การยุบสภา พ.ศ. 2481
ผู้เรียบเรียง ศรัญญู เทพสงเคราะห์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การยุบสภา พ.ศ.2481 เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 เนื่องมาจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสภาสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี โดยการยุบสภาครั้งนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
การถ่วงดุลอำนาจระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
จาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดกลไกในตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะรัฐมนตรี(ฝ่ายบริหาร)กับสภาผู้แทนราษฎร(ฝ่ายนิติบัญญัติ) ได้แก่ ให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการตั้งกระทู้ถามและการลงมติไม่ไว้วางใจ ขณะที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการยุบสภา
1. การตั้งกระทู้ถาม
สภาผู้แทนราษฎรสามารถควบคุมการดำเนินงานของรัฐบาลได้จาก “การตั้งกระทู้ถาม” อันปรากฏในมาตรา 40 ว่า “สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินในที่ประชุม สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน”[1]
2. การลงมติไม่ไว้วางใจ
รัฐธรรมนูญได้กำหนดมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อคณะรัฐบาลคือ “การลงมติไม่ไว้วางใจ” ในมาตรา 41 ว่า “สภาย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลงมติความไว้ใจในรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะ ญัตติความไว้ใจนั้น ท่านมิให้ลงมติในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา” [2]
3. การยุบสภา
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาไว้ในมาตรา 35 ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน” [3] ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการยุบสภาว่า
“...พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาได้ แต่ว่าในการยุบนี้จะต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกานั้นก็ต้องนำผ่านคณะกรรมการราษฎร และการยุบสภานั้นก็มาจากคณะกรรมการราษฎรนั่นเอง...” [4] (คำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคำว่า “รัฐมนตรี”)
จากคำแถลงข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะให้อำนาจในการยุบสภาเป็นของคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา(พ.ศ.2476- 2481) ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสองประเภทจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน กับสมาชิกประเภทที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นพรรคพวกของคณะราษฎรเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงทำให้รัฐบาลมีอิทธิพลต่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในระดับหนึ่ง
ถึงแม้ว่าสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะมีที่มาจากการแต่งตั้งจากรัฐบาลถึงครึ่งหนึ่ง แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ได้แสดงบทบาทในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างแข็งขัน ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร อันเป็นวิถีทางของระบอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ปฏิบัติตนเสมือนเป็นฝ่ายค้านในสภา โดยได้แสดงบทบาทในการตัดสินปัญหาเกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญ ๆอย่างเป็นอิสระ[5] มีการตั้งกระทู้ถามคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ รวมถึงมีการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 12 ครั้งคือ ในปีพ.ศ.2477 จำนวน 5 ครั้ง พ.ศ. 2478 จำนวน 3 ครั้ง พ.ศ. 2479 จำนวน 1 ครั้ง พ.ศ. 2480 จำนวน 2 ครั้ง และพ.ศ. 2481 จำนวน 1 ครั้ง[6]
ทั้งนี้บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำให้รัฐบาลต้องลาออกถึง 2 ครั้งได้แก่ ครั้งแรก จากการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ให้ความเห็นชอบการทำสนธิสัญญาจำกัดยางกับต่างประเทศของฝ่ายรัฐบาลเป็นเหตุให้รัฐบาลลาออก นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนกันยายน 2477[7]
