สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539
ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต
สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539
การนำเสนอเนื้อหาสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย หนึ่ง เหตุของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และสอง การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540)
เหตุของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง แก้ไขปัญหาการทุจริตและซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมือง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นปัญหาเรื้อรังและถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการได้นำเสนอแนวคิดและรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปการเมือง และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2534 ที่มีอยู่เดิม[1] ข้อเสนอที่สำคัญมาจากศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทร์สมบูรณ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เขียนหนังสือ ชื่อ คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย เสนอให้ประเทศไทยควรมี “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์กรการเมือง และมีบทบัญญัติให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”[2] และมี “กลไกควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนอีกด้วย”[3]
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) มี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน[4] คพป. ได้จัดทำข้อเสนอให้ปฏิรูปเพื่อแก้ไขระบบการเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความสุจริตและประสิทธิภาพทางการเมือง รวมถึงให้ยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สามารถสร้างระบบการเมืองที่สุจริตและมีประสิทธิภาพโดยยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นกรอบหลัก โดยได้อิทธิพลจากข้อเสนอ คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ ของ อมร จันทร์สมบูรณ์[5] ประเวศ วะสี ได้อธิบายเบื้องหลังและบริบทการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ว่าเกิดจากกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ว่ามีนักวิชาการเห็นว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจนำไปสู่การนองเลือด ประกอบกับการประท้วงอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร หน้ารัฐสภาและมีผู้ชุมนุมมาสนับสนุนการประท้วงของ ร.ต.ฉลาด มากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเลือกตั้ง ทำให้ มารุต บุนนาค ได้ตัดสินใจตั้ง ประเวศ วะสี เป็นประธาน คพป. โดยมิได้ทาบทามมาก่อน[6]
คพป. ได้มอบหมายให้นักวิชาการจัดทำรายงานวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองไทย จำนวน 15 เรื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใน พ.ศ. 2538 ที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ[7] ประกอบด้วย รูปแบบและวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงระบบพรรคการเมืองของไทย ระบบการเลือกตั้งที่ลดการซื้อเสียงและให้โอกาสคนดีสมัครรับเลือกตั้งเพื่อทดแทนระบบการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ปัจจุบัน การปรับปรุงระบบการทำงานของคณะกรรมาธิการของสภาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ระบบการบริหารงานหน่วยธุรการของรัฐสภาที่เป็นอิสระ ระบบการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายการเงิน ระบบควบคุมตรวจสอบรัฐบาลทางการเมืองที่เหมาะสม ระบบการออกเสียงแสดงประชามติ องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณา ระบบการตรวจสอบทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง การจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และรูปแบบองค์กรที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประกอบการยดร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ[8]
ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 ได้มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการเมืองที่ทุกพรรคการเมืองใช้เป็นประเด็นสำคัญของการหาเสียงทางการเมือง นายบรรหาร_ศิลปอาชา ได้ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานเพื่อทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดทำแผนพัฒนาการเมืองเสนอต่อรัฐสภา[9] ต่อมาในเดือนมีนาคม 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 211 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และให้มีองค์กรการร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ[10] โดยที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 และได้นำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2534 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้เสนอทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2539 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539[11] เพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต่อมากลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
รูปภาพที่ 1 : ผู้มีส่วนริ่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540)
การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540)
จากกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จึงได้จัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 โดยเพิ่มหมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 211 โดยให้มีตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีสมาชิก จำนวน 99 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบ่งเป็นสมาชิกประเภทที่หนึ่ง สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง จังหวัดละหนึ่งคน รวม 76 คน และสมาชิกประเภทที่สอง สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์จำนวน 23 คนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน (จำนวน 8 คน) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ (จำนวน 8 คน) และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ (จำนวน 7 คน)[12] โดยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีที่มา ดังนี้
- สมาชิกประเภทที่หนึ่ง สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนจังหวัด หากจังหวัดที่ผู้สมัครมีมากกว่า 10 คน ให้ผู้สมัครทุกคนลงคะแนนเลือกกันเองโดยวิธีการลงคะแนนลับจนเหลือ 10 คน แล้วจึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรายชื่อส่งให้รัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาเลือกผู้แทนเพียง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนของจังหวัด
- สมาชิกประเภทที่สอง สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนและให้ปริญญาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทละไม่เกิน 5 คน แล้วนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาเลือกในแต่ละสาขาตามจำนวนที่กำหนด[13]
ภายหลังจากการกระบวนการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงได้เริ่มจัดการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยมี นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ นางยุพา อุดมศักดิ์ เป็นรองประธานคนที่ 2 สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งคณะกรรมาธิกรเพื่อดำเนินงานร่างรัฐธรรมนูญและเรื่องต่าง ๆ จำนวน 7 คณะ ประกอบด้วย
- คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 29 คน โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะกรรมาธิการชุดนี้มีความสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดกรอบความคิดพื้นฐาน หลักการ และสาระสำคัญที่พึงมีในการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
- คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ จำนวน 38 คนโดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อมร รักษาสัตย์ เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ จำนวน 17 คน โดยมี นายสมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการข้อมูลและศึกษาแนวทางการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 17 คน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการจดหมายเหตุตรวจรายงานการประชุมและกิจการสภา จำนวน 17 คน โดยมี นายเดโช สวนานนท์ เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 33 คน มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัด จำนวน 76 คณะ คณะละ 15 คน[14]
