สภาผู้แทนราษฎร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:30, 24 สิงหาคม 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


เมื่อใดที่มีการกล่าวถึง “สภาผู้แทนราษฎร” เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นสถานที่มีผู้แทนราษฎรมาร่วมชุมนุมกันกระทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของประเทศ[1] แต่เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น การที่จะให้ประชาชนของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ในทุกกรณี จึงจำเป็นต้องใช้ระบบผู้แทนโดยประชาชนจะมอบหมายให้ผู้แทนที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนในด้านต่าง ๆ โดยรัฐสภาเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญยิ่งในการออกกฎหมายมาให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม

ที่มาของสภาผู้แทนราษฎร

การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาโดยหลักการแล้วสภาผู้แทนราษฎรจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ แต่วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้สุดแล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะกำหนดไว้

การเลือกตั้งโดยตรง หมายถึง การเลือกตั้งที่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนโดยตรง[2]

การเลือกตั้งโดยอ้อม หมายถึง การเลือกตั้งที่ให้ประชาชนไปเลือกตั้งผู้ที่จะไปทำการเลือกตั้งแทนตนในภายหลัง[3]

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะกำหนดไว้ ยกเว้นสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งตามพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 โดยให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อนแล้วให้ผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

จำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนจะมีจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะกำหนดไว้ รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ตายตัวแต่ให้คำนวณจากจำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์ โดยถือเกณฑ์ราษฎรจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คน ถ้าเศษที่เหลือเกินเจ็ดหมื่นห้าพันคนให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มได้อีก 1 คน ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พทุธศักราช 2521

ส่วนรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ตายตัว เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยสี่สิบคนแต่ไม่เกินสามร้อยคน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามร้อยหกสิบคน

นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญบางฉบับยังมีการแบ่งประเภทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งด้วยนับจากที่ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปทางการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2540 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดประเภทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไว้ 2 ประเภท คือ ประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละหนึ่งคนจำนวนสี่ร้อยคน และประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับปัจจุบันกำหนดประเภทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ 2 ประเภทเช่นกัน คือ ประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละไม่เกินสามคนจำนวนสี่ร้อยคน และประเภทที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวนแปดสิบคน

อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการตราพระราชบัญญัติออกใช้บังคับและมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เว้นแต่ในบางช่วงที่ใช้ธรรมนูญการปกครองประเทศ จะไม่มีการกำหนดให้สถาบันการเมืองที่ธรรมนูญการปกครองประเทศในช่วงนั้นกำหนดให้เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเหมือนที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญ

อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับปัจจุบัน พอสรุปได้ดังต่อไปนี้[4]

1. อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติซึ่งต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นก็จะตกไป แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปได้[5]

2. อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามทั่วไป กระทู้ถามสด การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล การตั้งคณะกรรมาธิการ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี

3. อำนาจหน้าที่ในการตราข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอแนะและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย ประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ และกิจการอื่นๆ เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[6]

4. อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและมติที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[7]

5. อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดกรณีเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ[8] และพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ในระหว่างสมัยประชุม[9]

6. อำนาจหน้าที่ในการเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าพระราชกำหนดนั้นมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือมิได้เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้[10]

7. อำนาจหน้าที่ในการประชุมร่วมกับวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่รัฐสภาในกรณีต่อไปนี้[11]

1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

2) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา

3) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

4) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ

5) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้

6) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม

7) การเปิดประชุมรัฐสภา

8) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

9) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ

10) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่

11) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไป

12) การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

13) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อฟังความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ

14) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม

15) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา

16) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

อายุของสภาผู้แทนราษฎร

อายุของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีกำหนดไว้คราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 กำหนดไว้คราวละสี่ปีเช่นกันแต่ให้นับแต่วันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ยกเว้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป

ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงที่อยู่ครบสี่ปีจำนวน 2 ชุด คือ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 8 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 และสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 22 ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548

การสิ้นสุดของสภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงในกรณีต่อไปนี้

1. เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง[12]

2. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร[13]

3. เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ

สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย

นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 24 ชุด ดังต่อไปนี้

ชุดที่ ประเภท ที่มา จำนวน
สมาชิก
(คน)
ระยะเวลา สาเหตุของการสิ้นสุด
1 สภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้ง 70 28 มิ.ย. 2475 – 15 พ.ย. 2476 มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
2

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยอ้อม
แต่งตั้ง
78
78
15 พ.ย. 2476 – 9 ธ.ค. 2480
9 ธ.ค. 2476
พ้นจากตำแหน่งตามวาระ 4 ปี
คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
3

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง
แต่งตั้ง (เพิ่มอีก 13 คน)
91
91
7 พ.ย. 2480 – 11 ก.ย. 2481
9 ธ.ค. 2476
มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
4

