การดนตรี เพลงพระราชนิพนธ์ และนาฏศิลป์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ศิริน โรจนสโรช

และ ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถทางดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีหลักฐานจากรายงานการเรียนไวโอลินเมื่อครั้งที่ทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งพระอาจารย์ผู้ถวายการสอนบันทึกในรายงานว่าการเรียนมีความก้าวหน้าเป็นที่พอใจและมีข้อสังเกตว่า ทรงมีทักษะทางดนตรี

เมื่อทรงรับราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จปกเกล้าฯทรงเห็นความสำคัญของดนตรีไทยซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และเป็นส่วนสำคัญสำหรับราชสำนัก จึงทรงฝึกดนตรีไทย ผู้ถวายคำแนะนำ คือ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทรงเริ่มจากการฝึกซออู้ ต่อมาจึงทรงซอด้วง ทรงเรียนรู้จนสามารถทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยได้ถึงสามเพลง อันเป็นอมตะของวงการดนตรีไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่งสามชั้น

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในปี ๒๔๗๒ ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยมาจากเพลงแขกมอญบางขุนพรหมเถา ซึ่งเป็นเพลงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ มีเนื้อร้องตอนท้ายว่า

 

เพลงมอญเก่าแสนเสนาะเพราะนักหนา

ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมมีสมญา

ฉันได้มาแต่วังบางขุนพรหม

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยสำเนียงมอญ โดยทรงใช้เพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น มาทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ โดยขยายและย่อ เป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว หรือที่เรียกว่าเพลงเถา ใช้หน้าทับปรบไก่ เป็นเพลงท่อนเดียว มี ๖ จังหวะ และทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องด้วย ดังนี้

(๓ ชั้น) วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ

ขอเชิญสายใจ เจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลีเอย

หอมดอก หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสี หอมดีน่าดม

เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม กิริยาน่าชม สมใจจริง เอย

ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือนได้ชมหน้าน้อง

พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง เจ้าอย่าขุ่นข้อง จงได้เมตตา เอย

หอมดอก หอมดอกชำมะนาด กลิ่นไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ

เหมือนน้ำใจดี ปราณีปราศรัย ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริง เอย

(๒ ชั้น) ขอเชิญเจ้าฟังเพลง วังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ ในวังหลวง

หอมดอก หอมดอกแก้วยามเย็น ไม่เห็นใจพี่ เสียเลย เอย

ดวงจันทร์ หลั่นลด เกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวง ยอดชีวา ไม่ปราณี

หอมมะลิ หอมมะลิ กลีบซ้อน อ้อนวอน เจ้าไม่ฟัง เอย

(ชั้นเดียว) จวนจะรุ่ง แล้วนะเจ้า พี่ขอลา แสงทองส่องฟ้า สง่าศรี

หอมดอก หอมดอกกระดังงา ชิชะช่างน่า เจ็บใจจริง เอย

หมู่ภมร ว่อนหา ช่อมาลี แต่ตัวพี่ จำจาก พรากไปไกล

หอมดอก หอมดอก จำปี นี่แน่ะพรุ่งนี้ จะกลับมา เอย

 

โปรดเกล้าฯ ให้วงเครื่องสายมโหรีหลวงต่อเพลง มีพระราชประสงค์จะให้ชื่อเพลงว่า ราตรีประดับดาว แต่ก็มีผู้ถวายชื่ออื่น เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ จึงยังมิได้มีชื่อแน่นอน ต่อมาเมื่อมีการเผยแพร่ครั้งแรกทางสถานีวิทยุ วัน วัน พี.เจ. ศาลาแดง จึงได้ประกาศชื่อเพลงราตรีประดับดาวเถา ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก

 

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่สองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงสำเนียงเขมรเมื่อคราวเสด็จประพาสอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยทรงเลือกเพลงไทยโบราณชื่อ เพลงเขมรเอวบาง ๒ ชั้น มาทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ ขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้น และย่อเป็นชั้นเดียว ทรงเลือกบทละครรำเรื่องพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาทรงพระราชนิพนธ์แก้ไข ใช้เป็นเนื้อเพลง พระราชทานชื่อว่า เขมรละออองค์เถา มีเนื้อร้องดังนี้

(๓ ชั้น) เมื่อนั้น ท้าวพันธุมทรงฟังแล้วนั่งนิ่ง

ไทยคนนี้มีปัญญากล้าจริงๆ จะละทิ้งช้าไว้ไม่เป็นการ

จึงมีพระราชบัญชา แด่พญาเดโชยอดทหาร

ตัวเรานี้มีบุญญาธิการ ไม่มีใครเปรียบปานแต่เดิมมา

(๒ ชั้น) บัดนี้พระร่วงเมืองละโว้ มี ปัญญาอักโขทั้งใจกล้า

ไม่เกรงซึ่งราชอาชญา ทิ้งไว้ช้าจะทำรำคาญใจ

(ชั้นเดียว) จะตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษ ก่อเหตุกำเริบเติบใหญ่

สั่งพญาเดโชชาญชัย รีบไปกุมจับคนสำคัญ

 

