นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และวรัญญา เพ็ชรคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งที่สำคัญของวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ท่านเริ่มชีวิตการเป็นแพทย์ด้วยการรับราชการหัวเมืองก่อนการตั้งกระทรวงสาธารณสุขหลายปี ด้วยประสบการณ์ยาวนานถึง 16 ปี ในฐานะแพทย์ชนบท ทำให้ท่านสามารถเห็นปัญหาต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ และท่านได้นำประสบการณ์จากการทำงานเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญต่อการทำงานของท่านในฐานะผู้บริหารทางการเมืองระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการสาธารณสุขของไทยตราบจนทุกวันนี้

วัยเด็ก

          นายแพทย์เสม พริ้มพวงแก้ว ถือกำเนิด เมื่อวันพุธ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ที่บ้านแถว ๆ ถนนรองเมือง ซอย 4 (ปัจจุบันเรียกซอย 1) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ทั้งหมด 5 คน บิดาชื่อนายโสม มารดาชื่อนางจ้อย เมื่อแรกเกิดได้รับการตั้งชื่อให้ว่า “เกษม” เพื่อเป็นเคล็ดแก้ความเป็นเด็กขึ้โรค แต่ต่อมามารดาได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “เสม” ซึ่งมาจากคำว่า “เสมา” (เส-มา) อันหมายถึงเครื่องหมายบอกเขตแดนอุโบสถ เพื่อความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ในเวลาประกอบสังฆกรรม

          บิดาเป็นคนไทยในสายสกุลบางช้าง ชาวสมุทรสงคราม รับราชการเป็นเสมียนตราฝ่ายมหาดไทย แต่เมื่อนายแพทย์เสมอายุเพียง 8 เดือน บิดาได้เสียชีวิตลงเพราะไข้พิษสุนัขบ้า จึงอยู่ในความดูแลของมารดาตั้งแต่เล็ก ๆ เชื้อแถวทางฝ่ายมารดาเท่าที่ปรากฏหลักฐาน สืบไปถึงบรรพบุรุษชื่อ “ขรัวยายมา” ซึ่งมีศักดิ์เป็นยายของมารดา ขรัวยายมาแต่งงานกับคนในราชนิกูลสกุลบุนนาค เมื่อสามีเสียชีวิตเป็นหม้ายตั้งแต่ยังสาว ก็ได้รับการชักนำให้เข้ามาเป็นข้าหลวงในวังทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาล สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 สอนรำละคร สอนสวดมนต์ และหุงข้าว มารดาจึงได้เป็นข้าหลวงในวังตามขรัวยายมา เมื่อมารดาแต่งงาน ก็ออกจากวังหลวงมาอยู่บ้านที่ถนนรองเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของครอบครัวใหญ่ฝ่ายมารดา[1]

การศึกษา

          ในระดับปฐมศึกษาเรียนที่โรงเรียนวัดบรมนิวาส และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 8 ในระหว่างเรียนนายแพทย์เสมได้รับทุนการเรียนประเภทหมั่นเรียนมาโดยตลอดเมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ นายแพทย์เสมได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยท่านได้เข้าศึกษาในหลักสูตรแพทย์ปริญญาตามมาตรฐานสากลของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลออร์ (เริ่มมาตั้งแต่ปี 2466) นักศึกษาที่สำเร็จปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต ตามหลักสูตรใหม่ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 8 มีจำนวนทั้งหมด 141 คน โดยนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรุ่นที่ 8 มีนักศึกษาจบการศึกษาในรุ่นเดียวกันนี้ 27 คน[2]

          ช่วงการศึกษาแพทยศาสตร์อยู่นั้น ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ฐานะครอบครัวของนายแพทย์เสมเริ่มประสบความลำบากเพราะครอบครัวมารดาของท่านต้องพึ่งพาเจ้านาย เมื่อเจ้านายได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครอบครัวของท่านจึงได้รับความเดือดร้อนไปด้วย มารดาของท่านจึงถูกดุลออกจากวัง เป็นข้าหลวงเรือนนอกทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง นายแพทย์เสมเกือบจะต้องออกจากการเรียนกลางคัน ท่านจึงดิ้นรนขวนขวายเรียนต่อด้วยทุนรอนอันมีจำกัดของมารดาและเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักศึกษาแพทย์เดือนละ 15 บาท จนในที่สุดท่านจบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ ปี พ.ศ. 2478[3]

