ต่างประเทศ ซึ่ง “ย่อมเป็นการปลอดภัยในทางสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักรและในการต่างประเทศ” และในวันที่ ๔ กรกฎาคม ได้เสด็จโดยขบวนรถไฟพิเศษไปประทับที่เมืองบันดุงบนเกาะชวา[32] พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็ได้เสด็จกลับวังของแต่ละพระองค์ นับว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งของการประนีประนอมอย่างมีเงื่อนไข


ธรรมนูญการปกครองฯ ชั่วคราว: “หลักการ” ไม่เหมือนกับของพระปกเกล้าฯ

ต่อไปนี้จะพิจารณาเนื้อหาของธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับชั่วคราวว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงไว้ว่าทรงทราบจากการทรงอ่านว่า “หลักการ” ของคณะราษฎรกับของพระองค์ไม่เหมือนกัน

แม้ว่ามาตรา ๑ ของ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว[33] จะระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ก็ตาม แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่าข้อบัญญัติที่ตามมารวมกันเป็นการถ่ายโอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปสู่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งคณะราษฎรเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิก[34] เท่ากับว่าสภาผู้แทนราษฎรถืออำนาจอธิปไตยที่ว่าเป็นของราษฎรทั้งหลายนั้นไว้ใช้ในการนิติบัญญัติและในการ “ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ” สำหรับการทำการบริหารนั้น มีประธานกรรมการราษฎรซึ่งสภาฯ นั้นเลือกตั้งจากสมาชิกของสภาฯ เอง ประกอบกับสมาชิกของสภาฯ เองอีก ๑๔ คน ซึ่งสภาฯ ให้ความเห็นชอบ รวมกันเป็นคณะกรรมการราษฎรดำเนินการ “ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา” โดยมีเสนาบดีเป็นระดับปฏิบัติการ ทั้งนี้โดยสภาฯ มีอำนาจ “ถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานของรัฐบาลและผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้” ในขณะที่คณะกรรมการราษฎรไม่มีอำนาจยุบสภา จะเห็นได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรที่คณะราษฎรตั้งขึ้นนั้นมีอำนาจสูงสุดโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ

เมื่อพิจารณาถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แม้ว่ามาตรา ๒ จะระบุว่า “ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร” คือ “กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาล” ก็ตาม แต่ฐานะของพระองค์ได้ถูกลดทอนให้เป็นเพียง “ประมุขสูงสุดของประเทศ” คือสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะปฏิบัติการใดๆ ด้วยพระองค์เอง หากทรงปฏิบัติโดยไม่ได้รับคำแนะนำและรับรองโดยคณะกรรมการราษฎร ย่อมถือว่า “เป็นโมฆะ” ทั้งนี้รวมถึงพระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งรัชทายาทหรือผู้สืบราชสันตติวงศ์ สำหรับพระราชอำนาจที่ยังคงทรงมีเหลืออยู่ มีเพียงเล็กน้อย คือในการยับยั้งหรือวีโต้ (veto) พระราชบัญญัติที่ได้ผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ภายในกำหนด ๗ วัน โดยต้องทรงแสดงเหตุผลประกอบและหากสภาลงมติยืนยันตามเดิม ก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย อีกทั้งแม้ว่าธรรมนูญฯ จะมีบัญญัติไว้ว่า จะทรง “ถูกฟ้องร้องคดีอาญาในโรงศาลไม่ได้” แต่ก็ระบุตามมาทันทีว่า “เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” เท่ากับว่าในกรณีเช่นนั้น สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจแทนศาลยุติธรรม[35] จะวิเคราะห์ก็ได้ว่าพระมหากษัตริย์มีไว้เพียงเพื่อให้คณะราษฎรที่ได้ยึดอำนาจการปกครองดูมีความชอบธรรมที่จะปกครอง

เมื่อวิเคราะห์ดังนี้แล้วย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า เหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรู้สึกว่า “หลักการ” ของคณะราษฎรกับของพระองค์เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่จะใช้นั้น ไม่ตรงกันเสียแล้ว กล่าวคือคณะราษฎรมิได้ตั้งอยู่บนหลักการของระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งพระองค์คงจะทรงมีของอังกฤษเป็นแบบอย่างในพระราชหฤทัย ดังที่ศาสตราจารย์เวอร์นอน บ็อกดะนอร์ (Vernon Bogdanor) อธิบายไว้ว่ากษัตริย์ของประเทศนั้นมีพระราชอำนาจ (royal prerogatives) ซึ่งโดยมากทรงใช้อย่างเป็นทางการตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร (แต่ก็มิใช่โดยไม่อาจทรงใช้วิจารณญานของพระองค์เองเลย) เช่นในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและในการยุบสภา เป็นต้น นอกจากนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ (convention) ของรัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งไม่ได้จัดทำเป็นประมวลกฎหมาย ยังทรงมี “พระราชสิทธิ ๓ ประการ”(the trinity of rights) คือ สิทธิที่จะทรงรับปรึกษา (to be consulted) สิทธิที่จะพระราชทานคำแนะนำ (to advise) และสิทธิที่จะทรงเตือนสติ (to warn) ผู้ที่ทำการปกครองจริงๆ อันเป็นหนทางที่จะทรงมี “อิทธิพล”(influence) ชักจูง และจึงเป็นหนทางที่จะให้ไม่มีความจำเป็นต้องทรงใช้พระราชอำนาจที่ยังคงมีเผื่อไว้ (reserve powers) เช่นในการทรงยับยั้งกฎหมาย และในการนั้นทรงทำหน้าที่ในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (constitutional guardian) เพื่อทรง “ดูแลรักษาไว้ซึ่งค่านิยมอันเป็นฐานของระบอบรัฐธรรมนูญให้คงอยู่”[36]

โดยที่ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวของสยาม ซึ่งเป็นกฎหมายบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นประมวลกฎหมายไม่ได้บัญญัติพระราชสิทธิ ๓ ประการไว้ จึงกลายเป็นว่าตามบทบัญญัติที่มี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีฐานะเป็น “กษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญ” ความวลีในหนังสือกราบบังคมทูลของคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน มิได้ทรงเป็น “พระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ” วลีที่ทรงใช้เองในพระราชหัตถเลขาทรงตอบลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (เน้นคำโดยผู้เขียนบทความนี้)

พึงสังเกตไว้ด้วยว่า ธรรมนูญฯ ชั่วคราวนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงในสาระกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งนาย เรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจาร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งในนั้น พระมหากษัตริย์ยังคงทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด หากแต่ว่า ธรรมนูญชั่วคราวนี้ได้พลิกให้สภาผู้แทนราษฎรของคณะราษฎรมีอำนาจสูงสุดแทนพระมหากษัตริย์

แต่กระนั้น ธรรมนูญฯ ชั่วคราวที่ระบุขั้นตอนของการที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งไว้เป็น ๓ สมัยตามลักษณะของสภาฯ ในแต่ละสมัย คือ สมัยที่ ๑ คณะราษฎรโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก ๗๐ คน และภายใน ๖ เดือน “หรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย” จึงจะเข้าสมัยที่ ๒ ซึ่งจะมีสมาชิกสภาฯ ๒ ประเภทคือ ประเภทที่ ๑ ผู้แทนราษฎรเลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ คน และประเภทที่ ๒ ผู้แทนซึ่งสมาชิกในสมัยที่ ๑ เลือกกันเองให้เหลือจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ สมัยที่ ๓ จะเริ่มเมื่อเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนราษฎรในประเทศสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้ และอย่างช้าไม่เกิน ๑๐ ปี จากที่ประกาศใช้ธรรมนูญฯ โดยมีสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น แต่ก็โดยการเลือกตั้งทางอ้อม ๓ ลำดับขั้น คือ ๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนหมู่บ้านเพื่อออกเสียงเลือกผู้แทนตำบล ๒.ผู้แทนหมู่บ้านที่ได้รับเลือกนั้นเลือกผู้แทนตำบล และ ๓. ผู้แทนตำบลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กระบวนการนี้มีความชัดเจนในเรื่องระยะเวลากว่าในร่างรัฐธรรมนูญของนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารฯ แต่วิธีการเลือกตั้งทางอ้อมนั้นไม่แตกต่างมากนัก

สิ่งที่ต้องสังเกตให้มั่นก็คือ คณะราษฎรมีความเห็นเช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบรรดาที่ปรึกษาของพระองค์ว่า ราษฎรไม่พร้อมที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อปกครองตนเอง และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเอง ได้ตอบข้อกล่าวหาว่าการยังมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ในสมัยที่ ๒ นั้นเป็นการหวงอำนาจ ว่า ในเมื่อราษฎรยังมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะรู้ประโยชน์ที่แท้ของตน ก็จำเป็นต้องมี “ผู้ช่วยเหลือ” ผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ ๑) ทำนองเป็นพี่เลี้ยง[37] ดังนั้นเหตุผลของทั้ง ๒ ฝ่ายจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังไม่ได้ทรงจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น แต่คณะราษฎรได้จัดให้มีขึ้นได้โดยการยึดอำนาจจากพระองค์ และย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ธรรมนูญฯ ที่คณะราษฎรได้จัดให้มีขึ้นนั้น “มีผลให้คณะราษฎรเป็นฝ่ายกุมอำนาจในระบอบการเมืองใหม่นั้นภายในช่วง ๑๐ ปี ต่อไปข้างหน้า” ดังที่ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์วิเคราะห์ไว้[38]

ทั้งนี้ คณะราษฎรอาจใช้ข้อกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ต้อง “สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้” และจะ “ต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย” (มาตรา ๑๑) ไปในทางป้องกันการที่จะมีผู้แทนราษฎรเข้ามาในสภาและทำการท้าทายอำนาจของคณะราษฎรด้วย

ความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างร่างฯ ของสตีเวนส์/ศรีวิสารฯ กับธรรมนูญฯ ของคณะราษฎรมีที่น่าสนใจอีก ๒ ประเด็น คือ หนึ่ง ร่างฯ มีข้อกำหนดให้ผู้ที่เสียภาษีเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่ธรรมนูญฯ ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้มีสัญชาติไทยทุกคน และสอง ร่างฯ กำหนดว่าสมาชิกประเภททรงแต่งตั้งจะมีข้าราชการประจำเกินกึ่งหนึ่งไม่ได้ (เท่ากับว่าสภาทั้งสภาจะมีข้าราชการประจำเป็นสมาชิกไม่เกินหนึ่งในสี่ในขณะที่ธรรมนูญฯ ไม่มีข้อกำหนดใดๆ เรื่องข้าราชการประจำ ดังนั้นจะตีความว่า ธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ทั้ง “ประชาธิปไตย” (ในแง่ของสิทธิความเสมอภาคในสิทธิทางการเมือง) และ “รัฐข้าราชการ” ได้เกิดขึ้นคู่กัน ก็อาจไม่ผิดหากมองย้อนไปจากปัจจุบัน

ข้อสังเกตสุดท้าย ซึ่งสำคัญมากก็คือว่า ธรรมนูญฯ นี้และแผนการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องระบอบการปกครอง รวมตลอดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับสตีเวนส์/ศรีวิสาร มีลักษณะเป็นโครงการของการเปลี่ยนผ่านสู่ “ระบอบใหม่” ทั้งคู่ ความแตกต่างอยู่ที่ว่า “ระบอบใหม่” นั้นมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน แต่มีการใช้วลีภาษาไทยแทนคำว่า “Constitutional Monarchy” ให้ดูคล้ายกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้พูดจากันให้เข้าใจตั้งแต่แรกว่า มันคืออะไรกันแน่ ความขัดแย้งจึงตามมา


