พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 20:53, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า พลตรีพระประศาสน์พิทยายุทธ ไปยัง พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) โดยไ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


“ข้าพเจ้าวางแผนการเอง ด้วยสมองและตาข้าพเจ้า
อยู่ ณ บัดนี้ และการเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งกรมทหาร
ออกไปเป็นของเราครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญเด็ดขาดเสียเหลือเกิน
ถ้าทำพลาดก็คอขาดกันทั้งหมด
และชาติไทยก็อดเป็นประชาธิปไตย”

พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)[1]

พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

          “คณะราษฎร” เป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475  กระนั้น หากกล่าวให้ลึกลงในรายละเอียดของแกนนำคณะราษฎรแต่ละคนแล้ว กลับพบว่า ชื่อของ “พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ทหารเสือของคณะราษฎร มักจะไม่คุ้นหูสำหรับผู้คนโดยทั่วไปนัก เนื่องจากบทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้โดดเด่นเท่ากับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ ทว่าพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นผู้ที่ลักลอบนำอาวุธจากคลังแสงกองทัพบก ไปให้กับนายทหารที่เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง และร่วมวางแผนการบางส่วนกับพระยาทรงสุรเดชด้วย นอกจากนี้ พลตรีพระประศาสน์พิทยายุทธ ยังมีส่วนสำคัญในการเมืองไทย อาทิเช่น การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี การเป็นอัครราชทูต การเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น 

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ที่กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้ ๆ กับวัดรังษีสุทธาวาส (ปัจจุบันได้รวมเข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร) เป็นบุตรคนที่ 2 ของขุนสุภาไชย (เอื้อน ชูถิ่น) และนางวงษ์ ชูถิ่น มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 3 คน โดยมีพี่สาวชื่อวาด ชูถิ่น และน้องสาวชื่อสวัสดิ์ ชูถิ่น[2]

          พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ขณะที่มีอายุได้ 14 ปี กระทั่งถึง พ.ศ. 2454 ได้สำเร็จการศึกษาเป็นนักเรียนทำการนายร้อย โรงเรียนนายร้อยมัธยม โดยสอบไล่ได้เป็นที่ 5 จากนักเรียนทั้งหมด 185 คน[3] และได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนี ทำให้ได้รู้จักกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์_พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ_พันธุมเสน) จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่_1 ขึ้นมา ส่งผลให้ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธต้องย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคุม (Politeknikum) นครซูริกประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาประเทศสยามขณะนั้น ได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ สำเร็จการศึกษา จึงได้สมัครเข้าเป็นทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับติดยศร้อยตรี ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ให้เป็นผู้ช่วยทูตในราชการทหารบกยุโรป และปฏิบัติภารกิจจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1[4]

          พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ สมรสกับนางเนาว์ ชูถิ่น (รณกิจ) ธิดาขุนประชารณกิจ (เลื่อน รณกิจ) กับนางเจียน รณกิจ (กัลยาณมิตร) มีบุตร-ธิดา รวม 7 คน คือ นางนงนุช ชูถิ่น นางนงเยาว์ ชูถิ่น นางนงพงา
ชูถิ่น นางนงลักษณ์ ชูถิ่น นายชูศักดิ์ ชูถิ่น นางวนิดา ชูถิ่น และนางขนิษฐา ชูถิ่น[5] ในช่วงท้ายของชีวิต พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ มีพฤติกรรมติดสุราอย่างหนัก และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 สิริรวมอายุได้ 55 ปี[6]

 

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และได้เข้ารับราชการประจำกรมทหารบกที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2462 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2464 และได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับกองร้อยนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2465 ต่อมาย้ายไปดำรงตำแหน่งครูประจำกองยุทธศึกษาทหารบก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2469 จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์วิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพที่ 2 ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 และต่อมาขยับขึ้นเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพที่ 2 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2473 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2474[7]

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเสนาธิการทหารบก ต่อมา พ.ศ. 2479 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงกลาโหม และ พ.ศ. 2481 เป็นที่ปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาจักร และในปีเดียวกันนี้เอง พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธได้ย้ายสายงานไปเป็นอัครราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศเยอรมนี ต่อมาใน พ.ศ. 2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศสวีเดน จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2489 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธก่อนจะถึงแก่กรรม[8]  

          นอกจากนี้ ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญหลายตำแหน่ง โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 1 ในวันที่ 28_มิถุนายน_พ.ศ._2475[9] และ “คณะกรรมการราษฎร” (เทียบเท่ากับตำแหน่งรัฐมนตรีในปัจจุบัน) ในช่วงเวลาเดียวกัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการกลาโหม ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอีกครั้ง ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีลอย” ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการลาออกพร้อมกันของทหารเสือคณะราษฎร ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476[10] ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานว่า “สี่ทหารเสือลาออก[11] หลังจากนั้น พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดอีกเลย จนกระทั่งใน พ.ศ. 2481 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร_ประเภทที่_2 และถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งสุดท้ายของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ[12]  

 

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          ผลงานที่สำคัญในทางการเมืองของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธมีอยู่หลายด้าน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ผลงานในคณะราษฎร ผลงานในคณะรัฐมนตรี และผลงานในด้านการระหว่างประเทศ        

          “ผลงานในคณะราษฎร” ของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธเป็น 1 ใน 4 เสือคณะราษฎร อันประกอบด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์_พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ_พันธุมเสน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ_เอมะศิริ) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน_ชูถิ่น) ซึ่งบุคคลทั้ง 4 ถือว่าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และเป็นแกนนำผู้ก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่นำกำลังจากกองกำลังของตนมาร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มียศเป็นเพียง “พันโท” และมีราชทินนามเป็น “พระ” เท่านั้น ซึ่งถือเป็นตำแหน่งของข้าราชการระดับกลาง และไม่ใช่นายทหารที่คุมกำลังหลัก[13] แต่ภารกิจของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ คือร่วมวางแผนกับพระยาทรงสุรเดชซึ่งเป็นไปอย่างรัดกุม[14]

          ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับผิดชอบในภารกิจการควบคุมตัวบุคคลสำคัญต่าง ๆ นั่นคือ เข้าควบคุมตัวสมเด็จเจ้าฟ้าฯ_กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้านายพระองค์สำคัญ ที่ประทับอยู่ ณ วังบางขุนพรหม เป็นผู้รักษาพระนครในขณะนั้น ภารกิจนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากในวังบางขุนพรหมนั้นมีปืนกลหลายกระบอกอยู่ภายในพระตำหนัก ประกอบกับขณะนั้นพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์_จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตอยู่ก่อนแล้ว และได้ชักอาวุธปืนขึ้นเตรียมยิงใส่ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ แต่ไม่มีการยิงกันเกิดขึ้น และสามารถควบคุมตัวบุคคลทั้งหมดไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมได้สำเร็จ[15] นอกจากนี้พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ยังเป็นผู้บุกเข้าควบคุมตัวแม่ทัพคนสำคัญ นั่นคือ พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก และพระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งสามารถจับกุมได้อย่างง่ายดาย ความสำเร็จของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธส่งผลไม่ให้เกิดการต่อต้านและนองเลือด นับว่าเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของคณะราษฎร[16]

          “ผลงานในคณะรัฐมนตรี” เมื่อครั้งที่ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนื่องจากมีข้อครหาอย่างหนักว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีลักษณะเป็น “คอมมิวนิสต์”[17] ส่งผลให้การเมืองในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝ่ายแรกคือ ฝ่ายขุนนางเก่าที่ต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจ และกลุ่มหัวก้าวหน้า ซึ่งสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธนั้น มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายขุนนางเก่า เช่นเดียวกับ พระยาทรงสุรเดช[18] สาเหตุสำคัญที่พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ยืนอยู่ข้างฝ่ายขุนนางเก่าเนื่องจากท่านนิยมชมชอบแนวคิดของพระยาทรงสุรเดชเป็นอย่างมาก แม้ว่าท่านจะไม่มีความขัดแย้งกับกลุ่มหลวงพิบูลสงครามโดยตรง แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่มีความใกล้ชิดกับพระยาทรงสุรเดช ดังนั้น เมื่อพระยาทรงสุรเดช หมดบทบาททางการเมือง ก็ส่งผลให้พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธหมดบทบาทลงไปด้วย[19]

          สำหรับ “ผลงานในด้านการระหว่างประเทศ” นั้น  ปรากฏเมื่อพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏพระยาทรงฯ” โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้แต่งตั้งให้พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธไปเป็นอัครราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศเยอรมนี[20] ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่_2 ส่งผลให้บุตรสาวคนโตของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธเสียชีวิตจากสงคราม และตัวของท่านเองก็ถูกทหารรัสเซียจับกุม และต้องส่งเข้าค่ายกักกันที่มีความหนาวเย็นอย่างมาก ซึ่งท่านถูกควบคุมตัวอยู่เป็นระยะเวลานานถึง 225 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว และถูกส่งกลับประเทศ[21] นับว่าการดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนีของพลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธนับว่าเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยไฟแห่งสงคราม และการขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลพรรคนาซี จนกระทั่งเสร็จสิ้นสงคราม พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธจึงได้เดินทางกลับประเทศ

บรรณานุกรม

จำรัส สุขุมวัฒนะ, แผนการปฏิวัตร, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สารเสรี, 2491).

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2547).

พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, เปิดบันทึกชีวิต พระประศาสน์พิทยายุทธ, (กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2545).

วิชัย บำรุงฤทธิ์, บันทึกนักปฏิวัติไทย, (กรุงเทพฯ : สารสยาม, 2517).

วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520).

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).

 

อ้างอิง

[1] คำเล่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย พระประศาสน์พิทยายุทธ, อ้างจาก จำรัส สุขุมวัฒนะ, แผนการปฏิวัตร, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สารเสรี, 2491), น. 68-69.

[2] พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, เปิดบันทึกชีวิต พระประศาสน์พิทยายุทธ, (กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2545), น. 15.

[3] เพิ่งอ้าง, น. 16.

[4] จำรัส สุขุมวัฒนะ, อ้างแล้ว, น. 15-25.

[5] พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. 23.

[6] เพิ่งอ้าง, น. 216.

[7] เพิ่งอ้าง, น. 220-221.

[8] เพิ่งอ้าง, น. 221-222.

[9] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2547), น. 296.

[10] เพิ่งอ้าง, น. 403.

[11] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 33.

[12] พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. 219.

[13] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519), น. 24-25.

[14] จำรัส สุขุมวัฒนะ, อ้างแล้ว, น. 75-83.

[15] พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. 71-76.

[16] วิชัย บำรุงฤทธิ์, บันทึกนักปฏิวัติไทย, (กรุงเทพฯ : สารสยาม, 2517), น. 52-60.

[17] วีณา มโนพิโมกษ์, อ้างแล้ว, น. 69-72.

[18] เพิ่งอ้าง, น. 79-80.

[19] เพิ่งอ้าง.

[20] พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, อ้างแล้ว, น. 111-113.

[21] เพิ่งอ้าง, น. 154-188.