รูปภาพที่ 2 : สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539
![]() |
![]() |
นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) |
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ |
ในการร่างรัฐธรรมนูญได้วางกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ใน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของพลเมือง สอง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสาม สถาบันการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง[15] ภายหลังการกำหนดกรอบความคิดพื้นฐานได้มีการนำกรอบไปเผยแพร่ให้ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น มีประชาชนจำนวนมากแสดงความสนใจและกระตือรือร้นในการส่งความเห็นมาให้สภาร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางต่าง ๆ มีผู้ให้ความเห็นทางจดหมายมากถึง 200,497 ราย และให้ความเห็นด้วยวิธีอื่นมากถึง 600,873 ราย
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญในสภาพการณ์ทางการเมืองที่เสรีภายใต้กระแสการปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการทุจริตของนักการเมือง และสามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชน ภายหลังจากการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นจึงได้รณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง[16] รวมถึงการจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ มีการจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญและการสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่ให้ประชาชน จำนวน 800,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่ตามจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์กับประชาชน ในการจัดทำประชาพิจารณ์ได้จัดขึ้น เป็นเวลา 1 เดือน ในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ รวมถึงจัดให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วย ขณะเดียวกันมีหน่วยงานและองค์กรอื่นที่จัดทำเอกสารการนำเสนอและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงมีการเผยแพร่และถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง[17] กอปรกับบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างและอิสระ ทำให้เกิดกระแสทั้งการรณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญหรือการ “ชูธงเขียว” กับรณรงค์ไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือการ “ชูธงเหลือง”[18] ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”[19]
การเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากการเห็นชอบของรัฐสภาให้ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน จึงส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบโดยต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาใน วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2540 รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 578 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง[20] แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2540
บรรณานุกรม
ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ). การปฏิรูปการเมืองไทย: ฐานคิดและข้อเสนอว่าด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.
นรนิติ เศรษฐบุตร. รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
เบเคอร์, คริส และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
ประเวศ วะสี. "คำนำฉบับพิมพ์ครั้งใหม่." ใน การปฏิรูปการเมืองไทย: ฐานคิดและข้อเสนอว่าด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540, ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ), 10-15. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2546.
ฝ่ายรายงานการประชุม กองการประชุม. บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 7(สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2540, โดย ฝ่ายรายงานการประชุม กองการประชุม, 2540.
มนตรี รูปสุวรรณ, กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, ฤทัย หงส์สิริ, มานิตย์ จุมปา, และ คมสันต์ โพธิ์คง. เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2542.
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540. กรุงเทพมหานคร: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 53 ก., 22 ตุลาคม 2539.
วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน และ ชรินทร์ สันประเสริฐ. "รัฐธรรมนูญกับการเมืองการปกครองไทย." ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย, ฐปนรรต พรหมอินทร์ (บรรณาธิการ), 1-148. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2561.
สมคิด เลิศไพฑูรย์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อมร จันทรสมบูรณ์. คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism): ทางออกของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันนโยบายศึกษา โดยความสนับสนุนของ มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์, 2537.
อ้างอิง
[1] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2546), 507-08.
[2] อมร จันทรสมบูรณ์, คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism): ทางออกของประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร: สถาบันนโยบายศึกษา โดยความสนับสนุนของ มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์, 2537), 7.
[3] อ้างแล้ว.
[4] นรนิติ เศรษฐบุตร, รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), 261.
[5] อ้างแล้ว, 269-70.
[6] ประเวศ วะสี, "คำนำฉบับพิมพ์ครั้งใหม่," ใน การปฏิรูปการเมืองไทย: ฐานคิดและข้อเสนอว่าด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540, ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ) (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560), 10-11.
[7] สามารถดูรายงานวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองไทย 15 เรื่องได้ใน ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ), การปฏิรูปการเมืองไทย: ฐานคิดและข้อเสนอว่าด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560).
[8] ดูเนื้อหาใน ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ), อ้างแล้ว.
[9] วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน และ ชรินทร์ สันประเสริฐ, "รัฐธรรมนูญกับการเมืองการปกครองไทย," ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย, ฐปนรรต พรหมอินทร์ (บรรณาธิการ) (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2561), 87.
[10] นรนิติ เศรษฐบุตร, 279.
[11] อ้างแล้ว, 283.
[12] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 53 ก (ราชกิจจานุเบกษา, 22 ตุลาคม 2539); รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 (กรุงเทพมหานคร: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), 12. และคริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2557), 377.
[13] สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 25.
[14] อ้างแล้ว., 26-27.
[15] มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ., เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2542), 32-33.
[16] นรนิติ เศรษฐบุตร, 292.
[17] มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ., 38-39.
[18] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, 63.
[19] วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน และ ชรินทร์ สันประเสริฐ, ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย, 88.
[20] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, 64. และ ฝ่ายรายงานการประชุม กองการประชุม, บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 7 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 2) วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2540, โดย ฝ่ายรายงานการประชุม กองการประชุม (2540).