นโยบายอวดธง (สร้างโรงพยาบาลชายแดน)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลังการปฏิวัติ 2475 ที่การเมืองเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในทางการปกครอง การประกาศ หลัก_6_ประการของคณะราษฎร อันเปรียบเสมือนเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐมีหลักว่าด้วยเอกราชและความปลอดภัยอยู่ด้วย ส่งผลให้ต้องสร้างรัฐไทยที่เป็นเอกราชจากระบอบอาณานิคมที่ครอบงำโลกและประเทศรอบบ้านของสยามอยู่ในเวลานั้น ด้วยการออกนโยบายอวดธง คือ สร้างโรงพยาบาลชายแดนที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตของพลเมือง ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงเอกราชของชาติด้านการแพทย์ที่เป็นเทคโนโลยีการปกครองจากตะวันตกไปพร้อมกันให้ประจักษ์ต่อเพื่อนบ้านที่มีประเทศเจ้าอาณานิคมปกครองอยู่
บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลต่อนโยบายการสาธารณสุข
หากถือเอาการปฏิวัติทางการเมืองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งจุดหนึ่งของการเมืองการปกครองของประเทศไทยสมัยใหม่ ก็จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมไทย มีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้อยู่ไม่น้อย รวมทั้ง 4 สถาบัน ที่มีผลต่อการเมืองไทยในสมัยต่อมาอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และระบบราชการแห่งชาติ[1] รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน
ในปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎรแทบจะไม่ได้ดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมากนัก ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากคณะราษฎรต้องการจะประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่าในระบอบราชาธิปไตย เพื่อความราบรื่นในการบริหารราชการของบ้านเมือง แต่การณ์กลับกลายเป็นความขัดแย้งกันเองกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมของคณะราษฎร โดยความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักในกรณีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของ นายปรีดี พนมยงค์ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งครั้งนี้ได้ถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ 20_มิถุนายน_พ.ศ._2476 เมื่อคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารที่นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงพิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจคืนมาสู่คณะราษฎรเป็นผลสำเร็จ และนับเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานในนโยบายที่คณะราษฎรได้ให้ไว้ในวันปฏิวัติ ดังปรากฏในการแถลงนโยบายรัฐบาลที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกความว่า “รัฐบาลนี้เห็นว่าหลัก 6 ประการที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับรองแล้วนั้น เป็นหลักนโยบายที่กระทรวงทบวงกรมจะได้ร่วมมือกันดำเนินการต่อไป”[2] และนับเป็นการเริ่มต้นการสร้างชาติของคณะราษฎรอย่างแท้จริง
นับจากปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นไปมีโครงการสร้างความเจริญแก่ชาติทางด้านการปกครอง โดยริเริ่มการปกครองส่วนท้องถิ่นคือเทศบาล การระหว่างประเทศมีความพยายามขอแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับชาติต่าง ๆ การเศรษฐกิจมีการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ในส่วนของกิจการด้านการสาธารณสุขแม้จะไม่ได้กำหนดไว้ใน หลัก 6 ประการ แต่เนื่องจากรัฐบาลใหม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเร่งสร้างชาติตามแนวทางของคณะราษฎรเป็นการใหญ่ พระบำราศนราดูร ผู้ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์การรับราชการสาธารณสุขในสมัยราชาธิปไตยมาก่อน ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการสาธารณสุขเอาไว้ในบทความเรื่องประวัติกระทรวงสาธารณสุขว่า
"หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วการบริหารงานของกรมสาธารณสุขก็ได้ดำเนินการตามโครงการและนโยบายเดิมแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง…รัฐบาลเห็นจำเป็นยิ่งที่ต้องสร้างโรงพยาบาลเพื่อช่วยในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น"[3]