          หลังจบการศึกษาแพทย์ปริญญาแล้วและในระหว่างการทำงานเป็นแพทย์ในชนบท ท่านได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้ไปร่วมประชุมและดูงานในประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และยังได้ศึกษาด้านทันตกรรมเพิ่มเติมจาก ศาสตราจารย์ สี สิริสิงห์ และเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในชนบทอีกด้วย[4]

ประวัติการทำงาน

          ด้วยค่านิยมของบัณฑิตแพทย์ในเวลานั้น ส่วนใหญ่เข้ารับราชการในกระทรวงทบวงกรมที่มีหน่วยงานแพทย์ ได้แก่ กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมแพทย์ทหารเรือ นายแพทย์เสม ได้เข้ารับราชการในกรมสาธารณสุข สังกัดกองสุขภาพ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2478 ขณะนั้น พระยาบริรักษ์เวชชการ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี คนที่ 3 นับตั้งแต่กรมนี้สถาปานาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2461

          ในสมัยนั้น เมื่อเข้ารับราชการด้านการแพทย์ในกรมสาธารณสุขแล้ว มีทางเลือก 2 ทาง คือ เลือกประจำในกรุงเทพฯ หรือไปเป็นแพทย์ในชนบท นายแพทย์เสมเลือกไปเป็นแพทย์ชนบท เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กสมัยท่านเล็ก ๆ มารดาเคยรับใช้อยู่ในวังสระปทุม ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาประทับอยู่ ได้เห็นพระองค์ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์แจกจ่ายช่วยเหลือสงเคราะห์แก่ชาวบ้านเวลาเดือดร้อน คุณแม่ของท่านยังเป็นคนสนใจธรรมะ ใจบุญสุนทาน อบรมให้เป็นผู้มีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น ตรงข้ามบ้านของท่านที่อยู่ถนนรองเมืองซึ่งเป็นบ้านของปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็เห็นชาวบ้านทุกข์ยากมาร้องเรียนกันบ่อย ๆ นอกจากนั้นยังได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของพวกรุ่นพี่ รุ่นที่ 1 ที่ไปทำงานอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย[5]

จัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

          งานแรกของนายแพทย์เสมได้ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด โดยงานแรก คือ ไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ[6] ขึ้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจนโรคสงบลง ตอนไปถึงได้ไปแจ้งกับนายอำเภอว่า ทางกรมสาธารณสุขให้มาตั้งโรงพยาบาลเอกเทศเพื่อป้องกันอหิวาต์ นายอำเภอยังไม่เข้าใจว่าโรงพยาบาลเอกเทศหมายถึงอะไร ก็ได้ยกศาลาวัดที่อยู่ปากคลองอัมพวันให้เป็นที่ปฏิบัติงาน ระยะแรกชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่รู้ว่าโรคอหิวาสามารถรักษาได้ ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการเลยแม้แต่คนเดียว อยู่มาวันหนึ่ง มีคนไข้ชื่อนายผ่องถูกหามเข้ามารักษาเป็นคนแรก ท่านได้ให้น้ำเกลือจนมีอาการดีขึ้น ปรากฏว่านายผ่องเป็นหัวหน้านักเลงในอำเภออัมพวาและช่วยไปบอกเล่าเรื่องการรักษาของตนให้กับชาวบ้านคนอื่น ๆ ทราบ คนอื่น ๆ จึงกล้ามารักษา ทำให้สามารถคุมสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์เอาไว้ได้[7] อีกทั้งในระหว่างการรักษาผู้ป่วยซึ่งมีจำนวนมาก น้ำเกลือที่รับมาจากตัวจังหวัดไม่เพียงพอ คนไข้แต่ละรายใช้น้ำเกลือ 3-4 ลิตร นายแพทย์เสมจึงคิดทำน้ำเกลือขึ้นใช้เอง โดยท่านได้ความคิดมาจากพวกต้มเหล้าเถื่อน เนื่องจากตามหัวบ้านหัวเมืองแต่ก่อนมีการต้มเหล้าเถื่อนกันมาก เครื่องต้มเหล้าของพวกเขาก็คือเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์นี่เอง ท่านได้เอาเครื่องกลั่นเหล้าเถื่อนมากลั่นน้ำกลั่น เอาน้ำฝนมากลั่นเป็นน้ำบริสุทธิ์ ผสมกับเกลือ น้ำตาล เป็น Hypertonic Saline ให้คนป่วย ผสมกันบนศาลาวัด ไม่มีห้องแล็บใด ๆ แต่ก็ได้ผลที่ดีสามารถช่วยชีวิตชาวบ้านไว้ได้[8]

