การสืบสานและการปรับรูปแบบพระราชประเพณี การพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๗

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


การสืบสานพระราชประเพณี

บทความนี้จะพรรณนาวิเคราะห์ถึงการสืบสานพระราชประเพณีในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพระราชพิธี

พระราชพิธีสิบสองเดือนถือเป็นพระราชประเพณีที่ปรากฏในกฎมณเทียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[1] และถือเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลในเดือนต่างๆของรอบปีสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในชั้นต้นการพระราชพิธีเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก พระราชพิธีกะติเกยา และพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ฯลฯ พระราชพิธีบางอย่างมีการฟื้นฟูหรือเพิ่มขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ตรงกับปี ๒๓๖๐[2] มีการฟื้นฟูพระราชกุศลวิสาขบูชา โดยจุดโคมตามประทีปบูชาในอารามหลวง

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้มีพระราชพิธีพระราชทานเลี้ยงตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรก[3]

สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นครั้งแรก เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัส เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ [4] (พ.ศ. ๒๓๙๔) นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มพระราชพิธีบางอย่างเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งผนวกพิธีการทางพุทธศาสนาเข้าไปในการพระราชพิธี

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษาในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ โดยมีผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนเมื่อพระชนมายุ ๒๐ พรรษาจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้งเช่นเดียวกับพระบรมชนกนาถ ครั้งหลังเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้านายจากต่างประเทศได้เสด็จร่วม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผนประเพณีเพียงครั้งเดียว โดยเริ่มจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระราชพิธีเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ ๒๑ -๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ และวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพิธีเบื้องปลายในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเพื่อให้คณะทูตานุทูตเข้าเฝ้าถวายพระพรชัย เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายในและภริยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระราชาคณะ ๓ รูป และในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ เสด็จฯออกพระที่นั่งจักรีฯ ให้หัวหน้าพ่อค้าและประชาชนเฝ้าฯ และเสด็จฯออกมุขเด็จหน้าพระที่นั่งจักรีให้ประชาชนเฝ้าฯ ชมพระบารมี แล้วในวันที่ ๑ มีนาคม เสด็จฯเลียบพระนครทางสถลมารค (ทางบก) เพื่อทรงนมัสการบูชาปูชนียวัตถุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และในวันที่ ๓ มีนาคม เสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค (ทางน้ำ)

ในการนี้ มีตอนที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ คือ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรราชชายาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในช่วงบ่ายของวันบรมราชาภิเษก วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เป็นประวัติกาลด้วย

ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีในวันที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเช่นเดียวกัน

พระราชพิธีที่ไม่มีมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๗

๑. พระราชพิธีโสกันต์ และเกศากันต์

ตามโบราณราชประเพณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดามักไว้จุกในวัยเด็กแสดงให้เห็นถึงการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเช่นเดียวกับเด็กๆชาวสยามทั่วไป ซึ่งพระราชโอรสจะโสกันต์เมื่อพระชนมายุ ๑๑-๑๓ พรรษา พระราชธิดาจะโสกันต์ตั้งแต่พระชนมายุ ๑๑ พรรษาขึ้นไป ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะประกอบพิธีนี้ ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชพิธีทำบุญตรุษสุดปีเป็นพิธีตรุษไทย เพื่อตัดปีเก่าเพื่อจะขึ้นปีใหม่ คือพระราชพิธีเดือนสี่เป็นพระราชพิธีมงคลขับไล่สิ่งอวมงคล จึงนิยมโสกันต์ (การโกนจุกเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า) และเกศากันต์ (โกนจุกหม่อมเจ้า) ซึ่งต่อมาภายหลังจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีเดือนยี่ ได้แก่พระราชพิธีตรียัมปวายหรือพระราชพิธีโล้ชิงช้า

พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา พ.ศ. ๒๔๗๕

พระราชพิธีโสกันต์มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ โดยพิธีสงฆ์จัดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ช่วงบ่ายก่อนวันพระราชพิธีเป็นเวลา ๓ วัน รวมทั้งตอนเช้าของวันพระราชพิธี ในระหว่างนี้เจ้านายที่จะโสกันต์จะเสด็จไปฟังสวดโดยกระบวนแห่ ส่วน สมัยอยุธยารายละเอียดในทางปฏิบัติของการพระราชพิธีนั้นเป็นแบบผสมระหว่างศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ แต่เน้นหนักทางศาสนาพราหมณ์

๒. พระราชพิธีปกติพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (พระราชพิธีโล้ชิงช้า)

พระราชพิธีตรียัมพวายเป็นพระราชพิธีต้อนรับพระอิศวร ส่วนพระราชพิธีตรีปวายต้อนรับพระนารายณ์ ในการต้อนรับพระอิศวรจัดให้มีการโล้ชิงช้า ๒ วัน คือวันขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า และวันขึ้น ๙ ค่ำเวลาเย็น สมมุติให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นพระอิศวร เดิมใช้ข้าราชการตำแหน่งเกษตราธิบดี คือเจ้าพระยาพลเทพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่าพระยาพลเทพต้องแห่ซ้ำทุกปี ต้องแจกจ่ายเลี้ยงดูผู้คนที่เข้ากระบวนแห่สิ้นเปลืองเงินทองมาก จึงกำหนดให้พระยาที่ได้รับพระราชทานพานทองสลับเปลี่ยนกันปีละคน เรียกว่า “พระยายืนชิงช้า” ผู้ทำการโล้ชิงช้าแทนท้าวจตุโลกบาลเรียกว่า “นาลิวัน” มีจำนวน ๑๒ คน โล้กระดานละ ๔ คน รวม ๓ กระดาน ทั้งเป็นผู้รำเสนงแทนพญานาคและเทพยดา ซึ่งเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ ในพระราชพิธีโล้ชิงช้า โดยพระสงฆ์จะรับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในวัน ๗ ค่ำ เวลาเช้า และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พราหมณ์ทำพิธีสมโภชเทวรูปและมีพิธีทำบุญตามประเพณีพุทธศาสนา [5] ซึ่งปฏิบัติกันต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลที่ ๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๗ ไม่มีการโล้ชิงช้าอีกแต่ยังมีการประกอบพิธีตรียัมพวายและตรีปวายที่โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า

โบราณราชประเพณีที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาได้จากในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และจิตรกรรมวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง: ผลกระทบต่อพระราชพิธี

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ จึงมีการพิธีของรัฐบาลนอกเหนือจากพระราชพิธีเกิดขึ้น เรียกว่า รัฐพิธี เช่น รัฐพิธีวันรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สำหรับการประกอบพระราชพิธีในราชสำนักที่ได้รับผลกระทบด้วย ดังสังเกตได้ว่าในช่วง ๒ เดือนแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่เสด็จออกในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ งานพระราชพิธีทางพุทธศาสนา ที่เคยเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรสำหรับฤดูฝน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยพระองค์เอง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเสด็จแทนพระองค์[6] หลังจากนั้นก็เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหินต่อมา ก่อนวันงานพระราชพิธีฉัตรมงคลใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะไม่เสด็จฯ กลับคืนพระนครจากที่นั่นในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องออกแถลงการณ์ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า

“การที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็เพราะประชวร แม้พระอาการไม่หนักหนาอันใดเลย แต่ว่าการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟเป็นการกระทบกระเทือนอาจทำให้พระอาการมากขึ้นได้โดยไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้เท่านั้น จึงมิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ” [7]

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นร่องรอยของความคลายตัวของการพระราชพิธีต่างๆที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ทรงเคยปฏิบัติ

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างให้เห็นพระราชพิธีบางพระราชพิธีมีความเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ พระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการปกครองได้แก่ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีฉัตรมงคล และ การเฉลิมฉลองพระนครในเทศกาล เช่น พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (โล้ชิงช้า) ดังกล่าวแล้ว ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร มีความผันแปร คือมีการเลิกจัดแล้วจัดขึ้นใหม่ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือเดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ขลังและศักดิ์สิทธิ์สำหรับแผ่นดินสืบเนื่องมาแต่โบราณ เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร มีรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์ยาบันประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฏิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่างๆมาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำแล้วเสียบลงในน้ำที่จะนำไปพระราชทานให้ดื่มเป็นหลักสำคัญ[8] ถือว่าเป็นพระราชพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง

พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาและเป็นที่แพร่หลายในดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ดังมีหลักฐานจารึกที่กรอบประตูศิลาของโบราณสถานพิมานอากาศในเมืองนครธมว่า เป็นคำสาบานของพวกข้าราชการที่เรียกว่า “พระตำรวจ” ถวายสัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีสุริยวรมันที่ ๑

ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นมีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ[9] พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีถือน้ำเมื่อออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปีๆละสองครั้ง โดยข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่วิหารพระมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ สถานที่ใช้ประกอบพระราชพิธี คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นจึงนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๑ และถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆมา ยังมีการถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนๆ ซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้วโดยลำดับ [10]

กำหนดเวลาของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตามปกติมีปีละสองครั้ง คือในเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้งหนึ่ง และเดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง [11] โดยถือเอาวันตรุษสงกรานต์ และวันสารทในรอบปีหนึ่ง สำหรับข้าราชการที่ถือศาสตราวุธ กำหนดให้มีการถือน้ำเป็นประจำทุกเดือน ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการถือน้ำเป็นวันให้แน่นอนในช่วงขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๓ เมษายนเหมือนกันทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้นมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก็ถูกระงับมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ [12] ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน[13] ทรงฟื้นฟูการถือน้ำในวันพระราชทานตรารามาธิบดีแก่ทหาร ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการแช่งน้ำตามแบบโบราณแต่มีการกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อธงชัยเฉลิมพลบ้าง ปฏิญาณตนในวันที่ระลึกการสถาปนากระทรวงบ้าง จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อนุวัตไปตามกาลสมัย

๑. พระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัล

พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป จัดขึ้นในเดือนหก การพระราชพิธีเดือนหกกล่าวเป็นสองชื่อ แต่เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกัน พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพระราชพิธีเนื่องในพุทธศาสนา กระทำที่ท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพระราชพิธีเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ กระทำการพระราชพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร แต่ในปัจจุบันกระทำที่สนามหลวงทั้งสองพิธี

พระราชพิธีจรดพระนังคัล หมายถึง พระราชพิธีแรกนา หรือ พระราชพิธีแรกนาขวัญ กระทำในเดือนหก บางสมัยวันแรกนาตกในเดือนเมษายน แต่ในระยะหลังมักกระทำในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

พระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ แต่ในสมัยสุโขทัยไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน พบหลักฐานที่แสดงว่ามีพระราชพิธีนี้ในสมัยอยุธยาในกฎมนเทียรบาล เรียกพระราชพิธีนี้ว่า “ จรดพระอังคัล “มีข้อความปรากฏถึงพระราชพิธีนี้อยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งกล่าวอย่างสั้นๆว่า “ เดือน ๖ พิทธีไพศากขยจรดพระอังคัล “ อีกแห่งหนึ่งให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า ขุนนางผู้ทำหน้าที่สำคัญคือ เจ้าพญาจันทกุมารและพระพลเทพ [14]

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีหนังสือตำรับนางนพมาศ [15] กล่าวถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลว่า มีการสร้างโรงพิธีที่ท้องทุ่งละหานหลวง หน้าพระตำหนักห้างเขา พระเจ้าแผ่นดินพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ประทับที่พระตำหนักห้าง โปรดให้ออกญาพลเทพแต่งกายอย่างลูกหลวงเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ไถนา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเรื่อยมาไม่มีการยกเว้น แต่อาจไม่ได้เป็นพระราชพิธีหน้าพระที่นั่ง ยกเว้นจะมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร เช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม ในปีมะแม เบญจศก ศักราช ๑๑๘๔ ได้เสด็จทอดพระเนตรการปฎิสังขรณ์ทุกวัน เมื่อถึงคราวมีพระราชพิธีจรดพระนังคัล ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม จึงโปรดฯให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง และเคยโปรดฯให้กระทำพระราชพิธีแรกนาที่เมืองพระนครศรีอยุธยาและที่เมืองเพชรบุรีอีกด้วย