ครั้งที่สอง จากการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลของนายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2480 กรณีสงสัยว่ารัฐบาลมีการทุจริตในการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กับคณะราษฎรและบุคคลในคณะรัฐบาล ซึ่งผลจากการตั้งกระทู้และการเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนั้นได้สร้างแรงกดดันให้แก่รัฐบาลอย่างมาก จนทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาตัดสินใจลาออกในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ส่วนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งรู้เห็นยินยอมในการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ถูกอภิปรายอย่างหนักจนต้องลาออกไปด้วย[8]
ถึงแม้ว่าการลาออกทั้งสองครั้งของพระยาพหลพลพยุหเสนาภายหลังจะได้รับความไว้วางใจจากสภาให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนมีความเป็นอิสระจากการครอบงำของฝ่ายรัฐบาลอยู่พอสมควร จึงสามารถแสดงบทบาทถ่วงดุลรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าบทบาทการถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรจะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ยอมรับฟังและยอมรับผลการวินิจฉัยชี้ขาดของสภาผู้แทนราษฎร อันสะท้อนถึงความพยายามวางรากฐานของระบอบรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรช่วงแรก
การยุบสภา พ.ศ.2481
การยุบสภา พ.ศ.2481 เป็นผลมาจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากการเสนอญัตติของนายถวิล อุดม ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2481 เรื่อง “ญัตติข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร” โดยญัตติดังกล่าวเป็นการขอแก้ข้อบังคับการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477 ข้อ 68 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทราบรายการและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในงบประมาณแผ่นดินให้ละเอียดยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ อันจะทำให้การพิจารณางบประมาณของสภารวดเร็วยิ่งขึ้น[9] โดยสาระสำคัญในการแก้ไขมีดังนี้
“ข้อ 68 การเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนั้น ให้ยื่นตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาเห็นสมควรแก่การพิจารณาของสภาและให้แสดงบัญชีรายละเอียดประกอบพร้อมบันทึกคำชี้แจงต่อไปนี้
ก. การตั้งประเภทเงินรายได้ ให้ลดจำนวนรับทั้งสิ้นโดยไม่หักรายจ่ายใด ๆ และมีบันทึกแสดงหลักเกณฑ์การคำนวณ เป็นต้น อัตราที่จัดเก็บสถิติต่าง ๆที่วางเป็นหลักเก็บ แสดงจำนวนเงินที่ประมาณจะเก็บได้ในปีแห่งงบประมาณเงินค้างเก่าประมาณจะเก็บได้ในปีแห่งงบประมาณ และเงินที่ตั้งเก็บจะมีค้างยกไปเก็บในปีต่อ ๆ ไป ให้แยกรายการประมาณละเอียดเป็นประเภทของเงินรายได้
ข. คำขอตั้งเงินจ่ายประจำให้แยกเป็นรายกระทรวงและกรมใดกรมหนึ่ง ๆ ต้องมีรายละเอียดดังนี้
- (1) ประเภทและลักษณะเงินคือเงินเดือนค่าใช้สอย และจราจร
- (2) แสดงรายละเอียด กล่าวคือ
เงินเดือนให้แสดงอัตราจำนวนคนและจำนวนเงินเป็นรายตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน
ค่าใช้สอย ให้แสดงลักษณะของจำนวนเงินที่จะจ่ายตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเห็นสมควรแก่การพิจารณาของสภา
การจร ให้แสดงว่าจะทำอะไร ถ้าทำเสร็จจะเป็นเงินเท่าใดปีแห่งงบประมาณนี้จะทำเพียงใดและจ่ายเงินเท่าใด ในปีต่อไปจะจ่ายอีกเท่าใด
ค. คำขอตั้งเงินจ่ายพิเศษนั้น ให้แยกเป็นรายการสิ่งที่พึงทำการขอจ่ายเงินประเภทนี้ต้องมีบันทึกโครงการโดยละเอียด แสดงจำนวนเงินที่จะต้องการจ่ายว่าจะจ่ายอย่างไร กิจการที่ทำนั้นจะสำเร็จตามโครงการในปีแห่งงบประมาณนั้นหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะเหลื่อมไปจ่ายในปีต่อ ๆ ไปปีละเท่าไรจนกว่าจะเสร็จถ้าเป็นเงินขอจ่ายสำหรับกิจการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จในปีก่อนซึ่งต้องเหลื่อมมาจ่ายในปีแห่งงบประมาณนี้ ก็ต้องชี้แจงให้ทราบว่าได้จ่ายมาตั้งแต่ต้นอย่างไร อนึ่งให้ชี้แจงด้วยว่าเมื่อการจ่ายเงินประเภทนี้ได้เสร็จลงตามโครงการนั้นแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้รับตอบแทนโดยตรงนั้นมีอย่างไร ความในข้อ ก. และ ข. นั้น มิให้ใช้บังคับสำหรับกิจการที่รัฐบาลเห็นว่าควรสงวนเป็นความลับ” [10]