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์

          ในปี พ.ศ. 2479 นายแพทย์เสมย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์เป็นเวลา 2 ปี และได้เริ่มงานศัลยกรรมและงานทันตกรรมเป็นครั้งแรกในชนบท การทำงานที่นี่นายแพทย์เสมต้องทำหน้าที่ทุกอย่างในโรงพยาบาล คือ เป็นทั้งแพทย์และพยาบาลไปพร้อม ๆ กัน จะมาทำหน้าที่แพทย์เฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเจ็บป่วยของชาวบ้านในท้องถิ่น จากการที่ท่านได้ศึกษาด้านทันตกรรมเพิ่มเติมจาก ศาสตราจารย์ สี สิริสิงห์ ไว้ก่อนนี้ ก็ได้นำวิชามาใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการฝึกเป็นหมอศัลยกรรมและหมอสูตินารีด้วย เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือคนป่วยได้อย่างทันท่วงที

          ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ นายแพทย์เสมได้เริ่มผลิต“ผู้ช่วย” เข้ามาทำหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ด้วยการนำลูกหลานของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ในละแวกโรงพยาบาลมาฝึกหัดให้ช่วยงานด้านต่าง ๆ ในโรงพยาบาล อีกทั้งโรงพยาบาลในต่างจังหวัดยังขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษามาด้วยอาการเพียบหนักแล้ว ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยสูง ท่านพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการคิดประดิษฐ์เครื่องมือช่วยชีวิตจากวัสดุง่าย ๆ เช่น ประดิษฐ์เครื่องมือระบายเลือดออกจากปอดด้วยเข็ม Trocar เพื่อช่วยคนไข้ที่ถูกยิงที่ปอดจนมีเลือดคั่งในปอดมากและหายใจไม่ได้[9]

จัดตั้ง “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์”[10]

          การจัดตั้งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในปี 2480 เป็นการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดตามเขตชายแดนอีกแห่งหนึ่งตามนโยบาย “อวดธง”[11] ของรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งสร้างโรงพยาบาลในภาคอีสานของไทย พระพนมนครานุรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาล โดยเหตุที่ท่านเคยเป็นปลัดจังหวัดเชียงรายมาก่อน จึงรู้จักคหบดี พ่อค้า และประชาชน รวมทั้งชาวต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อเมริกัน และฝรั่งเศส ที่มาประกอบกิจการป่าไม้และยาสูบในจังหวัดนี้ จึงได้ดำริจะสร้างโรงพยาบาลด้วยเงินบริจาคของคนในจังหวัด โดยไม่ของบประมาณจากรัฐบาลเลย ซึ่งการสร้างโรงพยาบาลเชียงรายตรงกับช่วงที่นายแพทย์เสมย้ายไปประจำที่โรงพยาบาลเชียงรายพอดี การทำงานที่นี่นับเป็นช่วงชีวิตที่สมบุกสมบันและลำบากที่สุดในการทำงาน ท่านได้ร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด คือ
พระพนมนครานุรักษ์ และกรรมการจังหวัด รวมทั้งธรรมการจังหวัด คือ บ. บุญค้ำ เพื่อนร่วมงานรุ่นบุกเบิก และพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งใช้เวลามากกว่า 10 ปี โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” เพราะสร้างโดยเงินบริจาคของประชาชนทั้งสิ้น

          เนื่องจากเชียงรายเมื่อ 70 ปี ก่อนนั้นขาดแคลนนายแพทย์มาก บ้านเมืองและโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม ข้าราชการ โดยเฉพาะคณะกรมการจังหวัดในสมัยนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 นายแพทย์เสมต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นนายแพทย์ที่ทุกคนต้องพึ่งพา แม้กระนั้นท่านก็ยังสามารถวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้มากพอสมควร ดังนี้

          - ทำหน้าที่เป็นแพทย์ผู้ปกครองโรงพยาบาลและผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