ตามพระบรมราชาธิบายยังกล่าวว่า แต่เดิมพระราชพิธีจรดพระนังคัลมีแต่พิธีพราหมณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไปแต่ยกเป็นอีกพิธีต่างหากเรียกว่า “พืชมงคล”

สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงบรรยายพระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นบทร้อยกรอง ไว้ในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งมีเนื้อความตรงกับความเรียงร้อยแก้ว พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน เริ่มตั้งแต่พระราชพิธีพืชมงคล กล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งในมณฑลพิธี เจ้าพระยาแรกนา และเทพีทั้งสี่เข้าร่วมฟังพระ

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลว่า ผู้กระทำพิธีแรกนานั้นเป็นเสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิบดี คือ เจ้าพระยาพลเทพ ยกเว้นบางสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า พระยาแรกนาเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพ เช่นเดียวกันกับพระยายืนชิงช้า เมื่อพระยาพลเทพป่วยก็ให้พระยาประชาชีพแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเกือบจะเป็นธรรมเนียมว่า ผู้ใดยืนชิงช้า ผู้นั้นก็แรกนาด้วย

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลนี้กระทำสืบเนื่องต่อมาในรัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๗ โดยในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำมหาสังข์และทรงเจิมพระยาแรกนาที่พระที่นั่งภิเษกดุสิต พระราชวังดุสิต แต่การจรดพระนังคัลกระทำที่ทุ่งพญาไท โดยบางครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปที่ทุ่งพญาไท [16]

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีการพิจารณาว่า ควรยกเลิกพระราชพิธีนี้หรือไม่ ในที่สุดกระทรวงเกษตราธิการก็เห็นว่า พระราชพิธีนี้มีประโยชน์ควรดำเนินการแก้ไขมิให้เป็นพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ และควรให้มีการประกวดผลผลิตทางเกษตรกรรมและเป็นพิธีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย จึงให้คงพระราชพิธีนี้ไว้ เพื่อปลุกใจให้ประชาชนนิยมทำการเกษตร สำหรับพระราชพิธีแรกนานั้นมีการย้ายไปทำร่วมกับงานวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ ต่อมาได้ยกเลิกไป ในพ.ศ.๒๔๘๑

ต่อมาในสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระราชพิธีจรดพระนังคัลได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๕๐๒ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้กระทรวงเกษตรเป็นเจ้าของเรื่องรับไปพิจารณาดำเนินการ ผลการประชุมพิจารณาสรุปว่าควรฟื้นฟูขึ้นกระทำเป็นงานประจำปี เริ่มตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน [17]

วิถีใหม่ในการแสดงพระองค์ในพระราชพิธีและพิธี

นับแต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีการทอดพระราชอาสน์ถวายหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายาในช่วงของการพระราชพิธีการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ที่อัครมเหสี และสืบเนื่องกันในการทรงเฉลิมพระราชมณเฑียรคู่กัน และในการเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกในงานพระราชพิธี (และพิธีอื่นๆ) เคียงกันเป็นนิจ ยังผลให้ในงานพระราชพิธี ธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้เจ้านายฝ่ายในเฝ้าฯ อยู่ในพระฉากหรือในที่ซึ่งแยกชัดเจนเป็นต่างหากจากฝ่ายหน้าเป็นอันพ้นสมัยอย่างแท้จริง อีกทั้งมีการทอดเครื่องนมัสการและพระแท่นทรงกราบเป็นสองสำรับด้วย นับเป็นวิถีใหม่ที่อนุโลมตามแบบสากลสืบทอดมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการต่อมาจนปัจจุบัน [18]

สรุป

รวมความว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการสืบสานพระราชประเพณีในแง่พระราชพิธี โดยมีการตัดทอนดัดแปลง เช่นเดียวกับที่ได้เคยมีมาแต่ก่อน เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ครั้นในช่วงปลายรัชกาลที่พระราชสถานะเปลี่ยนไป ได้มีความแปรเปลี่ยนบางประการ จนเมื่อพ้นรัชสมัยได้มีการยกเลิกการจัดพระราชพิธีบางอย่าง