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาความไม่สงบของการเมืองในระยะประมาณ 1 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความชะงักงันในการพัฒนาระบบสุขภาพของประชาชน[4] แต่หลังจากปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นไป การบริหารงานของรัฐบาลคณะราษฎรที่มีนายปรีดี_พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีอธิบดีกรมสาธารณสุขที่เป็นแพทย์คนแรก คือ พระยาบริรักษ์เวชชการ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ คือการขยายการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยการวางโครงการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลา ชั้น 2 ในส่วนภูมิภาคขึ้นให้ครบทุกจังหวัด[5]
การดำเนินการจัดตั้งสภาการสาธารณสุขแม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะไม่ได้รับการเอาใจใส่และไม่เกิดการดำเนินการใดขึ้นจนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีบุคคลหลายคนได้เข้าร่วมและรับทราบแนวคิดของการจัดตั้งหน่วยงานมาทำหน้าที่ด้านนโยบายสาธารณสุขในภาพรวมและส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานอื่น ๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวทางสำคัญที่นำไปสู่การตั้งกระทรวงสาธารณสุขในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมีบุคลากรในกรมสาธารณสุขหลายคนได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้มาทำหน้าที่คล้ายกับสภาการสาธารณสุข คือ เป็นกรรมการจัดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของการสาธารณสุข ตามคำสั่งตั้งกรรมการพิจารณาการสาธารณสุขและการแพทย์ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2477 มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวด้วยนโยบาย หรือเสนอโครงการเพื่อแนะนำรัฐบาล[6]
ต่อมากรรมการชุดนี้ได้เสนอแนวทางบูรณาการงานสาธารณสุขของชาติให้เป็นหน่วยงานที่เป็นเอกภาพ มีหน่วยงานที่ประสานงานทำงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด จนเป็นแนวทางในการตั้งกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหน่วยงานหลักใหญ่ที่ควบคุมดูแลงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศในที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นให้คณะกรรมการนี้พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการเป็นหลัก
ส่วนนโยบายสร้างโรงพยาบาลในหัวเมืองเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2476-2481) กล่าวคือ ได้ออกพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2477 อันนับว่าเป็นรากฐานสำคัญของการสาธารณสุขในยุคนี้ เพราะได้มีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นทั่วประเทศแทนสุขาภิบาล ซึ่งเป็นสถาบันส่งเสริมการสาธารณสุขตามหัวเมืองชนบท ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้กรมสาธารณสุขจัดทำโครงสร้างโรงพยาบาลขึ้นทุกจังหวัด ในขั้นต้นให้จัดสร้างตามชายแดนก่อน เพื่อแสดงเกียรติภูมิแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นในช่วงแรก คือที่จังหวัด อุบลราชธานี หนองคาย และนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับอินโดจีนของฝรั่งเศส[7] และต่อมาก็ขยายไปสู่จังหวัดชายแดนอื่น ๆ
ในเอกสารชั้นต้นที่เป็นเอกสารราชการในโครงการขยายการแพทย์ไปหัวเมืองได้เรียกการสร้างโรงพยาบาลชายแดนตอนนี้ว่าเพื่อศักดิ์ศรีแต่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า prestige ทับศัพท์แบบไม่แปล นโยบายสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดโดยกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ โดยมีความมุ่งหมายจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกจังหวัดภายใน 4 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เป็นต้นไป ให้ครบทุกจังหวัดในปี 2480 การสร้างได้เฉลี่ยเป็นภาค ๆ และเริ่มจากชายเขตแดนเข้ามาก่อน เพราะเกี่ยวกับ Prestige (ศักดิ์ศรี) ของชาติ โดยโรงพยาบาลที่จะสร้างขึ้นนั้น มี 2 ขนาด คือ[8]
1. ขนาดกลาง - กำหนดให้มีเตียงรับคนไข้ได้ตั้งแต่ประมาณ 35-150 เตียง ประมาณค่าก่อสร้างและเครื่องใช้เครื่องมือแห่งละ 95,800 บาท
2. ขนาดเล็ก - กําหนดให้มีเตียงรับคนไข้ได้ตั้งแต่ 25 ถึง 50 เตียง ประมาณค่าก่อสร้างและเครื่องใช้เครื่องมือแห่งละ 56,200 บาท