          - ร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด สร้างนิคมโรคเรื้อนแม่ลาว ตำบลธารทอง อำเภอพาน ด้วยที่ดิน 1,000 ไร่

          - เริ่มการรักษาโรคทางศัลยกรรมกับโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคคอพอก ซึ่งเป็นกันถึง ร้อยละ 50 ของประชากร

          - เริ่มการป้องกันโรคคอพอกในจังหวัดเชียงราย โดยการให้ไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และในเด็ก ทำการสำรวจไอโอดีนในน้ำ ผัก และอาหาร และสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้านเพื่อการให้ไอโอดีน

          - สร้างเจ้าหน้าที่เสนารักษ์จากกองทัพให้เป็นผู้ช่วยในการผสมยาต่าง ๆ เพราะไม่มีเภสัชกร รวมทั้งสร้างให้เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยในห้องผ่าตัด และในการเป็นผู้ให้ยาระงับความรู้สึกด้วยการดมทางจมูก

          - จัดสร้างตึกสูติกรรม นรีเวชกรรม ให้แม่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย

          - สร้างตึก พนม นครานุรักษ์ สำหรับเป็นอาคารสงฆ์อาพาธแยกจากประชาชน

          - เริ่มการให้บริการทางทันตกรรมในชนบทแก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป

          - ชักชวนคหบดีในตลาดบริจาคเงินสร้างตึกผ่าตัดโดยเฉพาะ รวมทั้งบริษัทยาสูบอังกฤษ-อเมริกัน ที่ให้ทุนสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษและผู้ป่วยทั่วไป

          - สร้างอาคารสำหรับรังสีวิทยาด้วยเงินทุนของโรงพยาบาลและได้ขอให้เทศบาลเมืองเชียงรายสนับสนุนสร้างอาคารครัว โรงซักฟอก และสถานที่เก็บศพ

          - พ.ศ. 2493 ได้จัดตั้งธนาคารเลือดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย

          - ได้จัดทำสถานีอนามัยที่มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วไปทำหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเป็นครั้งแรกที่กิ่งอำเภอแม่สาย อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ และอำเภอพะเยา

          - จัดให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลออกเยี่ยมประชาชนในวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ

กิจกรรมทางการแพทย์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2[12]

          นอกจากการปฏิบัติราชการยามปกติแล้ว ในช่วงสงครามอินโดจีน นายแพทย์เสมได้ร่วมทำงานในช่วงสงครามอินโดจีน ดังนี้

          - ปฏิบัติการสงครามเรียกร้องดินแดนคืน พ.ศ. 2483 มีการทดลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยชีวิตผู้ขาดน้ำในป่าลึกระหว่างสงครามโลกครั้งที่_2

          - มีการศึกษาต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis) ในการรักษาโรคไข้จับสั่นในทหารและพลเรือน

          - การศึกษาต้นโมกหลวง (Holarrhena pubescens) ในการรักษาโรคบิดมีตัว (amoebic dysentery) ในทหารและพลเรือน

          - การเตรียมควินินไฮโดรคลอไรด์รักษาไข้จับสั่นขึ้นสมอง

          - การเตรียมมอร์ฟีน (morphine) ใช้ในโรงพยาบาล

          ในช่วงเวลาที่นายแพทย์เสมปฏิบัติงานอยู่ที่เชียงรายเป็นระยะเวลาถึง 14 ปี ท่านเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงรายอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ความมุมานะและความคิดริเริ่มต่าง ๆ ทำให้เชียงรายมีความเจริญด้านการแพทย์มากขึ้น จึงนับเป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่ง

ย้ายเข้ากรุงเทพฯ: การปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง

          ในช่วงปี พ.ศ. 2494-2500 กรมการแพทย์ ได้เสนอให้เร่งสร้างโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก และวิทยาลัยพยาบาลผดุงครรภ์ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข มีโอกาสได้รับบริการทั่วหน้าได้ และในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ออกคำสั่งย้ายนายแพทย์เสมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิงหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลราชวิถี) ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ท่านมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะบริหารโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของประชากรไทย ที่มองเห็นว่าชาติจะเข้มแข็งได้ สุขภาพของประชาชนจะต้องเข้มแข็ง และการอนามัยแม่และเด็กจะต้องดี ท่านมีบทบาทในการพัฒนาโรงพยาบาลหญิงแห่งนี้จนสามารถขยายจาก 75 เตียง เป็น 165 เตียง ในระยะเพียง 6 เดือน และพัฒนางานในด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลจนเป็นที่ยอมรับและนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแพทย์ของรัฐ ที่โรงพยาบาลเฉพาะทางซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ สามารถขยายบริการการรักษาพยาบาลได้รวดเร็ว[13]

