กลุ่มกระทิงแดงและนวพล
ผู้เรียบเรียง พิสิษฐิกุล แก้วงาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
กลุ่มกระทิงแดงและนวพล
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา การชุมนุมเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆก็มีไม่ขาดระยะ ทั้งที่มีเหตุผลสมควรและไม่สมควร และว่ากันว่าในสมัยนั้น นักศึกษามีอำนาจต่อรองและกล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม กับฝ่ายขวาคือฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีขบวนการขวาพิฆาตซ้ายออกอาละวาด ผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมการล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยจับกุมฆาตกรได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นเวทีและศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มีการชุมนุมกันบ่อยครั้ง กล่าวได้ว่าสังคมการเมืองไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในแง่สังคมนั้นพลังมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่เคยถูกอำนาจรัฐกดขี่ และบีบเค้น มีโอกาสออกมาแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในด้านต่างๆ ในด้านการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีความพยายามในการวางรากฐานประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีการเผยแพร่ความคิดประชาธิปไตยออกสู่ประชาชนหมู่มาก มีการอภิปรายปัญหาบ้านเมือง การรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เช่น สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เป็นต้น
ในช่วงนี้ทหารและตำรวจต่างก็สงวนบทบาทท่าที ในขณะที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาก็เริ่มมีรอยร้าวเกิดขึ้น มีการแยกตัว ออกเป็นสองกลุ่ม คือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่แตกออกไปจากลุ่มแรก เพราะเริ่มมีความคิดในทางการเมืองต่างกันและบางพวกก็ไปสังกัดกลุ่มจัดตั้งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและมีกิจกรรมที่ถ่วงดุลกลุ่มนิสิตนักศึกษา
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ข่าวการปลดปล่อยอินโดจีนด้วยชัยชนะของคอมมิวนิสต์ได้เขย่าขวัญรัฐบาลและชนชั้นปกครองของไทย ความกลัวและเกลียดคอมมิวนิสต์ในหมู่คนไทยเป็นอย่างแผ่กว้างและลึกซึ้งคณะรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกนับแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทว่าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภา โดยอ้างว่าถูก ส.ส.กดดัน การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2519 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่มีการฆ่ากันตายถึงกว่า 30 ศพ บ่อยครั้งที่การปราศรัยหาเสียงถูกขัดจังหวะด้วยระเบิด ซึ่งเป้าของการโจมตีคือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ถูกประณามว่า “ไม่ใช่คนไทย” และเหตุการณ์ที่รุนแรงสะเทือนขวัญผู้คนมากเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2519 เมื่อคนร้ายลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน
ผลการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน 2519 พลิกความคาดหมาย เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้ประกาศยุบสภาเพื่อหวังเพิ่มที่นั่งของพรรคกิจสังคม กลับไม่ได้รับเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าคณะทหาร นักการเมืองและพ่อค้า กำลังคิดก่อตั้งคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อมายึดอำนาจรัฐบาลใหม่นี้ แสดงให้เห็นว่าสภาวการณ์ที่วุ่นวายทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2519