อ้างอิง

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๔๘๓-๔๙๑.
  2. โดยที่ข้อเขียนในฐานข้อมูลการเมืองการปกครองส่วนนี้ สถาบันพระปกเกล้ากำหนด “เนื้อหา” ให้เป็น “เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” จึงถือว่ามีความมุ่งหมายให้เปรียบเสมือนว่าพระองค์ทรงเป็น “ตัวเอก” ของเรื่อง (โดยที่ไม่จำเป็นว่าต้องทรงเป็น “พระเอก”) ดังนั้น จึงเพ่งความสนใจไปที่พระองค์เป็นสำคัญ การพรรณนาและวิเคราะห์ “ตัวละคร” ตัวอื่นๆ หรือเหตุการณ์ จึงจำกัดอยู่แต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อจุดสนใจดังกล่าว ส่วนการอ้างอิงกระทำแต่พอสมควร ขอผู้อ่านได้เข้าใจตามนี้ และศึกษาเพิ่มเติมตามความสนใจจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนอื่นๆ ของฐานข้อมูลเดียวกันนี้ หรือแหล่งอื่นๆ
  3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๔๘๓-๔๙๑.
  4. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๔๙๙-๕๐๑.
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๑๕๗.
  6. ศิริรัตนบุษบง, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๒๔. พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. กรุงเทพฯ: บริษัทจันวาณิชย์ จำกัด, หน้า ๕๘.
  7. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๑๕๗.
  8. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, หน้า ๑๕๙.
  9. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๕๓๕. ๒๔๗๕ การปฏิวัติของสยาม, หน้า ๙๖-๑๐๐.
  10. เรื่องเดียวกัน , หน้า ๙๒.
  11. ชาญวิทย์เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๖๕.
  12. เรื่องเดียวกัน , หน้า ๑๖๐-๑๖๓.
  13. คำของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เมื่อทรงเล่าพระราชทานนักหนังสือพิมพ์เมื่อ ๔๐ ปีให้หลังคือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
  14. คำของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ซึ่งอ้างพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานไปที่อังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
  15. จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๓๖. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ ๔.กรุงเทพ: บริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด, หน้า ๓๒๒.
  16. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๖๓-๑๖๘.
  17. ตรงนี้ธำรงศักดิ์อ้างจากบันทึกของเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเกี่ยวกับการประชุม
  18. สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๔๕. พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, หน้า ๕.
  19. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๕๓๕. ๒๔๗๕ การปฏิวัติของสยาม, หน้า ๑๐๑-๑๐๒.
  20. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๖๙.
  21. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๕๓๕. ๒๔๗๕ การปฏิวัติของสยาม, หน้า ๑๐๑.
  22. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๗๒-๑๗๓.
  23. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๗๓.
  24. แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. ๒๕๓๖. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า ๘๙.
  25. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสารประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดิน ชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๖.
  26. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๗๓.
  27. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์, หน้า ๒๑๙
  28. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๒๐๐.
  29. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๒๓๒-๒๓๓.
  30. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๓๒๓-๓๒๕.
  31. สนธิ เตชานันท์ (รวบรวม) ๒๕๔๕. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, หน้า ๓๑๔-๓๒๓.
  32. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๗๑.
  33. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๕๐๒-๕๐๗.
  34. สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ, หน้า ๖.
  35. ชาญวิทย์เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๙๓-๑๙๔.
  36. Bogdanor, Vernon. 1995. The Monarchy and the Constitution. Oxford: Clarendon Press, p. 65 , pp. 69-70.
  37. ชาญวิทย์เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕, หน้า ๑๙๖.
  38. เรื่องเดียวกัน , หน้า ๑๙๗.


บรรณานุกรม

จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๓๖. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพ: บริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ๒๕๓๕. ๒๔๗๕ การปฏิวัติของสยาม. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ๒๕๔๗. ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง สละราชสมบัติ. ๒๕๓๖. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์.

ศิริรัตนบุษบง, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ๒๕๒๔. พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. กรุงเทพฯ: บริษัทจันวาณิชย์ จำกัด.

สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๔๕. พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน รัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

สนธิ เตชานันท์ (รวบรวม) ๒๕๔๕. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

สุจิต บุญบงการ. ๒๕๕๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ. เอกสาร ประกอบการปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดิน ชุด ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Bogdanor, Vernon. 1995. The Monarchy and the Constitution. Oxfo