          ในระยะเวลาเพียง 6 ปี โรงพยาบาลหญิงในความรับผิดชอบของนายแพทย์เสมสามารถขยายแผนกได้ถึง 24 แผนก ทัดเทียมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่อื่น ๆ ของรัฐในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีแผนกพิเศษหลายแผนกที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโรงพยาบาลหญิง ซึ่งพัฒนาขึ้นมาอย่างสอดคล้องกับการขยายบริการให้แก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ ได้แก่

          แผนกโรคเด็ก ในปี พ.ศ. 2496 รัฐบาลดำริเห็นว่าผู้ป่วยเด็กมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ควรแยกผู้ป่วยเด็กจากผู้ป่วยสตรี เพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาพยาบาลดียิ่งขึ้น จึงได้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลเด็กทางด้านทิศตะวันตกของโรงพยาบาลหญิง โดยอยู่ภายใต้การบริหารดูแลของผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ในปีแรกที่เปิดดำเนินการ คนไข้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 2 เท่าของคนไข้เด็กที่เคยรักษาแต่เดิม ในวันหนึ่ง ๆ จะมีเด็กมารักการรักษาประมาณ 400 คน แต่ในเวลาที่มีโรคระบาด เด็กจะป่วยเพิ่มมากขึ้น 600-700 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 โรงพยาบาลเด็กได้ปรับปรุงขยายกิจการ ออกไปเพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยจนถึงอายุ 15 ปี ทั้งชายและหญิง[14]

          การผลิตพยาบาลไปอยู่ประจำตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แนวคิดสำคัญจากนายแพทย์เสมประการหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิตพยาบาลคือ ก็คือท่านมีความคิดว่า แทนที่จะเปิดสอบรับคนเข้ามาเรียนพยาบาลแล้วกระจายส่งไปตามแบบที่ ก.พ. ใช้แบบในปัจจุบัน สมัยนั้นใช้วิธีเลือก “เยาวชนสตรี” จากแต่ละจังหวัดเข้ามาเรียนแล้วส่งกลับไปทำงานในจังหวัดภูมิลำเนา ทำให้ไม่ต้องห่างไกลจากพ่อแม่พี่น้อง ประหยัดค่างบประมาณค่าเช่าบ้านได้มากมาย ที่สำคัญยังช่วยให้ไม่มีปัญหา “ขาดแคลนพยาบาลในชนบท” อย่างที่เกิดกับบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ มาจนทุกวันนี้[15]

          การตั้งแผนกธนาคารเลือดและน้ำเหลือง นายแพทย์เสมมีความสนใจในเรื่องถ่ายเลือดเป็นพิเศษ ในคราวที่ได้ไปศึกษาดูงานการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาเรื่องการถ่ายเลือด (Transfusion) ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังใหม่มากสำหรับวงการแพทย์ของไทยเวลานั้น เมื่อโรงพยาบาลหญิงเริ่มเปิดเป็นทางการในปี 2494 ท่านได้ทำการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วย จำนวน 183 ราย อย่างได้ผลดี ในปีต่อ ๆ มามีผู้ป่วยรับการถ่ายเลือกจากโรงพยาบาลหญิงเพิ่มขึ้นจำนวนหลายเท่าตัว ดังนั้นในปี 2500 จึงได้เปิดแผนกธนาคารเลือดและน้ำเหลืองขึ้น เพื่อบริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก นอกจากนี้ยังส่งเลือดและน้ำเหลืองไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคของกรมการแพทย์ด้วย[16]

          การพัฒนาแผนกพัสดุและซักฟอก นายแพทย์เสมได้พัฒนาให้มีโรงซักฟอกและโรงครัวแบบทันสมัยที่สุดด้วยเครื่องจักรกลและระบบไอน้ำซึ่งไม่มีโรงพยาบาลใดในกรุงเทพฯ เคยมีเครื่องจักรกลชนิดนี้มาก่อน[17]