เพลงเขมรละออองค์เถา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการกรมปี่พาทย์หลวงต่อเพลง และบรรเลงถวายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่สาม เกิดขึ้นจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยระหว่างเสด็จฯ ประพาสสัตหีบโดยเรือพระที่นั่งจักรี ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบนดาดฟ้า มีผู้กราบบังคมทูล ขอให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงที่มีทำนองเหมือนคลื่นในทะเล เมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครแล้ว จึงทรงเลือกเพลงคลื่นกระทบฝั่ง ๒ ชั้น มาทรงพระราชนิพนธ์ขยายเป็น ๓ ชั้น โดยทรงใช้ลูกล้อลูกขัดเลียนแบบลักษณะการไหลของคลื่นในทะเล คือแบ่งดนตรีออกเป็นพวกหน้า พวกหลัง บรรเลงเหมือนกันบ้าง ล้ำหน้าบ้าง หรือพวกหน้าบรรเลงแล้ว พวกหลังก็บรรเลงล้อตามบ้างสลับกัน ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเหมือนเพลงคลาสสิคสากล ชวนให้เห็นภาพคลื่นลูกต่างๆ ตามกันเข้าฝั่งเป็นระลอก ช้าลงแล้วค่อยๆ หยุด แล้วไหลกลับ ระลอกต่อไปไหลมากระทบฝั่งแล้วกระฉอกเป็นจังหวะ แต่ยังมิได้ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องและทำนองชั้นเดียว นักดนตรีวงมโหรีหลวงจึงบรรเลงเป็นเพลงโหมโรง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มิได้ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องและทำนองชั้นเดียวอีกเลย

วงดนตรีไทยในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีสองวง วงหนึ่งคือวงมโหรีหลวงซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีที่เป็นเจ้านาย ข้าราชการกรมมหรสพหลวง ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชายหรือ ฝ่ายหน้า นักร้องนักดนตรี ได้แก่ นางท้วม ประสิทธิกุล นักร้องประจำวง หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ควบคุมวงและตีระนาด พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) ตีกลองทัด พระประดับดุริยกิจ (แหยม วิณิน) ตีตะโพน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ ทรงระฆังราว พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงซอโอก หม่อมเจ้าธำรงวรวัช นวรัตน์ ทรงซออู้ หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ตีฉิ่ง พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.โป้ย มาลากุล) สีซอ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ตีระนาด พระ วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดรุณวัยวัฒน์ ทรงซอครก หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงฆ้องวง หม่อมเจ้าเศรษฐพันธุ์ จักรพันธุ์ ทรงขลุ่ยเพียงออ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา ทรงจะเข้ บางครั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงร่วมบรรเลงซอด้วงด้วย

วงมโหรีอีกวงหนึ่งคือ วงมโหรีหลวงฝ่ายหญิง หรือฝ่ายใน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวัง จัดตั้งขึ้น โดยรวบรวมทายาทนักดนตรีและข้าราชบริพารที่เป็นหญิง ตั้งเป็นวงดนตรีในปี ๒๔๖๙ นักร้องนักดนตรีถวายตัวเป็นข้าราชสำนักในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ฝึกซ้อมที่บ้านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ถนนพระอาทิตย์ มีพระประณีตวรศัพท์ (เขียน วรวาทิน) และหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย) เป็นผู้ควบคุมวง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะสดับเพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเงาะป่า เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์จึงย้ายวงดนตรีไปฝึกซ้อมที่พระตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาฏ ในวังสวนสุนันทา และเชิญพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเป็นผู้บรรจุเพลงและฝึกซ้อมมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อม เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ และคุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เยี่ยม สุวงศ์) สอนขับร้อง นักร้องนักดนตรีในวงมโหรีหลวงนี้ เช่น นางสาวบรรเลง ศิลปบรรเลง นางสาวชิ้น ศิลปบรรเลง นางสาวเจริญ (เจริญใจ) สุนทรวาทิน นางสาวเลื่อน สุนทรวาทิน นางสาวดารา นาวีเสถียร นางสาวเชื่อม (สุดา) ดุริยประณีต นางสาวฝรั่ง เปรมประทิน นางสาวฟื้น บุญมา นางสาววงศ์ อักษรานุเคราะห์ นางสาวเฉลา วาทิน เป็นต้น วงดนตรีวงนี้มีหน้าที่บรรเลงถวายระหว่างพระกระยาหารค่ำ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และรับแขกเมือง พระราชอาคันตุกะ บรรเลงในพระราชพิธีสำคัญ ในเขตพระราชฐานชั้นใน เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานราชอุทยานสโมสรในสวนศิวาลัย เป็นต้น