อ้างอิง

  1. (๒๕๓๗). กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ “กฎมนเทียรบาล”.. กรุงเทพฯ: คุรุสภา,๖๙-๑๕๙.
  2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๑). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, หน้า ๘๐.
  3. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๒๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๑ . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา , หน้า ๙๔-๙๗.
  4. รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน โปรดศึกษาในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
  5. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือนเล่ม ๑ โครงการหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ ๒ ,๒๕๕๘ .หน้า ๖๘.
  6. หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ (๒๔๗๕). “ข่าวในราชสำนัก” ,อ้างจากธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ”, หน้า ๒๒๑.
  7. คำแถลงการณ์คณะรัฐมนตรี, ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕, อ้างมาจากเรื่องเดิม, หน้า ๒๒๓.
  8. จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ). (๒๕๑๔). พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑ เรื่องพระราชประเพณี(ตอน ๓). กรุงเทพฯ: คุรุสภา, หน้า ๒.
  9. จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา . (๒๕๒๔). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, หน้า ๓ – ๗.
  10. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๒๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๑ . กรุงเทพฯ : คุรุสภา , หน้า ๑๗๑.
  11. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๒๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : คุรุสภา , หน้า ๑๖๔.
  12. จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ). (๒๕๑๔). พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑ เรื่องพระราชประเพณี(ตอน ๓). กรุงเทพฯ: คุรุสภา, หน้า ๔.
  13. พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์. (๒๕๑๐). คำบรรยายเรื่องพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน. (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในการทำบุญบ้านซอยสุทธิสาร พระนคร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐)
  14. (๒๕๑๕). กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ . “กฎมนเทียรบาล”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว ๑๓ กันยายน, หน้า ๑๓๘ –๑๓๙.
  15. ตำรับนางนพมาศ เป็นวรรณกรรมซึ่งปัจจุบันนักวิชาการเชื่อกันว่า แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
  16. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: มปพ. , หน้า ๒๕๕ , ๓๙๒-๓๙๓.
  17. พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์. . (๒๕๑๐)คำบรรยายเรื่องพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน. (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในการทำบุญบ้านซอยสุทธิสาร พระนคร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐)
  18. พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์. . (๒๕๑๐)คำบรรยายเรื่องพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน. (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในการทำบุญบ้านซอยสุทธิสาร พระนคร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐)

บรรณานุกรม

(๒๕๓๗). กฎหมายตราสามดวง เล่ม`๑.กฎมนเทียรบาล. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

จมื่นอมรดรุณารักษ์, (แจ่ม สุนทรเวช). (๒๕๑๔).พระราชประเพณี ตอน ๓ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๒๘). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๑.พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๔๑). พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓ .กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร.(๒๕๔๖). การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร.

ดินาร์ บัญธรรม. (๒๕๕๐). พระราชกรณียกิจการแสดงบทบาทในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีแบบสากล บทความไม่ได้ตีพิมพ์ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับเป็นข้อมูลจัดทำบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.

ทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์,หม่อม. คำบรรยายเรื่องพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน. จัดพิมพ์เนื่องในการทำบุญบ้านซอยสุทธิสารพระนคร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐.

ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (๒๕๔๓). ๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรสโพรดักส์.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : มปพ.

บำราบปรปักษ์, สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส.(๒๕๔๕). กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จัดพิมพ์.

สมมติอมรพันธุ์ฯ,พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (รวบรวม) ประกาศการพระราชพิธีเล่ม ๑. (๒๕๐๘). พระนคร : คุรุสภา.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (บรรณาธิการ). ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสุโขทัย. (๒๕๓๐). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและแนวปฎิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง. (๒๕๓๕). กรุงเทพฯ : สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ

Maund, Laurie. The Royal Ceremonies : Past and Present. (1990) .Published by The national Identity Board office of the Prime Minister. Bangkok, Thailand.