          การพัฒนาแผนกทะเบียนและสถิติ เป็นงานแขนงหนึ่งของโรงพยาบาลหญิงที่ได้ปรับปรุงก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา นายแพทย์เสมได้ติดต่อขอผู้เชี่ยวชาญทางสถิติจากองค์การอนามัยโลกทำให้การประมวลสถิติการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงจากรายงานคนไข้ตลอดจนการเก็บบันทึกและรวบรวมรายงานมีหลักเกณฑ์ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก นับเป็นงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นายแพทย์เสมได้บุกเบิกไว้ให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ[18] ดัง นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวชมท่านไว้ว่า ระบบสถิติที่โรงพยาบาลหญิงเป็นระบบที่เยี่ยม เพราะอาจารย์เสมไปวางระบบไว้ มีโรงพยาบาลอื่น ๆ ไปดูงานกันเยอะ[19]

ผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งโรงเรียนเทคนิคการแพทย์

          นายแพทย์เสมมีความคิดริเริ่มในการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ ในช่วงที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ท่านมีความดำริว่า การแพทย์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรทางเทคนิคการแพทย์ ที่จะช่วยทำการตรวจสอบทางห้องทดลอง ท่านจึงทำเรื่องเสนอกรมการแพทย์ เพื่อขอความเห็นชอบในการเจรจากับทางยูซอมให้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาช่วย นั่นก็คือ นายแพทย์พริตชาร์ด (Prof. Pritchard) เพื่อมาช่วยบุกเบิกงานทางด้านเทคนิคการแพทย์ขึ้นในเมืองไทย เวลานั้นยังเป็นในปี พ.ศ. 2497 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ยังสังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการก่อตั้งโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ภายหลังกลายเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มี นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตร เป็นคณบดีคนแรก โดยมี ศาสตราจารย์พริตชาร์ด เป็นผู้ช่วยสำคัญ และเปิดสอนวิชาเทคนิคการแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2497[20]

ผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยเรื่องธาลัสซีเมีย (Thalasemia)

          โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติชนิดหนึ่งในเม็ดเลือดแดง เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบกันมากในหมู่ชาวอีกสาน เกี่ยวกับการศึกษาโรคนี้ กล่าวกันว่า นายแพทย์เสมเป็นบุคคลแรก ๆ ในวงการแพทย์สาธารณสุขของไทยที่สนใจเรื่องโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งนายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์รางวัลแมกไซไซ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ผู้ทำวิจัยเรื่องธาลัสซีเมีย ได้ให้เกียรติและกล่าวถึงนายแพทย์เสมไว้ว่า

          “การวิจัยเรื่องธาลัสซีเมีย แต่ก่อนไม่ค่อยมีใครทำ ตอนหลังที่ทำกันมาก มีประวัติเชื่อมโยงกับอาจารย์เสม ท่านเล่าให้ฟังภายหลังว่า ตอนอยู่เชียงรายมีคนม้ามโตเยอะ ไม่รู้เป็นโรคอะไร จึงติดต่อให้ทางยูซอม ให้ส่งแพทย์ผู้มีชื่อเสียงชื่อ วินโทรบ (Winthrobe) แต่วินโทรบไม่มา จึงส่งมิสมินนิค (Miss Minnic) จากเซ็นหลุยมาแทน เท่ากับเป็นการเริ่มต้นวิจัยธาลัสซีเมีย โดยร่วมกับอาจารย์ภาควิชาโลหิตวิทยาที่ศิริราช 2 ท่าน คือ อาจารย์สุภา ณ นคร และ อาจารย์สุดสาคร ตู้จินดา เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนผมเรียนจบแพทย์ งานวิจัยเรื่องนี้ได้พัฒนาไปใหญ่โต อาจารย์เสมท่านเป็นคนรอบรู้ ท่านยังรู้เรื่องการถ่ายเลือด”[21]

การเป็นแพทย์เวชปฏิบัติส่วนตัว

          ด้วยผลกระทบทางการเมืองบางประการ นายแพทย์เสมได้ลาออกจากราชการก่อนการเกษียณ 8 ปี ออกมาทำงานส่วนตัวเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2516) โดยมีสำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 103 ถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 5 และซอย 7 โดยแบ่งพื้นที่ชั้นบนให้บุตรชายที่เป็นสถาปนิกใช้เป็นสำนักงานออกแบบ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในชื่อของ “บริษัทดีไซน์ 103” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน และในช่วงนี้เอง ท่านก็ยังได้ใช้ชีวิตในปัจฉิมวัยทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา และการเมือง