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง
แต่งตั้ง
91
91
12 พ.ย. 2481 – 15 ต.ค. 2488
9 ธ.ค. 2476
มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
5



สมาชิกประเภทที่ 1


สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง


แต่งตั้ง (เพิ่มอีก 5 คน)
96


96
6 ม.ค. 2489 – 8 พ.ย. 2490


9 ธ.ค. 2476 – 10 พ.ค. 2489
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ 10 พ.ค. 2489
ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และมีการยึดอำนาจ
การปกครองประเทศเมื่อ 8 พ.ย. 2490
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ 10 พ.ค. 2489
6 สภาผู้แทน เลือกตั้งโดยตรง 178 6 ม.ค. 2489 – 8 พ.ย. 2490 มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
7 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 99 29 ม.ค. 2491 – 29 พ.ย. 2494 มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
8

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง
แต่งตั้ง
123
123
26 ก.พ. 2495 – 25 ก.พ. 2500
30 พ.ย. 2494
พ้นจากตำแหน่งตามวาระ 4 ปี
คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
9

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง
แต่งตั้ง
160
123
26 ก.พ. 2500 – 16 ก.ย. 2500
30 พ.ย. 2494 – 16 ก.ย. 2500
มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
10

สมาชิกประเภทที่ 1
สมาชิกประเภทที่ 2
เลือกตั้งโดยตรง
แต่งตั้ง
186
121
15 ธ.ค. 2500 – 20 ต.ค. 2501
18 ก.ย. 2500 – 20 ต.ค. 2501
มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
11 สภาผู้แทน เลือกตั้งโดยตรง 219 10 ก.พ. 2512 – 17 พ.ย. 2514 มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
12 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 269 26 ม.ค. 2518 – 12 ม.ค. 2519 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
13 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 279 4 เม.ย. 2519 – 6 ต.ค. 2519 มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
14 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 301 22 เม.ย. 2522 – 19 มี.ค. 2526 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
15 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 324 18 เม.ย. 2526 – 1 พ.ค. 2529 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
16 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 347 27 ก.ค. 2529 – 29 เม.ย. 2531 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
17 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 357 24 ก.ค. 2531 – 23 ก.พ. 2534 มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
18 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 360 22 มี.ค. 2535 – 30 มิ.ย. 2535 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
19 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 360 13 ก.ย. 2535 – 19 พ.ค. 2538 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
20 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 391 2 ก.ค. 2538 – 27 ก.ย. 2539 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
21 สภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งโดยตรง 393 17 พ.ย. 2539 – 9 พ.ย. 2543 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
22


สภาผู้แทนราษฎร


เลือกตั้งโดยตรง
- แบ่งเขตเลือกตั้ง
- บัญชีรายชื่อ

400
100
6 ม.ค. 2544 – 5 ม.ค. 2548


พ้นจากตำแหน่งตามวาระ 4 ปี


23


สภาผู้แทนราษฎร


เลือกตั้งโดยตรง
- แบ่งเขตเลือกตั้ง
- บัญชีรายชื่อ

400
100
6 ก.พ. 2548 – 24 ก.พ. 2549


มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาวันที่ 19 ก.ย. 2549
มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
24


สภาผู้แทนราษฎร


เลือกตั้งโดยตรง
- แบ่งเขตเลือกตั้ง
- สัดส่วน

400
80
23 ธ.ค. 2550 – ปัจจุบัน


-


ที่มา กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ, กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ

อ้างอิง

  1. สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมืองเรื่องสภาผู้แทนราษฎร. (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2544), หน้า 4.
  2. สิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2524), หน้า 53.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
  4. คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ตถาตา พับลิเคชั่น, 2548), หน้า 921-922.
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 140 มาตรา 142 มาตรา 145 มาตรา 146.
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134.
  7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172.
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 184.
  9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 186.
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 185.
  11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 136.
  12. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107.
  13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 108.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์ตถาตา พับลิเคชั่น. 2548.

สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมืองเรื่องสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.

สิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2524.

สำนักงานเลขาธิการสภาผุ้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2551.

ดูเพิ่มเติม

  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. “รัฐสภาไทยกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร.” กรุงเทพมหานคร : องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2548. (หนังสือที่ระลึกในวโรกาสที่พลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จทรงนำคณะอาจารย์และนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 5 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิชาหัวข้อพิเศษทางประวัติศาสตร์ : เปรียบเทียบพัฒนาการประชาธิปไตยในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทัศนศึกษารัฐสภา ห้องสมุดรัฐสภา และพิพิธภัณฑ์รัฐสภา วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2548).
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1. สรุปเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศและต่างประเทศ 2, 1. (มกราคม – มีนาคม 2548 (ฉบับพิเศษ))