ในอภิปรายญัตตินี้นายถวิล อุดม ผู้เสนอญัตติได้กล่าวชี้แจงมีใจความสำคัญคือ “ในการเสนอญัตตินี้ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในตัวเลขแห่งงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอย่างคลุมเครือไม่ชัดแจ้ง จนเป็นปัญหาว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจจะพิจารณาในหลักการแห่งงบประมาณนั้นได้ เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงได้เสนอญัตติฉบับนี้ขึ้นมาโดยมีหลักการว่า การทำงบประมาณนั้นขอให้รัฐบาลเสนอมาโดยมีรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งสามด้านได้แก่ อ่านรายจ่ายประจำ รายรับและรายจ่ายพิเศษ” [11]
ทางรัฐบาลโดยพระยาไชยยศสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “ไม่สามารถจะทำได้ตามที่สมาชิกต้องการ เพราะรายละเอียดตามงบประมาณนั้นมีมาก จะต้องทำสำเนาเอกสารเป็นจำนวนมาก ไม่มีเวลาพอที่จะจัดการให้ทันตามกำหนดเวลาเสนองบประมาณ ทั้งจะต้องสิ้นเปลืองรายจ่ายในการดำเนินการเป็นอันมาก”[12]
นอกจากนี้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยสุจริตใจว่าข้อบังคับอันนี้รัฐบาลรับไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะลงมติไปว่าให้รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับนี้ แต่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการผูกมัดเกินไป และไม่มีใครเขาทำกันในโลกนี้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลต้องรับร่างข้อบังคับนี้ไปแล้ว เมื่อไม่สามารถกระทำได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลจะลาออกหมด”[13]
เมื่อมีการลงมติผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 45 ต่อ 31 เป็นอันว่ารัฐบาลพ่ายแพ้ในญัตติดังกล่าว ทั้งนี้เพราะว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่ในห้องประชุมน้อย นอกจากนี้ภายหลังการลงมติได้เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างสมาชิกประเภทที่ 1 ที่เสนอญัตติดังกล่าว กับรัฐบาลและสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งสนับสนุนรัฐบาล กล่าวคือ ในการพิจารณาเรื่องจะส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวให้กรรมาธิการคณะใดตรวจแก้นั้น รัฐบาลไม่ยินยอมปรึกษาพิจารณาด้วย แม้ฝ่ายรัฐบาลมีสมาชิกประเภทที่ 2 รัฐมนตรีตลอดจนนายกรัฐมนตรี จะได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ท่านนั้น ๆ ก็ปฏิเสธสิ้น ที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 7 นาย จากสมาชิกประเภทที่ 1 ล้วน ๆ ขึ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว[14]
จากความพ่ายแพ้ของรัฐบาลในญัตติดังกล่าว พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาถึงการลาออก แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะยุบสภามากกว่า เพราะถ้าลาออกก็จะไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใดปฏิบัติตามความประสงค์ของรัฐสภาได้[15] แต่ที่ประชุมก็ยอมลาออกจากตำแหน่งตามความต้องการของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรากฏว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่เห็นชอบด้วย โดยเห็นว่ารัฐบาลควรบริหารราชการต่อไปเพราะสถานการณ์ในโลกขณะนั้นกำลังปั่นป่วน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกำลังจะนิวัติกลับประเทศสยาม ดังนั้นรัฐบาลจึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สมาชิกประเภทที่ 1)ใหม่ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 ความว่า
พุทธศักราช 2481
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน
ตราไว้ณวันที่ 11 กันยายน พุทธศักราช 2481
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้นใหม่
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จึ่งให้ตราพระราชกฤษฎีกาดั่งต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้ให้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2481”
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้นมาใหม่มีกำหนดภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันใช้พระราชกฤษฎีกานี้เป็นต้นไป