งานการเมือง

          นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาลของ นายสัญญา_ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์_ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลของ พลเอกเปรม_ติณสูลานนท์

          นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000) สนับสนุนหลัก 10 ประการ ของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543 และมีการจัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้เป็นหลัก

เกียรติคุณ

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[22]

นายแพทย์เสม ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่

  • แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • สังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ[23]

  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  • เหรียญชัยสมรภูมิ
  • เหรียญจักรพรรดิมาลา
  • เหรียญอาสากาชาดชั้นที่ 1
  • เหรียญราชวัลลภ

รางวัลต่าง ๆ[24]

  • พ.ศ. 2526 - พ่อตัวอย่าง
  • พ.ศ. 2532 - เหรียญ Health for All จาก W.H.O.
  • พ.ศ. 2534 - โล่ Asia Pacific Consortium as Physician Teacher Innovator
  • พ.ศ. 2534 - บุคคลดีเด่นแห่งชาติด้านพัฒนาสังคม
  • พ.ศ. 2535 - บุคคลดีเด่นด้านสาธารณสุข และสมาชิกกิตติมศักดิ์สโมสรโรตารี่แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2540 - รางวัลประกาศเกียรติคุณ “คนดีศรีสยาม” จาก สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย
  • พ.ศ. 2551 - รางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • พ.ศ. 2553 - รางวัลครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง จากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี

ชีวิตครอบครัว

          นายแพทย์เสมสมรสกับนางแฉล้ม พริ้งพวงแก้ว (นามสกุลเดิม ปิยะเกศิน) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2480 พยาบาลคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 70 ปี มีบุตรชาย 3 คน และบุตรสาว 2 คน หนึ่งในนั้น คือ นายชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม เจ้าของผู้ก่อตั้ง บริษัทดีไซน์ 103 ที่มีชื่อเสียง โดยนางแฉล้มถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2549

          ถึงแก่อนิจกรรม

          นายแพทย์เสม ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น.ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่โรงพยาบาลราชวิถี สิริอายุรวม 100 ปี 1 เดือน 8 วัน จากการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะช็อก และไตวาย

บรรณานุกรม

วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554.

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554.

สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549.

 

เชิงอรรถ

[1] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 12-13.

[2] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 28-29.

[3] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 14-15.

[4] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 14.

[5] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 33.

[6] โรงพยาบาลเอกเทศเป็นชื่อราชการ หมายถึง โรงพยาบาลที่ทำทุกอย่างด้วยตนเองหมด หมอคนเดียว ไม่มีพยาบาล

[7] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 18-19.

[8] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 20-21.

[9] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 22-25.

[10] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 26-28. และ สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 66-69.

[11] เป็นนโยบายในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (ระหว่าง พ.ศ. 2476-2481) มีนโยบายให้กรมสาธารณสุขทำโครงสร้างโรงพยาบาลให้มีขึ้นทั่วทุกจังหวัด ในขั้นต้นให้จัดสร้างตามชายแดนก่อน เพื่อแสดงเกียรติภูมิแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า “อวดธง” เริ่มแรกได้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดชายแดนลาว ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย และนครพนม เพื่ออวดธงไทยแก่พี่น้องชาวลาว เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยยุคประชาธิปไตยเอาใจใส่ ห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนไทยในท้องที่ห่างไกล รวมทั้งพี่น้องเพื่อนบ้านตามชายแดน

[12] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 28.

[13] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 35. และ วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554, หน้า 8.

[14] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 116-117.

[15] วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554, หน้า 8-9.

[16] วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554, หน้า 117.

[17] วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554, หน้า 117.

[18] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 117.

[19] วิชัย โชควิวัฒน. แด่คุณพ่อเสม พริ้มพวงแก้ว ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขไทย.กรุงเทพฯ: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. 2554, หน้า 117.

[20] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 114.

[21] สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง: ชีวิตและงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.). 2549, หน้า 114.

[22] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 62.

[23] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 62.

[24] ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นเดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท จำกัด. 2554, หน้า 63.