ในส่วนฝ่ายของนักศึกษานั้น กลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม คือนักเรียนอาชีวะ ทำให้ชนชั้นนำมีความวิตกอย่างมากในพลังของนักเรียนอาชีวะ จึงมีความพยายามการแยกสลายพลังนักเรียนอาชีวะออกจากขบวนการนักศึกษา โดยเริ่มจากการส่งนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวา เข้าควบคุมศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย แล้วใช้องค์กรนี้ในการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านฝ่ายขบวนการนักศึกษา ซึ่งความขัดแย้งระหว่างศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะกับฝ่ายขบวนการนักศึกษานั้น เริ่มเห็นชัดตั้งแต่กรณีพลับพลาไชยเป็นต้นมา ที่ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายนักศึกษา จากนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายอาชีวะในทิศทางตรงข้ามอีกหลายครั้ง เช่น ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะ และ สหพันธ์นักศึกษาครู ได้จัดการชุมนุมที่สวนลุมพินี และเดินขบวนไปยังสถานทูตสหรัฐ เพื่อแสดงการขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย และได้มีการมอบกระเช้าดอกไม้แก่อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทยด้วย
ต่อมา เมื่อแยกนักเรียนอาชีวะออกจากนักศึกษาแล้ว ก็จัดตั้งกลุ่มนักเรียนอาชีวะอันธพาลกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นกลุ่มกระทิงแดง เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการก่อกวนขบวนการนักศึกษาด้วยอาวุธ ใช้ความเหี้ยมโหดรุนแรงต่อต้านการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของขบวนการนักศึกษา กลุ่มกระทิงแดง ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 ในระหว่างที่ขบวนการนักศึกษากำลังเคลื่อนไหวเรื่องการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนอายุ 18 ปี มีสิทธิเลือกตั้ง กลุ่มกระทิงแดงส่วนมากประกอบด้วยอันธพาลในคราบนักเรียนอาชีวะ ได้รับการสนับสนุนและจัดตั้ง จากเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพ ให้เป็นกองกำลังอาวุธปฏิกิริยาหรืออันธพาลการเมืองที่อยู่เหนือกฎหมาย ผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น “เจ้าพ่อกระทิงแดง” คือ พ.อ.สุดสาย หัสดิน ซึ่งยืนยันว่า จะต้องตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อต่อต้านฝ่ายนักศึกษา เพราะฝ่ายนักศึกษาพยายามเปลี่ยนทิศทางของประเทศประเทศให้ตกอยู่ในภาวะคอมมิวนิสต์แทรกแซง รัฐบาลก็อ่อนแอ พ.อ.สุดสาย ได้เปรียบเทียบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยก็เหมือนหัว นักเรียนอาชีวะก็เหมือนแขนขา จะต้องตัดแขนขาออกจากหัวเสียก่อน ส่วนกำลังที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ สุชาติ ประไพหอม เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ และสมศักดิ์ ขวัญมงคล เป็นต้น สำหรับที่มาของชื่อกลุ่ม สมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้าฝ่ายกำลังพล ได้อธิบายว่า “ไอ้การที่เราตั้งชื่อกลุ่มกระทิงแดงขึ้นมานี่ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ทุกคนเห็นว่าชื่อกระทิงแดงนี่ดี เพราะกระทิงแดงเป็นสัตว์ป่า สัตว์อนุรักษ์ สัตว์สงวน”
กลุ่มกระทิงแดงนั้น เป็นกองกำลังอภิสิทธิ์ทั้งนี้เพราะสามารถออกมาให้สัมภาษณ์ขู่ว่า จะสังหารใครต่อใคร และยังก่อการปาระเบิดกลางเมืองได้โดยไม่ถูกจับกุม เช่นตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2517 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาในประเทศครั้งแรก กระทิงแดงก็ออกแถลงการคัดค้าน โดยอ้างว่า การต่อต้านจอมพลถนอมนั้น เป็นการก่อการไม่สงบ แต่ในที่สุด ฝ่ายกระทิงแดงกลับปาระเบิดพลาสติกนับสิบลูกที่สนามหลวง เพื่อให้ประชาชนแตกตื่น
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 นายเผด็จ ดวงดี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกระทิงแดง ก็เปิดเผยหลักการทำงานของกระทิงแดงว่า “...จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป” นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่ากระทิงแดงยังได้รับการสนับสนุนจากทางราชการอีกด้วยเช่น กระทิงแดงจะมีวิทยุวอล์กกี-ทอล์กกี ของตำรวจไว้เพื่อติดต่อสื่อสารกัน และใช้รถตำรวจรวมทั้งสเตชั่น เวกอนวิ่งไปรอบเมือง เมื่อกระทิงแดงขว้างระเบิดพลาสติกเข้าใส่นักศึกษาหลายครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีตำรวจอยู่ใกล้ก็มิได้ใส่ใจ รวมทั้งในกรณี 20 มีนาคม พ.