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
- นายกรัฐมนตรี [16]
ทั้งนี้ภายหลังการยุบสภา รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์แสดงเหตุผลและความจำเป็นของการยุบสภาผู้แทนราษฎร[17] ซึ่งเนื้อความบางตอนสะท้อนถึงความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์ว่า “...รัฐบาลได้พยายามร่วมมือกับผู้แทนราษฎรโดยจริงใจ แต่ผู้แทนราษฎรหาได้ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลตามสมควรไม่ โดยเฉพาะ การพิจารณาญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 68 นี้ ได้เริ่มอภิปรายมาจนหมดเวลาประชุมตามปกติ มีสมาชิกอยู่ประชุมเป็นส่วนน้อยแล้ว และสภาฯ ก็เห็นเป็นเรื่องสำคัญ สภาฯ น่าจะให้การประชุมปรึกษาเป็นไปตามระเบียบ คือ อภิปรายต่อไปในวันหลัง เพื่อให้โอกาสสมาชิกฯ ส่วนมากได้ฟังเหตุผลและใช้ดุลพินิจโดยรอบคอบ แต่สมาชิกฝ่ายผู้แทนราษฎรก็เสนอญัตติให้รวบรัดการพิจารณา และเสนอให้ลงมติโดยไม่ให้โอกาสรัฐบาลแถลงชี้แจงอีก วิธีการดั่งนี้เป็นวิธีช่วงชิงเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม ในที่สุดสภาฯ ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับนั้น รัฐบาลเห็นว่า ความเป็นไปในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนี้ และเรื่องอื่น ๆหลายเรื่องที่แล้วมา ผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นอันมากไม่สนใจฟังคำชี้แจงหรือเหตุผลทางรัฐบาล และมิได้คำนึงถึงความเสียหายอันจะพึงมีแก่ประเทศชาติ...” [18]
นอกจากนี้จากแถลงการณ์ของรัฐบาลยังได้สะท้อนถึงวิธีคิดในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งถือเป็นความพยายามในการวางรากฐานการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ดังที่กล่าวไว้ว่า “...ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลนี้มิได้มุ่งหมายที่จะทำสิ่งใดนอกเหนือไปจากวิถีทางรัฐธรรมนูญ การลาออกของคณะรัฐมนตรีก็ดี การยุบสภาฯ ก็ดี เป็นเหตุการณ์ตามสถานการณ์แห่งการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงขอให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบ อย่าได้มีความหวั่นไหวตกใจอย่างหนึ่งอย่างใด รัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะรักษาความปลอดภัยของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของประเทศอยู่เสมอ”[19]
การตั้งรัฐบาลใหม่
ภายหลังการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งโดยตรง คือ ราษฎรเลือกผู้แทนราษฎรเอง ด้วยวิธีแบ่งเขต แต่ละเขตให้เลือกผู้แทนราษฎรได้ 1 คน และถือจำนวนราษฎรสองแสนคนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมีทั้งสิ้น 91 คนเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรชุดก่อน[20]
ผลของการเลือกตั้งปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเวลานั้นได้รับเลือกเข้ามาเต็มสภา โดยในวันที่ 15 ธันวาคม ประธานสภาได้เชิญสมาชิกทั้งสองประเภทหารือเป็นการภายใน เพื่อสอบถามความเห็นว่าผู้ใดควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ก่อนประชุมพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอพบประธานสภาและขอร้องให้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ พร้อมกับเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจให้ หลวงพิบูลสงคราม เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481[21]
ทั้งนี้การยุบสภาในปี พ.ศ.2481 ถือเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องมาจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร การยุบสภาครั้งนี้ได้ส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ยุติบทบาททางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสมัยของรัฐบาลคณะราษฎรช่วงแรก อันเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มผู้นำคณะราษฎรรุ่นหนุ่มเข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม
ที่มา
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. “พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษของไทย (ตอนที่ 4)” รัฐสภาสาร ปีที่ 33 ฉบับที่ 9 (กันยายน 2528): 81 – 94.
ทวีพงศ์ แสงสุวรรณ. ผลกระทบของระบบ 2 สภาต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย พ.ศ. 2475-2527 วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530. ไทยน้อย. พระยาพหล. พระนคร: แพร่พิทยา, 2497.
ประชัน รักพงษ์. การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย(พ.ศ.2481 - 2500) วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520.
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี(2475 - 2517). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 37/2475 วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 12/2480 สมัยวิสามัญ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2480.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 21/2481 สมัยสามัญ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2481.
วิเทศกรณีย์. “ล้มรัฐบาล” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเลียง ไชยกาล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2529. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพนายเลียง ไชยกาล ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2519)
สรรเสริญ สืบสหการ และ สานิตย์ โลหะชาละ. “การยุบสภา” รัฐสภาสาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 6 (มิถุนายน 2529): 61 - 100.
เสน่ห์ จันทร์กระจ่าง. “การยุบสภาผู้แทนฯในไทย” รัฐสภาสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2519): 6 - 41.
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475, หน้า 543. หรือ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 543.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 542.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475 วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2475, หน้า 480.
- ↑ ประชัน รักพงษ์, การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย(พ.ศ.2481 - 2500) วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520, หน้า 55 – 56.
- ↑ ทวีพงศ์ แสงสุวรรณ, ผลกระทบของระบบ 2 สภาต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย พ.ศ. 2475 - 2527 วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530, หน้า 103.
- ↑ ประชัน รักพงษ์, การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย(พ.ศ.2481 - 2500), หน้า 56.
- ↑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วิเทศกรณีย์, “ล้มรัฐบาล” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเลียง ไชยกาล (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2529), หน้า 16 - 37. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพนายเลียง ไชยกาล ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2519) และ “กระทู้ถาม เรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 12/2480 สมัยวิสามัญ (27 กรกฎาคม พ.ศ.2480).
- ↑ เสน่ห์ จันทร์กระจ่าง, “การยุบสภาผู้แทนฯในไทย” รัฐสภาสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2519): 11.
- ↑ “(สำเนา)ร่างข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร (ฉะบับที่...) พุทธศักราช 2481” ใน เสน่ห์ จันทร์กระจ่าง, “การยุบสภาผู้แทนฯในไทย” รัฐสภาสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2519): 24 - 25.
- ↑ สรรเสริญ สืบสหการ และ สานิตย์ โลหะชาละ, “การยุบสภา” รัฐสภาสาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 6 (มิถุนายน 2529): 69.
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี(2475 - 2517) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517), หน้า 271.
- ↑ สรรเสริญ สืบสหการ และ สานิตย์ โลหะชาละ, “การยุบสภา” : 70 – 71.
- ↑ ไทยน้อย, พระยาพหล (พระนคร: แพร่พิทยา, 2497), หน้า 398 – 399.
- ↑ เสน่ห์ จันทร์กระจ่าง, “การยุบสภาผู้แทนฯในไทย” รัฐสภาสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2519): 11.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481, หน้า 405 – 406.
- ↑ ดูรายละเอียดคำแถลงการณ์ของรัฐบาล ได้ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481, หน้า 407 – 412. หรือ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/405.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481, หน้า 410 - 411.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 411 - 412.
- ↑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี(2475 - 2517) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517), หน้า 274 - 277.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481, หน้า 706 – 707.