ในส่วนดนตรีสากล โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักดนตรีสากลรุ่นเยาว์สมัยรัชกาลที่ ๖ และทรงจ้างพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) เป็นผู้ฝึกสอนที่สวนมิสกวัน ตั้งเป็นวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวง นักดนตรี ได้แก่ นายเอื้อ สุนทรสนาน นายสริ ยงยุทธ นายสังข์ อสัตถวาสี นายเมล์ เอื้อเฟื้อ นายโฉลก เนตตะสูต นายปรุง ประสานศัพท์ ฯลฯ นักดนตรีเหล่านี้ รับพระราชทานเงินเดือนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ในระยะเวลา ๗-๘ ปี ก็มีนักดนตรีสากลเพิ่มขึ้นมากถึง ๗๐ คน ได้มีการระดมกำลังครูดนตรีเพื่อบันทึกโน้ตเพลงไทยประเภทพิธีกรรมไว้เป็นโน้ตสากล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย) จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้บอกเพลง และพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) เป็นหัวหน้าบันทึกโน้ตสากล จนเกิดหนังสือโน้ตสากลเพลงชุดโหมโรงเย็นและเพลงเรื่องทำขวัญที่ใช้มาจนปัจจุบัน

นาฏศิลป์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

แม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงโปรดให้ปรับปรุงหน่วยงานราชการ ลดเงินเดือน และจำนวนข้าราชการ รวมทั้งตัดทอนเงินรัชชูปการของพระองค์ด้วย เพื่อให้งบประมาณอยู่ในดุลยภาพ รวมทั้งหน่วยงานราชการด้านดนตรีและนาฏยศิลป์มีความจำเป็นต้องยกเลิก ๒ แห่ง ได้แก่ กรมมหรสพหลวง และโรงเรียนพรานหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยังคงข้าราชการกรมโขนที่มีฝีมือไว้บางส่วนโดยโอนไว้ในกระทรวงวัง เพื่อคงนาฏยศิลป์ในราชการไว้เท่าที่จำเป็น ต่อมาจึงโปรดให้ตั้งกองปี่พาทย์และโขนหลวง (กองมหรสพ) ศิลปากรสถาน และราชบัณฑิตย์สภาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโอนย้ายอำนาจการบริหารราชการก็มีการจัดตั้งกรมศิลปากร โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ และราชบัณฑิตยสถานนอกจากนี้นาฏยศิลป์นอกราชการทั้งคณะละครบรรดาศักดิ์ และเชลยศักดิ์ก็ปรากฏอยู่ทั่วไป

การทำนุศิลปวัฒนธรรมนับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงอนุรักษ์สืบทอดมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ความสนพระทัยต่อกิจการดนตรี และนาฏยศิลป์ ในบทบาท ๔ ประการ คือ ผู้อำนวยการ ผู้ชม ผู้ฟัง ผู้สนับสนุน รวมทั้งทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เอง ประกอบกับบุคคลสำคัญในวงการนาฏยศิลป์ที่มีทั้งกลุ่มผู้บริหาร และศิลปิน ได้แก่ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ หลวงวิจิตรวาทการอธิบดีกรมศิลปากร ครูละคร และศิลปินของคณะละครต่างๆ เป็นต้น ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งมีผลทำให้นาฏยศิลป์ดั้งเดิมจากรัชกาลก่อนทำให้ได้รับการอนุรักษ์ไว้ทั้งหมด ได้แก่ โขน ละครรำ (ละครใน ละครนอก ละครชาตรี ละครพันทาง และละครดึกดำบรรพ์) เป็นต้น ขณะเดียวกันนาฏยศิลป์ที่ได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาในเวลาต่อมา ได้แก่ ละครร้อง ละครเพลง ลิเก แต่ที่สำคัญยิ่ง คือ ภาพยนตร์ เพราะนับเป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหวนาฏยศิลป์ครั้งแรกในประเทศไทย จึงนับว่าการอนุรักษ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีคุณูปการต่อการสืบทอดดนตรีไทยและนาฏศิลป์ในเวลาต่อมาด้วย

บรรณานุกรม

พูนพิศ อมาตยกุล, เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. (๒๕๕๖). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับดนตรีของชาติไทย ใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. (น. ๗๖-๙๙). นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศิริน โรจนสโรช. (๒๕๕๖). พระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. น. ๗๖-๙๙. นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศิริน โรจนสโรช. (๒๕๔๑, มกราคม-เมษายน). พระราชนิยมทางการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, วารสารสุโขทัยธรรมาธิราช , ๑๑(๑), ๖-๑๙.

ศิรินันท์ บุญศิริ. (๒๕๓๗). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, เนียนศิริ ตาละลักษมณ์, ฉวีงาม มาเจริญ, สุภรณ์ อัศวสันโสภณ, เพลินพิศ กำราญ, บุหลง ศรีกนก, . . . ประณีต นิยายลับ. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่

หัว (น. ๓-๑๑๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

มณิศา วศินารมณ์. (๒๕๕๖) ละครรำในรัชกาลที่ ๗ และการสืบทอด รายงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า.

อวรัช ชลวาสิน. (๒๕๕๕). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับดนตรีไทย ใน ดนตรีนาฏศิลป์แผ่นดินพระปกเกล้า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๑๙ ปีแห่งวันพระบรมราชสมภพและครบรอบ ๓๔ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (น.๒๑-๓๑). นนทบุรี: ฝ่ายตำรา

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.