…แผนงานตามโครงการโรงพยาบาลหัวเมือง
- พ.ศ. 2477 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 2 แห่ง (อุบลราชธานี / นครพนม) ขนาดเล็ก 8 แห่ง (หนองคาย / นราธิวาส / สกลนคร / ปัตตานี / ยะลา / จันทบุรี / ตาก / สตูล)
- พ.ศ. 2478 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 3 แห่ง (อุดรธานี / เชียงราย / มหาสารคาม) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (น่าน / ชัยภูมิ / แม่ฮ่องสอน / บุรีรัมย์ / กระบี่ / พังงา / ปราจีนบุรี / ตรัง / สุรินทร์ / กําแพงเพชร / เพชรบูรณ์ / พัทลุง / เลย)
- พ.ศ. 2479 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 3 แห่ง (ขอนแก่น / นครศรีธรรมราช / ร้อยเอ็ด) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (ลําปาง / ตราด / ระยอง / ชุมพร / สุราษฎร์ธานี / อุทัยธานี / ชัยนาท / ขุขันธ์ / อุตรดิตถ์ / นครนายก / พิจิตร / สวรรคโลก / ลําพูน)
- พ.ศ. 2480 สร้างโรงพยาบาลขนาดกลาง 4 แห่ง (พิษณุโลก / ฉะเชิงเทรา / แพร่ / ราชบุรี) ขนาดเล็ก 13 แห่ง (ลพบุรี / ประจวบคีรีขันธ์ / สมุทรสงคราม / สมุทรสาคร/ นครปฐม / สิงห์บุรี / สระบุรี / ปทุมธานี / อ่างทอง / เพชรบุรี / กาญจนบุรี / นนทบุรี / สมุทรปราการ) รวมเป็นเงินที่ต้องจ่าย ทั้งหมด 4,051,000 บาท[9]
ข้อที่น่าสังเกต คือ กำหนดการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดกลางใน พ.ศ. 2477 เน้นไปที่จังหวัดชายแดนที่ติดอาณานิคมฝรั่งเศสทั้งหมด คือ จังหวัดอุบลราชธานี และนครพนม ส่วนขนาดเล็กนั้นมี จังหวัดหนองคาย จันทบุรี ที่ติดอาณานิคมฝร่งเศส ส่วนตาก นราธิวาส ยะลา สตูล ติดอาณานิคมอังกฤษ ยกเว้น ปัตตานี และสกลนครที่ไม่ติดชายแดนแต่ใกล้ชายแดน ส่วนในปี 2478 มีจังหวัดเชียงรายที่เป็นขนาดกลาง ส่วนขนาดเล็กมี น่าน สุรินทร์ ปราจีนบุรี และเลยที่ติดชายแดนอาณานิคมฝรั่งเศส ในขณะที่แม่ฮ่องสอนติดอาณานิคมอังกฤษ ทั้งยังพบว่ากรณีเชียงรายกว่าจะได้เริ่มสร้างโรงพยาบาลล่าช้าไป 2 ปี เพราะขาดแคลนงบประมาณจากรัฐบาล
นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ทำชีวประวัติว่าในสมัยนั้นเรียกการสร้างโรงพยาบาลที่ชายแดนเพื่อศักดิ์ศรีนี้ว่า “อวดธง” เริ่มแรกได้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดชายแดนลาว เพื่ออวดธงไทยแก่พี่น้องชาวลาว เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยยุคประชาธิปไตยเอาใจใส่ ห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนไทยในท้องที่ห่างไกล รวมทั้งพี่น้องเพื่อนบ้านตามชายแดนด้วย จังหวัดชายแดนที่สร้างโรงพยาบาลขึ้นตามนโยบายอวดธงในยุคแรก ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย และนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดต่อกับอินโดจีนของฝรั่งเศส โรงพยาบาลเหล่านี้สร้างขึ้นโดยงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้เพื่อขยายการเทศบาล (งบประมาณนี้เป็นของกรมมหาดไทย) แต่ให้กรมสาธารณสุขนำมาใช้ในการสร้างโรงพยาบาล การสร้างโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคได้ดำเนินเรื่อยมาพร้อม ๆ กับ จัดให้มีสุขศาลาขึ้นโดยแบ่งเป็นสุขศาลา ชั้น 1 กับสุขศาลา ชั้น 2[10]
ในปี 2480 หลังจากพระพนมนครานุรักษ์สร้างโรงพยาบาลอวดธงที่จังหวัดนครพนมเสร็จ ก็ได้ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็ได้เริ่มสร้างโรงพยาบาลเชียงรายเพื่อเป็นการ “อวดธง” ต่อเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมทั้งพม่าของอังกฤษและลาวของฝรั่งเศสไปพร้อมกัน โดยพระพนมนครานุรักษ์ท่านเคยเป็นปลัดจังหวัดเชียงรายมาก่อนจึงสนิทสนมคุ้นเคยกับคหบดี พ่อค้า ประชาชนรวม ทั้งชาวต่างประเทศที่เข้ามาประกอบกิจการป่าไม้และยาสูบในจังหวัดนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลด้วยการหาเงินงบประมาณจากเงินที่พ่อค้าประชาชนในจังหวัดร่วมกันบริจาคโดยไม่พึ่งงบประมาณจากทางราชการเลยจนสร้างโรงพยาบาลสำเร็จ สามารถเปิดดำเนินการได้ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2480 และได้ย้าย นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกรมสาธารณสุขที่สร้างเพื่ออวดธงแห่งนี้[11] ในด้านบุคลากรด้านการแพทย์และการสาธารณสุขก็ได้ตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลกันอย่างเต็มกำลังในขบวนการขยายการบริการทางการแพทย์ไปสู่ชนบทของประเทศครั้งนี้