ศ. 2519 ที่ นายสุชาติ ประไพหอม ผู้นำกระทิงแดงประกาศตั้ง “แนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์” และประกาศให้ไม่ให้ประชาชนใช้ถนนราชดำเนิน ถ้าไม่เชื่อจะไม่รับรองความปลอดภัย และเมื่อฝ่ายนักศึกษานัดชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีสมาชิกกระทิงแดงมาโยนระเบิดก่อกวน ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม กระทิงแดงขนอาวุธสงครามประเภทระเบิดกลางกรุง มาตั้งไว้ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนนักศึกษาประชาชน ที่กำลังเคลื่อนไปยังสถานทูตอเมริกาผ่าน ฝ่ายนักศึกษาต้องอ้อมออกไปทางบางลำภู เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะผ่านบริเวณราชดำเนิน อันทำให้กระทิงแดงไม่อาจจะหาเหตุปะทะได้ปรากฏว่าในระยะสองปีเศษๆ ที่กระทิงแดงปฏิบัติการกวนเมือง แทบจะไม่เคยถูกตำรวจจับกุม หรือถ้าถูกจับกุมก็จะได้รับการปล่อยตัวอย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กระทิงแดงก็เป็นด่านหน้าสุดที่ร่วมกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนเข้าบุกปราบปรามนักศึกษา
นอกเหนือจากการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง ก็ยังมีการจัดตั้งกลุ่มพลังฝ่ายปฏิกิริยาต่างๆ เพิ่มเติมอีกมาก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการทำลายขบวนการนักศึกษา กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนอันดียิ่งจากอำนาจและกลไกของรัฐในขณะนั้น ที่สามารถระบุชื่อได้ เช่น กลุ่มนวพล ชมรมอาชีวะเสรี กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มเพ็ชรไทย กลุ่มช้างดำ กลุ่มพิทักษ์ไทย สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย กลุ่มแนวร่วมรักชาติ กลุ่มประชาชนผู้รักชาติ กลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ สหพันธ์ครูอาชีวะ กลุ่มกรรมกรเสรี กลุ่มค้างคาวไทย กลุ่มกล้วยไม้ไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า กลุ่มสหภาพแรงงานเอกชน ชมรมแม่บ้าน
ในบรรดากลุ่มฝ่ายขวาที่เดิดขึ้นนี้ มีอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีบทบาทนำในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม คือ กลุ่มหรือขบวนการนวพล กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 โดยความหมายของชื่อกลุ่ม แปลความได้ว่า “กำลังใหม่” ตามรูปแบบการก่อตั้ง หรืออีกในความหมายหนึ่งคือ พลังเก้า อันหมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ก่อตั้งคือกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พลเอก วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร พลเอก สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. เป็นต้น พล.อ.วัลลภ ได้อธิบายเหตุผลในการตั้งนวพลว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ พล.อ.วัลลภ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้กำลังใจแก่ฝ่ายนวพลว่า
ทรงมีพระราชดำริห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ และเคยมีกระแสพระราชดำรัสกับบรรดาผู้ที่เข้าเฝ้าใกล้ชิดเป็นการส่วนพระองค์ นับตั้งแต่พนมเปญและไซ่ง่อนตกอยู่ในมือของคอมมิวนิสต์ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระองค์จะไม่เสด็จออกจากประเทศไทยเป็นอันขาด โดยหลักแล้ววิธีการของกลุ่มนวพลก็คือขู่ให้เกิดความหวาดกลัวว่าทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของตนนั้นจะสูญหายไปถ้ามีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เครื่องมือของนวพลคือ การประชุม การชุมนุม การเขียนบทความต่าง ๆ
ผู้นำสำคัญอื่นๆ ของนวพลนั้นได้แก่ พลโท สำราญ แพทยกุล ซึ่งเป็นองคมนตรี เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทอย่างยิ่ง พลโทสำราญได้เป็นนวพลอันดับแรก หรือหมายเลข 001 เป็นที่ทราบกันต่อมาว่า กลุ่มนวพลได้รับการสนับสนุนทางการเงินและวัสดุอุปกรณ์จากบางส่วนในกองทัพบก และกรมตำรวจ และอย่างน้อยก็ได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนตัว ปรากฏว่านวพลประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้างองค์กรและขยายสมาชิก ผู้ดำเนินงานของนวพลก็ใช้วิธีการชุมนุมประชาชนเพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุน โดยเรียกร้องให้เกิดความรักชาติ และต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหวือหวา ในการดำเนินการ นวพลใช้โครงสร้างการจัดตั้งแบบกลุ่มย่อยตามแบบคอมมิวนิสต์ ผู้นำที่ส่อแววดีจะถูกคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมทางการเมืองในระดับจิตวิทยา ในปลายปี พ.ศ. 2518 นวพลอ้างว่ามีสมาชิกปฏิบัติการกว่าล้านคน แม้ตัวเลขนี้จะเกินจริงอยู่บ้าง แต่ก็เห็นได้ว่านวพลได้กลายเป็นองค์กรฝ่ายขวาที่ใหญ่โต และมีอิทธิพลมาก
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฏีกาในยุคนั้น ต่อมาได้รับการดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา เขียววิมล ปัญญาชนจากอเมริกา ซึ่งเป็นวิทยากรประจำ และเป็นผู้ประสานงานองค์การ นายวัฒนาได้ให้อธิบายว่า “นวพลคือพลังใหม่ 3 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จากนั้นก็คือ พระภิกษุกิตติวุฒโฑ (พระเทพกิตติ ปัญญาคุณ) ผู้ซึ่งประกาศต่อสาธารณชน วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2519 โดยให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์จตุรัส ว่า การฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่กลับได้บุญ เปรียบเหมือนการฆ่าปลาเพื่อตักบาตรถวายพระ ส่งผลให้ฝ่ายขวานำไปใช้เป็นคำขวัญว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" และก่อให้เกิดความเกลียดชังและเคียดแค้นนักศึกษา จนนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม โดยกิตติวุฒโฑให้เหตุผลว่า ใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นมาร มิใช่มนุษย์ ดังนั้นการฆ่าคอมมิวนิสต์จึงไม่บาป แต่เป็นการฆ่ามาร ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องทำ การฆ่านั้นหากเป็นการทำเพื่อประเทศชาติแล้ว แม้จะเป็นบาป แต่ก็ได้บุญในแง่ของการป้องกันประเทศจากศัตรูมากกว่าจะได้บาป กิตติวุฒโฑเปรียบเทียบการฆ่านี้ว่าเหมือนกับการฆ่าปลาถวายพระ การฆ่าปลาเป็นบาป แต่การนำปลานั้นมาตักบาตรถวายพระ ถือว่าได้บุญมาก พระกิตติวุฒโฑ ยังกล่าวว่าการที่นักศึกษาต้องการขับไล่พระถนอมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ รวมถึงในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2519 กิตติวุฒโฑภิกขุ ก็ได้แถลงย้ำว่า “การบวชของพระถนอม ครั้งนี้ ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้น พระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์”
นวพลตั้งเป้าที่จะดำเนินการอยู่ในกลุ่มข้าราชการระดับท้องถิ่น และในหมู่นักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยยืนยันเป้าหมายและนโยบายที่จะปราบปรามฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะ จึงโฆษณาตนเองว่าเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อธำรงไว้ซึ่ง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้นมีมากจนกระทั่งฝ่ายนวพลได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โจมตี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 กลุ่มนวพลได้จัดตั้งพรรคการเมืองลงสมัครแข่งขันด้วย คือพรรคธรรมาธิปัตย์ โดยมี นายเมธี กำเพ็ชร เป็นหัวหน้าพรรค โดยใช้คำขวัญที่ล้อคำขวัญของพรรคสังคมนิยมว่า “เมื่อท้องนาสีทองผ่องอำไพ ประชาชนไทยจะมีข้าวกิน” แต่ปรากฏว่าพรรคนี้ ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการเลือกตั้งที่มีขึ้น กลุ่มนวพลจะพยายามขยายสมาชิกในหมู่นายทุน ทหาร ภิกษุ และปัญญาชน และจะเน้นวิธีการแบบจิตวิทยามากกว่ากระทิงแดง เช่นสมาชิกนวพลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ซึ่งเป็นสื่อที่คอยโจมตีขบวนการนักศึกษาและฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด อย่างไรก็ตามมีข้อมูลบางส่วนที่เสนอว่านวพลก็มีการแจกเงินและสะสมลูกระเบิดหรืออาวุธอื่นๆ เพื่อใช้ความรุนแรงในธรรมศาสตร์ด้วย และบางคนเชื่อว่าผู้ที่ขับรถพังประตูเพื่อเปิดทางให้มีการบุกมหาวิทยาลัยในเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม อาจเป็นสมาชิกนวพลที่เป็นพลทหารนอกเครื่องแบบ ยิ่งกว่านั้นมีบางคนที่ตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลที่ก่อทารุณกรรม เช่นการแขวนคอ หรือเผาทั้งเป็น ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คงได้รับการฝึกฝนมาจากหน่วยทหาร เพราะคนธรรมดาไม่น่าจะกระทำทารุณได้ถึงขนาดนี้
บทบาทของกลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มนวพลที่เข้าไปมีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มาปะทุเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร จะขอกลับมาเมืองไทยเพื่อดูแลบิดาที่ป่วย โดยมีพลเอกประภาส จารุเสถียรเดินทางกลับเข้ามาก่อน จึงเกิดการเดินขบวนต่อต้านแล้วขยายตัวไปเป็นการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะได้รับคำสั่งห้ามชุมนุมจากทางมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าขวนการกระทิงแดงล้อมอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยพร้อมอาวุธระเบิดมือและปืนเหตุการณ์สงบลงเมื่อพลเอกประภาสเดินทางออกไปนอกประเทศอีกครั้ง การชุมนุมจึงสลายตัว ในวันที่ 22 สิงหาคม
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็กลับเข้าประเทศจนได้ โดยบวชเป็นสามเณรมาจากสิงคโปร์ จากนั้นก็ตรงไปยังวัดบวรนิเวศ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยมีพระญาณสังวร เป็นองค์อุปัชฌาย์ และเมื่อบวชเรียบร้อยก็ขนานนามว่า สุกิตติขจโรภิกษุ ในกรณีนี้ วิทยุยานเกราะได้นำคำปราศรัยของจอมพลถนอมมาออกอากาศมีสาระสำคัญเน้นย้ำว่า จอมพลถนอมกลับเข้ามาในประเทศครั้งนี้เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของบิดา จึงได้บวชเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของบิดา และไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดเลย จากนั้นวิทยุยานเกราะได้ตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นแล้วอาจจะต้องมีการประหารสักสามหมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัย
ในวันที่ 5 ตุลาคม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการที่พระถนอมเข้ามาเมืองไทย ตกเย็น ทว่าในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เลขาธิการชมรมแม่บ้าน เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร และในเวลา 17.30 น. นายสมศักดิ์ มาลาดี จากกลุ่มกระทิงแดง พร้อมด้วยนักเรียนอาชีวศึกษากลุ่มประชาชนรักชาติประมาณ 50 คน พูดโจมตี ศนท.ผ่านเครื่องขยายเสียง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวออกไป จากนั้นกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และกลุ่มฝ่ายขวาต่างๆก็เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้นำนักศึกษาผู้หนึ่งกล่าวให้สัมภาษณ์ในสมุดภาพเดือนตุลา เล่าว่า
“… กระทิงแดงนี่เขามีปืน มีระเบิดมือ แต่เขาไม่ใช้บ่อย เขาใช้ระเบิดพลาสติกหรือระเบิดขวดเราชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ นี่เป็นชัยภูมิที่เหมาะที่สุดเพราะมันกันพวกระเบิดขวดทั้งหลาย ตึกบังหมดทุกทาง ขว้างให้ตายก็ไม่ถึง แต่เป็นชัยภูมิที่แย่ที่สุดสำหรับการปราบด้วยอาวุธสงครามเพราะคุณขังตัวเอง แต่ในเมื่อคุณไม่มี SENSE ว่าจะเกิดการปราบด้วยอาวุธสงคราม คุณถึงเลือกใช้ธรรมศาสตร์ เพราะคุณมี SENSE ว่าระเบิดขวด ระเบิดพลาสติก หรือปืนพกมันเข้าไม่ถึง …”
ในเวลา 20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า
“ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
- -มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา
- -มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความ หรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา
- -มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน”
ทั้งนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า กรณีพระถนอมและผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณี ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้”
นอกจากนี้สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีออกอากาศตลอดคืนเรียกร้องให้ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ กระทั่งเวลา 01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามจะบุกปีนรั้วเข้าไป มีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ หลังจากนั้นมีการเผารถจักรยานหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านสนามหลวง ป้อมยามถูกเผา ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์มิได้ห้ามปราม
หน่วยรักษาความปลอดภัยของ ศนท. จับกระทิงแดงได้คนหนึ่ง ขณะบุกเผาโปสเตอร์เมื่อนำตัวไปสอบสวนจึงได้รู้ว่า กระทิงแดงทุกจุดรอบธรรมศาสตร์ได้เตรียมปฏิบัติการเต็มที่ โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่ง และในเวลานั้นมีกระทิงแดงกว่า 100 คนแทรกตัวปะปนอยู่ในหมู่นักศึกษาประชาชนแล้ว เพื่อเตรียมประสานทั้งข้างนอกและข้างในในมหาวิทยาลัย เวลา 02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม “ศูนย์ประสานงานเยาวชน” มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”
ในตอนเช้า เมื่อ ประตูพัง ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ต่างทะลักเข้าไปในมหาวิทยาลัย ตำรวจหลายสิบคนขึ้นรถผ่านประตูเข้าไป เมื่อเข้าไปข้างในแล้วต่างกรูลงจากรถ ใช้อาวุธหนักอย่างปืนกลระดมยิงเข้าสู่ประชาชนและนักศึกษา ราว 08.10 น. พลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์ ช่วง 08.30-10.00 น. นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดคืนต่างแตกตื่นวิ่งหนี ที่หนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 คนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส แต่ยังไม่สิ้นใจ ได้ถูกลากออกไปแขวนคอ และแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพต่างๆ นานานักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกรุมตีจนสิ้นชีวิต แล้วถูกเปลือยผ้าประจาน โดยมีชายคนหนึ่งซึ่งเข้าก่อเหตุ แสดงท่าอนาจาร ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ลากศพนักศึกษาที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดข้างหอประชุมใหญ่ 3 คนออกมาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามอนุเสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้ๆ กับบริเวณแผงขายหนังสือสนามหลวง โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซิน จุดไฟเผา ศพนักศึกษาอีก 1 ศพถูกนำไปแขวนคอไว้กับต้นมะขามแล้วถูกตีจนร่างเละ 10.30 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โดยสรรพสิริ วิรยศิริถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงออกอากาศไปทั่วประเทศ สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง นวพล และตำรวจ ที่เข้าปราบปรามทั้งหมดได้รับการพ้นโทษ จากกฎหมายนิรโทษกรรม และ ตำรวจ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มนวพล ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ได้รับกระเช้าเยี่ยมพระราชทาน
สภาพสังคมในช่วงดังกล่าวได้ผลักดันให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลต้องหนีเข้าป่าเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การกวาดล้างครั้งใหญ่ไม่เพียงเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ทว่าได้ลุกลามขยายตัวออกไปทั่วประเทศ หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมถูกเก็บจากแผง ผู้ที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลก็ถูกข้อหาเป็นภัยสังคม
ที่มา
“การตั้งกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่น ๆ” http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=29&d_id=1&page=39&start=39
ใจ อึ๊งภากรณ์. “๖ ตุลา จากมุมมองนักวิชาการและนักเขียน สำรวจหนังสือและบทความต่างๆ เกี่ยวกับ ๖ ตุลา” http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=29&d_id=1&page=1&start
“สรุปข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙” http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=29&d_id=1&page=54&start=49
“ที่มาและลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” http://www.sappasan.com/content/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-6-%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2519