แต่ที่น่าสนใจคือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือ ลงวันที่ 30 เมษายน 2489 ก็ยังมีการอ้างถึงโครงการสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัด แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “การบูรณะการพยาบาล” เพราะมีเรื่องการปรับปรุงโรงพยาบาลที่เสียหายพร้อมกันด้วย โดยสรุปว่าขณะนั้นยังมีจังหวัดที่ไม่มีโรงพยาบาลอีก 37 จังหวัด จึงควรสร้างโรงพยาบาลขนาดกลางที่รับผู้ป่วยได้ 50 เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยมีงบประมาณต่อแห่ง จำนวน 1,790,448 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 66,246,576 บาท รวมทั้งบูรณะและสร้างโรงพยาบาลเฉพาะในต่างจังหวัดตามความจำเป็นเพราะงบประมาณจำกัด ตามแผนจะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดในเวลา 4 ปี และสร้างตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยยังให้ยึดหลักการ “เริ่มจากชายเขตต์แดนเข้ามาหาศูนย์กลางของประเทศ เพราะเกี่ยวแก่ prestige ของชาติ”[12] อยู่เช่นเดิม ซึ่งก็คือยังจะสร้างตามชายแดนเป็นการอวดธงกับเพื่อนบ้านที่กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชหลังสงครามกันอยู่
บรรณานุกรม
พระบำราศนราดูร. 2500. “ประวัติกระทรวงสาธารณสุข.” ใน อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข 15 ปี พ.ศ. 2485-2500. พระนคร: กระทรวงสาธารณสุข.
เพ็ญศรี กวีวงศ์ประเสริฐ. 2528. บทบาทของรัฐต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน (พ.ศ. 2325-หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475). วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
สันติสุข โสภณสิริ. 2537. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ชีวประวัติ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
เชิงอรรถ
[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2540, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, น. 292.
[2] กรุณาดูรายละเอียดในนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด ใน ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, ผู้รวบรวม, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (กรุงเทพฯ: รัฐกิจเสรี, 2520). และ รอง ศยามานนท์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2520), หน้า 73.
[3] พระบำราศนราดูร, 2500, “ประวัติกระทรวงสาธารณสุข,” ใน อนุสรณ์ กระทรวงสาธารณสุข 15 ปี พ.ศ. 2485-2500, พระนคร: กระทรวงสาธารณสุข, หน้า 43.
[4] เพ็ญศรี กวีวงศ์ประเสริฐ, 2528, บทบาทของรัฐต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน (พ.ศ. 2325-หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475), วิทยานิพนธ์สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, น.179.
[5] เพิ่งอ้าง, หน้า 181. และดูรายละเอียดในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลพระยาพหลในวันที่ 22 กันยายน 2477 ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยข้อ 6 ที่ว่าด้วยการสาธารณสุข ใน ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, ผู้รวบรวม, 2520, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี, กรุงเทพฯ: รัฐกิจเสรี,
[6]สจช. (สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ), (2) ศธ. 26/891. คณะรัฐมนตรีตั้งกรรมการพิจารณาการสาธารณสุขและการแพทย์ (21 ก.ค. - 20 ต.ค. 2477).
[7] พระบำราศนราดูร, “ประวัติกระทรวงสาธารณสุข,” ใน อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข 15 ปี พ.ศ. 2485-2500 (พระนคร: กระทรวงสาธารณสุข, 2500), หน้า 44.
[8]สจช., เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.
[9] สจช., เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.
[10] สันติสุข โสภณสิริ, 2549, เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว, นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.), น. 66-67.
[11] เรื่องเดียวกัน, น. 66-84.
[12] สจช., เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ม (2) สร 0201/211 เรื่อง โครงการสร้างโรงพยาบาลหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย.